28 สรรพคุณและประโยชน์ของต้นเนระพูสีไทย ! (ว่านค้างคาวดำ)

เนระพูสีไทย

เนระพูสีไทย ชื่อสามัญ Bat flower, Black lily

เนระพูสีไทย ชื่อวิทยาศาสตร์ Tacca chantrieri André[1],[5] ปัจจุบันจัดอยู่ในวงศ์กลอย (DIOSCOREACEAE)

สมุนไพรเนระพูสีไทย มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า คลุ้มเลีย ว่านหัวเลีย ว่านหัวลา ว่านหัวฬา (จันทบุรี), ค้าวคาวดำ มังกรดำ (กรุงเทพฯ), ดีปลาช่อน (ตราด), ม้าถอนหลัก (ชุมพร), ว่านพังพอน (ยะลา), นิลพูสี (ตรัง), ว่านนางครวญ (นครศรีธรรมราช), กลาดีกลามูยี (มลายู-ปัตตานี), ดีงูหว้า (ภาคเหนือ), เนระพูสีไทย (ภาคกลาง), เส่แหง่เหมาะ (กะเหรี่ยงแดง), ล่อเคลิน (ลั้วะ), เหนียบเลิน (ขมุ) แต่เรียกกันทั่วไปว่า ว่านค้างคาว หรือ ว่านค้างคาวดำ เป็นต้น[1],[2],[3],[6],[7],[12]

ลักษณะของเนระพูสีไทย

  • ต้นเนระพูสีไทย หรือ ว่านค้างคาวดํา จัดเป็นไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี มีความสูงของต้นประมาณ 50-60 เซนติเมตร มีลำต้นเป็นเหง้าอยู่ใต้ดิน ลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด แยกกอ หรือขุดเง่ามาทอนเป็นท่อน ๆ แล้วนำไปปักชำในที่ที่มีความชุ่มชื้น สามารถออกดอกและติดผลได้ตลอดปี เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ที่มีอากาศเย็นชื้น มีแสงแดดรำไร มีเขตการกระจายพันธุ์ในทางตอนใต้ของจีน อินเดีย บังกลาเทศ ลาว พม่า เวียดนาม และในชายฝั่งมาเลเซีย โดยจะพบขึ้นตามป่าเขา ป่าดิบแล้งหรือป่าดิบชื้น ที่ระดับความสูงจากน้ำทะเลประมาณ 50-1,000 เมตร (บ้างว่า 500-1,500 เมตร)[1],[2],[4],[5],[6],[7],[8]

ต้นเนระพูสีไทย

ว่านค้างคาวดำ

ว่านค้างคาวขาว

  • ใบเนระพูสีไทย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ มีประมาณ 3-12 ใบ ลักษณะของใบเป็นรูปรีกว้างหรือเป็นรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบมน ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 7-15 เซนติเมตรและยาวประมาณ 20-60 เซนติเมตร เส้นแขนงของใบแตกออกจากเส้นกลางใบโค้งจรดกันเกือบถึงขอบใบ แผ่นใบเกลี้ยงเป็นสีเขียวเข้ม หลังใบเรียบเป็นมัน ส่วนท้องใบเรียบ และมีก้านใบยาวประมาณ 15-30 เซนติเมตร[1],[2]

ใบเนระพูสีไทย

  • ดอกเนระพูสีไทย ออกดอกเป็นช่อกลุ่ม ๆ ประมาณ 1-2 ช่อ มีความยาวได้ถึง 70 เซนติเมตร ในแต่ช่อจะมีดอกอยู่ประมาณ 4-6 ดอก (มีมากสุดถึง 25 ดอกย่อย) แทงออกมาจากเหง้าที่อยู่ใต้ดินขึ้นมา ดอกเป็นสีม่วงดำหรือเป็นสีเขียวเข้ม กลีบดอกมี 6 กลีบ โคนกลีบดอกจะเชื่อมติดกัน กลีบด้านนอก 3 กลีบมีลักษณะเป็นรูปไข่หรือเป็นรูปสามเหลี่ยม มีขนาดกว้างประมาณ 3-8 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 5-12 มิลลิเมตร ส่วนกลีบด้านใน 3 กลีบ มีขนาดกว้างประมาณ 4-12 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 4-11 มิลลิเมตร ดอกมีขนาดกว้างประมาณ 0.6-2 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้สีเขียวหรือสีเหลือง ส่วนรังไข่มีขนาดกว้างประมาณ 3-5 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 2-7 มิลลิเมตร ส่วนก้านดอกย่อยยาวประมาณ 2-3.5 เซนติเมตร และดอกยังมีใบประดับเป็นสีม่วงดำหรือเป็นสีเขียวเข้ม 2 คู่ ออกตรงข้ามสลับตั้งฉาก ไม่มีก้าน ใบประดับคู่นอกมีลักษณะเป็นรูปรี หรือรูปไข่ หรือรูปใบหอก มีขนาดกว้างประมาณ 1 เซนติเมตรและยาวประมาณ 6 เซนติเมตร ส่วนใบประดับคู่ในแผ่กว้างออก มีลักษณะเป็นรูปไข่หรือรูปไข่กลับ มีด้วยกันหลายขนาด กว้างประมาณ 4-8 เซนติเมตรและยาวประมาณ 7-17 เซนติเมตร และมีใบประดับที่ลดรูปเป็นเส้นด้ายอีก 5-25 ใบ ยาวประมาณ 10-25 เซนติเมตร เป็นสีเขียวหรือสีม่วง และกลีบดอกจะติดอยู่ไม่หลุดร่วงได้ง่าย[1],[2],[4]

ดอกเนระพูสีไทย

  • ผลเนระพูสีไทย ลักษณะของผลเป็นทรงสามเหลี่ยมหรือเป็นรูปกระสวย ผลมีสันเป็นคลื่น 6 สันตามยาวของผล มีวงกลีบรวมที่ยังไม่ร่วงติด ผลมีขนาดกว้างประมาณ 1-2.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร ส่วนเมล็ดมีลักษณะเป็นรูปไต เมล็ดมีขนาดกว้างประมาณ 2-2.3 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร และมีความหนาประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร[1],[2],[3],[4]

ผลว่านค้างคาวดำ

ผลเนระพูสีไทยเมล็ดเนระพูสีไทย

สรรพคุณของเนระพูสีไทย

  1. ชาวเขาเผ่าแม้ว มูเซอ จะใช้ ราก ต้น ใบ เหง้า นำมาต้มกับน้ำดื่ม หรือเคี้ยวกินเป็นยาบำรุงร่างกาย (ต้น, ใบ, ราก, เหง้า)[3],[5]
  2. เหง้านำมาต้มกับน้ำดื่มหรือใช้ดองกับเหล้า ใช้กินเป็นยาบำรุงกำลัง (เหง้า)[6],[11]
  3. ช่วยแก้ธาตุพิการ (เหง้า)[12]
  4. รากเนระพูสีไทย หรือเหง้าใช้ดองกับเหล้ากินเป็นยา หรือนำใบสดมารับประทาน จะช่วยทำให้เจริญอาหาร (ใบ, ราก, เหง้า)[7],[11] บ้างว่าเหง้ามีสรรพคุณช่วยทำให้อ้วน (เหง้า)[12]
  5. ใช้เป็นยารักษามะเร็ง (ใช้ต้น, ใบ, ราก, เหง้า นำมาต้มกับน้ำดื่มหรือเคี้ยวกิน)[3],[5]
  6. เหง้าใต้ดินมีรสสุขม นำมาต้มหรือดองกับเหล้า ใช้ดื่มแก้ความดันโลหิตต่ำ (เหง้า)[1],[2],[5],[11]
  7. ช่วยบำรุงกำลังทางเพศ ด้วยการใช้เหง้านำมาต้มหรือดองกับเหล้าเป็นยาดื่ม (เหง้า)[1],[2],[5]
  8. เหง้าใช้แก้ซางเด็ก (เหง้า)[12]
  9. ช่วยดับพิษไข้ (เหง้า)[11]
  10. แก้ไข้กาฬ ไข้เหนือ ไข้สันนิบาต และไข้ท้องเสีย (เหง้า)[12]
  1. ช่วยแก้อาการไอ (เหง้า)[5],[121]
  2. ช่วยรักษาโรคในปากคอ (เหง้า)[11]
  3. ช่วยแก้ลิ้นคอเปื่อย (เหง้า)[5],[12]
  4. ช่วยแก้ปอดพิการ (เหง้า)[12]
  5. ช่วยแก้อาการปวดท้อง (ใช้ต้น, ใบ, ราก, เหง้า นำมาต้มกับน้ำดื่มหรือเคี้ยวกิน)[3],[5]
  6. ช่วยแก้บิด บิดมูกเลือด (เหง้า)[12]
  7. ช่วยแก้อาการอาหารไม่ย่อย อาหารเป็นพิษ (ใช้ต้น, ใบ, ราก, เหง้า นำมาต้มกับน้ำดื่มหรือเคี้ยวกิน)[3],[5]
  8. ช่วยรักษาโรคกระเพาะอาหาร แผลในกระเพาะอาหาร และยังไม่ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองให้เป็นแผลในกระเพาะอาหารเหมือนกับการรับประทานยาแก้อักเสบทั่วไปอีกด้วย (ใช้ต้น, ใบ, ราก, เหง้า นำมาต้มกับน้ำดื่มหรือเคี้ยวกิน)[3],[5],[9]
  9. ทั้งต้นใช้ผสมกับสมุนไพรชนิดอื่น นำมาฝนรวมกันกินแก้อาการเบื่อเมา (ทั้งต้น)[3],[4],[5]
  10. ช่วยสมานแผล (เหง้า)[12]
  11. ทั้งต้นมีรสสุขุม ใช้ต้มกับน้ำอาบจะช่วยรักษาอาการผดผื่นคันตามร่างกายได้ (ทั้งต้น, เหง้า)[1],[2],[5],[6]
  12. ช่วยแก้อาการปวด แก้อักเสบ มีอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย แก้อาการปวดหลังปวดเอว ด้วยการใช้รากดองกับเหล้าหรือนำใบสดมารับประทาน หรือจะใช้รากนำมาต้มกับน้ำร่วมกับหญ้าถอดปล้องใช้ดื่มเป็นยา และแต่เดิมชาวบ้านจะใช้เหง้านำมาซอยเป็นชิ้นและบดให้เป็นผงละเอียด แล้วนำมาละลายในน้ำต้มเดือด แช่ทิ้งไว้สักครู่พออุ่นก็ให้ใช้ผ้าขนหนูชุบนำมาประคบบริเวณที่มีอาการปวดหรืออักเสบ อาการจะค่อย ๆ หายเป็นปกติ (ราก, เหง้า)[3],[5],[7],[9]
  13. เหง้าใช้เป็นยาบำรุงสำหรับสตรีมีครรภ์ ด้วยการใช้เหง้านำมาต้มหรือดองกับเหล้าเป็นยาดื่ม (เหง้า)[1],[2],[5]
  14. ตำรายาแก้อัมพฤกษ์ โรคความดัน และโรคหัวใจ มีส่วนประกอบดังนี้ ต้นเนระพูสีไทยทั้งต้น 1 กำมือ, โสมเกาหลีอายุ 6 ปีขึ้นไป 5 สลึง, ต้นเหงือกปลาหมอ 1 กำมือ, ใบหนุมานประสายกาย 7 ก้าน และบอระเพ็ด 1 เซนติเมตร เมื่อได้ครบแล้วให้นำต้นเนระพูสีไทย ต้นเหงือกปลาหมอ ใบหนุมานประสานกาย และบอระเพ็ด มาตากหรืออบให้แห้งแล้วเอามารวมกับโสมเกาหลีที่หั่นเป็นแผ่นบาง ๆ และขั้วมาแล้ว หลังจากนั้นนำมาห่อด้วยผ้าขาวบาง ใส่ภาชนะต้มน้ำพอท่วมยาจนเดือด ใช้ดื่มกินครั้งละ 2 แก้ว เช้าและเย็น แล้วให้อุ่นยาวันละหนึ่งครั้ง หากกินหมดก็เติมน้ำต้มใหม่จนยาจืด (ห้ามดื่มของมึนเมาในระหว่างดื่มยานี้ ห้ามนำตัวยานี้ไปใช้แสวงหาประโยชน์เพื่อการค้า และให้นำกล้วยน้ำว้า 1 หวี มาถวายพระและอุทิศส่วนกุศลให้เจ้าของยา) (ทั้งต้น)[10]
  15. สารสกัดจากเหง้าเนระพูสีไทยมีฤทธิ์ยับยั้งการกินของหนอนใยผัก ซึ่งเป็นแมลงศัตรูพืชผักที่สำคัญชนิดหนึ่ง โดยเฉพาะพืชในตระกูลกะหล่ำ (เหง้า)[5]

ประโยชน์ของเนระพูสีไทย

  • ใบมีรสขมหวาน ชาวปะหล่องใช้รับประทานเป็นผักสดร่วมกับลาบ ชาวกะเหรี่ยงแดงใช้ใบรับประทานร่วมกับน้ำพริก ส่วนคนเมืองและชาวเผ่าม้ง มูเซอ จะใช้ใบอ่อนนำมาย่างไฟให้อ่อนหรือนำมาลวกใช้รับประทานกับลาบ ส่วนชาวขมุใช้ดอกรับประทานร่วมกับน้ำพริก และสำหรับคนเมืองจะใช้ทั้งดอกและยอดอ่อนรับประทานเป็นผักจิ้มกับน้ำพริก (มีความเชื่อของชาวลั้วะว่าเด็กที่คลอดใหม่ ห้ามเข้าใกล้เพราะไม่ดีต่อพ่อแม่)[4],[7]
  • ในปัจจุบันได้มีการนำสมุนไพรเนระพูสีไทยมาสกัดทำเป็นผลิตภัณฑ์น้ำสกัดบรรจุขวดหรือทำเป็นเจลสำหรับใช้ทาบริเวณที่มีอาการอักเสบ ตัวยาจะซึมเข้าสู่ผิวหนัง ที่สำคัญยังมีฤทธิ์ในการต้านแบคทีเรียและใช้รักษาสิวได้ด้วย[9]
  • นอกจากจะใช้เป็นยาสมุนไพรและใช้รับประทานเป็นผักแล้ว ต้นเนระพูสียังสามารถนำมาปลูกเป็นไม้ประดับได้อีกด้วย[8]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  “เนระพูสีไทย (Na ra Pu Si Thai)”.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  หน้า 159.
  2. หนังสือสมุนไพรไทยในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ.  “เนระพูสีไทย”.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ).  หน้า 128.
  3. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  “เนระพูสีไทย Bat Flower”.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  หน้า 206.
  4. หนังสือชุดพรรณไม้เมืองไทย : ไม้ต่างถิ่นในเมืองไทย 1.  “เนระพูสีไทย”.  (ปรัชญา ศรีสง่า, ชัยยุทธ กล่ำแวววงศ์).
  5. เอกสารการประชุมวิชาการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ครั้งที่ 6.  “ฤทธิ์ควบคุมหนอนใยผัก (Plutella xylostella L.) ของสารสกัดจากเหง้าค้างคาวดำ (Tacca chantrieri Andre)”.  (มยุรฉัตร เกื้อชู, ศิริพรรณ ตันตาคม, ธรรมศักดิ์ ทองเกตุ).
  6. สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย.  “เนระพูสีไทย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.saiyathai.com.  [29 ม.ค. 2014].
  7. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน).  “Bat flower”.  อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th.  [29 ม.ค. 2014].
  8. หนังสือธรรมชาติศึกษา ดอกไม้และประวัติไม้ดอกเมืองไทย.  (วิชัย อภัยสุวรรณ).
  9. คมชัดลึกออนไลน์.  “วิจัยพบสารออกฤทธิ์ เนระพูสีไทย”.  (ผศ.ดร.ไชยยง รุจนเวท).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.komchadluek.net.  [29 ม.ค. 2014].
  10. สิงห์แดง รุ่น ๑๘. “ว่านค้างคาวดํา‘”.  (สมุทร ทองวิจิตร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: singdang18.net/kangkao.html.  [29 ม.ค. 2014].
  11. พืชและสัตว์ท้องถิ่นภูพาน, โครงการตาสับปะรด มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร.  “เนระพูสีไทย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: pineapple-eyes.snru.ac.th.  [29 ม.ค. 2014].
  12. ศูนย์รวมข้อมูลสิ่งมีชีวิตในประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน).  “เนระพูสีไทย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaibiodiversity.org.  [29 ม.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by wallygrom, Tralamander: A Dawdling Flâneur, Sumaiya Akter Snigdha, graphicgreg, meggle, Starr Environmental, K a m a l p e t, Jayusism)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด