เนื้องอกมดลูก (Myoma uteri) อาการ, สาเหตุ, การรักษา ฯลฯ

เนื้องอกมดลูก

เนื้องอกมดลูก, เนื้องอกในมดลูก หรือ เนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก (Uterine fibroid, Myoma uteri, Fibromyomas, Leiomyoma) เป็นเนื้องอกชนิดธรรมดา ไม่ใช่เนื้อร้าย (มะเร็ง) ส่วนใหญ่เนื้องอกมดลูกจะมีขนาดเล็ก ไม่มีอาการแสดง ไม่มีอันตรายใด ๆ และผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องรักษาแต่อย่างใด มีส่วนน้อยที่ผู้ป่วยจะมีอาการแสดงแต่ก็สามารถรักษาให้หายขาดได้

โรคเนื้องอกมดลูกเป็นโรคที่พบได้บ่อยมากประมาณ 25% ของผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 35 ปี ขึ้นไป พบได้มากที่สุดในช่วงอายุ 40-50 ปี (แต่อาจพบในหญิงวัยสาวก็ได้) โดยเฉพาะในผู้หญิงผิวดำ (พบมากกว่าผิวขาวและชาวตะวันออกประมาณ 2-5 เท่า) ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วแต่ยังไม่มีบุตร ผู้หญิงที่มีน้ำหนักตัวมาก (โดยเฉพาะมากกว่า 70 กิโลกรัม) และในผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นเนื้องอกมดลูก ส่วนในผู้หญิงที่หมดประจำเดือนแล้วมักจะไม่เป็นเนื้องอกมดลูก

ชนิดของเนื้องอกมดลูก

เนื้องอกมดลูกอาจมีเพียงก้อนเดียวหรือหลายก้อนก็ได้ แต่ส่วนใหญ่มักเกิดหลายก้อนในกล้ามเนื้อมดลูก ทำให้มดลูกโตไม่สม่ำเสมอ ผิวมักจะเป็นลอน ๆ ลักษณะค่อนข้างแข็ง มีขนาดแตกต่างกันได้มาก (อาจมีขนาดเล็กเท่ากับเมล็ดถั่ว หรือมีขนาดใหญ่ได้เท่าผลแตงโมหรือมดลูกของสตรีตั้งครรภ์ 6-7 เดือน) บางชนิดโตช้า แต่บางชนิดโตเร็ว และสามารถพบเกิดได้ในทุกที่ของมดลูก ซึ่งในแต่ละตำแหน่งก็จะมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป ได้แก่

  1. เนื้องอกมดลูกที่กล้ามเนื้อมดลูก (Intramural fibroid) เป็นตำแหน่งที่พบได้บ่อยที่สุด โดยเป็นเนื้องอกที่ตำแหน่งก้อนเนื้องอกโตขึ้นภายในชั้นกล้ามเนื้อมดลูก และอาจทำให้มดลูกหรือรูปร่างภายนอกของมดลูกบิดเบี้ยว ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการผิดปกติได้
  2. เนื้องอกมดลูกที่ผิวด้านนอกมดลูก (Subserosal fibroid) คือ เนื้องอกที่ตำแหน่งก้อนเนื้องอกโตขึ้นและดันออกมาที่ผิวด้านนอกของมดลูก โดยอาจจะมีฐานกว้างหรือฐานแคบแล้วแต่ลักษณะของเนื้องอกนั้น หากมีฐานแคบลักษณะเป็นก้านยื่นมักจะถูกเรียกว่า “Pedunculated subserosal fibroid” โดยทั่วไปเนื้องอกชนิดนี้มักไม่แสดงอาการ ยกเว้นฐานแคบที่อาจเกิดการบิดขั้วได้
  3. เนื้องอกมดลูกที่โพรงมดลูก (Submucosal fibroid) เป็นตำแหน่งที่พบได้น้อยที่สุดประมาณ 5% ของเนื้องอกทั้งหมด โดยเป็นเนื้องอกที่ตำแหน่งก้อนเนื้องอกโตขึ้นและดันเข้าไปในโพรงมดลูก แต่ยังอยู่ใต้เยื่อบุมดลูก และอาจทำให้โพรงมดลูกบิดเบี้ยวไปจากเดิม หากมีฐานแคบลักษณะเป็นก้านยื่นมักจะถูกเรียกว่า “Pedunculated subserosal fibroid

สาเหตุของเนื้องอกมดลูก

เนื้องอกมดลูกเป็นเนื้องอกที่เกิดจากการแบ่งตัวของเซลล์กล้ามเนื้อมดลูกมากผิดปกติจนกลายเป็นก้อนเนื้องอกที่มีลักษณะเป็นก้อนหยุ่น ๆ สีซีด แตกต่างจากเนื้อเยื่อโดยรอบ ซึ่งสาเหตุของการเกิดเนื้องอกมดลูกในปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัด แต่แพทย์สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากปัจจัย เช่น

  • กรรมพันธุ์ เพราะพบว่าผู้ป่วยบางรายอาจมีประวัติโรคนี้ในครอบครัว จึงเชื่อว่าอาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางกรรมพันธุ์
  • ฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เพิ่มสูงขึ้น เพราะพบว่าฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่สร้างจากรังไข่มีส่วนกระตุ้นให้เนื้องอกมดลูกเจริญเติบโตขึ้น เช่น ในขณะตั้งครรภ์ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ฮอร์โมนเอสโตรเจนมีระดับที่เพิ่มสูงขึ้น เนื้องอกมดลูกส่วนใหญ่ก็มักจะมีขนาดโตขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย แต่เมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนซึ่งเป็นช่วงที่ฮอร์โมนเอสโตรเจนมีระดับลดต่ำลงมาก เนื้องอกมดลูกก็มักจะฝ่อตัวเล็กลงในวัยนี้ นอกจากนี้ยังพบด้วยว่าในเนื้องอกมดลูกมีตัวรับ (Receptor) เอสโตรเจนมากกว่ามดลูกที่ปกติด้วย

อาการของเนื้องอกมดลูก

ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีเนื้องอกมดลูกขนาดเล็กและมักไม่ก่อให้เกิดอาการแสดงหรือมีอันตรายใด ๆ แต่จะมีเพียงส่วนน้อยประมาณ 20-30% เท่านั้นที่จะมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น (โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีก้อนเนื้องอกขนาดใหญ่ แต่บางครั้งก้อนเนื้องอกที่มีขนาดเล็ก ๆ อาจจะมีอาการแสดงก็ได้หากตั้งอยู่ภายในโพรงมดลูก ในขณะที่ก้อนเนื้องอกที่มีขนาดใหญ่แต่เป็นที่ด้านนอกของมดลูกอาจจะไม่มีอาการแสดง) ดังนั้น ผู้หญิงที่มีเนื้องอกมดลูกหลาย ๆ คนจึงมักไม่ทันรู้ตัวว่ากำลังเป็นเนื้องอกมดลูก เนื่องจากมักจะไม่มีอาการแสดงหรือมีความผิดปกติทางร่างกายปรากฏออกมาให้เห็น ซึ่งกว่าจะรู้ตัวว่าเป็นเนื้องอกมดลูกก็ต้องเข้ารับการตรวจร่างกายประจำปี ไม่ว่าจะเป็นการตรวจภายในหรือการตรวจอัลตราซาวนด์ช่องท้องหรือทางช่องคลอดก็ตาม

สำหรับในกลุ่มที่มีอาการแสดง มักเกิดจากก้อนเนื้องอกมดลูกที่มีขนาดใหญ่และอยู่ในบางตำแหน่งที่ไปกดอวัยวะข้างเคียง เช่น กระเพาะปัสสาวะ ท่อไต หรือลำไส้ แล้วส่งผลให้เกิดอาการหรือความผิดปกติตามมาได้ ดังเช่น

  • ประจำเดือนมามากหรือปวดประจำเดือนมากขึ้น (พบได้บ่อยประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยที่มีอาการ) ก้อนเนื้องอกที่มีขนาดใหญ่มักทำให้ผู้ป่วยมีเลือดประจำเดือนออกมากหรือออกกะปริดกะปรอยนานเป็นสัปดาห์ ๆ ร่วมกับมีอาการปวดประจำเดือน หรือปวดหน่วง ๆ ที่ท้อง หรือปวดหลังส่วนล่างแบบเรื้อรัง ซึ่งจากการที่มีเลือดออกมากนี้ก็อาจทำให้เกิดภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็กได้ (การเสริมธาตุเหล็กทดแทนจะช่วยรักษาภาวะซีดอันเนื่องมาจากการที่มีประจำเดือนมามากได้)
  • อาการท้องอืดท้องเฟ้อ ในกรณีที่ก้อนเนื้องอกมดลูกมีขนาดใหญ่ ผู้ป่วยอาจรู้สึกอึดอัด แน่นท้อง ไม่สบายท้อง ท้องบวม หรือท้องโตขึ้น (โดยเฉพาะที่บริเวณท้องน้อยหรืออุ้งเชิงกราน) และในบางรายอาจมีอาการปวดหลังร่วมด้วย
  • อาการของระบบทางเดินปัสสาวะและระบบทางเดินอาหาร ก้อนเนื้องอกที่โตยื่นมาทางหน้าท้องหรือก้อนเนื้องอกที่เบียดดันมดลูกมาทางหน้าท้อง อาจไปกดกระเพาะปัสสาวะ ส่งผลให้ผู้ป่วยปัสสาวะบ่อย เมื่อปวดปัสสาวะต้องรีบเข้าห้องน้ำทันที ปัสสาวะไม่สุด หรือปัสสาวะไม่ออก บางรายอาจมีการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะแทรกซ้อน บางรายอาจกดถูกท่อไต ทำให้เกิดภาวะท่อไตบวมและคั่งน้ำ (Hydroureter) และภาวะกรวยไตบวมและคั่งน้ำ (Hydrohephrosis) แต่ถ้าก้อนเนื้องอกหรือมดลูกโตยื่นไปทางด้านหลังของช่องท้อง ก็จะไปกดเบียดลำไส้ตรงและทวารหนัก ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการท้องผูก ริดสีดวงกำเริบได้
  • อาการเจ็บปวดบริเวณท้องน้อย โดยทั่วไปก้อนเนื้องอกจะไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวด นอกจากจะเกิดจากภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น การบิดขั้วของก้อนเนื้องอก (ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการปวดท้องอย่างฉับพลันรุนแรงและจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดฉุกเฉิน), การเสื่อมสภาพของก้อนเนื้องอก มีเลือดออกในก้อน หรือเกิดการอักเสบของก้อนเนื้องอก, มีการบีบตัวของมดลูกเพื่อขับเอาก้อนเนื้องอกชนิดที่อยู่ในโพรงมดลูกออก, มีการเปลี่ยนแปลงของก้อนเนื้องอกไปเป็นมะเร็ง
  • อาการปวดหรือเจ็บในขณะมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งจะเกิดขึ้นในกรณีที่ก้อนเนื้องอกโตยื่นไปในช่องคลอดหรือเป็นเนื้องอกที่ตำแหน่งปากมดลูก
  • การตกเลือดในช่องท้อง เป็นภาวะที่พบได้น้อยซึ่งเกิดจากมีการแตกหรือฉีกขาดของหลอดเลือดที่ผิวนอกของก้อนเนื้องอก ทำให้ผู้ป่วยมีอาการตกเลือดในช่องท้องคล้ายการตกเลือดจากการตั้งครรภ์นอกมดลูก
  • คลำได้ก้อนเนื้องอก ถ้าก้อนเนื้องอกมดลูกมีขนาดใหญ่มาก ๆ ผู้ป่วยอาจคลำได้ก้อนที่บริเวณท้องน้อยหรือมีอาการท้องโตคล้ายคนท้องได้
  • ภาวะมีบุตรยากและแท้งบุตรได้ง่าย ซึ่งจะเกิดขึ้นในกรณีที่ก้อนเนื้องอกโตยื่นเข้าไปในโพรงมดลูก แล้วทำให้เกิดการอุดตันของท่อนำไข่หรือขัดขวางการฝังตัวของตัวอ่อน (ประมาณ 25-35% ของสตรีที่มีเนื้องอกมดลูกจะพบร่วมกับภาวะมีบุตรยาก)
  • ภาวะแทรกซ้อนในขณะตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่แล้วการมีเนื้องอกในมดลูกไม่ได้ส่งผลเสียต่อการตั้งครรภ์มากนัก แต่ภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้ คือ อาการปวดที่ก้อนเนื้องอก (อันเนื่องมาจากก้อนเนื้องอกที่โตขึ้นอย่างรวดเร็วในขณะตั้งครรภ์ ทำให้เลือดมาเลี้ยงก้อนเนื้องอกไม่ทัน หรืออาจเกิดจากการบิดขั้วของก้อนเนื้องอก ซึ่งในกรณีหลังนี้พบได้น้อยมาก) และอาจทำให้แท้งบุตร คลอดก่อนกำหนด คลอดลำบากหรือมีความเสี่ยงต่อการผ่าคลอดเพิ่มขึ้น และอาจทำให้ตกเลือดภายหลังการคลอดได้ (เพราะทารกในครรภ์อาจอยู่ในตำแหน่งหรือท่าผิดปกติ หรือก้อนเนื้องอกไปขัดขวางการคลอดทางช่องคลอด)
อาการเนื้องอกมดลูก
IMAGE SOURCE : pregnancyandfertility.com

เนื้องอกมดลูกเป็นโรคที่ไม่ร้ายแรงและไม่ใช่มะเร็ง โอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงกลายเป็นมะเร็งในอนาคตเกิดขึ้นได้เพียงประมาณ 0.25-1.08% ซึ่งเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงนี้ขนาดของเนื้องอกจะโตเร็วและผู้ป่วยจะมีอาการตกเลือดร่วมด้วย

การวินิจฉัยเนื้องอกมดลูก

นอกจากการซักประวัติอาการ/อาการแสดงและการตรวจร่างกายทางหน้าท้องแล้ว แพทย์มักจะวินิจฉัยเนื้องอกมดลูกได้จากการตรวจภายในช่องคลอด ซึ่งจะช่วยให้พบก้อนเนื้องอก และอาจต้องมีการตรวจพิเศษอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย เช่น การตรวจอัลตราซาวนด์ทางหน้าท้องหรือทางช่องคลอด (การตรวจอัลตราซาวนด์นี้จะช่วยบอกได้ว่า อาการที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยหรือก้อนที่คลำได้จากการตรวจนั้นเกิดจากเนื้องอกมดลูกจริง ไม่ใช่โรคหรือก้อนที่เกิดจากโรคอื่น ๆ), การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT- scan), การถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI), การใช้กล้องส่องตรวจในช่องท้อง (Laparoscopy), การส่องกล้องตรวจในโพรงมดลูก (Hysteroscopy), การตรวจชิ้นเนื้อ, การตรวจทางรังสี (เช่น การตรวจ KUB และการตรวจ IVP) เป็นต้น

นอกจากนี้ อาจตรวจเลือดในรายที่ตกเลือดมากว่ามีภาวะโลหิตจางรุนแรงเพียงใด, อาจตรวจปัสสาวะในรายที่สงสัยว่ามีทางเดินปัสสาวะอักเสบแทรกซ้อน, ส่วนในรายที่มีเลือดออกกะปริดกะปรอย แพทย์จะทำการขูดมดลูกและส่งตรวจชิ้นเนื้อ เพื่อแยกสาเหตุจากมะเร็ง เป็นต้น
การตรวจพบเนื้องอกมดลูก แพทย์มักตรวจพบได้โดยบังเอิญจากการตรวจภายในช่องคลอด (เช่น จากการที่ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก) หรือการตรวจอัลตราซาวนด์บริเวณท้องน้อยด้วยสาเหตุอื่น ๆ เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่ก้อนเนื้องอกมักมีขนาดเล็ก ทำให้ไม่มีอาการแสดง

การแยกโรค

ผู้ที่มีเลือดออกทางช่องคลอดนานกว่า 7 วัน อาจมีสาเหตุมาจากโรคอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เนื้องอกมดลูกก็ได้ (หากมีอาการดังกล่าวควรรีบไปตรวจที่โรงพยาบาลโดยเร็ว) เช่น

  • ดียูบี (Dysfunction Uterine Bleeding – DUB) ซึ่งเป็นภาวะเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูกที่ตรวจไม่พบความผิดปกติของตัวมดลูกและรังไข่ ทำให้ผู้ป่วยมีประจำเดือนออกมาก หรือกะปริดกะปรอยนานเป็นสัปดาห์ โดยไม่มีอาการปวดท้องประจำเดือนร่วมด้วย
  • มะเร็งปากมดลูก (Cervical cancer) เมื่อมะเร็งลุกลามมากขึ้นจะพบว่ามีอาการเลือดออกจากช่องคลอดหรือมีเลือดออกภายหลังการร่วมเพศ
  • มะเร็งเยื่อบุมดลูก (Endometrial cancer) ผู้ป่วยมักมีอาการเลือดประจำเดือนออกมากหรือนานผิดปกติ
  • เยื่อบุมดลูกต่างที่ (Endometriosis) ผู้ป่วยมักมีอาการปวดประจำเดือนรุนแรงทุกเดือน มีเลือดออกทางช่องคลอดกะปริดกะปรอย
  • โรคเลือดออกง่าย เช่น โรคไอทีพี (Idiopathic Thrombocytopenic Purpura – ITP) ซึ่งจะทำให้มีเลือดออกตามที่ต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น มีเลือดกำเดา เลือดออกตามไรฟัน ถ่ายเป็นเลือด และมีประจำเดือนออกมาก

วิธีรักษาเนื้องอกมดลูก

ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าผู้หญิงที่เป็นเนื้องอกมดลูกเพียง 20-30% เท่านั้นที่จะมีอาการแสดงหรือมีความผิดปกติเกิดขึ้น จึงทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าตนเป็นเนื้องอกมดลูก ดังนั้น ในผู้หญิงปกติที่มีเพศสัมพันธ์แล้วควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำทุกปี เพราะหนึ่งในขั้นตอนการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกนี้ สูตินรีแพทย์ส่วนใหญ่ก็มักจะตรวจภายในช่องคลอดเพื่อหาความผิดปกติของมดลูกและปีกมดลูกไปด้วย ซึ่งจะช่วยในการวินิจฉัยเนื้องอกมดลูกในกลุ่มที่ไม่มีอาการแสดงนี้ได้ ส่วนในผู้หญิงที่มีอาการปวดประจำเดือนมากกว่าปกติหรือปวดรุนแรงขึ้นทุกเดือน, มีประจำเดือนออกมากหรือออกกะปริดกระปรอยนานเกิน 7 วัน, มีอาการปวดหน่วง ๆ ที่ท้องน้อยหรือปวดหลังส่วนล่างแบบเรื้อรัง, มีอาการท้องผูกเรื้อรัง, มีอาการปวดในขณะมีเพศสัมพันธ์, มีอาการปัสสาวะบ่อยหรือปัสสาวะขัด หรือคลำได้ก้อนที่ท้องน้อยหรือท้องโตขึ้นคล้ายคนท้อง ควรรีบปรึกษาสูตินรีแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยโรค

สำหรับผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเนื้องอกมดลูกแล้ว ถึงแม้จะไม่ใช่เนื้อร้ายหรือมะเร็งก็ควรได้รับการรักษาจากแพทย์อย่างจริงจัง ทั้งนี้ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นตามมา และถ้าได้รับการรักษาอย่างถูกต้องแล้วโรคนี้ก็มักจะหายขาดได้ ซึ่งการรักษาเนื้องอกมดลูกก็มีอยู่ด้วยกันหลายวิธี (ส่วนการจะเลือกใช้วิธีการใดนั้นแพทย์จะพิจารณาจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น ตำแหน่ง ขนาด และจำนวนของเนื้องอก อัตราการเติบโตของเนื้องอก อายุของผู้ป่วย ความต้องการมีประจำเดือนในคนอายุน้อย ความต้องการมีบุตร มีอาการหรือภาวะแทรกซ้อนร่วมด้วยหรือไม่ มีการตั้งครรภ์ร่วมด้วยหรือไม่ และสภาพของผู้ป่วยว่าเหมาะสมสำหรับการผ่าตัดมากน้อยเพียงใด ซึ่งแพทย์จะนำข้อมูลที่ได้จากการซักถามผู้ป่วยมาประกอบกันเพื่อหาแนวทางในการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย) เช่น

  1. การสังเกตอาการโดยไม่ต้องรักษา การรักษาด้วยวิธีนี้จะทำในกรณีที่ผู้ป่วยเนื้องอกมดลูกไม่มีอาการแสดงหรือมีความผิดปกติกับร่างกาย รวมถึงในผู้ป่วยหลาย ๆ รายที่ถึงแม้จะมีอาการแสดงหรือมีความผิดปกติเกิดขึ้นบ้าง แต่ยังไม่ถึงขั้นส่งผลกระทบร้ายแรงใด ๆ ทั้งต่อการดำเนินชีวิตประจำวันหรือต่อสุขภาพในระยะยาว แพทย์ก็จะยังไม่ให้การรักษาใด ๆ เพียงแต่คอยติดตามการเปลี่ยนแปลงของขนาดเนื้องอกเป็นระยะ ๆ ทั้งนี้เป็นเพราะก้อนเนื้องอกในผู้ป่วยกลุ่มที่ไม่แสดงอาการนี้มักมีขนาดเล็กหรือฝ่อตัวลงได้เองเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน (เนื่องจากการลดลงของฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งมีส่วนกระตุ้นให้เนื้องอกเจริญ) และอาการแสดงหรือความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกายก็จะหายไปด้วยในที่สุด
    • ในช่วงเวลาของการเฝ้าสังเกตอาการนี้ สูตินรีแพทย์อาจทำการนัดผู้ป่วยมาตรวจเป็นระยะทุก ๆ 3-6-12 เดือน เพื่อตรวจภายในหรือตรวจอัลตราซาวนด์ร่วมด้วย และในช่วงการติดตามนี้ถ้าผู้ป่วยมีอาการแสดง หรือมีความผิดปกติรุนแรงขึ้น หรือก้อนเนื้องอกมีขนาดโตขึ้นอย่างรวดเร็ว สูตินรีแพทย์อาจแนะนำให้ทำการรักษาด้วยวิธีอื่นต่อไปตามความเหมาะสม
    • อาการที่ผู้ป่วยต้องคอยสังเกตและรายงานต่อแพทย์สำหรับการนัดตรวจครั้งต่อไป คือ ปริมาณและลักษณะของประจำเดือน อาการปวดประจำเดือน การขับถ่ายปัสสาวะและอุจจาระ ตลอดจนอาการปวดท้องและการโตขึ้นของก้อนเนื้องอกหากสามารถคลำได้ด้วยตัวเอง
    • อย่างไรก็ตาม ก้อนเนื้องอกที่ผู้ป่วยไม่มีอาการแสดงนี้อาจจำเป็นต้องทำการผ่าตัดเมื่อก้อนเนื้องอกโตเท่ากับหรือเกินกว่าขนาดครรภ์อายุ 12 สัปดาห์, มีการบิดของขั้วเนื้องอกทำให้เจ็บปวดมาก, ไม่แน่ใจว่าเป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็งหรือไม่, เป็นก้อนเนื้องอกที่โตเร็ว หรือผู้ป่วยมีน้ำในท้องร่วมด้วย
  2. การใช้ยารักษา ในปัจจุบันยังไม่มียาที่สามารถใช้รักษาเนื้องอกมดลูกให้หายขาดได้ แต่ยาที่แพทย์นำมาใช้ทั่วไปจะเป็นยาที่ช่วยทำให้อาการต่าง ๆ ของผู้ป่วยดีขึ้นหรือช่วยให้ก้อนเนื้องอกมีขนาดลดลงชั่วคราว ดังนี้
    • การใช้ยารักษาเพื่อบรรเทาอาการปวดท้องหรือลดปริมาณของประจำเดือน ซึ่งอาจใช้เดี่ยว ๆ หรือใช้ร่วมกันในบางตัว (ซึ่งอาจใช้ได้ผลดีกับผู้ป่วยบางราย แต่มักจะไม่ได้ผลในรายที่มีก้อนเนื้องอกขนาดใหญ่) ได้แก่
      • ยากรดทราเนซามิค (Tranexamic acid) ซึ่งแพทย์จะให้ผู้ป่วยรับประทานวันละ 3-4 ครั้ง ตลอดช่วงที่กำลังมีประจำเดือน ซึ่งจะช่วยลดปริมาณของประจำเดือนลงได้
      • ยาต้านการอักเสบ (Anti-inflammatory medicines) เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen), กรดเมเฟนามิก (Mefenamic acid) หรือยาที่รู้จักกันในชื่อทางการค้าว่า “พอนสแตน” (Ponstan) ซึ่งเป็นยาที่ช่วยลดระดับของสารพรอสตาแกลนดิน (Prostaglandin) ในโพรงมดลูก ยาในกลุ่มนี้จะช่วยบรรเทาอาการปวดได้และสามารถใช้ยาเฉพาะในวันที่มีอาการปวดประจำเดือนเท่านั้นก็ได้
      • ยาเม็ดคุมกำเนิด ซึ่งจะช่วยลดทั้งปริมาณและอาการปวดประจำเดือนของผู้ป่วยลงได้
      • การใส่ห่วงอนามัยชนิดที่มีฮอร์โมนลีโวนอร์เจสเทรลบรรจุอยู่ในห่วง (Levonorgestrel intrauterine system) ซึ่งการใส่ห่วงอนามัยชนิดนี้ภายในโพรงมดลูกจะก่อให้เกิดการหลั่งของฮอร์โมนโปรเจสโตรเจน (Progestrogen) ที่มีชื่อเรียกว่าลีโวนอร์เจสเทรลออกมาจากห่วงทีละน้อยอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะส่งผลให้เยื่อบุโพรงมดลูกบางตัวลง จึงสามารถช่วยลดปริมาณประจำเดือนลงได้ อย่างไรก็ตาม การใส่ห่วงชนิดนี้อาจทำได้ไม่ง่ายนักในผู้ที่มีเนื้องอกมดลูก เนื่องจากก้อนเนื้องอกอาจไปขวางทางทำให้ใส่ห่วงได้ยากกว่าปกติ
      • ฮอร์โมนเพศชาย เช่น ดานาซอล (Danazol) และ เจสไตรโนน (Gestrinone) หรือการให้โปรเจสเตอโรน (Progesterone) ซึ่งจะช่วยรักษาการมีภาวะประจำเดือนออกมากได้ แต่ผลของการลดขนาดของก้อนเนื้องอกยังไม่แน่นอน
    • การใช้ยารักษาเพื่อให้ก้อนเนื้องอกมีขนาดเล็กลง เช่น การใช้ยาที่ออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนที่กระตุ้นให้มีการหลั่งของโกนาโดโทรปิน ซึ่งมีชื่อเรียกว่า “Gonadotrophin-releasing hormone (GnRH) analogue” โดยแพทย์จะฉีดยานี้ให้ผู้ป่วยเดือนละ 1 ครั้ง ซึ่งยาตัวนี้จะทำให้ระดับของฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายลดลงชั่วคราว ก้อนเนื้องอกจึงยุบลง ทำให้อาการผิดปกติต่าง ๆ เช่น ประจำเดือนมามาก ปวดประจำเดือน หรืออาการที่ก้อนเนื้องอกไปกดอวัยวะต่าง ๆ หายไปในขณะใช้ยา การใช้ยานี้โดยหลักแล้วมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ก้อนเนื้องอกมีขนาดเล็กลงเพื่อเตรียมพร้อมก่อนผ่าตัด ช่วยให้ผ่าตัดได้ง่ายขึ้น ในขณะผ่าและหลังผ่าตัดมีเลือดออกน้อย จึงช่วยให้ผู้ป่วยปลอดภัยมากขึ้น (โดยทั่วไปการใช้ยานี้แพทย์จะฉีดให้ผู้ป่วยเพียงชั่วคราวประมาณ 3-6 เดือนเท่านั้น เพราะการใช้ยานี้นานเกิน 6 เดือน จะทำให้ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง แล้วส่งผลให้เกิดอาการต่าง ๆ เหมือนผู้หญิงวัยประจำเดือนได้ เช่น ร้อนวูบวาบ เหงื่อออกมาก อีกทั้งยังส่งผลเสียต่อระบบอื่น ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะการทำให้เกิดการสูญเสียมวลกระดูกอย่างรวดเร็วจนอาจเกิดโรคกระดูกพรุน)
  3. การผ่าตัดเนื้องอกมดลูก แพทย์จะเลือกทำในกรณีที่ก้อนเนื้องอกมีขนาดใหญ่ ผู้ป่วยมีเลือดออกมาก ซีด ปวดท้องรุนแรง หรือมีอาการปวดท้องน้อยหรือปวดหลังเรื้อรัง หรือถ่ายปัสสาวะบ่อย จนไม่สามารถดำเนินกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ ซึ่งในปัจจุบันการผ่าตัดรักษาเนื้องอกมดลูกก็สามารถทำได้หลายวิธี (ผลการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด ส่วนใหญ่มักจะหายขาดและไม่มีภาวะแทรกซ้อนตามมาในภายหลัง แต่ก้อนเนื้องอกเล็ก ๆ ที่หลงเหลืออยู่ภายหลังจากการผ่าตัดจะโตขึ้นมาใหม่ได้) ดังนี้
    • การผ่าตัดมดลูกออกทั้งหมด (Hysterectomy) เป็นวิธีการรักษามาตรฐานที่ใช้กันมานานแล้วและเป็นวิธีผ่าตัดที่นิยมที่สุดในปัจจุบัน เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการแสดงหรือมีความผิดปกติเกิดขึ้น (เช่น ในรายที่มีเลือดออกมาก, มีอาการของการกดเบียดอวัยวะข้างเคียง, มีเนื้องอกที่รังไข่ร่วมด้วย, มีภาวะหรือโรคอื่นร่วมด้วย เช่น ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกอยู่ผิดที่) โดยเฉพาะในรายที่ก้อนเนื้องอกมีขนาดโตมากกว่าขนาดครรภ์อายุ 12 สัปดาห์ (แพทย์จะพิจารณาเป็นราย ๆ ไป เช่น ในรายที่ถ้าปล่อยให้โตต่อไปอาจจะไปทำให้อวัยวะอื่นเสียไปด้วย เช่น ไปกดท่อไต หรือรายที่จำเป็นต้องให้เอสโตรเจนและเกรงว่าก้อนเนื้องอกจะโตขึ้น) หรือในรายที่ก้อนเนื้องอกโตขึ้นอย่างรวดเร็ว (ยกเว้นในรายที่กำลังตั้งครรภ์) และในรายที่มีอายุมากและไม่ต้องการมีบุตรแล้ว ซึ่งการผ่าตัดอาจใช้วิธีเปิดแผลเข้าทางหน้าท้องหรือทางช่องคลอดก็ได้
    • การผ่าตัดเอาเฉพาะก้อนเนื้องอกออก (Myomectomy) เป็นวิธีที่นิยมที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ยังต้องการมีบุตรในอนาคตและอายุไม่เกิน 35 ปี เพราะการผ่าตัดนี้จะเอาเฉพาะก้อนเนื้องอกออก (แต่ยังเหลือมดลูก) อย่างไรก็ดี การผ่าตัดด้วยวิธีนี้อาจจะไม่ประสบความสำเร็จในผู้ป่วยทุกราย เพราะบางรายหากมีการเสียเลือดมากอาจต้องลงเอยด้วยการตัดมดลูก และแม้การผ่าตัดจะประสบผลสำเร็จแต่ก็ยังมีโอกาสที่เนื้องอกจะกลับมาเป็นซ้ำได้อีก ซึ่งก็พบได้ค่อนข้างบ่อย จึงจำเป็นต้องมีการตรวจติดตามอย่างสม่ำเสมอ โดยการผ่าตัดเอาเฉพาะก้อนเนื้องอกออกนี้สามารถทำได้ทั้งการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้องหรือช่องท้อง (Laparotomic myomectomy) เป็นวิธีการผ่าตัดที่สามารถเอาก้อนเนื้องอกออกจากมดลูกได้มากที่สุด แต่จะทำให้มีแผลที่ปรากฏให้เห็นจากภายนอกและผู้ป่วยต้องใช้เวลาในการพักฟื้นนาน หรือวิธีการที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน คือ การผ่าตัดผ่านกล้องส่องผ่านเข้าไปในโพรงมดลูก (Hysteroscopic myomectomy) หรือการผ่าตัดผ่านกล้องส่องทางหน้าท้อง (Laparoscopic myomectomy) ซึ่งแผลผ่าตัดจะมีขนาดเล็กเพียง 5 มิลลิเมตร ทำให้ไม่มีรอยแผลเป็นหลังผ่าตัด ช่วยลดภาวะแทรกซ้อนหรือการติดเชื้อ ใช้เวลาในการพักฟื้นไม่นาน และผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติเร็วขึ้น ส่วนการจะผ่าตัดด้วยวิธีใดนั้นแพทย์จะพิจารณาจากตำแหน่ง ขนาด และจำนวนของก้อนเนื้องอก ตลอดจนความชำนาญของแพทย์และความพร้อมของอุปกรณ์ในแต่ละโรงพยาบาล
    • การผ่าตัดด้วยคลื่นความถี่วิทยุ (Radiofrequency ablation) เป็นหนึ่งในวิธีการผ่าตัดโดยการทำลายก้อนเนื้องอกด้วยการใช้เข็มแบบพิเศษ (RF needle) ขนาดเท่ากับไส้ปากกาลูกลื่น ความยาวประมาณ 15 เซนติเมตร แทงผ่านผิวหนังทางช่องท้องเข้าไปในก้อนเนื้องอกเป้าหมาย โดยใช้เครื่องอัลตราซาวนด์หรือเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่วยนำทาง แล้วปล่อยไฟฟ้ากระแสสลับผ่านเข้าไปในเข็มจนเกิดความร้อน ซึ่งจะแผ่กระจายออกไปรอบ ๆ จนครอบคลุมก้อนเนื้องอกทั้งก้อน การรักษาด้วยวิธีนี้เป็นวิธีการรักษาที่ไม่ซับซ้อน มีผลข้างเคียงน้อย สามารถทำซ้ำ ๆ ได้ ใช้เวลาพักฟื้นไม่นาน และเหมาะสำหรับผู้ที่ยังต้องการมีบุตรและไม่ต้องการที่จะผ่าตัดมดลูก แต่ก็ไม่สามารถใช้ได้กับเนื้องอกมดลูกได้ทั้งหมด
    • การใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าแนะนำที่เน้นการอัลตราซาวนด์ (Magnetic-resonance-guided focused ultrasound surgery – MRgFUS) โดยจะเน้นการใช้คลื่นอัลตราซาวนด์ที่มีความข้นสูงเข้าไปทำลายก้อนเนื้องอก ซึ่งจะทำงานร่วมกับเครื่องตรวจวินิจฉัยโรคด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)
    • การทำให้หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงมดลูกและก้อนเนื้องอกเกิดการอุดตัน (Uterine artery embolisation) การรักษาด้วยวิธีนี้จะเป็นการรักษาโดยรังสีแพทย์ที่มีความชำนาญเฉพาะทาง ซึ่งแพทย์จะทำการใส่สายสวนขนาดเล็ก (เส้นผ่านศูนย์กลาง 1 มิลลิเมตร) เข้าไปในหลอดเลือดแดงที่ขาหนีบภายใต้ยาชาเฉพาะที่ แล้วสอดต่อไปยังหลอดเลือดแดงที่เลี้ยงมดลูก และสอดต่อไปยังหลอดเลือดแดงที่เลี้ยงเฉพาะก้อนเนื้องอก (แพทย์จะใช้ภาพถ่ายเอกซเรย์ในการช่วยนำทางการสอดสายสวน) หลังจากที่ได้ตำแหน่งหลอดเลือดแดงที่ต้องการแล้ว รังสีแพทย์จะทำการฉีดสารบางอย่างเข้าไปในสายสวนเพื่อก่อให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงก้อนเนื้องอก ส่งผลให้ก้อนเนื้องอกขาดเลือดและมีขนาดลดลงในที่สุด ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะใช้เวลาประมาณ 6-9 เดือน และผู้ป่วยมักจะสังเกตว่าอาการที่เคยเป็นอยู่ดีขึ้นภายใน 3 เดือน แต่อย่างไรก็ตาม อาจมีผู้ป่วยบางรายที่ไม่หายจากการรักษาด้วยวิธีนี้ (การรักษาด้วยวิธีนี้มีข้อจำกัด คือ ก้อนเนื้องอกจะต้องไม่โตจนเกินไป และไม่มีข้อห้ามในการรักษาด้วยวิธีนี้)
    • การผูกหลอดเลือดในมดลูก (Uterine artery ligation) เป็นวิธีการลดการส่งเลือดไปเลี้ยงมดลูกโดยการผ่าตัดขนาดเล็กที่สามารถทำได้ผ่านทางช่องคลอดหรือผ่าตัดผ่านกล้อง วิธีการและกลไกการรักษาจะคล้ายกับวิธีการ Uterine artery embolisation แต่จะทำได้ง่ายและมีผลข้างเคียงน้อยกว่า แต่ถ้าเปรียบเทียบกันแล้ววิธี Uterine artery embolisation จะเป็นวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพดีกว่าวิธีนี้
  4. การทำลายเยื่อบุโพรงมดลูก (Endometrial ablation) แพทย์จะพิจารณาใช้ในกรณีที่เป็นเนื้องอกที่อยู่ภายในโพรงมดลูก ก้อนเนื้องอกมีขนาดค่อนข้างเล็ก และต้องไม่ใช่เนื้องอกที่กล้ามเนื้อมดลูก อัตราในการมีความล้มเหลวสูงและปรากฏว่ามีอัตราการเกิดเนื้องอกซ้ำสำหรับเนื้องอกที่มีขนาดใหญ่หรือเนื้องอกที่อยู่ในชั้นกล้ามเนื้อมดลูก
  5. การรักษาด้วยแนวทางเลือกอื่น ๆ เช่น การบำบัดด้วยอาหาร การใช้สมุนไพร การฝังเข็ม เป็นต้น ยังไม่มีข้อพิสูจน์ยืนยันว่าได้ผลจริง

วิธีป้องกันเนื้องอกมดลูก

เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดเนื้องอกมดลูกที่แน่ชัด และมีความเป็นไปได้สูงว่าเนื้องอกมดลูกนั้นเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ ดังนั้น การป้องกันการเกิดโรคในบางครั้งอาจทำได้ค่อนข้างยาก อย่างไรก็ดี ฮอร์โมนเอสโตรเจนน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดเนื้องอกมดลูก จึงมีแนวทางในการป้องกันดังนี้

  • วิธีการคุมกำเนิด ในผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นเนื้องอกมดลูก หากต้องการคุมกำเนิดอาจเลือกใช้วิธีการฉีดยาคุมกำเนิด การใส่ห่วงอนามัย การฝังยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนโปรเจสติน (Progestin) แทนการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจน หรือจะให้ฝ่ายชายใช้ถุงยางอนามัยในการคุมกำเนิดแทนก็ได้ครับ
  • รับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ เพราะไขมันเป็นแหล่งในการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งการรับประทานอาหารที่มีไขมันมาก ๆ จะทำให้ปริมาณของฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายเพิ่มสูงขึ้น
  • ลดหรือหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่มีสารที่ออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน เช่น ถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง, สมุนไพรบางชนิด (เช่น โสมบางชนิด), แยม (Jam) หรือเจลลี่ (Jelly) บางชนิด เป็นต้น
  • ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เพราะดังที่กล่าวไปแล้วว่าโรคนี้เป็นโรคที่พบได้สูงขึ้นในผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกิน
  • ออกกำลังกายแบบแอโรบิกเป็นประจำ ประมาณสัปดาห์ละ 4-5 ครั้ง เพราะการออกกำลังกายจะช่วยปรับสมดุลของฮอร์โมนได้
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “เนื้องอกมดลูก (Myoma uteri/Uterine fibroids)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 887-888.
  2. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 395 คอลัมน์ : สารานุกรมทันโรค.  “เนื้องอกมดลูก”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th.  [10 มี.ค. 2017].
  3. หาหมอดอทคอม.  “เนื้องอกมดลูก (Myoma uteri)”.  (รศ.พญ.วรลักษณ์ สมบูรณ์พร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [11 มี.ค. 2017].
  4. ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล.  “ทำอย่างไร เมื่อฉันเป็นเนื้องอกมดลูก”.  (รศ.นพ.วีรศักดิ์ วงศ์ถิรพร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th.  [11 มี.ค. 2017].
  5. ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล.  “เนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก”.  (รศ.นพ.ชัยยศ ธีรผกาวงศ์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th.  [11 มี.ค. 2017].
  6. วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี.  “เนื้องอกมดลูก”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : th.wikipedia.org.  [12 มี.ค. 2017].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด