5 สรรพคุณและประโยชน์ของต้นเครือโงบ ! (เขาควายไม่หลูบ)

เครือโงบ

เครือโงบ ชื่อวิทยาศาสตร์ Uncaria homomalla Miq. จัดอยู่ในวงศ์เข็ม (RUBIACEAE)[1]

สมุนไพรเครือโงบ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เขาควายไม่ว้อง เขาควายไม่หลูบ (ลำปาง), พญาท้าวเอว (สุโขทัย), โงบ อีโงบ (ประจวบคีรีขันธ์), เกียวโซ้ (ปัตตานี), ยอน้ำ อีโงบ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), เครือสี่เหลี่ยม, งบ เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของเครือโงบ

  • ต้นเครือโงบ จัดเป็นพรรณไม้เถาขนาดกลาง กิ่งก้านเป็นสีเขียว ตรงปลายมักเป็นสี่เหลี่ยม มีรูระบายอากาศตามกิ่งอ่อน ส่วนปลายยอดเมื่อนำมาขยี้จะมีกลิ่นหอม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง และปักชำกิ่ง เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วน ต้องการน้ำปานกลาง และควรปลูกในที่มีแสงทั้งวัน พรรณไม้ชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ตั้งแต่อินเดียจนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยมักพบขึ้นตามป่าชื้นที่ความสูงประมาณ 50-1,200 เมตร จากระดับน้ำทะเล[1]

ต้นเครือโงบ

  • ใบเครือโงบ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามเป็นคู่สลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรีกว้าง รูปไข่ หรือรูปไข่แกมใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบมน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-11 เซนติเมตร หลังใบเป็นสีเขียวเข้มเหลือบมัน ส่วนท้องใบเป็นสีขาว มีขนนุ่มแน่น เส้นใบมีประมาณ 6-8 คู่ หูใบมีลักษณะแผ่มน มักพบรยางค์ที่มีลักษณะคล้ายงอออกเป็นคู่ตามข้อ[1],[2]

ใบเครือโงบ

  • ดอกเครือโงบ ออกดอกเป็นช่อกลมแน่น โดยจะออกตามซอกใบ ดอกย่อยเป็นสีขาวนวลหรือสีเหลืองอ่อน มีกลิ่นหอม ดอกย่อยมีลักษณะเป็นหลอดยาว ส่วนปลายแยกเป็น 5 กลีบ[1],[2]
  • ผลเครือโงบ ผลออกเป็นกระจุกแน่น ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม มีขนาดประมาณ 4 เซนติเมตร[1]

สรรพคุณของเครือโงบ

  • แพทย์ตามชนบทบาทภาคอีสานจะใช้รากเหง้าหัว นำมาปรุงเป็นยาขับปัสสาวะ (รากเหง้าหัว)[1]
  • รากเหง้าหัวใช้ปรุงเป็นยาน้ำนิ่วในไต (รากเหง้าหัว)[1]
  • ใช้ปรุงเป็นยาแก้ปวดหลัง ปวดเอว (รากเหง้าหัว)[1]
  • ตำรายาพื้นบ้านล้านนาจะใช้ต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ปวดเมื่อย (ต้น)[2]

ประโยชน์ของเครือโงบ

  • ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป เหมาะสำหรับพื้นที่ที่มีบริเวณกว้าง โดยนำมาปลูกลงในที่แจ้งและทำซุ้มให้เลื้อยไต่และหมั่นตัดแต่งกิ่ง
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ).  “เครือโงบ”.  หน้า 87.
  2. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “เขาควายไม่ว้อง”.  หน้า 218.

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด