เข็มป่า สรรพคุณและประโยชน์ของต้นเข็มป่า 13 ข้อ ! (เข็มโคก)

เข็มป่า สรรพคุณและประโยชน์ของต้นเข็มป่า 13 ข้อ ! (เข็มโคก)

เข็มป่า

เข็มป่า ชื่อวิทยาศาสตร์ Pavetta indica L. จัดอยู่ในวงศ์เข็ม (RUBIACEAE)[1]

สมุนไพรเข็มป่า มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เข็มโคก (ภาคอีสาน), ไก่โหล (ลีซอ-แม่ฮ่องสอน), ลำโป๊ะ (ลั้วะ) เป็นต้น[1],[2]

หมายเหตุ : ผู้เขียนเข้าใจว่าเข็มป่าในบทความนี้เป็นพรรณไม้คนละชนิดกันกับ ต้นเข็มป่า ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ixora Cibdela Craib. (สามารถอ่านได้ที่บทความ เข็มตาไก่) และ ต้นข้าวสารป่า ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pavetta tomentosa Roxb. ex Smith. (ชื่อท้องถิ่น เข็มป่า เข็มแพะ เข็มขาว กระดูกงูเหลือม) ซึ่งทั้ง 3 ชนิดมีสรรพคุณทางยาที่คล้ายคลึงกัน

ลักษณะของเข็มป่า

  • ต้นเข็มป่า จัดเป็นไม้พุ่ม มีความสูงของต้นได้ถึง 5 เมตร ต้นมีลักษณะเป็นทรงเรือนยอดแผ่กว้างระเกะระกะ เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีน้ำตาลอมชมพู เปลือกมีหลุดลอกบ้างเล็กน้อย กิ่งอ่อนเป็นสี่เหลี่ยม[1],[3]

ต้นเข็มป่า

รูปเข็มป่า

  • ใบเข็มป่า ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามแบบสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรี ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-7 เซนติเมตรและยาวประมาณ 8-22 เซนติเมตร หลังใบและท้องใบมีขนนุ่มสีขาว ใบแก่เรียบบางหรือมีขนห่าง ๆ มีก้านใบยาวประมาณ 0.6-3.5 เซนติเมตร[1],[3]

ใบเข็มป่า

  • ดอกเข็มป่า ออกดอกเป็นช่อตั้ง โดยจะออกที่ปลายยอด ช่อดอกเป็นช่อแบบหลวม ๆ ดอกย่อยเป็นสีขาวและมีกลิ่นหอม มีขนาดประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร บางครั้งแต้มไปด้วยสีม่วงหรือสีเขียวที่ปลายกลีบ ดอกมีกลีบดอก 4 กลีบ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาวเล็ก ๆ ปลายกลีบดอกแหลม ส่วนกลีบเลี้ยงดอกเป็นสีเขียว มีลักษณะเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็นแฉก 4 แฉก[1],[3]

ดอกเข็มป่า

รูปดอกเข็มป่า

  • ผลเข็มป่า ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมหรือแบนเล็กน้อย มี 2 พู ผลมีขนาดประมาณ 0.5-0.7 เซนติเมตร ผิวผลเรียบเกลี้ยงและเป็นมัน เนื้อผลบาง ผลเป็นสีเขียวและจะเปลี่ยนเป็นสีดำเมื่อแก่ ภายในผลมีเมล็ดสีน้ำตาล 2 เมล็ด[1],[3]

ผลเข็มป่า

สรรพคุณของเข็มป่า

  1. ดอกมีรสฝาดเย็น ช่วยแก้ตาแดง ตาแฉะ (ดอก)[1]
  2. เปลือกต้นมีรสเมาเบื่อ นำมาตำคั้นเอาแต่น้ำใช้เป็นยาหยอดหูฆ่าแมงคาเข้าหู (เปลือกต้น)[1]
  3. ใบใช้เป็นยารักษาโรคในจมูก (ใบ)[1]
  4. ผลมีรสเมาเบื่อ เป็นยาแก้ริดสีดวงงอกในจมูก (ผล)[1]
  5. รากมีรสเฝื่อน เป็นยาแก้เสมหะในทรวงอกและในท้อง (ราก)[1]
  6. โคนต้นและรากนำไปต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย (โคนต้นและราก)[2]
  7. รากนำมาต้มกับน้ำรับประทานเป็นยาแก้บิด (ราก)[1]
  8. ใบมีรสเมาเบื่อ ใช้เป็นยาฆ่าพยาธิ (ใบ)[1]
  9. ช่วยรักษาโรคริดสีดวงทวาร (ใบและราก)[1]
  10. ใบและรากใช้เป็นยาพอกฝี (ใบและราก)[1],[3]
  11. ใบและรากใช้เป็นยารักษาโรคหิด (ใบและราก)[1]

ประโยชน์ของเข็มป่า

  • ดอกเข็มป่า ชาวลั้วะจะนำมาใส่ในกรวยดอกไม้เพื่อใช้ในพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น ไหว้ผี[2]
  • ดอกนำมาแช่กับน้ำใช้เหมือนเครื่องสำอางหลังการอาบ[4]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  “เข็มป่า (Khem Pa)”.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  หน้า 67.
  2. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “เข็มป่า”.  อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [08 เม.ย. 2014].
  3. สวนสวรส.  “ไม้พุ่ม3”  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.suansavarose.com.  [08 เม.ย. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by satish nikam, [email protected], Shubhada Nikharge, Plant.Hunter)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด