เถาประสงค์ สรรพคุณและประโยชน์ของต้นเถาประสงค์ 10 ข้อ !

เถาประสงค์

เถาประสงค์ ชื่อวิทยาศาสตร์ Streptocaulon juventas (Lour.) Merr. จัดอยู่ในวงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยนมตำเลีย (ASCLEPIADOIDEAE หรือ ASCLEPIADACEAE)[2]

สมุนไพรเถาประสงค์ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หยั่งสมุทรน้อย (เชียงใหม่), ตำยานฮากหอม (นครสวรรค์), จุกโรหินี นวยนั่ง นอยนั่ง (ชุมพร), เครือเขาขน (คนเมือง), เครือประสงค์, เครือไทสง, เถาไพสง เป็นต้น[1],[2],[3],[4]

ลักษณะของเถาประสงค์

  • ต้นเถาประสงค์ จัดเป็นไม้เถาเลื้อยพันเกาะต้นไม้อื่น ลำต้นมีขนาดเล็ก สูงได้ประมาณ 1-7 เมตร แตกกิ่งก้านมาก ตามลำต้นมีขนละเอียดสีแดงขึ้นปกคลุม ส่วนกิ่งก้านและปลายยอดมีขนนุ่มสีน้ำตาลแดงหนาแน่น มีน้ำยางมากเป็นสีขาวข้น ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด พบขึ้นกระจายทั่วไปในป่าเต็งรัง ป่าโปร่ง และอาจพบในป่าดิบแล้งได้บ้าง ส่วนในต่างประเทศพบได้ในประเทศจีน อินเดีย กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม และอินโดนีเซีย[1],[2],[4]

ต้นเถาประสงค์

  • ใบเถาประสงค์ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้าม ลักษณะของใบเป็นรูปไข่แกมขอบขนาน หรือรูปใบหอกกลีบ ปลายใบแหลมหรือมนและเป็นติ่งแหลม โคนใบมนหรือเป็นรูปหัวใจ ส่วนขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7-15 เซนติเมตร แผ่นใบมีขนละเอียดขึ้นหนาแน่นทั้งสองด้าน แผ่นใบด้านบนมีขนค่อนข้างสากกระจายทั่วไป ส่วนด้านล่างมีขนสีเหลืองนวลนุ่มและหนาแน่น เส้นใบมี 14-25 คู่ ก้านใบยาวประมาณ 0.7-1.2 เซนติเมตร มีขนค่อนข้างสากยาวและหนาแน่น[1],[2]

ใบเถาประสงค์

ยางเถาประสงค์

  • ดอกเถาประสงค์ ออกดอกเป็นช่อบริเวณปลายกิ่ง ช่อดอกยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร ก้านช่อดอกยาวประมาณ 0.6-7 เซนติเมตร ดอกย่อยมีจำนวนมากประมาณ 18-55 ดอก ดอกมีขนาดเล็กสีม่วง ก้านดอกย่อยยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร มีขนค่อนข้างสากขึ้นหนาแน่น ใบประดับอย่างละ 2 อัน รองรับดอกและช่อดอก ลักษณะเป็นรูปไข่หรือรูปคล้ายสามเหลี่ยม ปลายแหลม โคนตัด ขอบเรียบ ยาวประมาณ 1-2 มิลลิเมตร มีขนยาวหนาแน่น ส่วนกลีบดอกเป็นสีม่วง มักมีขอบกลีบสีเขียวแกมเหลือง รยางค์เป็นรูปมงกุฎ 5 อัน หลอดกลีบเป็นรูปจานยาวแบน ยาวประมาณ 0.5 มิลลิเมตร หรือน้อยกว่า มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางดอกประมาณ 1.5 มิลลิเมตร ปลายแยกเป็นแฉกแหลมหรือค่อนข้างกลม รูปสามเหลี่ยม ขอบเรียบ เกลี้ยง ขนาดกว้างประมาณ 2-2.5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร ด้านนอกเป็นสีเขียว ส่วนด้านในเป็นสีแดง มักหลุดร่วงง่ายพร้อมกับเกสรเพศผู้และเพศเมีย เกสรเพศผู้ อับเรณูมีขนาด 0.5 มิลลิเมตร มีเดือยเล็ก ๆ ยื่นออกมา คล้ายเป็นเส้นยาวประมาณ 2-2.5 มิลลิเมตร สีขาวอมเหลืองอ่อน ส่วนเกสรเพศเมีย รังไข่กึ่งใต้วงกลีบ ขนาดประมาณ 1 มิลลิเมตร มีออวุลประมาณ 70-100 ออวุล เกลี้ยง มีเยื่อบาง ๆ เชื่อมเกสรเพศเมีย เกสรเพศผู้ และกลีบดอกให้ติดกัน ส่วนกลีบเลี้ยง หลอดกลีบเป็นรูปจานแบน ขนาดกว้างประมาณ 1 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 1.5-2.5 มิลลิเมตร ปลายแยกเป็นแฉกแหลม รูปไข่ยาว 1 มิลลิเมตร สีเขียว ขอบหยักมนหรือหยักเป็นซี่ฟันห่าง ๆ มีขนยาวและสั้น กระจายอยู่หนาแน่นปะปนกัน มีต่อม 5 อัน เรียงอยู่ระหว่างรอยต่อของกลีบเลี้ยงกับกลีบดอก ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมหรือรูปคล้ายทรงกระบอก ขนาดประมาณ 0.5 มิลลิเมตร หรือน้อยกว่า ขอบเรียบ เกลี้ยง เป็นสีขาวอมเหลืองอ่อน ออกดอกในช่วงประมาณเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม[1],[2]

รูปเถาประสงค์

ดอกเถาประสงค์

  • ผลเถาประสงค์ ออกผลเป็นฝักคู่ ลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก รูปขอบขนาน หรือรูปใบหอกแกมขอบขนาน ขนาดกว้างประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7-13 เซนติเมตร สีเขียวลายแดง มีขนเหลือบนวลทั้งสั้นและยาวผสมกัน เมื่อแห้งจะแตกออกตามรอยประสาน แต่ละฝักจะมีเมล็ดจำนวนมากประมาณ 30-90 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปรี รูปไข่กลับ หรือค่อนข้างเบี้ยว มีขนาดกว้างประมาณ 0.3-0.4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1-1.2 เซนติเมตร โคนมน หรืออาจพบโคนเบี้ยว ส่วนปลายตัด มีขนปุยละเอียดยาวแบบเส้นไหมสีขาว ยาวประมาณ 2.5-5.5 เซนติเมตร ก้านผลยาวประมาณ 4-8 มิลลิเมตร มีขนสีน้ำตาลแดงหนาแน่น ติดผลในช่วงประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมิถุนายน[1],[2]

ฝักเถาประสงค์

สรรพคุณของเถาประสงค์

  1. ชาวเขาเผ่าอีก้อและกะเหรี่ยงจะใช้ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงกำลัง แก้อาการอ่อนเพลีย (ทั้งต้น)[1],[2] หรือจะใช้รากตากแห้งดองกับเหล้าหรือบดให้เป็นผงทำเป็นยาลูกกลอนกินบำรุงกำลัง บำรุงเลือด ทำให้ร่างกายแข็งแรง (ราก)[4]
  2. ตำรับยาบำรุงร่างกาย จะใช้รากเถาประสงค์และรากตำยาน อย่างละ 1 กำมือเท่ากัน นำมาต้มกับน้ำท่วมยา (ห้ามเคี่ยว) ใช้ดื่มกินได้ตลอดวันเป็นยาบำรุงร่างกาย นอกจากนี้หมอยาอีกหลายท่านยังใช้รากเถาประสงค์เป็นยารักษาคนผอมเหลือง ซีดเซียวไม่มีกำลัง โดยการนำรากมาต้มหรือดองกินอีกด้วย (ราก)[4]
  3. ตำรายาไทยจะใช้รากที่มีรสสุขุมเป็นยาแก้ไข้ แก้ไข้เพื่อโลหิต แก้ลมปลายไข้ (ทั้งต้น)[1],[2]
  4. ตำรายาพื้นบ้านจะใช้ต้นหรือรากเถาประสงค์ ผสมกับต้นโมกหลวง เถาย่านาง และรากส้มลม นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้หอบหืดอย่างแรง (ต้น, ราก)[1],[2]
  5. หมอยาที่เมืองเลยจะใช้รากเป็นยาแก้ปวดท้อง โรคกระเพาะ ปอดไม่ดี รวมทั้งฝีในปอด (ราก)[4]
  6. ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ท้องเสีย (ทั้งต้น)[1],[2]
  7. ทั้งต้นใช้ปรุงเป็นยาขับน้ำคาวปลาและโลหิตเสียของสตรี (ทั้งต้น)[2]
  8. ตาบุญ สุขบัว หมอยาเมืองเลย และพ่อประกาศ ใจทัศน์ จะใช้รากเถาประสงค์แทนการใช้รากตำยานหรือนำมาใช้ร่วมกันในตำรับยาบำรุงสมรรถภาพของเพศชาย เพื่อรักษาโรคไม่สู้เมีย เพราะทั้งคู่เป็นพืชในตระกูลเดียวกัน รากมีลักษณะคล้ายคลึงกัน จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า “ตำยานฮากหอม” (ราก)[4]
  9. มีงานวิจัยที่ระบุว่า สารสกัดจากรากเถาประสงค์มีสรรพคุณในการยับยั้งเซลล์มะเร็งได้หลายชนิด (ราก)[4]

ประโยชน์ของเถาประสงค์

  • เครือสดสามารถนำมาใช้มัดสิ่งของได้[3]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “เถาประสงค์”.  หน้า 205.
  2. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “เครือประสงค์”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com.  [12 ธ.ค. 2014].
  3. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “เถาประสงค์”.  อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th.  [12 ธ.ค. 2014].
  4. กลุ่มรักษ์เขาใหญ่.  “เครือไทสง คู่หูตำยาน ตำนานสู้เมีย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rakkhaoyai.com.  [12 ธ.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.phargarden.com (by Sudarat Homhual), www.biogang.net (by suchada28538)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด