เนระพูสีไทย
เนระพูสีไทย ชื่อสามัญ Bat flower, Black lily
เนระพูสีไทย ชื่อวิทยาศาสตร์ Tacca chantrieri André[1],[5] ปัจจุบันจัดอยู่ในวงศ์กลอย (DIOSCOREACEAE)
สมุนไพรเนระพูสีไทย มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า คลุ้มเลีย ว่านหัวเลีย ว่านหัวลา ว่านหัวฬา (จันทบุรี), ค้าวคาวดำ มังกรดำ (กรุงเทพฯ), ดีปลาช่อน (ตราด), ม้าถอนหลัก (ชุมพร), ว่านพังพอน (ยะลา), นิลพูสี (ตรัง), ว่านนางครวญ (นครศรีธรรมราช), กลาดีกลามูยี (มลายู-ปัตตานี), ดีงูหว้า (ภาคเหนือ), เนระพูสีไทย (ภาคกลาง), เส่แหง่เหมาะ (กะเหรี่ยงแดง), ล่อเคลิน (ลั้วะ), เหนียบเลิน (ขมุ) แต่เรียกกันทั่วไปว่า ว่านค้างคาว หรือ ว่านค้างคาวดำ เป็นต้น[1],[2],[3],[6],[7],[12]
ลักษณะของเนระพูสีไทย
- ต้นเนระพูสีไทย หรือ ว่านค้างคาวดํา จัดเป็นไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี มีความสูงของต้นประมาณ 50-60 เซนติเมตร มีลำต้นเป็นเหง้าอยู่ใต้ดิน ลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด แยกกอ หรือขุดเง่ามาทอนเป็นท่อน ๆ แล้วนำไปปักชำในที่ที่มีความชุ่มชื้น สามารถออกดอกและติดผลได้ตลอดปี เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ที่มีอากาศเย็นชื้น มีแสงแดดรำไร มีเขตการกระจายพันธุ์ในทางตอนใต้ของจีน อินเดีย บังกลาเทศ ลาว พม่า เวียดนาม และในชายฝั่งมาเลเซีย โดยจะพบขึ้นตามป่าเขา ป่าดิบแล้งหรือป่าดิบชื้น ที่ระดับความสูงจากน้ำทะเลประมาณ 50-1,000 เมตร (บ้างว่า 500-1,500 เมตร)[1],[2],[4],[5],[6],[7],[8]
- ใบเนระพูสีไทย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ มีประมาณ 3-12 ใบ ลักษณะของใบเป็นรูปรีกว้างหรือเป็นรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบมน ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 7-15 เซนติเมตรและยาวประมาณ 20-60 เซนติเมตร เส้นแขนงของใบแตกออกจากเส้นกลางใบโค้งจรดกันเกือบถึงขอบใบ แผ่นใบเกลี้ยงเป็นสีเขียวเข้ม หลังใบเรียบเป็นมัน ส่วนท้องใบเรียบ และมีก้านใบยาวประมาณ 15-30 เซนติเมตร[1],[2]
- ดอกเนระพูสีไทย ออกดอกเป็นช่อกลุ่ม ๆ ประมาณ 1-2 ช่อ มีความยาวได้ถึง 70 เซนติเมตร ในแต่ช่อจะมีดอกอยู่ประมาณ 4-6 ดอก (มีมากสุดถึง 25 ดอกย่อย) แทงออกมาจากเหง้าที่อยู่ใต้ดินขึ้นมา ดอกเป็นสีม่วงดำหรือเป็นสีเขียวเข้ม กลีบดอกมี 6 กลีบ โคนกลีบดอกจะเชื่อมติดกัน กลีบด้านนอก 3 กลีบมีลักษณะเป็นรูปไข่หรือเป็นรูปสามเหลี่ยม มีขนาดกว้างประมาณ 3-8 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 5-12 มิลลิเมตร ส่วนกลีบด้านใน 3 กลีบ มีขนาดกว้างประมาณ 4-12 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 4-11 มิลลิเมตร ดอกมีขนาดกว้างประมาณ 0.6-2 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้สีเขียวหรือสีเหลือง ส่วนรังไข่มีขนาดกว้างประมาณ 3-5 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 2-7 มิลลิเมตร ส่วนก้านดอกย่อยยาวประมาณ 2-3.5 เซนติเมตร และดอกยังมีใบประดับเป็นสีม่วงดำหรือเป็นสีเขียวเข้ม 2 คู่ ออกตรงข้ามสลับตั้งฉาก ไม่มีก้าน ใบประดับคู่นอกมีลักษณะเป็นรูปรี หรือรูปไข่ หรือรูปใบหอก มีขนาดกว้างประมาณ 1 เซนติเมตรและยาวประมาณ 6 เซนติเมตร ส่วนใบประดับคู่ในแผ่กว้างออก มีลักษณะเป็นรูปไข่หรือรูปไข่กลับ มีด้วยกันหลายขนาด กว้างประมาณ 4-8 เซนติเมตรและยาวประมาณ 7-17 เซนติเมตร และมีใบประดับที่ลดรูปเป็นเส้นด้ายอีก 5-25 ใบ ยาวประมาณ 10-25 เซนติเมตร เป็นสีเขียวหรือสีม่วง และกลีบดอกจะติดอยู่ไม่หลุดร่วงได้ง่าย[1],[2],[4]
- ผลเนระพูสีไทย ลักษณะของผลเป็นทรงสามเหลี่ยมหรือเป็นรูปกระสวย ผลมีสันเป็นคลื่น 6 สันตามยาวของผล มีวงกลีบรวมที่ยังไม่ร่วงติด ผลมีขนาดกว้างประมาณ 1-2.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร ส่วนเมล็ดมีลักษณะเป็นรูปไต เมล็ดมีขนาดกว้างประมาณ 2-2.3 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร และมีความหนาประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร[1],[2],[3],[4]
สรรพคุณของเนระพูสีไทย
- ชาวเขาเผ่าแม้ว มูเซอ จะใช้ ราก ต้น ใบ เหง้า นำมาต้มกับน้ำดื่ม หรือเคี้ยวกินเป็นยาบำรุงร่างกาย (ต้น, ใบ, ราก, เหง้า)[3],[5]
- เหง้านำมาต้มกับน้ำดื่มหรือใช้ดองกับเหล้า ใช้กินเป็นยาบำรุงกำลัง (เหง้า)[6],[11]
- ช่วยแก้ธาตุพิการ (เหง้า)[12]
- รากเนระพูสีไทย หรือเหง้าใช้ดองกับเหล้ากินเป็นยา หรือนำใบสดมารับประทาน จะช่วยทำให้เจริญอาหาร (ใบ, ราก, เหง้า)[7],[11] บ้างว่าเหง้ามีสรรพคุณช่วยทำให้อ้วน (เหง้า)[12]
- ใช้เป็นยารักษามะเร็ง (ใช้ต้น, ใบ, ราก, เหง้า นำมาต้มกับน้ำดื่มหรือเคี้ยวกิน)[3],[5]
- เหง้าใต้ดินมีรสสุขม นำมาต้มหรือดองกับเหล้า ใช้ดื่มแก้ความดันโลหิตต่ำ (เหง้า)[1],[2],[5],[11]
- ช่วยบำรุงกำลังทางเพศ ด้วยการใช้เหง้านำมาต้มหรือดองกับเหล้าเป็นยาดื่ม (เหง้า)[1],[2],[5]
- เหง้าใช้แก้ซางเด็ก (เหง้า)[12]
- ช่วยดับพิษไข้ (เหง้า)[11]
- แก้ไข้กาฬ ไข้เหนือ ไข้สันนิบาต และไข้ท้องเสีย (เหง้า)[12]
- ช่วยแก้อาการไอ (เหง้า)[5],[121]
- ช่วยรักษาโรคในปากคอ (เหง้า)[11]
- ช่วยแก้ลิ้นคอเปื่อย (เหง้า)[5],[12]
- ช่วยแก้ปอดพิการ (เหง้า)[12]
- ช่วยแก้อาการปวดท้อง (ใช้ต้น, ใบ, ราก, เหง้า นำมาต้มกับน้ำดื่มหรือเคี้ยวกิน)[3],[5]
- ช่วยแก้บิด บิดมูกเลือด (เหง้า)[12]
- ช่วยแก้อาการอาหารไม่ย่อย อาหารเป็นพิษ (ใช้ต้น, ใบ, ราก, เหง้า นำมาต้มกับน้ำดื่มหรือเคี้ยวกิน)[3],[5]
- ช่วยรักษาโรคกระเพาะอาหาร แผลในกระเพาะอาหาร และยังไม่ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองให้เป็นแผลในกระเพาะอาหารเหมือนกับการรับประทานยาแก้อักเสบทั่วไปอีกด้วย (ใช้ต้น, ใบ, ราก, เหง้า นำมาต้มกับน้ำดื่มหรือเคี้ยวกิน)[3],[5],[9]
- ทั้งต้นใช้ผสมกับสมุนไพรชนิดอื่น นำมาฝนรวมกันกินแก้อาการเบื่อเมา (ทั้งต้น)[3],[4],[5]
- ช่วยสมานแผล (เหง้า)[12]
- ทั้งต้นมีรสสุขุม ใช้ต้มกับน้ำอาบจะช่วยรักษาอาการผดผื่นคันตามร่างกายได้ (ทั้งต้น, เหง้า)[1],[2],[5],[6]
- ช่วยแก้อาการปวด แก้อักเสบ มีอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย แก้อาการปวดหลังปวดเอว ด้วยการใช้รากดองกับเหล้าหรือนำใบสดมารับประทาน หรือจะใช้รากนำมาต้มกับน้ำร่วมกับหญ้าถอดปล้องใช้ดื่มเป็นยา และแต่เดิมชาวบ้านจะใช้เหง้านำมาซอยเป็นชิ้นและบดให้เป็นผงละเอียด แล้วนำมาละลายในน้ำต้มเดือด แช่ทิ้งไว้สักครู่พออุ่นก็ให้ใช้ผ้าขนหนูชุบนำมาประคบบริเวณที่มีอาการปวดหรืออักเสบ อาการจะค่อย ๆ หายเป็นปกติ (ราก, เหง้า)[3],[5],[7],[9]
- เหง้าใช้เป็นยาบำรุงสำหรับสตรีมีครรภ์ ด้วยการใช้เหง้านำมาต้มหรือดองกับเหล้าเป็นยาดื่ม (เหง้า)[1],[2],[5]
- ตำรายาแก้อัมพฤกษ์ โรคความดัน และโรคหัวใจ มีส่วนประกอบดังนี้ ต้นเนระพูสีไทยทั้งต้น 1 กำมือ, โสมเกาหลีอายุ 6 ปีขึ้นไป 5 สลึง, ต้นเหงือกปลาหมอ 1 กำมือ, ใบหนุมานประสายกาย 7 ก้าน และบอระเพ็ด 1 เซนติเมตร เมื่อได้ครบแล้วให้นำต้นเนระพูสีไทย ต้นเหงือกปลาหมอ ใบหนุมานประสานกาย และบอระเพ็ด มาตากหรืออบให้แห้งแล้วเอามารวมกับโสมเกาหลีที่หั่นเป็นแผ่นบาง ๆ และขั้วมาแล้ว หลังจากนั้นนำมาห่อด้วยผ้าขาวบาง ใส่ภาชนะต้มน้ำพอท่วมยาจนเดือด ใช้ดื่มกินครั้งละ 2 แก้ว เช้าและเย็น แล้วให้อุ่นยาวันละหนึ่งครั้ง หากกินหมดก็เติมน้ำต้มใหม่จนยาจืด (ห้ามดื่มของมึนเมาในระหว่างดื่มยานี้ ห้ามนำตัวยานี้ไปใช้แสวงหาประโยชน์เพื่อการค้า และให้นำกล้วยน้ำว้า 1 หวี มาถวายพระและอุทิศส่วนกุศลให้เจ้าของยา) (ทั้งต้น)[10]
- สารสกัดจากเหง้าเนระพูสีไทยมีฤทธิ์ยับยั้งการกินของหนอนใยผัก ซึ่งเป็นแมลงศัตรูพืชผักที่สำคัญชนิดหนึ่ง โดยเฉพาะพืชในตระกูลกะหล่ำ (เหง้า)[5]
ประโยชน์ของเนระพูสีไทย
- ใบมีรสขมหวาน ชาวปะหล่องใช้รับประทานเป็นผักสดร่วมกับลาบ ชาวกะเหรี่ยงแดงใช้ใบรับประทานร่วมกับน้ำพริก ส่วนคนเมืองและชาวเผ่าม้ง มูเซอ จะใช้ใบอ่อนนำมาย่างไฟให้อ่อนหรือนำมาลวกใช้รับประทานกับลาบ ส่วนชาวขมุใช้ดอกรับประทานร่วมกับน้ำพริก และสำหรับคนเมืองจะใช้ทั้งดอกและยอดอ่อนรับประทานเป็นผักจิ้มกับน้ำพริก (มีความเชื่อของชาวลั้วะว่าเด็กที่คลอดใหม่ ห้ามเข้าใกล้เพราะไม่ดีต่อพ่อแม่)[4],[7]
- ในปัจจุบันได้มีการนำสมุนไพรเนระพูสีไทยมาสกัดทำเป็นผลิตภัณฑ์น้ำสกัดบรรจุขวดหรือทำเป็นเจลสำหรับใช้ทาบริเวณที่มีอาการอักเสบ ตัวยาจะซึมเข้าสู่ผิวหนัง ที่สำคัญยังมีฤทธิ์ในการต้านแบคทีเรียและใช้รักษาสิวได้ด้วย[9]
- นอกจากจะใช้เป็นยาสมุนไพรและใช้รับประทานเป็นผักแล้ว ต้นเนระพูสียังสามารถนำมาปลูกเป็นไม้ประดับได้อีกด้วย[8]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “เนระพูสีไทย (Na ra Pu Si Thai)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 159.
- หนังสือสมุนไพรไทยในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. “เนระพูสีไทย”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). หน้า 128.
- หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. “เนระพูสีไทย Bat Flower”. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). หน้า 206.
- หนังสือชุดพรรณไม้เมืองไทย : ไม้ต่างถิ่นในเมืองไทย 1. “เนระพูสีไทย”. (ปรัชญา ศรีสง่า, ชัยยุทธ กล่ำแวววงศ์).
- เอกสารการประชุมวิชาการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ครั้งที่ 6. “ฤทธิ์ควบคุมหนอนใยผัก (Plutella xylostella L.) ของสารสกัดจากเหง้าค้างคาวดำ (Tacca chantrieri Andre)”. (มยุรฉัตร เกื้อชู, ศิริพรรณ ตันตาคม, ธรรมศักดิ์ ทองเกตุ).
- สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย. “เนระพูสีไทย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.saiyathai.com. [29 ม.ค. 2014].
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน). “Bat flower”. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [29 ม.ค. 2014].
- หนังสือธรรมชาติศึกษา ดอกไม้และประวัติไม้ดอกเมืองไทย. (วิชัย อภัยสุวรรณ).
- คมชัดลึกออนไลน์. “วิจัยพบสารออกฤทธิ์ เนระพูสีไทย”. (ผศ.ดร.ไชยยง รุจนเวท). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.komchadluek.net. [29 ม.ค. 2014].
- สิงห์แดง รุ่น ๑๘. “ว่านค้างคาวดํา‘”. (สมุทร ทองวิจิตร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: singdang18.net/kangkao.html. [29 ม.ค. 2014].
- พืชและสัตว์ท้องถิ่นภูพาน, โครงการตาสับปะรด มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร. “เนระพูสีไทย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: pineapple-eyes.snru.ac.th. [29 ม.ค. 2014].
- ศูนย์รวมข้อมูลสิ่งมีชีวิตในประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “เนระพูสีไทย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaibiodiversity.org. [29 ม.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by wallygrom, Tralamander: A Dawdling Flâneur, Sumaiya Akter Snigdha, graphicgreg, meggle, Starr Environmental, K a m a l p e t, Jayusism)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)