23 สรรพคุณและประโยชน์ของต้นเต่าร้างแดง ! (เต่าร้าง)

เต่าร้างแดง

เต่าร้างแดง ชื่อสามัญ Fishtail Palm[2], Burmese Fishtail Palm, Clustered Fishtail Palm, Common Fishtail Palm, Wart Fishtail Palm, Tufted Fishtail Palm[3]

เต่าร้างแดง ชื่อวิทยาศาสตร์ Caryota mitis Lour. จัดอยู่ในวงศ์ปาล์ม (ARECACEAE) ซึ่งแต่เดิมใช้ชื่อวงศ์ว่า PALMAE หรือ PALMACEAE[1]

สมุนไพรเต่าร้างแดง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เขื่องหมู่ (ภาคเหนือ), เต่ารั้งมีหน่อ (ภาคกลาง), มะเด็ง (ยะลา), งือเด็ง (มลายู-นราธิวาส)[1],[10], เต่าร้าง[2], เก๊าหม้าย เก๊ามุ่ย เก๊าเขือง (คนเมือง), มีเซเหมาะ (กะเหรี่ยงแดง), เก๊าเขือง (ไทลื้อ), ซึ (ม้ง), จึ๊ก (ปะหล่อง), ตุ๊ดชุก (ขมุ)[5] เป็นต้น

ลักษณะของเต่าร้างแดง

  • ต้นเต่าร้างแดง จัดเป็นพรรณไม้ประเภทปาล์ม ต้นแตกกอมีความสูงได้ประมาณ 5-10 เมตร และลำต้นมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10-20 เซนติเมตร มักขึ้นเดี่ยว ๆ หรือแตกกอเป็น 2-4 ต้น ลำต้นตั้งตรง ไม่แตกกิ่ง มีลักษณะเกลี้ยงเป็นสีเขียวถึงสีเทาอมเขียว เป็นปาล์มที่มีอายุสั้น หลังออกดอกเป็นผลแล้วต้นจะค่อย ๆ ตายไป ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและแยกกอ เป็นไม้กลางแจ้ง ชอบดินร่วนปนทรายที่มีการระบายน้ำดี มีเขตการกระจายพันธุ์กว้าง พบได้ตั้งแต่อินเดีย พม่า หมู่เกาะอันดามัน อินโดนีเซีย ภูมิภาคอินโดจีน มาเลเซีย และทางตอนใต้ของจีน ส่วนในประเทศไทยพบขึ้นกระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยมักพบขึ้นตามป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น ป่าเสื่อมโทรม ริมลำธาร ตามที่ลุ่ม และตามแนวหลังป่าชายเลนที่ติดกับป่าบกหรือป่าพรุ[1],[2],[6],[8]

ต้นเต่าร้างแดง

  • ใบเต่าร้างแดง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ออกเรียงเวียนสลับรอบลำต้น ช่อใบมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมกว้าง แผ่แบน แตกแขนงออกเป็นช่อใบย่อยข้างละ 7-23 ช่อ ยาวประมาณ 50-100 เซนติเมตร ใบย่อยมีลักษณะพับเป็นจีบคล้ายรูปตัววี แผ่นใบมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมหยักเว้า ปลายใบแหลมคล้ายหางปลา โคนใบเป็นรูปลิ่ม แผ่นใบเป็นสีเขียวเป็นมัน มีขนาดกว้างประมาณ 13 เซนติเมตร และยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร ใบย่อยคู่สุดท้ายมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด มักติดกันและมีขนาดใหญ่ ปลายใบหยักไม่สม่ำเสมอ โคนใบเป็นรูปลิ่มเยื้อง ส่วนขอบใบเรียบ ผิวใบเรียบเกลี้ยงทั้งสองด้าน[1] มีกาบใบโอบรอบลำต้นยาวประมาณ 0.5-2 เมตร โคนกาบใบมีขนสีน้ำตาลแดงปนเทาหรือสีดำ และมีรยางค์สีน้ำตาลขึ้นปกคลุม[3]

ใบเต่าร้างแดง

  • ดอกเต่าร้างแดง ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่ร่วมต้นกัน โดยจะออกดอกเป็นช่อเชิงลดไม่มีก้าน ช่อดอกยาวประมาณ 60-80 เซนติเมตร ก้านช่อดอกอวบ ห่อหุ้มไปด้วยกาบสีเขียวขนาดใหญ่ ออกเป็นช่อแยกแขนงที่ปลายยอด ต่อมาจะออกตามซอกใบ แล้วไล่ลงมาถึงโคนต้น ช่อดอกมีลักษณะย่อยห้อยลงมา ออกดอกเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 3 ดอก เรียงเวียนสลับกับแกนช่อดอกย่อย โดยดอกเพศผู้จะเป็นสีเขียวอ่อนไม่มีก้าน ดอกมีลักษณะตูมเป็นรูปทรงขอบขนาน เมื่อดอกบานจะเป็นสีเหลืองนวล กลีบดอกแข็งมี 3 กลีบ ลักษณะเป็นรูปขอบขนาน ปลายแหลมโค้ง ส่วนดอกเพศเมียจะเป็นสีเขียวอ่อน มีกลีบดอก 3 กลีบ ที่โคนกลีบเชื่อมติดกัน ดอกที่บานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 2 เซนติเมตร[1],[3]

รูปเต่าร้างแดง

ดอกเต่าร้างแดง

ช่อดอกเต่าร้างแดง

รูปดอกเต่าร้างแดง

  • ผลเต่าร้างแดง ผลเป็นสดแบบมีเนื้อเมล็ดเดียว สีเขียวแกมเหลือง ออกเป็นพวง ๆ ลักษณะเป็นรูปทรงกลมหรือกลมแป้น มีขนาดประมาณ 1-2 เซนติเมตร เนื้อผลชุ่มไปด้วยน้ำเลี้ยง ซึ่งเป็นพิษและทำให้ระคายเคือง ผลเมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีส้มหรือสีแดงเข้มถึงสีม่วงคล้ำหรือดำ ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด[1],[2],[8]

ลูกเต่าร้างแดง

ผลเต่าร้างแดง

สรรพคุณของเต่าร้างแดง

  • ชาวเขาเผ่าเย้าจะใช้รากเต่าร้างแดงนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงกำลัง ช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรง (ราก)[4]
  • หัวอ่อน ๆ ใช้กินเป็นยาแก้ไข้จับสั่น บำรุงตับและปอด (หัว)[6]
  • หัวอ่อนมีสรรพคุณช่วยทำให้รู้สึกอบอุ่นมากขึ้น จึงนิยมนำไปรับประทานในช่วงที่เป็นไข้หนาว เพื่อช่วยเพิ่มความอบอุ่นและช่วยให้หายจากอาการดังกล่าวได้ไวขึ้น (หัว)[11]
  • หัวและรากเต่าร้างแดงมีรสหวานเย็นขม มีสรรพคุณเป็นยาแก้ตับทรุด ช่วยดับพิษที่ตับ ปอด และหัวใจพิการได้ดี (หัวและราก)[2],[9] (บางข้อมูลระบุด้วยว่า รากและหัวมีสรรพคุณเป็นยาแก้กาฬขึ้นปอด แก้หัวใจพิการ แก้ม้ามพิการ และอาการช้ำใน)[10]
  • หัวมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงตับ แก้กาฬขึ้นที่ตับ แก้ช้ำใน และช่วยบำรุงหัวใจ (หัว)[9]
  • ผลแก่ใช้ตำพอกแผล ช่วยในการสมานแผล ทำให้แผลแห้งและตกสะเก็ดไวยิ่งขึ้น รวมทั้งช่วยป้องกันบาดทะยักอีกด้วยเช่นกัน หรือถ้าเป็นหิดก็ให้ใช้ผลที่ฝานแล้วมาทาแก้หิด กลาก เกลื้อน ส่วนอีกวิธีจะผลใช้ผสมกับน้ำมะพร้าว หั่นลูกทาแก้หิด (ผล)[6],[11]

ประโยชน์ของเต่าร้างแดง

  • ยอดอ่อนใช้ปรุงเป็นอาหารรับประทาน จะนำมาต้ม ลวก แกง หรือผัดกะทิก็ได้ แล้วนำไปเป็นอาหารกินแกล้มกับแกงหรือน้ำพริก[1],[3],[11] บ้างก็ใช้รับประทานสด ๆ อีกส่วนคือใช้แกนในของลำต้น (แกนในยอดอ่อนบริเวณโคนต้น) นำมาประกอบอาหาร เช่น ทำแกง (แต่ต้องทำให้สุกเสียก่อน) แกล้มรับประทานกับน้ำพริก[5],[11] และสุดท้ายคือผลสุกของเต่าร้างแดงก็สามารถนำมารับประทานได้เช่นกัน ให้มีรสชาติหวานอร่อย[6],[11]
  • ใบใช้มุงหลังคาได้ ส่วนเส้นใบจากกาบใบใช้ทำเป็นเชือกสำหรับผูกของต่าง ๆ[7] หรือนำไปทำเป็นเครื่องจักสานเพื่อเป็นสินค้าส่งเสริมรายได้ของชาวบ้าน
  • ลำต้นใช้ทำไม้ปลายแหลมสำหรับเจาะหลุมปลูกข้าวไร่ เพราะมีความทนทาน สามารถใช้ได้นานปี[5]
  • บางข้อมูลระบุว่า ช่อดอกสามารถนำมาปาดเอาน้ำหวานผลิตเป็นน้ำตาลได้เช่นเดียวกับมะพร้าว
  • ใช้ปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับทั่วไป นิยมนำมาปลูกประดับในอาคาร ปลูกกลางแจ้งในสวนสาธารณะ ริมสระว่ายน้ำ หรือริมทะเล เนื่องจากมีรูปทรงสวยงาม แต่ไม่ควรนำไปปลูกใกล้ทางเดิน บริเวณที่พักผ่อน หรือสนามเด็กเล่น เพราะผลมีพิษ[1],[3]

ข้อควรระวัง : ขนตามผล น้ำเลี้ยงตามผิวใบของลำต้น และยางของพืชชนิดนี้โดยเฉพาะยางจากผล เมื่อถูกผิวหนังจะทำให้เกิดอาการคัน หรือหากเข้าตาก็อาจทำให้ตาบอดได้[6] ส่วนขนที่ต้นเมื่อสัมผัสจะทำให้มีอาการคันเล็กน้อย

เอกสารอ้างอิง
  1. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้.  “เต่าร้างแดง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th.  [19 ก.ย. 2015].
  2. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “เต่าร้าง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/herbs/.  [19 ก.ย. 2015].
  3. ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “เต่าร้าง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : agkc.lib.ku.ac.th.  [19 ก.ย. 2015].
  4. อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “เต่าร้างแดง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/.  [19 ก.ย. 2015].
  5. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “เต่าร้างแดง, เต่าร้าง”.  อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th.  [19 ก.ย. 2015].
  6. ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร.  “เต่าร้างแดง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : ftp://smc.ssk.ac.th/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/.  [19 ก.ย. 2015].
  7. วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี.  “เต่าร้างแดง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : th.wikipedia.org.  [19 ก.ย. 2015].
  8. สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “เต่าร้าง”.  [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/.  [19 ก.ย. 2015].
  9. สมุนไพรดอทคอม.  “เต่าร้าง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.samunpri.com.  [19 ก.ย. 2015].
  10. พิพิธภัณฑ์เสมือนเส้นทางศึกษาธรรมชาติหุบเขาลำพญา, ศูนย์วิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา บรมราชินีนาถ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา.  “เต่าร้างแดง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : lumphaya.stkc.go.th.  [19 ก.ย. 2015].
  11. ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม, กระทรวงวัฒนธรรม.  “เต่าร้างแดง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.m-culture.in.th.  [19 ก.ย. 2015].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Fie Niks, Karl Gercens, gellertkatalin, Foggy Forest, ecos de pedra, Keith Bradley, Cerlin Ng, Susan Frikken)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด