เบญจมาศน้ำเค็ม สรรพคุณของเบญจมาศน้ำเค็ม 15 ข้อ !

เบญจมาศน้ำเค็ม

เบญจมาศน้ำเค็ม ชื่อวิทยาศาสตร์ Wollastonia biflora (L.) DC. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Wedelia biflora (L.) DC.) จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)[1]

สมุนไพรเบญจมาศน้ำเค็ม มีชื่อท้องถิ่นอื่นว่า ผักคราดทะเล (กรุงเทพฯ)

ลักษณะของเบญจมาศน้ำเค็ม

  • ต้นเบญจมาศน้ำเค็ม จัดเป็นพรรณไม้พุ่มกึ่งเลื้อยทอดยอดคลุมพื้นดิน สูงได้ประมาณ 1.5-5 เมตร แตกกิ่งก้านสาขาออกรอบ ๆ ต้นไม่เป็นระเบียบ ลำต้นมีลักษณะเป็นสัน ตามลำต้นมีขนขึ้นกระจายปกคลุมอยู่ทั่วไป มีรากฝอยแตกออกตามข้อรอบลำต้นที่สัมผัสดิน ลำต้นเป็นไม้เนื้ออ่อนเร็วเล็ก มีกิ่งมาก ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด เป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่ชอบอยู่ในที่ชื้น ชอบดินทรายหรือดินร่วนปนทราย มักพบขึ้นในที่ชื้นแฉะ ริมน้ำ หรือตามป่าชายเลนทั่วไป[1]

ต้นผักคราดทะเล

  • ใบเบญจมาศน้ำเค็ม ใบเป็นใบเดี่ยว ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนใบสอบหรือเป็นรูปลิ่ม ส่วนขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย ๆ ห่าง ใบที่อยู่ด้านบนจะมีขนาดเล็กกว่าใบที่อยู่ด้านล่าง ตามผิวใบขนแข็งขึ้นปกคลุมทั้งสองด้าน เนื้อใบนุ่มอุ้มน้ำ แผ่นใบเป็นสีเขียว มีขนาดกว้างประมาณ 1-3.5 นิ้ว และยาวประมาณ 3-5.5 นิ้ว เส้นใบเห็นเด่นชัด 3 ใบจากโคนใบ ก้านใบยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร[1]

ใบผักคราดทะเล

  • ดอกเบญจมาศน้ำเค็ม ออกดอกเป็นช่อบริเวณส่วนปลายของลำต้น แต่ส่วนมากแล้วจะออกเป็นดอกเดี่ยวมากกว่า โดยดอกจะเป็นสีเหลือง เป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ กลีบดอกเป็นรูปท่อ ยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร ปลายกลีบจักเป็นแฉก 5 แฉก เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 0.5-1 นิ้ว ส่วนก้านดอกยาวได้ประมาณ 0.5-3 นิ้ว ออกดอกในช่วงประมาณเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน[1]

ดอกผักคราดทะเล

เบญจมาศน้ำเค็ม

  • ผลเบญจมาศน้ำเค็ม ผลเป็นผลสีน้ำตาลเข้ม แห้ง ปลายผลตัด โคนผลสอบแคบ มีสัน 3 สัน และมีขนแข็งที่ตอนบนของผล ยาวได้ประมาณ 3-3.5 มิลลิเมตร[1]

ผลผักคราดทะเล

สรรพคุณของเบญจมาศน้ำเค็ม

  1. ต้นนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ปวดศีรษะ (ต้น)[1]
  2. ต้นนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ไข้ แก้ไข้มาลาเรียหรือไข้จับสั่น (ต้น)[1],[2]
  3. ดอกใช้เป็นปรุงเป็นยาถ่ายอย่างแรง (ดอก)[1]
  4. ใบนำมาคั้นเอาน้ำผสมกับนมวัว ใช้กินเป็นยาแก้ท้องผูก ถ่ายท้อง (ใบ)[1],[2]
  5. รากนำมาต้มกับน้ำเป็นยาขับปัสสาวะ แก้นิ่วในทางเดินปัสสาวะ (ราก)[1],[2]
  6. ช่วยแก้ภาวะปัสสาวะเป็นเลือด (ทั้งต้น)[2]
  7. รากนำมาต้มเป็นยาขับระดูของสตรี (ราก)[1]
  8. รากนำมาต้มกับน้ำเป็นยารักษากามโรคชนิดหนองใน โรคโกโนเรีย (ราก)[1]
  9. ใบนำมาคั้นเอาน้ำผสมกับนมวัว ใช้กินเป็นยาบำรุงของสตรีหลังคลอดบุตร (ใบ)[1]
  10. ทั้งต้นมีสรรพคุณช่วยลดอาการบวม ช่องคลอดอักเสบ ปวดแผล (ทั้งต้น)[2]
  11. รากใช้ตำพอกรักษาแผล (ราก)[1] ส่วนใบใช้ตำพอกรักษาแผลเรื้อรัง แผลถูกของมีคมบาด แผลฟกช้ำ แมลงสัตว์กัดต่อย (ใบ)[1]
  12. ใช้รักษาแผลเปื่อย (ทั้งต้น)[2]
  13. ใบใช้ตำพอกรักษาผิวหนังเป็นด่าง เส้นเลือดขอด (ใบ)[1]
  14. ทั้งต้นใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนัง ช่วยแก้อาการคัน ลดอาการระคายเคือง (ทั้งต้น)[2]
  15. รากใช้ตำพอกรักษาโรคหิด (ราก)[1]

ข้อควรระวัง : ใบแก่และลำต้น หากนำมาผสมกันจะเป็นพิษ สัตว์กินเข้าไปแล้วจะทำให้อาเจียนและตายได้[1]

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “ผักคราดทะเล”.  หน้า 477-478.
  2. มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 1767 คอลัมน์ : สมุนไพร.  “เบญจมาศน้ำเค็ม Wedelia biflora (L.) DC. COMPOSITAE (ASTERACEAE)”. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by 翁明毅, Russell Cumming, judymonkey17)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด