เข็มป่า
เข็มป่า ชื่อวิทยาศาสตร์ Ixora cibdela Craib จัดอยู่ในวงศ์เข็ม (RUBIACEAE)[1]
สมุนไพรเข็มป่า มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เข็มตาไก่ (เชียงใหม่), เข็มโพดสะมา (ปัตตานี), เข็มดอย (ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ), เข็มไทย (ไทย) เป็นต้น[1]
หมายเหตุ : เข็มป่าที่กล่าวถึงบทความนี้เป็นพรรณไม้คนละชนิดกันกับต้นเข็มป่าที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pavetta indica L. (มีชื่อท้องถิ่นอื่นว่า เข็มโคก) และต้นข้าวสารป่า ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pavetta tomentosa Roxb. ex Smith. (มีชื่อท้องถิ่นว่า เข็มป่า เข็มแพะ เข็มขาว กระดูกงูเหลือ) ซึ่งทั้ง 3 ชนิดต่างก็มีสรรพคุณทางยาที่คล้ายคลึงกัน
ลักษณะของเข็มป่า
- ต้นเข็มป่า จัดเป็นพรรณไม้พุ่มขนาดกลาง ลำต้นแตกกิ่งก้านต่ำ มีลักษณะเป็นทรงพุ่ม ลำต้นมีขนาดใหญ่ประมาณเท่าข้อมือ เปลือกต้นเป็นสีเทาปนสีน้ำตาล มีความสูงของต้นประมาณ 3-4 เมตร ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดและวิธีการตอนกิ่ง มักขึ้นตามธรรมชาติในป่าทั่วไปในประเทศไทย[1],[2]
- ใบเข็มป่า ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ยาว ปลายใบเรียวแหลม ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-18 เซนติเมตร ใบเป็นสีเขียวสด[1],[2]
- ดอกเข็มป่า ดอกมีขนาดเล็ก ๆ ออกดอกเป็นพวงเหมือนดอกเข็มธรรมดา แต่จะมีดอกเป็นสีขาว สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี[1]
- ผลเข็มป่า ลักษณะเป็นผลกลมและมีเป็นสีเขียว ผลเมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีดำคล้ำ มีเนื้อหุ้มเมล็ด ใช้รับประทานได้ มีรสหวานปะแล่ม[1],[2]
สรรพคุณของเข็มป่า
- ดอกใช้เป็นยารักษาโรคตาแดง ตาเปียก ตาแฉะ (ดอก)[1]
- เปลือกต้นนำมาตำคั้นเอาแต่น้ำใช้เป็นยาหยอดหูฆ่าแมงคาเข้าหู (เปลือกต้น)[1]
- ผลมีสรรพคุณเป็นยาแก้ริดสีดวงจมูก (ผล)[1]
- รากมีสรรพคุณเป็นยาแก้เสมหะในทรวงอกและในท้อง (ราก)[1]
- ใบใช้เป็นยาฆ่าพยาธิทั้งปวง (ใบ)[1]
ประโยชน์ของเข็มป่า
- ผลใช้รับประทานได้ มีรสหวานปะแล่ม[2]
- ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับได้ ดอกสวย มีกลิ่นหอม มักปลูกกันตามวัดวาอารามแล้วตัดแต่งให้เป็นทรงพุ่มให้ดูสวยงาม[2]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “เข็มป่า”. หน้า 151.
- ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “เข็มป่า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th. [08 เม.ย. 2014].
ภาพประกอบ : www.hinsorn.ac.th
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)