เซนโนไซด์ (Sennosides) เสโนคอต (Senokot) สรรพคุณ วิธีใช้ ผลข้างเคียง ฯลฯ

เซนโนไซด์ (Sennosides) เสโนคอต (Senokot) สรรพคุณ วิธีใช้ ผลข้างเคียง ฯลฯ

เซนโนไซด์ / เซนนา

เซนนา / เซนน่า (Senna) หรือยาที่คนทั่วไปรู้จักกันในชื่อทางการค้าว่า เสโนคอต / เซโนคอต (Senokot) เป็นสารเซนโนไซด์ (Sennosides) ที่เตรียมได้จากใบและฝักมะขามแขก (Senna alexandrina Mill) มีฤทธิ์กระตุ้นให้ลำไส้เกิดการบีบตัว (Stimulant laxatives) เช่นเดียวกับน้ำมันละหุ่ง (Castor oil) และยาบิซาโคดิล (Bisacodyl) แต่มีข้อดีคือ เป็นสารธรรมชาติที่มีผลข้างเคียงน้อย โดยนิยมนำมาใช้ประโยชน์เป็นยาระบาย (ยาแก้ท้องผูก) ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ[1]

ในบ้านเราสามารถพบยานี้ในรูปแบบของสารสกัดแล้วที่นำมาผลิตเป็นยาเม็ดหรือยาแคปซูล หรือผลิตเป็นยาน้ำสำหรับเด็ก หรือเป็นยาในรูปแบบของชาชงดื่ม โดยใช้ใบมะขามแขกแทนใบชา สำหรับประเทศไทยมีการจดทะเบียนยาทั้งแผนปัจจุบัน (รูปแบบของสารสกัด) และยาแผนโบราณ (รูปแบบชาชง) ที่เป็นอีกทางเลือกของประชาชนในการใช้ผลิตภัณฑ์ โดยสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป และยังมีใช้ในหลายโรงพยาบาล อย่างไรก็ตาม การใช้ยาเซนโนไซด์อย่างถูกต้องและปลอดภัยนั้น ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง และผู้ป่วยควรหยุดใช้ยาเมื่อระบบการขับถ่ายกลับมาเป็นปกติแล้ว[4]

ตัวอย่างยาเซนโนไซด์

ยาเซนโนไซด์ หรือ ยาเซนนา (ชื่อสามัญ) มีชื่อทางการค้า เช่น อีมูแลกซ์ เซนนา (Emulax Senna ), เซโนคอต / เสโนคอต (Senokot) ฯลฯ

รูปแบบยาเซนโนไซด์

  • ยาเม็ด โดยทั่วไปใน 1 เม็ดจะมีสารเซนโนไซด์ 7.5 มิลลิกรัม[1]
  • ยาน้ำเชื่อม 7.5 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร (1 ช้อนชา)

เซโนคอต
IMAGE SOURCE : www.brandbuffet.in.th, www.clearchemist.co.uk

เสโนคอต
IMAGE SOURCE : twitter.com (@Namkwann) ยาเสโนคอต (Senokot) แผง 10 เม็ด ราคาประมาณ 35 บาท, กล่องใหญ่ 12 แผง (รวม 60 เม็ด) ราคาประมาณ 90-100 บาท

สรรพคุณของยาเซนโนไซด์

  • ใช้เป็นยาระบาย (ยาแก้ท้องผูก) บำบัดรักษาอาการท้องผูกในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ[1],[3],[4]
  • อาจใช้ยานี้สำหรับเตรียมลำไส้หรือขับถ่ายของเสียจากลำไส้ก่อนการผ่าตัดหรือส่องกล้อง[3],[6]
  • ยาเซนโนไซด์อาจใช้เพื่อรักษาโรคหรืออาการอื่น ๆ ได้ หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกร[3]

กลไกการออกฤทธิ์ของยาเซนโนไซด์

หลังการรับประทานยาเซนโนไซด์ ตัวยาจะถูกเปลี่ยนแปลงโครงสร้างโดยแบคทีเรียภายในลำไส้และได้สารสำคัญ คือ Rheinanthrone ซึ่งสารนี้จะช่วยให้ลำไส้เกิดการบีบตัวหรือเคลื่อนตัวมากขึ้น จึงส่งผลให้เกิดความรู้สึกอยากขับถ่ายตามมา โดยกระบวนการดังกล่าวจะเกิดขึ้นหลังการรับประทานยานี้ไปแล้วประมาณ 6-12 ชั่วโมง[1],[4]

เภสัชจลนศาสตร์ของยาเซนโนไซด์

ยานี้จะถูกดูดซึมได้เพียงบางส่วน และถูกขับออกทางปัสสาวะและอุจจาระ ยาสามารถผ่านน้ำนมได้ แต่ไม่พบอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นกับทารก[6]

ก่อนใช้ยาเซนโนไซด์

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาเซนโนไซด์ สิ่งที่ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบมีดังนี้

  • ประวัติการแพ้ยาทุกชนิด โดยเฉพาะยาเซนโนไซด์หรือยาระบายมะขามแขก รวมทั้งอาการจากการแพ้ยาดังกล่าว เช่น รับประทานยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่น หายใจติดขัด/หายใจลำบาก เป็นต้น
  • โรคประจำตัวต่าง ๆ และยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ใช้เอง รวมถึงอาหารเสริม วิตามิน และยาสมุนไพรต่าง ๆ ที่กำลังใช้อยู่หรือกำลังจะใช้ เพราะยาเซนโนไซด์อาจส่งผลให้อาการของโรคที่เป็นอยู่รุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่น ๆ และ/หรืออาหารเสริมอื่น ๆ ที่รับประทานอยู่ก่อนได้ เช่น
    • การใช้ยาเซนโนไซด์ร่วมกับยารักษาภาวะซึมเศร้าหรือกลุ่มยารักษาโรคจิต เช่น ฟลูออกซิทีน (Fluoxetine), เพอร์เฟนาซีน (Perphenazine) สามารถก่อให้เกิดภาวะเกลือแร่บางชนิดในร่างกายตกต่ำ และมีอาการต่าง ๆ ตามมา เช่น คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ อ่อนเพลีย เป็นลม ปวดกล้ามเนื้อ เป็นตะคริว สับสน หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น[4]
    • การใช้ยาเซนโนไซด์ร่วมกับยาปฏิชีวนะบางตัว เช่น อะซิโทรมัยซิน (Azithromycin), ไซโพรฟล็อกซาซิน (Ciprofloxacin), อิริโทรมัยซิน (Erythromycin), สปาร์ฟล็อกซาซิน (Sparfloxacin) อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการลดระดับแมกนีเซียมและโพแทสเซียมในร่างกาย และนำมาซึ่งอาการต่าง ๆ เหล่านี้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ง่วงนอน เป็นลม สับสน ปวดกล้ามเนื้อ เป็นตะคริว เป็นต้น[4]
    • การใช้ยาเซนโนไซด์ร่วมกับยาต้านการอักเสบสเตียรอยด์ (Steroid) เช่น ไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone), เพรดนิโซโลน (Prednisolone), ไตรแอมซิโนโลน (Triamcinolone) อาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะร่างกายขาดน้ำและเกลือแร่ โดยเฉพาะเกลือโพแทสเซียม เป็นเหตุทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นตะคริวที่ท้อง สับสน คลื่นไส้ อาเจียน ปากแห้ง กระหายน้ำ การหายใจและการกลืนลำบาก เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นผิดจังหวะ ขาบวม[4]
    • การใช้ยาเซนโนไซด์ร่วมกับยาลดอาการบวมน้ำ เช่น คลอโรไทอะไซด์ (Chlorothiazide), ไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ (Hydrochlorothiazide), ฟูโรซีไมด์ (Furosemide) อาจก่อให้เกิดภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการเหล่านี้ตามมา เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ วิงเวียนศีรษะ ปากแห้ง ร่างกายอ่อนแรง เป็นตะคริว ปัสสาวะน้อยลง ไตทำงานผิดปกติ ชัก[4]
  • การมีหรือเคยมีโรคไส้ติ่งอักเสบ ภาวะลำไส้อุดตัน อาการปวดท้อง (เช่น จากการมีแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้)[3]
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่ามีการตั้งครรภ์ หรือกำลังวางแผนในการตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายชนิดสามารถผ่านทางรกหรือน้ำนมและเข้าสู่ทารกจนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อทารกได้[3],[4]

ข้อห้าม/ข้อควรระวังในการใช้ยาเซนโนไซด์

  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีอาการคลื่นไส้อาเจียน, มีภาวะลำไส้อุดตัน, มีอาการปวดท้องโดยไม่ทราบสาเหตุ, มีแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้, เป็นไส้ติ่งอักเสบ[4],[6]
  • ห้ามใช้ยานี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี[3]
  • ห้ามใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสแรก (3 เดือนแรก)[4]
  • ห้ามใช้ยาที่เสื่อมสภาพหรือหมดอายุ[4]
  • ควรใช้ยานี้อย่างระมัดระวังในผู้ป่วยที่มีภาวะลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inflammatory bowel disease – IBD)
  • ควรระมัดระวังการเกิดภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ เพราะยานี้มีฤทธิ์เป็นยาระบาย[4]
  • การใช้ยานี้เป็นเวลานาน ควรระวังเรื่องลำไส้อักเสบติดตามมา[4]
  • ควรระวังเรื่องการติดยาเซนโนไซด์ และควรฝึกขับถ่ายตามธรรมชาติ[4]
  • สำหรับผู้ป่วยโรคไต ถึงแม้การใช้ยาเซนโนไซด์ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ จะยังไม่มีรายงานการเกิดพิษต่อไตในคนจากยาชนิดนี้ แต่ก็ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาในผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตบกพร่อง เพราะยาจะถูกกำจัดออกทางไตและอาจเกิดการสะสมได้ ดังนั้นในผู้ป่วยโรคไตที่มีอาการอาจพิจารณาเลือกใช้ยาระบายชนิดที่เพิ่มกากใยในลำไส้ (Bulk-forming laxative) แทน[6]

วิธีใช้ยาเซนโนไซด์

  1. สำหรับใช้รักษาอาการท้องผูกแบบเฉียบพลัน
    • ผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 12 ปี ให้รับประทานยาครั้งละ 2-4 เม็ด (15-30 มิลลิกรัม) วันละครั้งก่อนนอน[1],[4] (ควรเริ่มรับประทานยาครั้งละ 2 เม็ดก่อน หากอาการท้องผูกยังไม่ดีขึ้นให้เพิ่มเป็นครั้งละ 4 เม็ด วันละครั้งก่อนนอน[2])
    • เด็กอายุ 6-12 ปี ให้รับประทานยาครั้งละ 1-2 เม็ด (7.5-15 มิลลิกรัม) วันละครั้งก่อนนอนหรือตอนเช้า[4],[6]
    • เด็กอายุ 2-6 ปี ให้รับประทานยาครั้งละ 3.75-7.5 มิลลิกรัม วันละครั้งตอนเช้า[6]
    • อาจใช้ยาเม็ดมะขามแขกขององค์การเภสัชกรรม หรือใช้ใบและฝักของมะขามแขกตากแห้งประมาณ 1-2 กำมือ (3-10 กรัม) หรือใช้ฝัก 4-5 ฝัก นำมาต้มกับน้ำดื่ม หรือใช้วิธีบดเป็นผงชงกับน้ำดื่มเพื่อเป็นยาระบายก็ได้เช่นกัน
  1. สำหรับใช้เพื่อขับถ่ายของเสียจากลำไส้ก่อนการผ่าตัด, การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy), การสวนแป้งแบเรียม (Barium enema) ขนาดที่แนะนำ คือ 105-157.5 mg (Liquid preparation) ในวันก่อนการผ่าตัด[6]

คำแนะนำในการใช้ยาเซนโนไซด์

  • โดยทั่วไปจะให้รับประทานยาเซนโนไซด์วันละ 1 ครั้ง ในช่วงเย็นหรือก่อนนอน (ให้รับประทานยาพร้อมกับดื่มน้ำตาม 1 แก้ว) เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ระบายในตอนเช้า เพราะยานี้ออกฤทธิ์หลังจากรับประทานไปแล้วประมาณ 6-12 ชั่วโมง หรือผู้ป่วยจะรับประทานยาในช่วงเวลาที่ต้องการจะถ่ายก็ได้ (ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้)[1],[3],[4]
  • ควรรับประทานยาเซนโนไซด์เมื่อมีอาการท้องผูกแบบเฉียบพลันเท่านั้น และควรรับประทานยาในช่วงเวลาสั้น ๆ คือ ไม่เกิน 7 วัน เนื่องจากการรับประทานยานี้ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจก่อให้เกิดความผิดปกติต่อการทำงานของลำไส้ ทำให้เกิดการพึ่งยาระบาย (Laxative dependency) เป็นผลให้เมื่อหยุดรับประทานยา ร่างกายจะไม่สามารถขับถ่ายได้เองตามปกติ ทำให้เกิดอาการท้องผูกมากยิ่งขึ้น รวมทั้งยังเป็นสาเหตุของการทำลายเส้นประสาทและกล้ามเนื้อบริเวณลำไส้ และยังพบด้วยว่าทำให้แร่ธาตุในร่างกายถูกรบกวน คือ ทำให้ระดับโพแทสเซียม และแคลเซียมต่ำ)[2],[5]
  • ผู้ป่วยควรฝึกการขับถ่ายให้เป็นไปตามธรรมชาติและหยุดการใช้ยาเพื่อป้องกันการติดยา[4]
  • ควรใช้ยานี้ตามวิธีใช้ที่ระบุไว้บนฉลากยาหรือตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด ห้ามใช้ยาในขนาดที่น้อยกว่าหรือมากกว่าที่ระบุไว้ หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกร[3]
  • ในกรณีที่ต้องใช้ยาเซนโนไซด์เป็นระยะเวลานาน ควรอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์[3]
  • การใช้ยาเซนโนไซด์ในเด็กอายุระหว่าง 2-12 ปี ควรอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์ โดยเฉพาะในเด็กอายุ 2-6 ปี[3]
  • สำหรับผู้ที่มีอาการท้องผูกเป็นประจำ การดื่มน้ำให้เพียงพอประมาณวันละ 8-10 แก้ว (2,000 มิลลิลิตร) และเน้นการรับประทานอาหารที่มีกากใยก็นับว่าเป็นวิธีที่ช่วยลดอาการท้องผูกได้ดีและปลอดภัยแล้ว แต่หากปฏิบัติตามวิธีดังกล่าวแล้วยังไม่ได้ผล สามารถเลือกรับประทานยาระบายชนิดที่เพิ่มกากใยในลำไส้ (Bulk forming laxative) ได้ เช่น ยาระบายที่มีส่วนผสมของเม็ดแมงลัก, อิสพากูห์ลา ฮัสค์ (Ispaghula husk), ไซเลียม ฮัสค์ (Psyllium seed husk) เป็นต้น (สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป) เพราะยาชนิดนี้จะมีความปลอดภัยมากกว่ายาระบายชนิดกระตุ้นลำไส้ให้บีบตัวอย่างยาเซนโนไซด์ เมื่อต้องรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ[2]

การเก็บรักษายาเซนโนไซด์

  • ควรเก็บยานี้ในภาชนะบรรจุเดิมที่บรรจุมา ปิดให้สนิท และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยงเสมอ
  • ควรเก็บยานี้ที่อุณหภูมิห้อง เก็บยาให้พ้นแสงแดดและความร้อน ไม่ให้อยู่ในที่มีอุณหภูมิร้อนมากกว่า 30 องศาเซลเซียส และไม่เก็บยาในบริเวณที่เปียกหรือชื้น (เช่น ในห้องน้ำ ช่องแช่แข็งของตู้เย็น) เพราะความร้อนหรือความชื้นอาจเป็นสาเหตุทำให้ยาเสื่อมคุณภาพได้
  • ให้ทิ้งยาที่เสื่อมสภาพหรือหมดอายุแล้ว

เมื่อลืมรับประทานยาเซนโนไซด์

หากลืมรับประทานยาเซนโนไซด์ ให้รับประทานยาในทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่ถ้าเป็นเวลาที่ใกล้เคียงกับมื้อต่อไป ให้ข้ามไปรับประทานยามื้อต่อไปได้เลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่าหรือมากกว่าปกติ

ผลข้างเคียงของยาเซนโนไซด์

  • การใช้ยานี้ติดต่อกันเป็นเวลานานและใช้ในขนาดสูงจะทำให้มีอาการปวดท้องหรือถ่ายท้องรุนแรงจนเกิดภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ได้ โดยเฉพาะโพแทสเซียม เป็นผลทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงและหัวใจเต้นผิดปกติ[1],[6]
  • อาจทำให้ปัสสาวะเปลี่ยนสี, ปัสสาวะมีสีคล้ำ, ปัสสาวะออกเป็นสีแดง (ซึ่งไม่มีอันตรายแต่อย่างใด[1]), ลำไส้เป็นสีดำคล้ำ, เกิดอาการนิ้วปุ้ม/นิ้วตะบอง (Clubbing finger), รบกวนสมดุลของเกลือแร่ในร่างกาย (โดยเฉพาะโพแทสเซียม), ลำไส้ไม่เคลื่อนไหว, ลำไส้ใหญ่ทำงานน้อยลง/เกิดการพึ่งยาระบาย (Laxative dependency), ท้องอืด, ไม่สบายท้องน้อย หรือเป็นตะคริวที่ท้องน้อย[1],[3],[4],[6] ส่วนผลข้างเคียงที่ต้องแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทันที คือ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย กล้ามเนื้ออ่อนแรง น้ำหนักลดผิดปกติ[3]
  • อาจทำให้ตับอักเสบและเกิดภาวะตับวายได้ โดยมีรายงานการเกิดตับวายเฉียบพลัน (Acute liver failure) และไตวาย (Renal insufficiency) ในผู้ป่วยหญิงอายุ 52 ปี ที่รับประทานยาระบายมะขามแขกแบบผงชงน้ำดื่มติดต่อกันนานกว่า 3 ปี ซึ่งหลังจากให้การรักษาแบบประคับประคองตามอาการ (Supportive treatment ) ผู้ป่วยก็มีอาการดีขึ้นและหายเป็นปกติ[6]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 1.  “เซนนา (Senna)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 282.
  2. หน่วยคลังข้อมูลยา, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “ยาระบาย senokot สามารถกินติดต่อกันนานได้หรือไม่”.  (ภก.ศุภทัต ชุมนุมวัฒน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.pharmacy.mahidol.ac.th.  [27 ต.ค. 2016].
  3. ยากับคุณ (Ya & You), มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา (วพย.).  “SENOKOT (TABLETS) เสโนคอต”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.yaandyou.net.  [27 ต.ค. 2016].
  4. หาหมอดอทคอม.  “เซนโนไซด์/เซนนา/เซโนคอต (Sennosides/Senna/Senokot)”.  (ภก.อภัย ราษฎรวิจิตร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [27 ต.ค. 2016].
  5. เครือข่ายความร่วมมือบริการเภสัชสนเทศ.  “ยาระบาย senokot สามารถกินติดต่อกันนานได้หรือไม่”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : drug.pharmacy.psu.ac.th.  [27 ต.ค. 2016].
  6. เครือข่ายความร่วมมือบริการเภสัชสนเทศ.  “ใช้ยาระบาย senokot ในผู้ป่วยโรคไต ได้หรือไม่”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : drug.pharmacy.psu.ac.th.  [27 ต.ค. 2016].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด