เกล็ดนาคราช สรรพคุณและประโยชน์ของเถาเกล็ดนาคราช 7 ข้อ !

เกล็ดนาคราช

เกล็ดนาคราช ชื่อวิทยาศาสตร์ Dischidia imbricata (Blume) Steud. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Dischidia depressa C.B.Clarke ex King & Gamble, Conchophyllum imbricatum Blume) จัดอยู่ในวงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยนมตำเลีย (ASCLEPIADOIDEAE – ASCLEPIADACEAE)[3]

สมุนไพรเกล็ดนาคราช มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กีบม้าลม กีบมะรุม (เชียงใหม่), เกล็ดนาคราช (เชียงใหม่-ระนอง), เบี้ยไม้ (ภาคเหนือ), ปรือเปราะ (เขมร), เถานาคราช, เถาเกล็ดนาคราช, เครืองูเก็ดนาคราช, มือเปรา เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของเกล็ดนาคราช

  • ต้นเกล็ดนาคราช จัดเป็นพรรณไม้เลื้อยที่ชอบเกาะไต่ไปตามต้นไม้อื่น ตามกลีบหิน หรือบนไหล่เขา ลักษณะคล้ายกับงูเหลือม และจะมีเกล็ดเล็ก ๆ ลายตลอดเถา เป็นสีด่าง ๆ เหลืองขาว ลำต้นมีลักษณะเล็กเรียว ลำต้นเป็นข้อและจะมีรากงอกออกมา รากมีลักษณะเป็นฝอยเล็ก ๆ ชอบเกาะตามหิน ทุกส่วนมีน้ำยางสีขาว ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแยกลำต้น มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศอินเดีย พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย ส่วนในประเทศไทยพบได้ทุกภาค โดยเฉพาะที่จังหวัดสระบุรี ตามบริเวณพระพุทธบาท โดยขึ้นเองตามไหล่เขาทั่วไป ตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าสน ตลอดจนป่าเลน[1],[2],[3],[4]

เถาเกล็ดนาคราช

  • ใบเกล็ดนาคราช ใบจะแตกแยกออกมาตามเถา เป็นตอน ๆ ลักษณะของใบคล้ายใบสาเก กระแตไต่ไม้ หรือช้องนางสีดา[1] ใบเป็นใบเดี่ยว ใบจะออกเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ บริเวณข้อของลำต้น ลักษณะของใบเป็นรูปโล่คล้ายกระทะคว่ำ ปลายใบเว้าตื้น ๆ โคนใบตัด ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.5-4 เซนติเมตร หรือรูปกลมแบนหรือนูน เนื้อใบเป็นตุ่มเหมือนกับมีถุงลมอยู่ข้างใน ลักษณะอวบน้ำ มองไม่เห็นเส้นใบ แต่มักมีแถบสีม่วงแกมเขียวจากโคนไปจนถึงประมาณกึ่งกลางใบ ท้องใบเป็นสีแดงคล้ำหรือสีม่วง ขอบใบเป็นสีเขียว ขอบใบมักเกยกันเล็กน้อย ก้านใบยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร อยู่ลึกเข้าไปทางด้านล่างประมาณ 1 มิลลิเมตร ทำให้โคนใบทั้งคู่เกยปิดลำต้น และในสภาวะแห้งแล้งจะเกยกันมากขึ้น[2],[3],[4]

ต้นเกล็ดนาคราช

ใบเกล็ดนาคราช

  • ดอกเกล็ดนาคราช ออกดอกเป็นช่อกระจะขนาดเล็ก โดยจะออกตามซอกใบ ก้านช่อดอกยาวได้ถึง 4 เซนติเมตร ปลายก้านมักแยกเป็นแกนช่อดอก 2-4 แกน ดอกย่อยมีขนาดเล็ก จะออกบริเวณปลายสุดของแกนครั้งละประมาณ 1-5 ดอก ดอกจะออกที่ปลายแกนช่อดอกเดิมได้หลายครั้ง ดอกมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3 มิลลิเมตร ส่วนก้านดอกย่อยยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร กลีบดอกและกลีบรองกลีบดอกมีอย่างละ 5 กลีบ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปคนโทหรือรูปไข่ ปลายแยกเป็น 5 แฉก แฉกลึกประมาณ 1 มิลลิเมตร กลีบดอกเป็นสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน ข้างในกลีบดอกมีขนยาวสีขาว ชี้ลง และมีเกสรเพศผู้ 5 อัน เชื่อมติดกันอยู่ เส้าเกสรประกอบด้วยรยางค์ 5 อัน สีนวลอมน้ำตาลอ่อน ติดกันเป็นรูปกรวยคว่ำ กลุ่มเรณูติดกันเป็นคู่ ก้านกลุ่มเรณูมีลักษณะแบนและใส แผ่นยึดก้านเป็นสีน้ำตาลเข้ม รังไข่มี 2 อัน แยกออกจากกัน แต่ติดกันตรงปลาย[2],[3],[4]

ดอกเกล็ดนาคราช

  • ผลเกล็ดนาคราช ผลมีลักษณะเป็นฝักรูปทรงกระบอก ยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร เมื่อฝักแก่จะแตกออกตามตะเข็บเป็นแนวเดียว ภายในมีเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดมีขนาดเล็กเป็นสีน้ำตาลและมีกระจุกขนยาวเป็นพู่สีขาวคล้ายเส้นไหมที่ปลายด้านหนึ่ง[3],[4]

สรรพคุณของเกล็ดนาคราช

  1. ตำรายาไทยจะใช้ทั้งต้นเป็นยาถอนพิษไข้ พิษไข้กาฬ พิษตานซาง (ทั้งต้น)[3]
  2. ตำรายาพื้นบ้านอีสานจะใช้เกล็ดนาคราชทั้งเป็นยาเย็น นำมาแช่กับน้ำอาบเป็นยาแก้ไข้ (ทั้งต้น)[3]
  3. ใบสดนำมาตำให้ละเอียด ใช้เป็นยาพอกบริเวณที่เป็นแผลพุพองทั่วไป (ใบ)[2],[3]
  4. เถานำมาใช้ฝนกับเหล้าใช้ทารักษาพิษแมงป่อง พิษตะขาบ พิษจากอสรพิษขบกัด และพิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย ใช้เป็นยาเย็นและถอนพิษได้ดี (เถา, ทั้งต้น)[1],[3]
  5. ลำต้น เถา หรือทั้งต้นใช้เป็นยาแก้อักเสบและปวดบวม (ทั้งต้น)[2],[3]
  6. ตำรายาพื้นบ้านล้านนาจะใช้น้ำคั้นจากใบเป็นยาทาแก้กลากเกลื้อน (ใบ)[3]
  7. เถานำมาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วนำไปคั่วไฟให้เหลือง ใช้ดองกับเหล้ากินรักษาอาการปวดเอวและสันหลังอันเนื่องมาจากเลือดระดูไม่ปกติ และเป็นยาขับเลือดระดูของสตรี (เถา)[1]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “เถาเกล็ดนาคราช”.  หน้า 340-341.
  2. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “เกล็ดนาคราช”.  หน้า 74.
  3. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “เกล็ดนาคราช”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com.  [13 ธ.ค. 2014].
  4. ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “เกล็ดนาคราช”.  อ้างอิงใน : หนังสืออนุกรมวิธานพืช อักษร ก. (ราชบัณฑิตยสถาน).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/.  [13 ธ.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Jardin Boricua, Tony Rodd, thammavong viengsamone), Radek Sejkora

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด