อินทนิลน้ํา
อินทนิลน้ำ ชื่อสามัญ Queen’s flower, Queen’s crape myrtle, Pride of India, Jarul
อินทนิลน้ำ ชื่อวิทยาศาสตร์ Lagerstroemia speciosa (L.) Pers. จัดอยู่ในวงศ์ LYTHRACEAE (เป็นคนละชนิดกับต้นอินทนิลบก ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lagerstroemia macrocarpa Wall.)
สมุนไพรอินทนิลน้ำ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ตะแบกดำ (กรุงเทพ), ฉ่วงมู ฉ่องพนา (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), บางอบะซา (นราธิวาส, มลายู-ยะลา), บาเย บาเอ (มลายู-ปัตตานี), อินทนิล (ภาคกลาง, ภาคใต้) เป็นต้น และยังเป็นพันธุ์ไม้ประจำจังหวัดระนองและจังหวัดสกลนครอีกด้วย
ลักษณะของอินทนิลน้ำ
- ต้นอินทนิลน้ำ เป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ เจริญเติบโตเร็วหากปลูกในที่เหมาะสม ต้นมีความสูงประมาณ 5-20 เมตร ลำต้นเล็กและมักคดงอ แต่พอใหญ่ขึ้นจะเปลา ตรง เป็นไม้ผลัดใบแต่ผลิใบใหม่ไว โคนต้นไม้ไม่ค่อยพบพูพอน มักมีกิ่งใหญ่แตกจากลำต้นสูงเหนือจากพื้นดินขึ้นมาไม่มาก จึงมีเรือนยอดที่แผ่กว้าง เป็นพุ่มลักษณะคล้ายรูปร่มและคลุมส่วนโคนต้นเล็กน้อยเท่านั้น (ถ้าเป็นต้นที่ขึ้นตามธรรมชาติในป่ามักจะมีเรือนยอดคลุมลำต้นประมาณ 9/10 ส่วนของความสูงของต้น) ส่วนผิวเปลือกต้นอินทนิลน้ำจะมีสีเทาหรือสีน้ำตาลอ่อน มักจะมีรอยด่าง ๆ เป็นดวงขาว ๆ อยู่ทั่วไป ผิวเปลือกจะค่อนข้างเรียบ ไม่แตกเป็นร่องหรือเป็นรอยแผลเป็น เปลือกมีความหนาประมาณ 1 เซนติเมตร ที่เปลือกในจะออกสีม่วง นิยมขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด มักพบขึ้นตามที่ราบลุ่มที่ชื้นแฉะทั่วไป รวมไปถึงบริเวณริมฝั่งแม่น้ำลำห้วย หรือในป่าเบญจพรรณชื้นและป่าดงดิบของภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ แต่จะพบได้มากสุดตามป่าดงดิบทางภาคใต้ และยังพบในป่าพรุหรือป่าบึงในของภาคใต้อีกด้วย นอกจากนี้ต้นอินทนิลน้ำยังเป็นพันธุ์ไม้ประจำจังหวัดระนองและจังหวัดสกลนครอีกด้วย
- เนื้อไม้อินทนิลน้ำ เมื่อยังใหม่สดอยู่จะเป็นสีแดงเรื่อ ๆ หรือสีชมพูอ่อน พอนานเข้าจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอมแดง เนื้อไม้ค่อนข้างละเอียด มีเสี้ยนตรง เป็นมันเลื่อม มีความแข็งแรงปานกลาง เหนียวและทนทาน ใช้เลื่อยไสกบตบแต่งง่าย ขัดเงาได้เป็นเงางาม
- ใบอินทนิลน้ำ มีใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกันหรือออกเยื้องกันเล็กน้อย ลักษณะของใบเป็นรูปทรงขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมรูปหอก มีความกว้างประมาณ 5-10 เซนติเมตร และยาวประมาณ 11-26 เซนติเมตร ใบมีสีเขียว เนื้อใบค่อนข้างหนาและเกลี้ยงเป็นมันทั้งสองด้าน โคนใบบนหรือเบี้ยวเยื้องกันเล็กน้อย ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย ส่วนปลายใบเรียวและเป็นติ่งแหลม มีเส้นแขนงใบประมาณ 9-17 คู่ เส้นโค้งอ่อนและจรดกับเส้นถัดไป บริเวณใกล้ ๆ ขอบของเส้นใบย่อยจะเห็นไม่ค่อยชัดนัก ก้านใบยาวประมาณ 1 เซนติเมตร เกลี้ยงและไม่มีขน
- ดอกอินทนิลน้ำ ดอกใหญ่มีหลายสี เช่น สีม่วงอมชมพู สีม่วงสด หรือม่วงล้วน ออกดอกรวมกันเป็นช่อใหญ่ตามปลายกิ่งหรือตามง่ามใบตอนใกล้ ๆ ปลายกิ่ง มีความยาวถึง 30 เซนติเมตร ที่ส่วนบนสุดของดอกตูมจะมีตุ่มกลม ๆ เล็ก ๆ ตั้งอยู่ตรงกลาง ที่ผิวนอกของกลีบฐานดอกจะติดกันเป็นรูปถ้วยหรือรูปทรงกรวยหงาย จะมีสีสันนูนตามยาวเห็ดชัด และมีเส้นขนสั้น ๆ ปกคลุมอยู่ประปราย ดอกอินทนิลน้ำมีกลีบดอกบาง ลักษณะเป็นรูปช้อนที่มีโคนกลีบเป็นก้านเรียว ผิวกลีบจะเป็นคลื่น ๆ เล็กน้อย เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีรัศมีความกว้างประมาณ 5 เซนติเมตร และมีรังไข่กลมเกลี้ยง จะเริ่มออกดอกได้เมื่อมีอายุประมาณ 4-6 ปี
- ผลอินทนิลน้ำ ลักษณะเป็นรูปไข่เกลี้ยง ๆ กว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตรและยาวประมาณ 2-2.6 เซนติเมตร ที่ผิวของผลอินทนิลจะเรียบ ไม่มีขนปกคลุม ผลมีสีน้ำตาลแดง ผลเป็นผลแห้ง เมื่อแก่จะแยกออกเป็น 6 เสี่ยง และจะเผยให้เห็นเมล็ดเล็ก ๆ ที่มีปีกเป็นครีบบาง ๆ ทางด้านบน
สมุนไพรอินทนิลน้ำ มีสรรพคุณที่โดดเด่นคือมีสรรพคุณช่วยรักษาโรคเบาหวาน โดยช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด และยังช่วยลดไขมันและความดันโลหิตสูงได้อีกด้วย ส่วนที่นำมาใช้เป็นยาสมุนไพรได้แก่ ส่วนของใบ เปลือก ราก และเมล็ดอินทนิลน้ำ
สรรพคุณของอินทนิล
- ใบอินทนิลน้ำมีรสขมฝาดเย็น ช่วยรักษาโรคความดันโลหิตสูง โดยใช้ใบแก่เต็มที่ประมาณ 1 กำมือ นำมาต้มกับน้ำดื่มในตอนเช้า (ใบแก่)
- ช่วยลดระดับไขมันในเลือด ในประเทศญี่ปุ่นได้มีการสกัดสารจากใบอินทนิลน้ำด้วยแอลกอฮอล์ นำไปทำให้เข้มข้นจนได้สารสกัด 3 mg./ml. แล้วนำไปทำเป็นยาเม็ดขนาดเม็ดละ 250 mg. ให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานและมีภาวะไขมันในเส้นเลือดสูงรับประทานครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง นานติดต่อกัน 4 สัปดาห์ พบว่าผู้ป่วยมีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดที่ลดลง (ใบ)
- ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งได้มีการทดลองทั้งในประเทศไทย อินเดีย และฟิลิปปินส์ โดยใช้ส่วนของใบแก่เต็มที่ เมล็ด และเปลือกผลในการทดลอง ซึ่งพบว่ามันมีฤทธิ์เหมือนอินซูลิน (ใบแก่, เมล็ด, เปลือกผล)
- เมล็ดช่วยแก้อาการนอนไม่หลับ (เมล็ด)
- ช่วยแก้ไข้ (เปลือก)
- รากมีรสขม ช่วยรักษาแผลในช่องปากและคอ (ราก)
- ช่วยแก้อาการท้องเสีย (เปลือก)
- ใช้เป็นยาสมานท้อง (ราก)
- แก่นมีรสขม ใช้ต้มดื่มรักษาโรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการได้ (ใบ, แก่น)
- ส่วนข้อมูลทางเภสัชวิทยาของอินทนิลน้ำ ได้แก่ ช่วยต้านไวรัส ยับยั้งเชื้อรา ช่วยลดอาการอักเสบ
- ช่วยรักษาโรคเบาหวาน ลดระดับน้ำตาลในเลือด (ใบ, แก่น, เมล็ด) แต่ก่อนจะใช้ใบอินทนิลน้ำมารักษาโรคเบาหวาน ควรให้แพทย์ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหรือตรวจปัสสาวะก่อนว่า มีปริมาณน้ำตาลในเลือดอยู่เท่าใด เมื่อทราบปริมาณที่แน่นอนแล้วให้ปฏิบัติดังนี้
-
- ให้ใช้ใบอินทนิลน้ำตากแห้งจำนวน 10% ของระดับน้ำตาลในเลือดที่ตรวจได้ แล้วนำใบมาบีบให้แตกละเอียดและใส่น้ำดื่มเท่าปริมาณความต้องการที่ใช้ดื่มต่อวัน เทลงในหม้อเคลือบหรือหม้อดิน (ไม่ควรใช้หม้ออลูมิเนียมต้มยา) หลังจากนั้นเคี่ยวจนเดือดประมาณ 15 นาที
- แล้วนำน้ำที่ได้จากการเคี่ยวมาชงใส่ภาชนะไว้ดื่มแทนน้ำตลอดวัน ทำแบบนี้ติดต่อกันประมาณ 20-30 วัน แล้วค่อยตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอีกครั้งหนึ่ง
- เมื่อตรวจแล้วหากระดับน้ำตาลในเลือดลดลงเหลือเท่าใดก็ให้ลดใบอินทนิลน้ำลงตามสูตรเดิม (ใช้ใบปริมาณ 10% ของระดับน้ำตาลในเลือด) แล้วก็นำมาเคี่ยวแทนน้ำดื่มทุก ๆ วันติดต่อกันประมาณ 15 วัน แล้วค่อยไปตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอีกครั้งหนึ่ง
- ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าระดับน้ำตาลในเลือดจะลดลงจนอยู่ในระดับปกติ และให้งดใช้อินทนิลน้ำชั่วคราว
- แต่ถ้าหากระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นผิดปกติเมื่อใด ก็ให้รับประทานอินทนิลน้ำใหม่ สลับไปจนกว่าจะหายจากโรคเบาหวาน
ประโยชน์ของอินทนิลน้ำ
- นิยมปลูกไว้เป็นไม้ริมทางและเป็นไม้ประดับ เนื่องจากมีดอกและใบที่สวยงาม ให้ร่มเงาและเจริญเติบโตเร็ว
- ใบอ่อนนำมาตากแดดใช้ชงเป็นชาไว้ดื่มได้ ช่วยแก้เบาหวานและช่วยลดความอ้วนได้อีกด้วย จนได้มีการนำไปแปรรูปเป็นสมุนไพรอินทนิลน้ำแบบสำเร็จรูปในรูปแบบแคปซูลและแบบชงเป็นชา
- เนื้อไม้อินทนิลน้ำเป็นไม้ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่ง เพราะมีเนื้อไม้ที่แข็งแรง เหนียว และทนทาน ตกแต่งขัดเงาได้ง่าย โดยเนื้อไม้นิยมนำมาใช้ในการก่อสร้างต่าง ๆ ใช้ทำกระดาษ พื้น ฝา รอด ตง กระเบื้องไม้มุงหลังคา คานไม้ ไม้กั้น และส่วนประกอบอื่น ๆ และยังใช้ทำเรือใบ เรือแจว เรือเดินทะเล แจวพายเรือ กรรเชียง ไถ รถ ซี่ล้อ ตัวถังเกวียน ไม้นวดข้าว กระเดื่อง ครกสาก บ่อน้ำ ร่องน้ำ กังหันน้ำ หมอนรางรถไฟ ถังไม้ ลูกหีบ หีบศพ เปียโน ฯลฯ
แหล่งอ้างอิง : เว็บไซต์สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, เว็บไซต์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช (กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม), หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน ลดความดันโลหิตสูง ลดไขมันในเลือด (เภสัชกรหญิงจุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก), หนังสือเภสัชกรรมไทย (วุฒิ วุฒิธรรรมเวช), หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 5, ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, พจนานุกรมไม้ดอกไม้ประดับในเมืองไทย (วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม)
ภาพประกอบ : agkc.lib.ku.ac.th, www.wattano.ac.t, www.the-than.com
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)