เพกา
เพกา ชื่อสามัญ Broken bones tree, Damocles tree, Indian trumpet flower
เพกา ชื่อวิทยาศาสตร์ Oroxylum indicum (L.) Kurz จัดอยู่ในวงศ์แคหางค่าง (BIGNONIACEAE)
สมุนไพรเพกา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ อีก เช่น ลิ้นฟ้า (เลย, ภาคอีสาน), กาโด้โด้ง (กาญจนบุรี), ดุแก ดอก๊ะ ด๊อกก๊ะ (แม่ฮ่องสอน), เบโด (จังหวัดนราธิวาส), มะลิ้นไม้ มะลิดไม้ ลิดไม้ (ภาคเหนือ), โชยเตียจั้ว (จีน) เป็นต้น
ต้นเพกาจัดเป็นไม้ยืนต้นและเป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่มีถิ่นกำเนิดในอินเดียแลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และรวมถึงประเทศไทยบ้านเราด้วย โดยพบได้ตามป่าเบญจพรรณและป่าชื้นทั่วไป แม้ว่าต้นเพกาจะมีอยู่ในหลาย ๆ ประเทศ แต่มีเพียงประเทศไทยเท่านั้นที่นำเพกามารับประทานเป็นผัก (จัดอยู่ในหมวดดอกฝัก)
ฝักอ่อนของเพกา ต่อน้ำหนัก 100 กรัม จะมีวิตามินซีถึง 484 มิลลิกรัม ซึ่งถือว่าสูงมาก ๆ และยังประกอบไปด้วยมีวิตามินเอสูงถึง 8,300 มิลลิกรัม (ซึ่งพอ ๆ กับตำลึงเลยทีเดียว), ธาตุแคลเซียม 13 มิลลิกรัม, ธาตุฟอสฟอรัส 4 มิลลิกรัม, โปรตีน 0.2 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 14 กรัม, ไขมัน 0.5 กรัม, เส้นใย 4 กรัม
ยอดอ่อนของเพกา ต่อน้ำหนัก 100 กรัม จะมีวิตามินบี 1 0.18 มิลลิกรัม, วิตามินบี 2 0.7 มิลลิกรัม, วิตามินบี 3 2.4 มิลลิกรัม, โปรตีน 6.4 กรัม, ไขมัน 2.6 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 13 กรัม และให้พลังงาน 101 กิโลแคลอรี
เพกา มีสรรคุณเป็นยา ตามตำรายาสมุนไพรนั้นเราจะใช้ส่วนต่าง ๆ ของต้นเพกาตั้งแต่ราก เปลือกต้น ฝัก ใบ รวมไปถึงเมล็ด ซึ่งจัดเป็นสมุนไพร “เพกาทั้ง 5” และหญิงตั้งครรภ์ไม่ควรรับประทานฝักอ่อนของเพกา เพราะอาจทำให้แท้งบุตรได้ เนื่องจากฝักของเพกามีฤทธิ์ร้อนมาก !
ตามความเชื่อของคนโบราณนั้นห้ามปลูกเพกาไว้ในบริเวณบ้าน เนื่องจากฝักของเพกามีรูปร่างคล้ายดาบหรือปลายหอก อาจทำให้ผู้อยู่อาศัยมีเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจเลือกตกยางออกได้ และเพกายังเป็นชื่อเรียกของเหล็กประดับยอดพระปรางค์ เนื่องจากมีรูปร่างคล้ายฝักของเพกา จึงถือว่าเป็นของสูงไม่คู่ควรแก่การนำมาปลูกไว้ในบ้าน แต่ถ้าจะไปปลูกไว้ตามไร่ตามสวน หรือรั้วบ้านก็คงจะไม่เป็นไร
สรรพคุณของเพกา
- สมุนไพรเพกาช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย ช่วยชะลอการเสื่อมของเซล์ต่าง ๆในร่างกาย (ฝักอ่อน)
- ช่วยชะลอการเกิดริ้วรอยแห่งวัยและช่วยชะลอวัย (ฝักอ่อน)
- ช่วยบำรุงและรักษาสายตา (ฝักอ่อน)
- ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งได้ (ฝักอ่อน)
- ใช้เป็นยาบำรุงธาตุ (ราก, ฝักอ่อน, เพกาทั้ง 5 ส่วน)
- ช่วยทำให้เจริญอาหาร (ราก, ใบ)
- ช่วยรักษาโรคเบาหวาน ด้วยการใช้เปลือกเพกา เปลือกต้นไข่เน่า ใบไข่เน่า แก่นลั่นทม บอระเพ็ด ใบเลี่ยน รากหญ้าคา รวม 7 อย่าง น้ำหนักอย่างละ 2 บาท นำมาต้มกับน้ำดื่มครั้งละ 1 แก้วเล็ก ก่อนอาหาร เช้าและเย็น (เปลือก)
- การรับประทานฝักเพกาหรือยอดอ่อนเพกาจะช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในกระแสเลือดได้ (ฝัก, ยอดอ่อน)
- ช่วยบำรุงโลหิต (เปลือกต้น)
- ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต (เปลือกต้น)
- ช่วยขับเลือด ดับพิษในโลหิต (เปลือกต้น)
- การกินฝักอ่อนของเพกาจะช่วยทำให้ร่างกายอบอุ่น (ฝักอ่อน)
- ใช้แก้ร้อนใน (ฝักแก่)
- ช่วยบรรเทาอาการปวดไข้ ด้วยการใช้ใบเพกาต้มน้ำดื่ม (ใบ)
- ช่วยแก้ไข้สันนิบาต (ราก)
- ช่วยแก้ไข้เพื่อลม เพื่อเลือด (เพกาทั้ง 5 ส่วน)
- ช่วยแก้ละอองไข้ หรือโรคเยื่อเมือกในช่องจมูกอักเสบ (เปลือกต้นตำผสมกับสุรา)
- ช่วยแก้และบรรเทาอาการไอ ด้วยการใช้เมล็ดแก่เพกาประมาณครึ่งกำมือถึงหนึ่งกำมือ (1.5 – 3 กรัม) ใส่ในหม้อที่เติมน้ำ 300 มิลลิลิตร แล้วต้มไฟอ่อน ๆ จนเดือดประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วนำมาดื่มครั้งละ 1 แก้ว เช้า กลางวัน เย็น จนกว่าอาการจะดีขึ้น (ฝักอ่อน, เมล็ด)
- ช่วยขับเสมหะ ด้วยการใช้เมล็ดแก่เพกาประมาณครึ่งกำมือถึงหนึ่งกำมือ (1.5 – 3 กรัม) ใส่ในหม้อที่เติมน้ำ 300 มิลลิลิตร แล้วต้มไฟอ่อน ๆ จนเดือดประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วนำมาดื่มครั้งละ 1 แก้ว เช้า กลางวัน เย็น จนกว่าอาการจะดีขึ้น (ฝักอ่อน, เปลือกต้น, เมล็ด)
- ช่วยแก้อาการอาเจียนไม่หยุด ด้วยการใช้เปลือกต้นเพกาตำผสมกับน้ำส้มที่ได้จากรังมดแดงหรือเกลือสินเธาว์ (เปลือกต้นสด)
- ช่วยเรียกน้ำย่อย (ราก)
- ช่วยบรรเทาอาการแน่นหน้าอก (เมล็ด)
- ช่วยบำรุงกระเพาะ ตับ และปอด (เมล็ด)
- ช่วยแก้อาการปวดท้อง ด้วยการใช้ใบเพกาต้มกับน้ำดื่ม (ใบ)
- ช่วยแก้อาการจุกเสียกแน่นท้อง (เปลือกต้น)
- ช่วยแก้โรคบิด (เปลือกต้น, ราก)
- ช่วยรักษาท้องร่วง (เปลือกต้น, ราก, เพกาทั้ง 5 ส่วน)
- ช่วยขับลมในลำไส้ (เปลือกต้น, ใบ)
- ใช้เป็นยาขับถ่าย ช่วยระบายท้อง (เมล็ด)
- ช่วยในการขับผายลม (ฝักอ่อน)
- ช่วยรักษาและบรรเทาอาการของโรคริดสีดวงทวาร ด้วยการใช้เปลือกต้นเพการวมกับสมุนไพรชนิดอื่น (เปลือกต้น)
- ช่วยขับน้ำเหลืองเสีย ทำให้น้ำเหลืองเป็นปกติ (เปลือกต้น, เพกาทั้ง 5 ส่วน)
- ช่วยลดการอักเสบ อาการแพ้ต่าง ๆ (เปลือกต้น)
- ใช้เป็นยาฝาดสมาน ช่วยสมานแผล (เปลือกต้น, เพกาทั้ง 5 ส่วน)
- ช่วยรักษาอาการฟกช้ำ ปวดบวม อักเสบ ด้วยการใช้เปลือกต้นหรือรากเพกากับน้ำปูนใสทาลดบริเวณที่เป็น (เปลือกต้น, ราก, เพกาทั้ง 5 ส่วน)
- ช่วยรักษาฝี ลดอาการปวดฝี ด้วยการใช้เปลือกต้นนำมาฝนแล้วทาบริเวณรอบ ๆบริเวณที่เป็นฝี (เปลือกต้น)
- ช่วยแก้อาการคัน ด้วยการใช้เปลือกต้นเพการวมกับสมุนไพรชนิดอื่น (เปลือกต้น)
- ใช้เป็นยาแก้พิษสุนัขบ้ากัด ด้วยการใช้เปลือกต้นเพกานำมาตำแล้วพอกบริเวณที่ถูกกัด (เปลือกต้น)
- ช่วยแก้โรคงูสวัด ด้วยการใช้เปลือกต้นเพกา เปลือกคูณ รากต้นหมูหนุน นำมาฝนใส่น้ำทาบริเวณที่เป็น จะช่วยให้หายเร็วขึ้น (เปลือกต้น)
- เปลือกต้นมีสารสกัดฟลาโวนอยด์ที่มีฤทธิ์ยับยั้งการบีบตัวของกล้ามเนื้อเรียบของหนูทดลอง (เปลือกต้น)
- เปลือกต้นผสมกับสุราใช้กวาดปากเด็ก ช่วยแก้พิษซางได้ (เปลือกต้น)
- แก้โรคไส้เลื่อน (ลูกอัณฑะลง) ด้วยการใช้เปลือกต้นเพกา รากเขยตาย หญ้าตีนนก นำมาตำรวมกันให้ละเอียด แล้วนำไปละลายกับน้ำข้าวเช็ด ใช้ขนไก่ชุบพาด นำมาทาลูกอัณฑะ ให้ทาขึ้นอย่าทาลง (เปลือกต้น)
- ช่วยแก้องคสูตร (โรคที่เกิดเฉพาะในบุรุษ มีอาการเจ็บที่องคชาตและลูกอัณฑะ) ด้วยการใช้เปลือกต้นเพการวมกับสมุนไพรชนิดอื่น (เปลือกต้น)
- ช่วยแก้โรคมานน้ำ หรือภาวะที่มีน้ำขังอยู่ในช่องท้องจำนวนมาก เปลือกต้นผสมกับสมุนไพรชนิดอื่น (เปลือกต้น)
- เปลือกต้นตำผสมกับสุราใช้ฉีดพ่นตามตัวหญิงคลอดบุตรที่ทนอาการอยู่ไฟไม่ได้ ทำให้ผิวหนังชา (เปลือกต้น)
- ช่วยแก้ละอองขึ้นในปาก คอ และลิ้น หรืออาการฝ้าขาวที่ขึ้นในปาก (เปลือกต้นตำผสมกับสุรา)
- ช่วยขับน้ำคาวปลา (เปลือกต้น)
- ช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น (เปลือกต้น)
- ฝักอ่อนใช้รับประทานเป็นผัก (ฝักอ่อน)
- เชื่อว่าการกินเพกาจะไม่ทำให้เจ็บป่วย มีเรี่ยวมีแรงและช่วยบำรุงสมรรถภาพทางเพศอีกด้วย (ฝัก)
- ผงเปลือกผสมกับขมิ้นชัน ใช้เป็นยาแก้ปวดหลังของม้าได้ (เปลือก)
- ใช้เมล็ดเพกาผสมกับน้ำจับเลี้ยงดื่ม จะช่วยทำให้มีรสชาติที่กลมกล่อมน่าดื่มมากขึ้น และจะช่วยทำให้ชุ่มคอและรู้สึกสดชื่น (เมล็ด)
- การใส่เปลือกต้นเพกาลงไปในอาหารจะช่วยแก้เผ็ด แก้เปรี้ยวได้ (ใส่เปลือกต้นผสมกับมะนาว มะนาวก็ไม่เปรี้ยว) (เปลือกต้น)
- เปลือกของลำต้นนำมาใช้ทำสีย้อมผ้า ซึ่งให้สีเขียวอ่อน (เปลือกต้น)
- เนื้อไม้ของเพกามีสีขาวละเอียด มีความเหนียว เหมาะสำหรับนำมาใช้ทำงานแกะสลักต่าง ๆ
- นิยมรับประทานฝักอ่อนหรือยอดอ่อนของเพกาเป็นผัก ส่วนดอกนิยมนำมาต้มหรือลวกรับประทานร่วมกับน้ำพริก ลาบ ก้อย ยำ หรือจะนำฝักอ่อนไปหั่นตามขวางเป็นชิ้นเล็ก ๆ ทำเป็นแกง ผัด (ฝักมีรสขม ต้องนำไปเผาไฟให้สุกจนผิวนอกไหม้เกรียม และขูดผิวที่ไหม้ไฟออกจะช่วยลดรสขมได้)
- นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปของยาสมุนไพรสำเร็จรูป หรือที่เรียกว่าแคปซูลเพกา ก็สะดวกไปอีกแบบสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการความยุ่งยาก
แหล่งอ้างอิง : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, www.rspg.or.th, www.doctor.or.th, www.bloggang.com (วิชิต สุวรรณปรีชา), gotoknow.org (ขจิต ฝอยทอง), มหัศจรรย์สมุนไพรจีน
ภาพประกอบ : www.bansuanporpeang.com (เสิน), เว็บไซต์ bedo.or.th, เว็บไซต์ gotoknow.org
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)