เฟิร์นเงิน
เฟิร์นเงิน ชื่อสามัญ Silver lace fern, Sword brake fern, Slender brake fern[3]
เฟิร์นเงิน ชื่อวิทยาศาสตร์ Pteris ensiformis Burm. f. จัดอยู่ในวงศ์ PTERIDACEAE และอยู่ในวงศ์ย่อย PTERIDOIDEAE[3]
สมุนไพรเฟิร์นเงิน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เฟินเงิน เฟินแซ่เงิน เฟิร์นเงินใบเขียว (ไทย), เฟิ่งกวนเฉ่า เฟิงเหว่ยเฉ่า (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[2]
ลักษณะของเฟิร์นเงิน
- ต้นเฟิร์นเงิน จัดเป็นไม้ล้มลุก มีอายุหลายปี มีความสูงของต้นประมาณ 15-60 เซนติเมตร ลักษณะเป็นกอ ก้านใบยาวประมาณ 5-20 เซนติเมตร แทงขึ้นมาจากรากใต้ดิน รากมีลักษณะกลมสั้น มีเกล็ด[1] เจริญเติบโตได้ดีในบริเวณที่มีความชื้นสูง แสงแดดพอประมาณ และในสภาพดินโปร่ง[2]
- ใบเฟิร์นเงิน ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกซ้อนกัน มีประมาณ 3-5 คู่ และจะแตกแฉกออกอีกถึง 1-3 คู่ ใบย่อยเป็นรูปรียาว เรียวแคบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-15 เซนติเมตรและยาวประมาณ 10-25 เซนติเมตร ขอบใบมีทั้งแบนเรียบและใบที่เติบโตไม่สมบูรณ์จะเป็นแบบขอบหยักฟันเลื่อย บนใบจะมีสปอร์เป็นตุ่มติดอยู่ที่ขอบใบ แต่ใบเล็กจะไม่มีรังไข่ของสปอร์[1]
สรรพคุณของเฟิร์นเงิน
- ทั้งต้นมีรสขมเล็กน้อย เป็นยาเย็น มีพิษเล็กน้อย ออกฤทธิ์ต่อตับ กระเพาะ และลำไส้ ใช้เป็นยาทำให้เลือดเย็น แก้อาการร้อนใน แก้พิษ (ทั้งต้น)[1]
- ช่วยแก้ต่อมทอนซิลอักเสบ (ทั้งต้น)
- ช่วยขับน้ำชื้นในร่างกาย (ทั้งต้น)[1]
- ช่วยรักษาเต้านมอักเสบ (ทั้งต้น)[1]
- ช่วยแก้บิดมูกเลือด (ทั้งต้น)[1] ตำรับยาแก้บิด ให้ใช้เฟิร์นเงิน อึ่งแปะ เอี่ยบ๊วย อย่างละ 20 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน (ทั้งต้น)[1]
- ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะกะปริบกะปรอย (ทั้งต้น)[1]
- ช่วยแก้อาการตกเลือดของสตรี (ทั้งต้น)[1]
- ใช้รักษาตับอักเสบแบบดีซ่าน (ทั้งต้น)[1]
- ใช้รักษาโรคผิวหนังผดผื่นคัน (ทั้งต้น)[1]
หมายเหตุ : วิธีใช้ตาม [1] ให้ใช้ต้นแห้งครั้งละประมาณ 20-35 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือใช้ร่วมกับตัวยาอื่น ๆ ในตำรับยา[1]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของเฟิร์นเงิน
- สารที่ได้คือสารจำพวก Flavonoid glycoside, Amino acid, Phenols เป็นต้น[1]
- เมื่อนำน้ำที่ต้มได้จากใบเฟิร์นเงินมาทดลองกับเชื้อบิดอะมีบาที่อยู่ในทดลอง พบว่ามีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อบิดอะมีบาได้[1]
- รายงานทางคลินิก แก้บิดติดเชื้อให้ใช้ยาแห้ง 500 กรัมนำมาต้มกับน้ำ 5,000 ซีซีประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วเอากากออก นำน้ำที่ต้มได้มาสกัดให้มีความเข้มข้นประมาณ 60 ซีซีต่อยาแห้ง 35 กรัม แล้วนำมาให้คนไข้รับประทานครั้งละ 60 ซีซี วันละ 2 ครั้ง โดยให้รับประทานติดต่อกันประมาณ 3-4 วัน จากการรักษาผู้ป่วยจำนวน 85 ราย พบว่า ผู้ป่วยมีอาการหายเป็นปกติ คิดเป็น 57% และหากรับประทานติดต่อกัน 6 วันขึ้นไปจะสามารถถ่ายได้เป็นปกติ และในขณะที่ทำการรักษาไม่พบว่าผู้ป่วยมีอาการแพ้ยาหรือมีอาการเป็นพิษ[1]
ประโยชน์ของเฟิร์นเงิน
- ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป ใช้ประดับตกแต่งอาคาร และจัดสวนได้ดี[2]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “เฟิร์นเงิน”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 410.
- ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “เฟิร์นเงินใบเขียว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org. [10 พ.ค. 2014].
- วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. “Pteris ensiformis”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: en.wikipedia.org/wiki/Pteris_ensiformis. [10 พ.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Yeoh Yi Shuen), rbg-web2.rbge.org.uk/thaiferns (by P. Karaket)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)