14 ขั้นตอนการเตรียมตัวก่อนคลอด & สิ่งที่ต้องเตรียมก่อนคลอด !!

เตรียมตัวก่อนคลอด

ย่อมเป็นการดีที่คุณพ่อและคุณแม่จะได้จัดตระเตรียมการบางอย่างและเตรียมของใช้จำเป็นที่ต้องเตรียมไปโรงพยาบาลในวันคลอด ยิ่งโดยเฉพาะในคุณแม่ท้องแก่ใกล้คลอดนั้น หากได้เตรียมสิ่งที่ต้องใช้ก่อนไปโรงพยาบาลก็จะยิ่งดีมาก ๆ เพราะเมื่อเจ็บท้องคลอดขึ้นมาจริง ๆ จะได้ไม่ฉุกละหุกจนเกินไป

  1. การหาฤกษ์คลอด สำหรับคุณแม่ผ่าคลอดที่มีความเชื่อในหลักโหราศาสตร์ เพื่อส่งเสริมความเป็นมงคล บุญบารมี สติปัญญา สุขภาพแข็งแรงให้กับลูกรัก หลังจากที่หมอกำหนดวันผ่าคลอดให้แล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็ควรจะไปหาฤกษ์เอาไว้ให้พร้อมครับ
  2. เตรียมตั้งชื่อลูกน้อย คุณพ่อและคุณแม่ควรคิดตั้งชื่อลูกเผื่อเอาไว้ให้เรียบร้อย เพราะเมื่อถึงเวลาคลอดแล้วลูกยังไม่มีชื่อ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลจะตั้งชื่อให้ไปก่อน ทำให้ต้องเสียเวลาไปเปลี่ยนแปลงแก้ไข นอกจากนี้ควรวางแผนไว้ล่วงหน้าสำหรับทะเบียนบ้านที่จะแจ้งให้ลูกไปอยู่อาศัย เพราะจะเกี่ยวพันไปถึงโรงเรียนที่จะเข้าเรียนในอนาคตด้วย
  3. เตรียมลาคลอด สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่คุณแม่จะได้รับในขณะลาคลอดจะช่วยให้คุณแม่ที่ต้องทำงานมีเวลาเตรียมตัวเป็นคุณแม่ได้อย่างเต็มตัวเพื่อดูแลทารกทั้งก่อนและหลังคลอดได้อย่างอุ่นใจมากขึ้น ดังนั้นจึงควรใช้โอกาสนี้อย่างเต็มที่ อย่าปล่อยให้ช่วงเวลาดี ๆ เหล่านี้สูญเปล่า ซึ่งคุณแม่ส่วนใหญ่มักจะลาคลอดก่อนถึงกำหนดคลอดประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อจะได้มีเวลาเตรียมตัวเตรียมใจไปคลอดครับ (แต่คุณแม่หลายคนก็พยายามจะลาให้ใกล้วันคลอดมากที่สุดประมาณ 1-2 วัน ซึ่งผมเองมองว่ามันฉุกละหุกเกินไปครับ เลยไม่แนะนำ)
    • คุณแม่ที่รับราชการ มีสิทธิ์ลาคลอดได้ 90 วัน (นับรวมวันหยุดด้วยทุกกรณีนะครับ) โดยไม่ต้องมีใบรับรองแพทย์ คุณแม่ที่เป็นข้าราชการสามารถรับเงินเดือนจากส่วนราชการได้ตามปกติจำนวน 90 วัน ส่วนพนักงานราชการจะรับเงินเดือนจากส่วนราชการได้ตามปกติ 45 วัน และรับจากสำนักงานประกันสังคมอีก 45 วัน พร้อมมีสิทธิ์ลากิจเพื่อเลี้ยงดูบุตรได้ไม่เกิน 150 วันทำการ โดยไม่ได้รับเงินเดือน นอกจากนี้ยังสามารถเบิกเงินช่วยเหลือการคลอดบุตรได้ครั้งละ 400 บาทโดยไม่รวมค่ารักษาพยาบาลที่เบิกแยกเป็นกรณีพิเศษได้ พร้อมยังได้รับเงินสวัสดิการสำหรับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายเดือนละ 50 บาทต่อบุตร 1 คน (แต่ไม่เกิน 3 คน) จนกว่าบุตรจะอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ ส่วนสวัสดิการเพิ่มเติมจากหน่วยงานที่สังกัดอยู่ก็อย่าลืมไปตรวจสอบดูนะครับว่ามีหรือไม่
    • คุณแม่ที่ทำงานในรัฐวิสาหกิจ สามารถเบิกเงินช่วยเหลือการคลอดบุตรได้ครั้งละ 400 บาท โดยไม่รวมค่ารักษาพยาบาลที่เบิกแยกได้ตามระเบียบพนักงานรัฐวิสาหกิจ และยังได้รับเงินช่วยเหลือบุตรจำนวน 50 บาทต่อคนต่อเดือน พร้อมสิทธิ์ลาคลอดได้ 60 วัน โดยได้รับเงินเดือนตามปกติ และอาจลากิจเพื่อเลี้ยงดูบุตรได้ไม่เกิน 30 วัน โดยไม่ได้รับเงินเดือน
    • คุณแม่ที่ทำงานในบริษัทเอกชน จะมีสิทธิ์ลาคลอดได้ 90 วัน โดยไม่ต้องมีใบรับรองแพทย์ ส่วนค่าใช้จ่ายตามกฎหมายแล้วบริษัทจะต้องทำบัตรประกันสังคมให้คุณแม่ทุกท่าน ซึ่งคุณแม่จะได้รับสิทธิ์ค่าทำคลอดบุตรแบบเหมาจ่ายจากบัตรประกันสังคมครั้งละ 13,000 บาท นอกจากนี้ยังได้รับเงินช่วยเหลือการหยุดงานเพื่อคลอดบุตร โดยนายจ้างจะจ่ายค่าจ้างให้ 45 วัน และประกันสังคมจ่ายให้ 45 วัน
    • คุณแม่ที่ประกอบอาชีพอิสระ สามารถใช้บริการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทองได้ฟรีครับ สำหรับการคลอดบุตรไม่เกิน 2 ครั้ง พร้อมการตรวจรักษารวมถึงค่าห้องและค่ายา
      เตรียมตัวคลอด
  4. ตรวจสุขภาพร่างกาย ในช่วงเดือนที่ 9 ของการตั้งครรภ์ หมอจะนัดคุณแม่มาตรวจครรภ์และตรวจดูความพร้อมของร่างกายทุกสัปดาห์ เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมไว้เผื่อมีการคลอดฉุกเฉินขึ้น และเพื่อดูอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงนี้ ในการตรวจสุขภาพก่อนถึงสัปดาห์ของการคลอด หมอจะตรวจดูความพร้อมของทารกว่าอยู่ในท่าที่ส่วนนำหรือศีรษะเคลื่อนกลับลงมารออยู่ที่อุ้งเชิงกรานของคุณแม่แล้วหรือไม่ ซึ่งในบางกรณีที่ทารกไม่กลับศีรษะคุณแม่อาจไม่สามารถคลอดเองได้ตามธรรมชาติ หมอจะต้องใช้การผ่าคลอดเข้าช่วย ซึ่งหากทราบถึงพัฒนาการของทารกในครรภ์ก็จะง่ายต่อการประเมินในการให้คุณแม่เตรียมตัวคลอดได้ครับ
  5. การเตรียมร่างกายก่อนวันไปคลอด อีกไม่กี่สัปดาห์ที่จะถึงวันกำหนดคลอดแล้ว คุณแม่ควรฝึกบริหารและดูแลร่างกายให้แข็งแรง เพื่อให้การคลอดดำเนินไปอย่างราบรื่น เช่น การฝึกเทคนิคเกร็งและคลายเพื่อระงับความกลัวและความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นในขณะคลอด (จะกล่าวถึงในบทความหน้าอย่างละเอียดครับ)
  6. เตรียมตัวให้สบาย ช่วงแรกที่เริ่มเจ็บท้องคลอด คุณแม่ควรอาบน้ำให้สบายเนื้อสบายตัว ถ้าผมยาวปรกหน้ารุงรัง ให้ใช้หวีสับหรือรวบมัดให้เรียบร้อย จะได้ไม่ทำให้คุณแม่รำคาญเวลากระสับกระส่ายขณะเจ็บท้องคลอด
  7. เตรียมใจไปคลอด เมื่อคุณแม่ไม่ได้ไปฝากครรภ์หรือตรวจท้องตามกำหนดนัดทุกครั้ง ระยะใกล้วันครบกำหนดคุณแม่ก็คงสงสัยว่าจะรู้ได้อย่างไรว่าจะเจ็บท้องคลอดแล้ว จะคลอดได้เมื่อไหร่ ต้องคลอดปกติหรือต้องผ่าตัด แล้วลูกจะแข็งแรงหรือไม่ ฯลฯ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จึงทำให้คุณแม่เกิดความกังวลใจ หลายคนเกิดอาการนอนไม่หลับ สะดุ้งผวา โดยการเตรียมจิตใจไว้ล่วงหน้าและเตรียมตัวไปคลอดจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดครับ ซึ่งความกังวลใจรวมทั้งการที่คุณแม่นอนไม่หลับนั้นสามารถทำให้บรรเทาเบาบางลงได้ โดยเริ่มจากคุณแม่ต้องทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใส อย่าซึมเศร้า แม้ว่าสภาพร่างกายจะไม่กระฉับกระเฉงเพราะท้องใหญ่ขึ้น เดินอุ้ยอ้าย คุณแม่ก็ควรจะยิ้มสู้ไว้และมีความหวังว่าอีกไม่นานเราก็จะได้เดินตัวปลิว มีรูปร่างสะโอดสะองเหมือนก่อนคลอดอีกครั้ง
  8. เตรียมคนดูแลไปด้วย เพื่อจะได้คอยช่วยเหลือและดูแลคุณแม่หรือเป็นธุระคอยติดต่อในเรื่องต่าง ๆ โดยเฉพาะคุณพ่อที่ควรอยู่เป็นกำลังใจให้คุณแม่ในขณะคลอด ซึ่งจะช่วยลดความวิตกกังวลของคุณแม่ลงไปได้มากครับ
  1. เตรียมของใช้คุณแม่สำหรับวันไปคลอดลูก ในวันที่จะไปคลอดคุณแม่ควรเตรียมของใช้เอาไว้ให้พร้อมอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนถึงวันกำหนดคลอด เพราะหากมีอาการเจ็บครรภ์จะได้คว้ากระเป๋าพร้อมไปโรงพยาบาลทันที เมื่อถึงโรงพยาบาลจะได้ไม่ฉุกละหุกมาก ซึ่งของใช้ที่ควรนำไปโรงพยาบาลในการคลอดก็มีดังนี้ครับ
    • สมุดบันทึกการฝากครรภ์ เป็นสิ่งสำคัญอันดับหนึ่ง ในกรณีที่หมอหรือพยาบาลให้คุณแม่เก็บไว้เองก็ต้องเอาไปด้วยครับ เพราะข้อมูลทุกอย่างตอนฝากครรภ์จะอยู่ในนั้น ห้ามลืมเป็นอันขาด
    • เอกสารต่าง ๆ เช่น บัตรประจำตัวผู้ป่วย, บัตรประกันสุขภาพ, บัตรทอง, ทะเบียนบ้านและบัตรประชาชนทั้งของคุณแม่และคุณพ่อ (เพราะบางโรงพยาบาลจะมีบริการทำสูติบัตรให้พร้อมครับ), บันทึกการตั้งครรภ์หรือสมุดบันทึกพัฒนาการลูกน้อย ฯลฯ ก็ให้นำมาด้วยครับ (ให้ถ่ายเอกสารบัตรประชาชนของคุณพ่อ-คุณแม่ และบัตรทองมาด้วย)
    • แปรงสีฟันและยาสีฟัน เมื่อเกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน ถ้าได้แปรงฟันอาจช่วยให้คุณแม่รู้สึกดีขึ้นได้
    • กระเป๋าใบเล็กสำหรับใส่ของใช้ในห้องน้ำหรือของใช้กระจุกกระจิก เช่น สบู่หรือเจลอาบน้ำ, แชมพูสระผม, โฟมล้างหน้า, ครีมทาตัว, กระจก, แปรงผม, หวีสับ ที่หนีบผม ที่ผูกผม หรือที่คาดผม (สำหรับคุณแม่ผมยาว), เครื่องสำอาง (เช่น แป้ง ลิปสติก ฯลฯ เพื่อให้คุณแม่ดูดียามต้อนรับญาติหรือเพื่อนที่มาเยี่ยมแสดงความยินดี) ฯลฯ
    • ลิปสติกชนิดมัน (ลิปมัน) คุณแม่อาจเตรียมลิปสติกทากันปากแห้งติดตัวไปด้วย เพราะต้องหายใจทางปากช่วยขณะเบ่ง ซึ่งอาจทำให้ปากแห้งได้
    • ผ้าขนหนูสำหรับเช็ดตัว 1 ผืน (บางโรงพยาบาลมีให้อยู่แล้วครับ)
    • รองเท้าแบบไม่มีส้นหรือรองเท้าแตะ เอาใช้ไว้สำหรับเดินไปมาทั้งในห้องและนอกห้อง และใช้สำหรับใส่กลับบ้าน
    • คอนแทคเลนส์และแว่นตาสำรอง (สำหรับคุณแม่ที่จำเป็นต้องใช้)
    • พัดกับผ้าเช็ดหน้า ผ้าซับเหงื่อ หรือผ้าขนหนูขนาดเล็ก 2 ผืน เผื่อเอาไว้ให้คุณพ่อใช้ผ้าขนหนูผืนเล็ก ๆ ชุบน้ำเย็นคอยเช็ดหน้าให้คุณแม่ในขณะที่เจ็บท้องคลอด หรือใช้พัดเล็ก ๆ โบกพัดลมเย็นอ่อน ๆ เพื่อช่วยให้คุณแม่สดชื่นขึ้น หรือเตรียมผ้าเผื่อไว้ใช้ซับเหงื่อคุณแม่ยามเจ็บท้องและเบ่งคลอด หรือถ้าเพลียและเหนื่อยก็ลองใช้ผ้าชุบน้ำเย็น ๆ เช็ดเนื้อตัว ก็จะช่วยให้คุณแม่รู้สึกสดชื่นขึ้น
    • อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มพลังงาน คุณแม่ต้องเจ็บท้องนานและสูญเสียเรี่ยวแรงมาก การเก็บตุนพลังงานสำหรับการเจ็บท้องในระยะแรกจึงมีความสำคัญต่อคุณแม่เป็นอย่างมาก ถ้าทางโรงพยาบาลที่จะไปคลอดอนุญาตให้คุณแม่รับประทานอาหารหรือดื่มน้ำในช่วงเจ็บท้องได้ คุณแม่อาจเตรียมอาหารที่ย่อยได้ง่ายและรับประทานได้สะดวกมาด้วยก็ได้ เช่น แซนด์วิซ ขนมปัง ผลไม้ หรือขนมที่ให้พลังงานได้ในทันที เช่น ช็อกโกแลต ธัญพืชสำเร็จรูป ผลไม้อบแห้ง ในระยะใกล้คลอดคุณแม่จะกระหายน้ำมาก ถ้าเป็นไปได้ก็ควรเตรียมน้ำผลไม้เจือจางที่ไม่หวานมากนักหรือน้ำเย็นใส่กระติกไว้ด้วยครับ ส่วนน้ำอัดลมหรือน้ำผลไม้ที่รสเปรี้ยวอย่างน้ำส้มหรือน้ำมะนาวก็ควรหลีกเลี่ยงครับ เพราะอาจทำให้คุณแม่รู้สึกคลื่นไส้ได้ (แต่เมื่อเข้าสู่ระยะการคลอดจริง ๆ แล้ว ส่วนใหญ่หมอจะให้งดน้ำและอาหารไว้ก่อน เพราะอาจเกิดภาวะฉุกเฉินในระหว่างการคลอดได้ เช่น ปากมดลูกไม่เปิดเพิ่ม หัวใจลูกเต้นผิดปกติ จึงจำเป็นต้องผ่าตัดทำคลอดฉุกเฉินจะได้สามารถดมยาสลบได้)
    • หนังสือ นิตยสาร สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตไว้ฟังเพลงสบาย ๆ หรือเอาไว้เล่นเกมต่าง ๆ คุณแม่ส่วนใหญ่มักเจ็บท้องคลอดในช่วงต้น ๆ อยู่เป็นเวลานาน และอาจเป็นการรอคอยที่ทำให้คุณแม่เบื่อได้ หากมีอะไรทำเพลิน ๆ เพื่อช่วยเบี่ยงเบนความสนใจไปเรื่องอื่น เช่น การอ่านหนังสือ ฟังเพลง หรือเล่มเกม ก็จะช่วยให้คุณแม่ลืมความเจ็บปวดไปได้บ้าง
    • อุปกรณ์ช่วยผ่อนคลายอาการเจ็บท้อง เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลหรือพยาบาลอาจแนะนำให้คุณแม่เตรียมอุปกรณ์ที่จะช่วยผ่อนคลายความเจ็บปวด เช่น น้ำมันนวด กระเป๋าน้ำร้อน ลูกกลิ้งนวดหลัง แป้งฝุ่น ฯลฯ คุณแม่ควรจัดอุปกรณ์เหล่านี้ใส่ไว้ในกระเป๋ารวมกับสิ่งของอื่น ๆ เมื่อถึงเวลาเจ็บท้องคลอดจะได้ไม่ลืมหยิบไปโรงพยาบาลด้วย เพราะความเจ็บปวดทุรนทุรายในช่วงแรกของการเจ็บท้องคลอด อาจผ่อนคลายลงได้ด้วยการนวด คุณแม่อาจให้คุณพ่อหรือญาติสนิทนวดบริเวณกระดูกสันหลังโดยใช้มือหรือลูกกลิ้งนวดหลัง ควรทาน้ำมันนวดหรือแป้งฝุ่นที่ผิวหนังของคุณแม่และมือผู้นวดด้วย เพื่อช่วยลดความแห้งกระด้างของผิว และวางกระเป๋าน้ำร้อนประคบไว้ที่บริเวณก้นกบก็จะช่วยบรรเทาอาการปวดหลังของคุณแม่ได้ (กระเป๋าน้ำร้อนยังใช้เพื่อคลายอาการปวดหลังคลอดได้ด้วยนะครับ บางโรงพยาบาลก็มีให้ครับ)
    • กระติกน้ำแข็ง บวงช่วงระหว่างการเจ็บท้องคลอด คุณแม่อาจไม่อยากดื่มน้ำอะไรทั้งนั้น เพียงแค่อยากอมอะไรที่ช่วยให้พอชุ่มคอ เช่น น้ำแข็งก้อนละเอียดที่เตรียมไว้ในกระติก ถ้าคุณแม่อมน้ำแข็งไว้ในปากจะรู้สึกเย็นสบายและผ่อนคลายมากขึ้น
    • สเปรย์น้ำแร่ สำหรับใช้ฉีดหน้าหรือตามแขนขาเพื่อให้รู้สึกสดชื่นในขณะเจ็บท้องคลอด
    • นาฬิกาที่มีเข็มวินาที เพื่อใช้สำหรับจับเวลาการบีบรัดตัวของมดลูก
    • กล้องถ่ายรูปหรือกล้องถ่ายวิดีโอเพื่อบันทึกภาพ รวมทั้งสายชาร์จและแบตฯ สำรองเพื่อบันทึกเหตุการณ์อันควรค่าแก่ความทรงจำ (ควรถามทางโรงพยาบาลก่อนว่าอนุญาตให้มีการบันทึกภาพในห้องคลอดได้หรือไม่)
    • เสื้อผ้าและกางเกงใน คุณแม่ควรเตรียมเสื้อนอนเปิดด้านหน้า ยกทรงสำหรับเตรียมให้นมลูก 2-3 ตัว แผ่นซับน้ำนม ชุดลำลอง สำหรับเสื้อผ้าควรจะเป็นเสื้อผ้าที่สวมสบาย ๆ ไม่บางเกินไป เปิดปิดให้นมลูกได้สะดวก เปิดให้ตรวจท้องได้ง่าย หรือทำความสะอาดช่องคลอดได้ง่าย แต่โดยปกติแล้วในโรงพยาบาลส่วนใหญ่จะมีเสื้อผ้าเอาไว้ให้บริการอยู่แล้ว ซึ่งก็เป็นการสะดวกและไม่ต้องกังวลที่จะต้องซักบ่อย ๆ เพราะภายหลังการคลอดมักจะมีเลือดออกมาเปื้อนผ้าเสมอ
    • ผ้าอนามัย สำหรับผ้าอนามัยควรใช้ชนิดที่มีห่วงและสายคาดครับ ซึ่งมีไว้เพื่อใช้ซับน้ำคาวปลาหลังคลอด ส่วนใหญ่แล้วทางโรงพยาบาลจะมีให้อยู่แล้วครับ ยังไงก็สอบถามไว้ก่อนล่วงหน้าก็ดีครับ อ้อ…สำหรับกระดาษห่อผ้าอนามัยใช้แล้วถ้าเตรียมไปด้วยก็จะดีมากเลยครับ
    • กระดาษทิชชู สำลีเช็ดก้นน้อง ทิชชูเปียก (เผื่อไว้ทำความสะอาดลูกน้อย) พร้อมถุงเอาไว้ใส่ทิชชูหรือสำลีใช้แล้ว ฯลฯ
    • ถุงเท้าและผ้าห่ม หลังคลอดใหม่ ๆ คุณแม่บางคนอาจรู้สึกหนาวจนตัวสั่นเนื่องจากสูญเสียความร้อนภายในตัวจากลูกที่คลอดออกไป คุณแม่ควรเตรียมถุงเท้าหนา ๆ หรือผ้าผืนเล็ก ๆ ไว้ห่มขาเพื่อให้ร่างกายอบอุ่นยิ่งขึ้น
    • หมอนให้นม สามารถช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับคุณแม่ในเวลาให้นมลูกได้เป็นอย่างดี
    • หน้ากากปิดตา ควรเตรียมไว้เผื่อคุณแม่ไม่คุ้นเคยกับการนอนหลับในห้องที่มีแสงสว่าง
    • เสื้อคลุมอาบน้ำ ใช้สวมใส่หลังอาบน้ำหรือสวมในเวลาที่คุณแม่อยากออกไปเดินนอกห้องพักในโรงพยาบาล
    • เสื้อผ้าสำหรับตัวคุณแม่เองสำหรับใช้ใส่ในวันกลับบ้าน
    • ถุงพลาสติกใบใหญ่ที่เอาไว้ใส่เสื้อผ้าที่ใช้แล้ว
  2. เตรียมของใช้ทารกแรกเกิดไปโรงพยาบาล คุณแม่ควรสอบถามกับทางโรงพยาบาลก่อนว่าควรนำสิ่งของใดมาให้ลูกบ้าง เช่น ผ้าห่อตัว เสื้อผ้า ฯลฯ เพราะบางโรงพยาบาลได้จัดเตรียมเอาไว้ให้แล้ว ถ้าโรงพยาบาลมีไว้บริการคุณแม่ก็อาจจะใช้ของโรงพยาบาลไปก่อนจนกว่าจะถึงวันกลับ ซึ่งคุณแม่ต้องเตรียมของเหล่านี้เอาไว้เวลาไปรับลูกกลับบ้านด้วยครับ ได้แก่
    • ผ้าอ้อมที่ซักแล้วหรือผ้าอ้อมสำเร็จรูป 1 โหล
    • สำลีเช็ดก้นน้อง ทิชชูเปียก (เผื่อไว้ทำความสะอาดลูกน้อย) พร้อมถุงเอาไว้ใส่ทิชชูหรือสีลำใช้แล้ว ฯลฯ
    • แชมพูอาบน้ำ ยาสระผมสำหรับทารก ผ้าเช็ดตัว สำหรับใช้เช็ดตัวลูกหลังอาบน้ำ
    • ฟองน้ำธรรมชาติ 100% เผื่อไว้ใช้สำหรับอาบน้ำทารกแรกเกิด
    • ผ้าขนหนูขนาดกลางสำหรับห่อตัวเด็ก 3-4 ผืน ไว้ใช้ห่อตัวให้ลูกรู้สึกอุ่นสบาย
    • เสื้อเด็กอ่อน ถุงมือ หมวกและถุงเท้าประมาณ 3 ชุด
    • คาร์ซีท สำหรับให้ลูกนั่งตอนออกจากโรงพยาบาล
      เตรียมของใช้ทารกแรกเกิดไปโรงพยาบาล
  3. การเตรียมพร้อมสำหรับผู้เฝ้าคลอด คุณแม่ควรตระเตรียมสิ่งของไว้ให้คุณพ่อ ญาติ หรือเพื่อน ๆ ที่มาเฝ้าคลอดด้วย เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเป็นห่วงเป็นใยที่มีต่อกัน เช่น
    • ของว่างและเครื่องดื่มต่าง ๆ คุณแม่ควรเตรียมไปเผื่อคุณพ่อ ผู้ใกล้ชิดรวมทั้งผู้ช่วยคลอดบ้างก็ได้ หากหิวขึ้นมาจะได้ไม่ทิ้งคุณแม่ออกไปหาซื้ออะไรรับประทาน
    • ผ้าเย็นเช็ดหน้าเพื่อความเย็นสดชื่น ในขณะที่เจ็บท้องรอคลอด
    • เศษเหรียญในกรณีที่ทางโรงพยาบาลไม่อนุญาตให้ใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อโทรแจ้งข่าวดีให้กับเพื่อนฝูงและญาติพี่น้อง
    • เสื้อผ้าของคุณพ่อสำหรับใช้ผลัดเปลี่ยนในแต่ละวัน
  4. การเตรียมของใช้หรือสิ่งจำเป็นสำหรับเจ้าตัวเล็กแรกเกิดเอาไว้แต่เนิ่น ๆ เพราะหลังคลอดจะไม่มีเวลาให้ออกไปหาซื้อแล้วครับ ส่วนห้องก็ควรเตรียมเอาไว้ให้เรียบร้อย ถ้าออกจากโรงพยาบาลจะสามารถพาลูกมายังห้องที่เตรียมไว้ได้เลย (อ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ “108 ของใช้เด็กอ่อน & ของใช้เด็กแรกเกิด มีอะไรจำเป็นบ้าง ?“)
  5. เตรียมค่าใช้จ่าย เป็นอีกเรื่องที่สำคัญอย่างมากสำหรับการเตรียมงบประมาณในการคลอดและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เผื่อเอาไว้ ซึ่งคุณแม่อาจทราบค่าใช้ในการคลอดล่วงหน้าจากโรงพยาบาลที่ไปฝากครรภ์ ว่าต้องมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง แต่ขอแนะนำให้คุณแม่เผื่อวงเงินไว้ในอัตราสูงสุดที่ทางโรงพยาบาลตั้งไว้ เพราะเมื่อถึงเวลาคลอดจริง ๆ คุณแม่อาจไม่สามารถคลอดได้เอง และแพทย์ต้องตัดสินใจผ่าคลอดทันทีเพื่อความปลอดภัย ก็จะทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงมากขึ้น นอกจากจะเตรียมเงินไว้สำหรับการคลอดแล้ว ควรเตรียมเงินเอาไว้สำหรับภาวะเสี่ยงหลังคลอดด้วย เพราะหลังการคลอดแล้วอาจเกิดภาวะต่าง ๆ ทั้งกับตัวคุณแม่และลูกน้อยได้ ซึ่งก็จะทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นตามอาการและจำนวนวันที่พักฟื้น
  6. ถึงเวลาใกล้คลอด อ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ “8 อาการก่อนคลอด & อาการใกล้คลอด (เจ็บท้องคลอด) ฯลฯ” (อาการเจ็บท้องคลอดเป็นอย่างไร ?, เมื่อเริ่มมีอาการเจ็บท้องคลอด คุณแม่ต้องทำอะไรบ้าง ?, การเดินทางไปโรงพยาบาลของคุณแม่ใกล้คลอด)

คำแนะนำอื่น ๆ

  • ก่อนลงมือเก็บกระเป๋า คุณแม่ควรตรวจสอบกับทางโรงพยาบาลก่อนว่าทางโรงพยาบาลเตรียมสิ่งใดไว้ให้บ้างและต้องเตรียมของใช้อะไรมาเอง เพราะแพ็กเกจการคลอดแต่ละแพ็กเกจในแต่ละโรงพยาบาลจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกแตกต่างกัน หากทราบไว้ก่อนล่วงหน้าก็จะช่วยให้คุณแม่จัดกระเป๋าได้ง่ายขึ้นและไม่ต้องขนของไปมาเกินจำเป็น
  • คุณแม่ควรเตรียมของใช้เฉพาะที่จำเป็นจริง ๆ ส่วนอะไรที่ยังไม่จำเป็นมากนักก็เอาไว้ให้คุณพ่อไปซื้อให้ในภายหลังก็ได้ครับ เพราะเด็กแรกเกิดก็ยังไม่ได้ต้องการอะไรมากนอกไปจาก “นมแม่” ถ้าสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ จะขาดอะไรไปบ้างก็คงจะไม่เป็นอะไร อีกทั้งหลาย ๆ อย่างที่กล่าวมาถ้าเป็นของใช้จำเป็นทางโรงพยาบาลก็มีหมดครับ แถมยังมีให้กลับบ้านด้วย โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชน
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือ 40 สัปดาห์ พัฒนาครรภ์คุณภาพ.  (รศ.พญ.สายฝน – นพ.วิชัย ชวาลไพบูลย์)”.
  2. หนังสือคู่มือตั้งครรภ์และเตรียมคลอด.  (ศ. (คลินิก) นพ.สุวชัย อินทรประเสริฐ)”.

ภาพประกอบ : americanpregnancy.org, www.bubhub.com.au, renomomsblog.com

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด