เทียนเยาวพาณี
เทียนเยาวพาณี ชื่อสามัญ Ajowan, Ajwain[1]
เทียนเยาวพาณี ชื่อวิทยาศาสตร์ Trachyspermum ammi (L.) Sprague (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Bunium copticum (L.) Spreng., Carum copticum (L.) Benth. & Hook.f. ex C.B.Clarke) จัดอยู่ในวงศ์ผักชี (APIACEAE หรือ UMBELLIFERAE)[1]
ลักษณะของเทียนเยาวพาณี
- ต้นเทียนเยาวพาณี เป็นสมุนไพรที่มีการนำมาใช้ในตำรับยาแผนโบราณของไทยหลายตำรับ มีการกระจายพันธุ์ทางภาคเหนือของทวีปแอฟริกา เปอร์เซีย ไปจนถึงประเทศสหพันธรัฐรัสเซีย แต่ภายหลังได้มีการนำมาปลูกในประเทศอินเดีย สหรัฐอเมริกา และทวีปยุโรป และในปัจจุบันได้แพร่กระจายไปทั่วโลก[1]
- ผลเทียนเยาวพาณี ผลเป็นผลแห้ง ลักษณะของผลเป็นรูปไข่ ตรงกลางป่อง ผลมีสีน้ำตาล ขนาดกว้างประมาณ 0.7-1.4 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 2-2.8 มิลลิเมตร แยกออกเป็น 2 ส่วน แต่ละส่วนจะมีเมล็ด 1 เมล็ด เมล็ดหรือซีกผลมีลักษณะนูนด้านนอก ส่วนด้านในที่ประกบกันของเมล็ดหรือด้านแนวเชื่อมค่อนข้างแบนหรือนูนเล็กน้อย ด้านที่นูนมีสัน 3 สันตามยาวของเมล็ด ด้านแนวเชื่อม 2 เส้น ปกคลุมไปด้วยขนหรือหนามสั้น ๆ สีขาวหนาแน่น เมื่อนำมาบดให้เป็นผง จะได้ผงสีน้ำตาลมีกลิ่นและรสเฉพาะตัว มีกลิ่นหอม รสหวาน รสร้อนสุขุม[1]
สรรพคุณของเทียนเยาวพาณี
- ตำรายาไทยจะใช้เมล็ดเทียนเยาวพาณีเป็นยากระจายโลหิต กระจายเสมหะ (เมล็ด)[1]
- ช่วยแก้อาการคลื่นไส้อาเจียน (เมล็ด)[1]
- เมล็ดมีสรรพคุณเป็นยาขับลม แก้อาการจุกเสียด ช่วยขับลมในท้องที่ปั่นป่วนอยู่โดยรอบสะดือ ลมที่ทำให้คลื่นเหียน ทำให้จุกออกไปจากท้อง (เมล็ด)[1]
- เทียนเยาวพาณีจัดอยู่ในเครื่องยาไทยที่เรียกว่า “พิกัดเทียน” ซึ่งพิกัดเทียนจะประกอบไปด้วย “พิกัดเทียนทั้ง 5” (เทียนขาว, เทียนดำ, เทียนแดง, เทียนข้าวเปลือก และเทียนตาตั๊กแตน), “พิกัดเทียนทั้ง 7” (เพิ่มเทียนเยาวพาณี และเทียนสัตตบุษย์), และ “พิกัดเทียนทั้ง 9” (เพิ่มเทียนตากบ และเทียนเกล็ดหอย) มีสรรพคุณโดยรวม คือ เป็นยาบำรุงโลหิต แก้อาเจียน ช่วยขับลม และใช้เป็นตำรับยาหอม (เมล็ด)[1]
- เมล็ดเทียนเยาวพาณียังจัดอยู่ในกลุ่มยารักษาอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) โดยปรากฏอยู่ในตำรับ “ยาหอมเทพจิตร” และตำรับ “ยาหอมนวโกฐ” ซึ่งมีส่วนประกอบของเทียนเยาวพาณีอยู่ในพิกัดเทียนทั้ง 9 ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ อีกในตำรับ โดยเป็นตำรับยาที่มีสรรพคุณในการแก้ลมวิงเวียน หน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียนอาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง นอกจากนี้ยังปรากฏอยู่ในกลุ่มยารักษาอาการทางระบบทางเดินอาหาร โดยปรากฏอยู่ในตำรับ “ยาธาตุบรรจบ” มีส่วนประกอบของเทียนเยาวพาณี เทียนสัตตบุษย์ เทียนขาว เทียนแดง และเทียนดำ ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ อีกในตำรับ ซึ่งมีสรรพคุณเป็นยาบรรเทาอาการท้องอืด (เมล็ด)[1]
- นอกจากนี้ยังปรากฏการใช้เมล็ดเทียนเยาวพาณีในตำรับยา “อาภิสะ” ซึ่งระบุว่าเป็นตำรับยาที่มีสรรพคุณแก้อาการไอ ผอมแห้ง แก้เสมหะในทรวงอกและในลำคอ และแก้ริดสีดวง โดยยาขนานนี้เข้าเครื่องยาจำนวน 15 สิ่ง รวมทั้งเทียนเยาวพาณี (เมล็ด)[1]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของเทียนเยาวพาณี
- เทียนเยาวพาณีมีน้ำมันระเหยง่ายเป็นองค์ประกอบหลัก โดยมีสาร p-cymene, thymol, ?-terpinene เป็นองค์ประกอบหลัก นอกจากนี้ยังพบสารกลุ่มฟลาโวนอยด์, คูมาริน ฯลฯ[1]
- สมุนไพรเทียนเยาวพาณีมีฤทธิ์ลดความดันโลหิต เป็นพิษต่อเซลล์มะเร็ง ยับยั้งการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด ขับปัสสาวะ ระงับอาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ ต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา ฯลฯ[1]
- จากการทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลันของสารสกัดจากผลเทียนเยาวพาณีด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หรือคิดเป็น 10,000 เท่า เปรียบเทียบกับขนาดรักษาในคน และให้โดยการฉีดเข้าทางใต้ผิวหนังของหนูทดลองในขนาดเท่ากัน ก็ตรวจไม่พบอาการเป็นพิษ[1]
ประโยชน์ของเทียนเยาวพาณี
- ผลใช้เป็นเครื่องเทศได้
เอกสารอ้างอิง
- ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “เทียนเยาวพาณี”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thaicrudedrug.com. [06 ธ.ค. 2014].
ภาพประกอบ : en.wikipedia.org (by Bames24, Sanjay Acharya)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)