เดื่อผา
เดื่อผา ชื่อวิทยาศาสตร์ Ficus squamosa Roxb. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Ficus laminosa Hardw. ex Roxb., Ficus pyrrhocarpa Kurz, Ficus saemocarpa Miq.) จัดอยู่ในวงศ์ขนุน (MORACEAE)[1]
สมุนไพรเดื่อผา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มะหนอดน้ำ สลอดน้ำ (น่าน), เดื่อน้ำ เดื่อโฮเฮ (ภาคเหนือ), มะเดื่อ (ไทลื้อ), เหลาะโคเลเหมาะ (กะเหรี่ยงแดง), เดี้ยทงเจี๊ยะ (เมี่ยน) เป็นต้น[1],[2],[3],[4]
ลักษณะของเดื่อผา
- ต้นเดื่อผา จัดเป็นพรรณไม้พุ่ม ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง สูงได้ประมาณ 0.5-1 เมตร และอาจสูงได้ถึง 3 เมตร แตกกิ่งก้านมาก เปลือกต้นเรียบเป็นสีน้ำตาล ตามกิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลแกมเทาขึ้นปกคลุม มีน้ำยางสีขาวขุ่น ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ในประเทศไทยพบได้ทุกภาคของประเทศ พบได้มากทางภาคเหนือ โดยมักขึ้นตามโขดหินริมน้ำ ลำห้วย ลำธาร ตามป่าดิบแล้ง และป่าผสมผลัดใบ ส่วนในต่างประเทศพบที่เนปาล ภูฏาน สิกขิม ตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย พม่า ลาว จีน (ยูนนาน) ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดทั้งปี[1],[2]
- ใบเดื่อผา ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเวียนหรือเรียงเกือบตรงข้าม ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานแกมใบหอกกลับ ปลายแหลมถึงเรียวแหลม โคนใบเป็นรูปลิ่มหรือมน ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร แผ่นใบมีขนทั้งสองด้าน เนื้อใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนมีขนสีขาวหรือสีน้ำตาลแกมดำ เส้นแขนงใบมีข้างละ 8-15 เส้น เส้นใบย่อยมีลักษณะคล้ายขั้นบันได ก้านใบมีขนยาวแข็งสีน้ำตาลขึ้นปกคลุม หูใบหุ้มยอดอ่อนรูปใบหอกและมีขนยาวแข็งหรือสีน้ำตาล[2]
- ดอกเดื่อผา ออกดอกตามต้น ดอกแยกเพศอยู่ในช่อเดียวกัน ก้านช่อดอกยาวได้ถึง 1.5 เซนติเมตร ช่อดอกแบบผลรวมในโพรงฐานช่อดอก รูปทรงเกือบกลมจนถึงเกือบคล้ายรูปไข่กลับหรือผลลูกแพร์ ขยายใหญ่เป็นกระเปาะ มีรูเปิดที่ปลาย ดอกมีขนาดกว้างประมาณ 2-3.5 เซนติเมตร มีขนยาวแข็งสีน้ำตาลแกมดำขึ้นปกคลุม มีสันตามยาว 5 สัน มีใบประดับขนาดเล็กเป็นรูปลิ่ม 3 ใบ ติดอยู่บนก้านช่อดอก ร่วงได้ง่าย ดอกมีขนาดเล็กจำนวนมาก เกิดอยู่ในฐานช่อดอก กลีบรวมเป็นสีขาวมี 3-5 กลีบ ดอกเพศผู้จะมีเกสรเพศผู้ 1 อัน ส่วนดอกเพศเมียจะมีรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี 1 ช่อง มีออวุล 1 เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมีย 1 อัน ติดด้านข้างของรังไข่ มีขนยาวขึ้นปกคลุม ยอดเกสรเพศเมียปลายตัดหรือแฉกตื้น[2]
- ผลเดื่อผา ผลเป็นผลรวม ลักษณะของผลเป็นรูปทรงเกือบกลม เมื่อสุกจะเป็นสีเหลืองแกมดำ ผลมีขนขนาดยาวแข็งสีน้ำตาลแกมขึ้นปกคลุม ก้านผลรวมยาวได้ถึง 1.5 เซนติเมตร ผลย่อยเป็นแบบผลแห้ง มีเมล็ดล่อนขนาดเล็กจำนวนมาก[2]
สรรพคุณของเดื่อผา
- ตำรับยาพื้นบ้านล้านนาจะใช้รากเดื่อผา ผสมกับเหง้าว่านน้ำ และใบสะค้าน นำมาตำให้เป็นผง ใช้ละลายกับน้ำกินเป็นยาแก้ลม (ราก)[1]
ประโยชน์ของเดื่อผา
- ผลมีรสหวาน ใช้รับประทานได้ แต่ในปัจจุบันไม่นิยมรับประทานแล้ว (เมี่ยน)[3]
- ผลอ่อนและยอดอ่อนใช้รับประทานเป็นผักสดจิ้มกับน้ำพริก ขนมจีน ลาบ[2],[4]
- ผลใช้เป็นส่วนประกอบในสะตวงสำหรับพิธีสะเดาะเคราะห์ของชาวไทลื้อ[3]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “เดื่อผา”. หน้า 113.
- ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “เดื่อน้ำ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [23 ธ.ค. 2014].
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “เดื่อผา”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [23 ธ.ค. 2014].
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “เดื่อผา, เดื่อน้ำ”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [23 ธ.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Saroj Kumar Kasaju), www.biogang.net (by mildtom), english.xtbg.cas.cn, www.virboga.de, biodiversity.forest.go.th
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)