23 สรรพคุณและประโยชน์ของต้นเครือปลาสงแดง ! (เครืออีโม้)

เครือปลาสงแดง

เครือปลาสงแดง ชื่อวิทยาศาสตร์ Ichnocarpus frutescens (L.) W.T.Aiton (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Apocynum frutescens L., Echites frutescens (L.) Roxb., Quirivelia frutescens (L.) M.R.Almeida & S.M.Almeida) จัดอยู่ในวงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE)[1],[2]

สมุนไพรเครือปลาสงแดง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เครือเจ็น (เชียงใหม่), เต่าไห้ (ตราด), เครือซุด เครือซุดแดง ชัยสง (เลย), เถายอดแดง (อ่างทอง), ปอต่อไห้ (จันทบุรี), หุนน้ำ (สระบุรี), เถาวัลย์แดง หัวขวาน (ชลบุรี), เถาโก (ประจวบคีรีขันธ์), เครืออีม้อ บางตำราใช้คำว่า เครืออีโม้ (ภาคกลาง) เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของเครือปลาสงแดง

  • ต้นเครือปลาสงแดง จัดเป็นพรรณไม้เถาเนื้อแข็งเลื้อยพาดพันกับต้นไม้อื่น มีความยาวได้ประมาณ 2-8 เมตร แตกกิ่งก้านมาก เถาเป็นสีน้ำตาลแดง ตามเถาอ่อนหรือกิ่งอ่อนจะมีขนสั้น ๆ สีน้ำตาลแดงขึ้นปกคลุม ทุกส่วนมีน้ำยางสีขาว พบขึ้นกระจายทั่วไปตามป่าดงดิบ ป่าโปร่ง ป่าพรุ ป่าเบญจพรรณผสม และตามพื้นที่โล่งทั่วไป ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลถึง 850 เมตร[1],[2]

ต้นเครือปลาสงแดง

  • ใบเครือปลาสงแดง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่แกมขอบขนาน หรือรูปขอบขนานแกมใบหอก ปลายใบเรียวแหลม โคนใบเป็นรูปลิ่มถึงมน ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-4.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7-11 เซนติเมตร แผ่นใบหนาเรียบเป็นสีเขียวเข้ม มีขนขึ้นตามเส้นใบ หลังใบเกลี้ยง ท้องใบมีขนขึ้นประปรายที่เส้นใบ เส้นใบหลักมีประมาณ 5-7 คู่ ก้านใบยาวประมาณ 0.8-1.2 เซนติเมตร และอาจจะพบขนหรือไม่ก็ได้[1],[2]

ดอกเครือปลาสงแดง

ใบเครือปลาสงแดง

  • ดอกเครือปลาสงแดง ออกดอกเป็นช่อแยกแขนงตามซอกใบและที่ปลายกิ่ง ดอกย่อยมีจำนวนมากประมาณ 11-80 ดอก ก้านดอกย่อยยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร มีขนสั้นหนานุ่ม ส่วนก้านช่อดอกยาวประมาณ 0.3-4.2 เซนติเมตร และมีขนสั้นหนานุ่ม ดอกเป็นสีขาวหรือสีเหลืองนวล มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ดอกมีขนาดเล็ก กลีบดอกมี 5 กลีบ กลีบดอกเรียงบิดเวียนขวา ปลายกลีบดอกบิด โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น หลอดกลีบเป็นรูปถ้วย มีขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ปลายแยกเป็น 5 กลีบ ปลายแฉกมน เป็นรูปไข่ มีขนาดกว้างประมาณ 1.5-2 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 2-2.5 มิลลิเมตร โดยด้านข้างของส่วนปลายกลีบจะยื่นยาวคล้ายหาง ยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ส่วนขอบเป็นคลื่น มีขนอุยบริเวณโคนแฉกด้านในและมีขนสั้นนุ่มตามขอบ ส่วนด้านนอกจะเกลี้ยง ทำให้มองเห็นขอบกลีบเป็นฝอยละเอียด ใบประดับมี 2 อัน รองรับช่อดอกย่อย ลักษณะเป็นรูปไข่ ขอบเรียบ มีขนาดกว้างประมาณ 0.5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร มีขนสีน้ำตาลแดงขึ้นกระจายทั่วผิวด้านนอก ส่วนด้านในเกลี้ยง ส่วนกลีบเลี้ยงเป็นสีเขียว หลอดกลีบจะเป็นรูปถ้วยสั้น ๆ มีขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร ปลายแยกเป็นแฉกแหลม ลักษณะเป็นรูปไข่หรือรูปคล้ายสามเหลี่ยม มีขนสั้นนุ่มหนาแน่นสีน้ำตาลแดง ดอกมีเกสรเพศผู้สีเหลืองผิวเกลี้ยง อับเรณูยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ติดอยู่ที่ฐาน ปลายเรียวแหลม โคนมน ซึ่งแตะล้อมรอบก้านและยอดเกสรเพศเมีย ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร อยู่สูงจากโคนหลอดดอกประมาณ 1 มิลลิเมตร เกสรเพศเมีย รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ เกิดจาก 2 คาร์เพล ในแต่ละคาร์เพลจะมีออวุลประมาณ 15-35 ออวุล รังไข่มีขนสั้นนุ่มและใสที่ผิวด้านบน โคนเชื่อมกัน ปลายแยก ก้านเกสรเพศเมียเกลี้ยงและยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ยอดเกสรเพศเมียเกลี้ยงและยาวประมาณ 1 มิลลิเมตรเช่นกัน เป็นสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน จานฐานดอก 5 อัน แยกกัน ลักษณะเป็นรูปไข่หรือคล้ายขวด ยาวประมาณ 0.5-1 มิลลิเมตร โคนเชื่อมแตะรังไข่ ปลายมนหรือกลม เกลี้ยง เป็นสีขาวหรือสีขาวอมเหลือง ออกดอกในช่วงประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม[1],[2]

ดอกเครือปลาสงแดง

ดอกเครือปลาสงแดง

  • ผลเครือปลาสงแดง ออกผลเป็นฝักคู่ ลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก ปลายฝักแหลม ฝักมีขนาดกว้างประมาณ 1.6-5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 3-10.5 เซนติเมตร เมื่อฝักแห้งจะแตกออกเป็นตะเข็บเดียว ภายในฝักมีเมล็ดสีน้ำตาล เมล็ดมีขนกระจุกสีขาวคล้ายเส้นไหมติดอยู่ปลายของเมล็ด[1],[2]

เมล็ดเครือปลาสงแดง

สรรพคุณของเครือปลาสงแดง

  1. ในบังกลาเทศจะใช้รากเป็นยาแก้เบาหวาน (ราก)[2]
  2. ตำรับยาอายุรเวทของอินเดียจะใช้ทั้งต้นเป็นยาแก้วัณโรค (ทั้งต้น)[2]
  3. ช่วยแก้อาการเพ้อคลั่ง (ทั้งต้น)[2]
  4. ใบใช้เป็นยาแก้อาการปวดศีรษะ (ใบ)[2]
  5. ใช้เป็นยาแก้ตาบอดกลางคืน (ทั้งต้น)[2]
  6. ช่วยป้องกันฟันผุ (ใบ)[2]
  7. ใช้เป็นยาแก้ลิ้นอักเสบ แก้อาการเลือดออกที่เหงือก (ทั้งต้น)[2]
  8. ใบและลำต้นใช้ต้มเป็นยาแก้ไข้ ส่วนรากก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ด้วยเช่นกัน (ราก, ใบและลำต้น)[2]
  1. ทั้งต้นใช้เป็นยาแก้ไอ (ทั้งต้น)[2]
  2. รากใช้เป็นยาแก้อาหารไม่ย่อย (ราก)[2]
  3. ทั้งต้นใช้เป็นยาแก้บิด (ทั้งต้น)[2]
  4. ใช้แก้เนื้องอกในช่องท้อง (ทั้งต้น)[2]
  5. รากเป็นยาเย็น มีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะ แก้นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ (ราก)
  6. ทั้งต้นใช้เป็นยาแก้ปัสสาวะเป็นเลือด (ทั้งต้น)[2]
  7. ทั้งต้นใช้เป็นยาแก้ม้ามโต (ทั้งต้น)[2]
  8. ใบใช้เป็นยาแก้บาดแผล (ใบ)[2]
  9. รากใช้เป็นยาแก้โรคผิวหนัง (ราก)[2]
  10. ใบและลำต้นใช้ต้มเป็นยาแก้หิด (ใบและลำต้น)[2]
  11. ทั้งต้นใช้เป็นยาแก้หัด (ทั้งต้น)[2]
  12. ใช้เป็นยาบรรเทาอาการปวดจากแมลงกัด (ทั้งต้น)[2]
  13. ใช้เป็นยาแก้อาการชัก (ทั้งต้น)[2]
  14. ตำรับยาพื้นบ้านอีสานจะใช้รากเครือปลาสงแดงนำมาผสมกับรากมะเฟืองเปรี้ยว รากตีนนก และรากตะโกนา ใช้ต้มกับน้ำดื่ม เป็นยาแก้อาการปวดเมื่อย (ราก)[1],[2]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของเครือปลาสงแดง

  • ลำต้นพบสาร amyrin, beta-sitosterol, friedelin, epi-friedelinol, lupeol[2]
  • รากพบสาร beta-sitosterol [2]
  • ใบพบสารฟลาโวน apigenin, luteolin สารไกลโคฟลาโวน vitexin, isovitexin และสารอื่น ๆ เช่น kaemferol, kaemferol-3-galactoside (trifolin), phenolic acids, proanthocyanidin, protocatechuic acid, synapic acid, syringic, ursolic acid acetate, vanillic[2]
  • ดอกพบสาร quercetin, quercetin-3-O-beta-D-glucopyranoside[2]

ประโยชน์ของเครือปลาสงแดง

  • ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป โดยทำเป็นซุ้มให้แข็งแรง ชอบดินร่วน ต้องการน้ำปานกลาง ชอบอากาศเย็น และมีแสงแดดตลอดวัน
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ).  “เครือปลาสงแดง”.  หน้า 103.
  2. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “เครือปลาสงแดง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com.  [14 ม.ค. 2015].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Dinesh Valke, Russell Cumming, David Tng, Anurag Sharma, Nieminski)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด