เปล้าน้อย สรรพคุณและประโยชน์ของเปล้าน้อย 28 ข้อ ! (เปล้าท่าโพ)

เปล้าน้อย สรรพคุณและประโยชน์ของเปล้าน้อย 28 ข้อ ! (เปล้าท่าโพ)

เปล้าน้อย

เปล้าน้อย ชื่อสามัญ Thai croton

เปล้าน้อย ชื่อวิทยาศาสตร์ Croton fluviatilis Esser[1], Croton stellatopilosus H.Ohba[6], Croton sublyratus Kurz (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Oxydectes sublyrata (Kurz) Kuntze)[2] จัดอยู่ในวงศ์ยางพารา (EUPHORBIACEAE)

สมุนไพรเปล้าน้อย มีชื่อเรียกอื่นว่า เปล้าท่าโพ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) เป็นต้น[1],[2],[3]

ลักษณะของเปล้าน้อย

  • ต้นเปล้าน้อย จัดเป็นไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้น เป็นไม้ผลัดใบ มีความสูงของต้นประมาณ 1-4 เมตร แตกกิ่งก้านตั้งแต่โคนต้น ที่เปลือกลำต้นมีสีน้ำตาลปนเทา ผิวค่อนข้างเรียบ[1] และจะนิยมขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อหรือรากไหลเนื่องจากจะได้พันธุ์แท้ แต่ถ้าเพาะจากเมล็ดอาจจะกลายพันธุ์ได้[2] สามารถพบได้ตามป่าเบญจพรรณ โดยจะเจริญเติบโตได้ดีในเขตร้อน ในพื้นดินร่วนปนทรายที่ระบายน้ำได้ดี เช่น ในจังหวัดปราจีนบุรี นครพนม กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น[3]

ต้นเปล้าน้อย

  • ใบเปล้าน้อย ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปใบหอกรียาว มีความยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 4-6 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบเรียว แผ่นใบเรียบเป็นมันสีเขียวเข้ม เมื่อใบแก่จะเปลี่ยนเป็นสีส้ม ส่วนขอบใบเป็นจักคล้ายซี่ฟัน[1]

ใบเปล้าน้อย

  • ดอกเปล้าน้อย ออกดอกเป็นช่อ ช่อดอกมีขนาดเล็ก โดยจะออกบริเวณซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกย่อยมีขนาดเล็ก เป็นแบบแยกเพศแต่อยู่ในช่อเดียวกัน กลีบดอกเป็นเส้นเมื่อบานแล้วจะโค้งไปด้านหลัง โดยกลีบดอกมีประมาณ 10-15 กลีบ มีสีขาวนวล[1]

ดอกเปล้าน้อย

  • ผลเปล้าน้อย ลักษณะของผลเป็นรูปทรงค่อนข้างกลม เปลือกผลเมื่อแห้งมีสีน้ำตาลและแตกได้ง่าย โดยผลจะแบ่งออกเป็นพู 3 พู มีรอยกลีบเลี้ยงติดอยู่ที่ก้นผล ในแต่ละพูจะมีเมล็ดอยู่ 1 เมล็ด เมล็ดมีสีน้ำตาลผิวเรียบ มีลายเส้นตามแนวยาวสีขาวหนึ่งเส้น มีขนาดกว้างประมาณ 2-3 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร โดยผลจะพัฒนาจนแก่จัดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์จนถึงเดือนมีนาคม[1],[3]

ผลเปล้าน้อย

สรรพคุณของเปล้าน้อย

  1. ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (ใบ, เปลือก)[2],[3]
  2. ช่วยแก้เลือดร้อน (เปลือกและกระพี้)[3]
  3. ช่วยรักษาอาการไอ (ใบ, แก่น, ดอก, เปลือก)[1]
  4. ช่วยแก้อาการไอเป็นเลือด (ใบ, ราก)[2]
  5. ช่วยขับเสมหะ (ใบ, แก่น, ดอก, เปลือก)[1]
  1. ช่วยกระจายลม (แก่น)[3]
  2. รากมีรสร้อน ช่วยแก้ลมขึ้นเบื้องบนให้หายเป็นปกติ (ราก)[1]
  3. เปลือกต้นมีรสร้อน ช่วยในการย่อยอาหาร (เปลือกต้น, กระพี้)[1],[3]
  4. ช่วยรักษาโรคท้องเสีย (เปลือกและใบ)[1],[3]
  5. รากใช้ต้มกับน้ำดื่มขณะอุ่น ช่วยแก้โรคกระเพาะอาหาร (ราก[1], ใบ[2])
  6. ใบใช้เป็นยารักษาแผลในกระเพาะอาหารและในลำไส้ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีสาร “เปลาโนทอล” (Plaunotol) ที่มีฤทธิ์ลดปริมาณการหลั่งของกรดในกระเพาะให้น้อยลง และทำให้ระบบป้องกันการดูดซับกรดของเนื้อเยื่อบุกระเพาะที่ถูกทำลายจากสารบางชนิดให้กลับคืนปกติ อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อบุในลำไส้ที่เสียไป ทำให้แผลหายเร็วยิ่งขึ้นขึ้น และมีฤทธิ์ช่วยสมานแผลในกระเพาะอาหารและในลำไส้ได้เป็นอย่างดี โดยสารชนิดนี้ควรใช้ครั้งละ 80 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์ จะทำให้อาการดีขึ้นถึง 80-90% แต่อาจมีอาการข้างเคียงบ้าง แต่ก็น้อยรายนัก และมีความเป็นพิษต่ำ คือ อาจมีอาการท้องเสีย ท้องร่วง แน่นท้อง ท้องผูก มีผื่นขึ้น เป็นต้น โดยสาร Plaunotol จะถูกดูดซึมจากทางเดินอาหารได้ดี แต่ส่วนใหญ่จะถูก Oxidise ในตับ และจะถูกขับออกมาทางปัสสาวะและทางอุจจาระ ซึ่งผลจากการทดสอบฤทธิ์ของเปลาโทนอลในคนไข้โรคกระเพาะที่มีแผลในกระเพาะอาหาร (ผลขนาดไม่เกิน 1 เซนติเมตร) ได้ผลว่า คนไข้จำนวน 8 ใน 10 คน หลังได้รับยาเปลาโนทอลเข้าไป แผลในกระเพาะอาหารจะหายสนิทภายในระยะเวลา 6 สัปดาห์ (ใบ)[1],[2],[5]
  7. ช่วยขับผายลม (ราก)[3]
  8. เปล้าน้อยใช้เป็นยาขับพยาธิ ฆ่าพยาธิ (ดอก)[1],[2],[3] ช่วยแก้พยาธิต่าง ๆ (ใบ, ราก)[2]
  9. ช่วยขับไส้เดือน (แก่น)[3]
  10. ช่วยแก้ริดสีดวงทวาร (ใบ, ราก)[2]
  11. ช่วยบำรุงโลหิตประจำเดือนของสตรี (ใบ, เปลือกและใบ)[1],[2],[3]
  12. ลูกใช้ดองสุรากินเป็นยาขับโลหิตระดูในเรือนไฟ (เข้าใจว่าเป็นผล)[3]
  13. ช่วยขับโลหิต (แก่น)[1],[2]
  14. ช่วยรักษาแผล สมานแผล (ใบ, แก่น, ดอก, เปลือก)[1]
  15. ช่วยแก้โรคน้ำเหลืองเสีย (ผล)[2]
  16. ผลมีรสร้อน ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาขับหนองให้กระจาย (ผล)[1]
  17. ช่วยขับเลือดหนองให้ตก (แก่น)[3]
  18. ช่วยแก้อาการคันตามตัว (ใบ, ราก)[1],[2]
  19. ช่วยรักษาโรคผิวหนัง กลาก เกลื้อน (ใบ, ราก, เปลือกและใบ)[1],[2]
  20. ช่วยรักษามะเร็งเพลิง (ใบ, ราก)[2]
  21. แก่นมีรสร้อน ช่วยแก้อาการช้ำใน (แก่น)[1]

หมายเหตุ : สารเปลาโนทอลมีอยู่เกือบทุกส่วนของต้นเปล้าน้อย แต่มีปริมาณมากน้อยแตกต่างกันออกไป โดยส่วนที่มีสารเปลาโนทอลสูงสุดคือส่วนของใบที่อยู่บริเวณปลายช่อที่ได้รับแสงแดด และใบที่แก่จะมีสารเปลาโนทอลน้อยกว่าใบอ่อน ดังนั้น ถ้าจะเก็บมาใช้เองก็ควรเด็ดเอาเฉพาะใบอ่อนที่อยู่ปลายยอดในช่วงความยาวประมาณ 5-6 นิ้วเท่านั้น และไม่ต้องเอาก้าน[4]

สมุนไพรเปล้าน้อย

ประโยชน์ของเปล้าน้อย

  • Plaunotolใบเปล้าน้อยสามารถใช้รับประทานเป็นอาหารได้ ด้วยการรับประทานร่วมกับน้ำพริก หรือจะใช้ใบสดนำมาชงเป็นชาสมุนไพรดื่มก็ได้เช่นกัน แต่ยังมีข้อจำกัดก็คือ ใบเปล้าน้อยมีรสขมมาก อีกทั้งปริมาณของสารเปลาโนทอลก็มีอยู่ค่อนข้างต่ำ จึงใช้รับประทานครั้งละมาก ๆ ไม่ได้ และไม่เพียงพอต่อการรักษาอาการเจ็บป่วยที่รุนแรงหรือเฉียบพลันเหมือนกับการใช้ยาเปลาโนทอลแบบสำเร็จรูป แต่ทั้งนี้สามารถใช้รับประทานเพื่อเป็นการรักษาสุขภาพระยะยาวได้ เนื่องจากจะช่วยลดโอกาสการเจ็บป่วยแบบเรื้อรัง ลดอาการกำเริบของโรค ทำให้มีสุขภาพดีขึ้น[4]
  • สมุนไพรเปล้าน้อย ใบและรากสามารถนำมาทำเป็นยาปฏิชีวนะได้ โดยใบเปล้าน้อยสามารถนำไปสกัดเป็นยา “เปลาโนทอล” (Plaunotol) หรือยารักษาโรคกระเพาะ โดยจะเริ่มเก็บใบได้เมื่อต้นมีอายุ 2 ปีขึ้นไป ซึ่งในหนึ่งปีจะสามารถเก็บผลผลิตจากต้นเดิมได้แค่ 3 ครั้ง ถ้ามีการบำรุงดูแลที่ดี สำหรับวิธีการเก็บก็คือการตัดช่อใบจากส่วนยอดของแต่ละกิ่ง โดยนับจากปลายยอดลงมาไม่เกินใบที่ 10 หรือยาวไม่เกิน 6 นิ้ว เมื่อเก็บใบมาได้ก็นำมาผึ่งในร่มจนแห้ง แล้วนำไปบรรจุในภาชนะส่งโรงงาน เพื่อใช้ผลิตเป็นยาเปลาโนทอลในรูปเม็ดสำเร็จ แบบซอง หรือแบบแคปซูลซึ่งแพทย์จะเป็นผู้สั่งจ่าย[2],[4],[5]
เอกสารอ้างอิง
  1. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “เปล้าน้อย“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com.  [15 ธ.ค. 2013].
  2. สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “เปล้าน้อย“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th.  [15 ธ.ค. 2013].
  3. การสำรวจความหลากหลายของพืชสมุนไพร จากตลาดพื้นเมืองทางภาคตะวันตกของประเทศไทย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “เปล้าน้อย“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: pirun.kps.ku.ac.th/~b4816187/.  [15 ธ.ค. 2013].
  4. สถาบันเทคโนโลยีชีวภาพและวิศวกรรมพันธุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.  “การปลูกเปล้าน้อย“.  (ว่าที่ร้อยเอกวีระเดช สุขเอียด).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.ibge.chula.ac.th.  [15 ธ.ค. 2013].
  5. ผู้จัดการออนไลน์.  “เปล้าน้อย ที่คนไทยรอคอยมากว่า 20 ปี!“.  (รศ.ดร.อมร เพชรสม).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.manager.co.th.  [15 ธ.ค. 2013].
  6. อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “เปล้าน้อย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/.  [31 ส.ค. 2015].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by vanlaphoang), www.the-than.com, เว็บไซต์ thaicrudedrug.com (by Sudarat Homhual), www.phargarden.com (by Sudarat Homhual)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด