อาหารไม่ย่อย
อาหารไม่ย่อย หรือ ธาตุพิการ (ภาษาอังกฤษ : Indigestion หรือ Dyspepsia) หมายถึง อาการไม่สบายท้องตรงบริเวณยอดอกหรือใต้ลิ้นปี่ ที่เกิดขึ้นในระหว่างหรือหลังการรับประทานอาหาร ทำให้ผู้ป่วยมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างร่วมกัน เช่น จุกเสียด แน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ มีลมในท้อง เรอบ่อย แสบท้อง เรอเปรี้ยว คลื่นไส้หรืออาเจียนเล็กน้อย เป็นต้น ส่วนสาเหตุการเกิดนั้นมีได้หลากหลาย และมีตั้งแต่สาเหตุเล็กน้อยไปจนถึงโรคที่รุนแรง และความผิดปกติ (พยาธิสภาพ) อาจอยู่ทั้งในและนอกกระเพาะลำไส้ บางคนเป็นครั้งคราว บางคนอาจเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง
อาหารไม่ย่อยเป็นอาการที่พบได้บ่อยประมาณ 25-40% ของประชากรทั้งหมดต่อปี และพบได้เกือบทุกคนทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในผู้ใหญ่ที่จะพบได้มากกว่าในเด็ก ส่วนโอกาสการเกิดอาการมีใกล้เคียงกันทั้งในผู้ชายและผู้หญิง บางคนเป็นครั้งคราว บางคนอาจเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง
อาการอาหารไม่ย่อยเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์ประมาณ 7% ของผู้ป่วยทั้งหมด และคิดเป็น 50% ของผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ด้วยอาการของระบบทางเดินอาหารในเวชปฏิบัติทั่วไป ผู้ป่วยที่มีอาการอาหารไม่ย่อยนี้มากกว่าครึ่งหนึ่งมักจะมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง จนส่งผลให้คุณภาพชีวิตแย่ลง
สาเหตุอาหารไม่ย่อย
เนื่องจากอาการอาหารไม่ย่อยเป็นอาการแสดงของโรค ซึ่งมิใช่โรคที่จำเพาะชนิดใดชนิดหนึ่ง จึงอาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ได้หลายอย่าง โดยประมาณ 40% ของผู้ป่วยจะสามารถตรวจพบสาเหตุของอาการได้ แต่มากกว่าครึ่งหนึ่งหรือประมาณ 60% จะหาสาเหตุของอาการไม่พบ (อาหารไม่ย่อยชนิดไม่มีแผล) ซึ่งแพทย์สันนิษฐานว่า อาจเกิดจากการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารมาก หรืออาจสัมพันธ์กับฮอร์โมน ความเครียดทางจิตใจ อาหาร หรืออาจเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์
- อาหารไม่ย่อยชนิดไม่มีแผล (Non-ulcer dyspepsia หรือ Functional dyspepsia) เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด คือ ประมาณ 60% ของผู้ป่วยที่มีอาการอาหารไม่ย่อย ซึ่งในปัจจุบันแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน (ไม่ว่าจะตรวจด้วยวิธีใด ๆ ก็ตาม ซึ่งรวมทั้งการส่องกล้องกระเพาะอาหารและลำไส้) เพียงแต่สันนิษฐานว่า อาจเกิดจากสาเหตุเหล่านี้ เช่น
- การรับประทานอาหารปริมาณมากในแต่ละมื้อ ซึ่งส่งผลให้น้ำย่อยอาหารไม่เพียงพอที่จะย่อยอาหารได้
- การรับประทานอาหารเร็ว ซึ่งการเคี้ยวอาหารไม่ละเอียดจะทำให้อาหารย่อยได้ยากขึ้น
- อาหารบางอย่าง ได้แก่ อาหารที่มีไขมันมาก (เช่น อาหารทอด ผัด ที่มีน้ำมันมาก ๆ), อาหารรสจัด (เผ็ดจัดและเปรี้ยวจัด), อาหารที่มีกากใยสูงมาก, อาหารย่อยยาก, อาหารหมักดอง, อาหารที่สร้างแก๊สในลำไส้, อาหารสุก ๆ ดิบ ๆ เป็นต้น
- การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น เหล้า เบียร์ ไวน์ ซึ่งส่งผลให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อเมือกบุกระเพาะอาหารและลำไส้
- การสูบบุหรี่ เพราะสารพิษในบุหรี่จะก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อเมือกบุกระเพาะอาหารและลำไส้ และกระตุ้นให้กระเพาะอาหารสร้างกรดมากขึ้น
- การดื่มเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลังบางชนิด รวมถึงช็อกโกแลต เพราะสารกาเฟอีนจะกระตุ้นให้กระเพาะอาหารสร้างกรดมากขึ้น (จากการศึกษาพบว่า ชนิดของอาหารที่มักทำให้เกิดอาการอาหารไม่ย่อย ได้แก่ น้ำอัดลม อาหารทอด เนื้อแดง พาสต้า และกาแฟ เป็นต้น)
- ปัญหาทางด้านอารมณ์และจิตใจ เช่น ความเครียด ความกังวล ซึ่งจะส่งผลทำให้กระเพาะอาหารสร้างกรดมากกว่าปกติ และ/หรือมีการบีบตัวเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารและลำไส้อย่างผิดปกติ
- สาเหตุอื่น ๆ ซึ่งอาจสัมพันธ์กับฮอร์โมนหรืออาจเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์
- โรคแผลเพ็ปติก (Peptic ulcer) ซึ่งเป็นแผลที่เกิดบนเยื่อบุกระเพาะอาหาร (Stomach) ที่เรียกว่า “โรคแผลกระเพาะอาหาร” (Gastric ulcer) หรือเป็นแผลที่เยื่อบุลำไส้เล็กส่วนต้น (Doudenum) ซึ่งเรียกว่า “โรคแผลลำไส้เล็กส่วนต้น” (Duodenal ulcer) โดยเป็นกรณีที่พบได้ประมาณ 15-25%
- โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal reflux disease) เป็นกรณีที่พบได้ประมาณ 5-15%
- กระเพาะอักเสบ/กระเพาะอาหารอักเสบ (Gastritis) ซึ่งเป็นการอักเสบของเยื่อบุกระเพาะอาหาร
- กระเพาะอาหารขับเคลื่อนตัวช้า ทำให้มีอาหารตกค้างในกระเพาะอยู่นาน เช่น ผู้ป่วยเบาหวานที่ระบบประสาทอัตโนมัติเสื่อม มีแผลหรือเนื้องอกในกระเพาะอาหาร เป็นต้น
- โรคของตับ ตับอ่อน และถุงน้ำดี เช่น ตับอักเสบ ตับแข็ง มะเร็งตับ มะเร็งตับอ่อน ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง นิ่วในถุงน้ำดี ถุงน้ำดีอักเสบ
- โรคมะเร็งกระเพาะอาหารและโรคมะเร็งหลอดอาหาร เป็นกรณีที่พบได้น้อยกว่า 2% ส่วนใหญ่จะพบในคนอายุตั้งแต่ 40-50 ปีขึ้นไป (ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งกระเพาะอาหาร ได้แก่ โรคติดเชื้อเอชไพโลไร (H.pylori infection), การมีประวัติผ่าตัดกระเพาะอาหารมาก่อน, มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร หรือเป็นผู้ที่อพยพมาจากพื้นที่ที่มีความชุกของมะเร็งกระเพาะอาหารสูง)
- โรคอื่น ๆ เช่น โรคกังวลทั่วไป, โรคซึมเศร้า, โรคหัวใจขาดเลือด, โรคเบาหวาน, โรคขาดน้ำย่อยบางชนิด (เช่น น้ำย่อยน้ำนม), โรคลำไส้แปรปรวน, โรคการดูดซึมอาหารผิดปกติ (Malabsorption syndrome), โรคลำไส้ขาดเลือด, ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ (ทั้งต่อมไทรอยด์เป็นพิษและต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย), ต่อมหมวกไตทำงานน้อย, Collagen vascular disease, การมีพยาธิในลำไส้ เป็นต้น
- เกิดจากผลข้างเคียงของยาบางชนิด เช่น ยาแอสไพริน ยาสเตียรอยด์ ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาเม็ดโพแทสเซียมคลอไรด์ เฟอร์รัสซัลเฟต ทีโอฟิลลีน เตตราไซคลีน อิริโทรมัยซิน เป็นต้น
อาการอาหารไม่ย่อย
ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องหรือไม่สบายท้องตรงบริเวณยอดอกหรือใต้ลิ้นปี่ ในลักษณะจุกเสียด แน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ มีลมในท้อง เรอบ่อย แสบท้อง เรอเปรี้ยว คลื่นไส้หรืออาเจียนเล็กน้อย โดยอาจมีอาการเหล่านี้เพียงอย่างเดียวหรือหลายอย่างร่วมกัน และอาจเกิดขึ้นในระหว่างรับประทานอาหารหรือหลังการรับประทานอาหารก็ได้ (บางรายอาจมีประวัติการใช้ยา ดื่มแอลกอฮอล์ กาแฟหรือเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน หรือมีความเครียด ความวิตกกังวล นอนไม่หลับ) โดยอาการจะเป็นเฉพาะบริเวณระดับเหนือสะดือขึ้นไป และจะไม่มีอาการปวดท้องในระดับใต้สะดือและไม่มีความผิดปกติเกี่ยวกับการขับถ่ายร่วมด้วย
- ในผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อน จะมีอาการเรอเปรี้ยวหรือแสบลิ้นปี่ขึ้นมาถึงลำคอ และจะเป็นมากเวลานอนราบหรือก้มตัว
- ในผู้ป่วยแผลเพ็ปติก มักจะมีอาการแสบท้องเวลาหิวหรือหิวก่อนเวลา หรือปวดท้องในตอนดึก และอาการจะทุเลาเมื่อกินยาลดกรด ดื่มน้ำ หรือกินอาหาร และมักจะมีอาการแบบเป็น ๆ หาย ๆ บ่อย
- ในผู้ป่วยที่เป็นโรคของตับ ถุงน้ำดี ตับอ่อน และมะเร็งในช่องท้อง ในระยะแรกผู้ป่วยจะมีอาการอาหารไม่ย่อยหรือแผลเพ็ปติก แต่ในระยะต่อมามักจะมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลง ดีซ่าน หรือถ่ายอุจจาระเป็นสีดำเหมือนยางมะตอย (ถ้าเป็นโรคตับหรือถุงน้ำดี ผู้ป่วยอาจมีอาการตาเหลือง ตัวเหลือง ฝ่ามือแดง มีจุดแดงรูปแมงมุม แต่ถ้าเป็นมะเร็งอาจคลำได้ตับโตหรือมีก้อนในท้องหรือมีภาวะซีด)
- ในผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือด จะมีอาการจุกแน่นยอดอกและปวดร้าวขึ้นไปที่คอ ขากรรไกร หัวไหล่ มักพบในคนอายุ 40-50 ปีขึ้นไป อาจมีประวัติการสูบบุหรี่ เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือภาวะไขมันในเลือดสูง
ความรุนแรงของอาการอาหารไม่ย่อยจะขึ้นอยู่กับสาเหตุ เช่น จะมีอาการรุนแรงมากเมื่อเกิดจากมะเร็งกระเพาะอาหาร แต่โดยทั่วไปแล้วเมื่อเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ หรือเป็นกลุ่มอาการอาหารไม่ย่อยชนิดไม่มีแผลซึ่งพบได้เป็นส่วนใหญ่จะมีอาการไม่รุนแรง สามารถควบคุมและรักษาอาการได้ แต่มักจะเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรังจนอาจส่งผลถึงคุณภาพชีวิตได้ถ้าไม่หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร (เช่น อาจต้องทำให้หยุดงาน หรือประสิทธิภาพในการทำงานลดลง) เพราะจากการศึกษาในกลุ่มประชากรในเวชปฏิบัติปฐมภูมิของประเทศสวีเดนพบว่า จากการติดตามผู้ป่วยที่มีอาการอาหารไม่ย่อยจำนวน 288 คนไป 1 ปี พบว่า 61% ของผู้ป่วยยังคงมีอาการของอาหารไม่ย่อยและยังต้องรับประทานยาอยู่ ในขณะที่ผลการศึกษาอื่น ๆ ก็พบผลที่ใกล้เคียงกันคือประมาณ 50-80% แต่ในประเทศไทยยังไม่มีการประมาณตัวเลขที่แน่นอน
สำหรับผลข้างเคียงจากอาการอาหารไม่ย่อย หลัก ๆ คืออาการไม่สบายท้องบริเวณยอดอกหรือใต้ลิ้นปี่ และอาการยังขึ้นอยู่กับสาเหตุที่กล่าวไป เช่น ถ้าเกิดจากโรคแผลเพ็ปติกหรือมะเร็งกระเพาะอาหาร ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดท้องรุนแรง อาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายอุจจาระเป็นสีดำเหมือนยางมะตอยจากการมีเลือดออกจากแผลเพ็ปติกหรือจากแผลมะเร็งร่วมด้วย
กลไกการเกิดอาการอาหารไม่ย่อย
- Delay gastric emptying time คือ ระยะเวลาที่ใช้ในการบีบตัวของกระเพาะอาหารเพื่อดันอาหารลงสู่ลำไส้เล็กนานกว่าปกติ
- Impaired gastric accommodation คือ การคลายตัวของกระเพาะอาหารส่วนต้นหลังการรับประทานทำได้น้อยกว่าปกติ จึงทำให้แรงดันในกระเพาะอาหารสูงขึ้น และไปกระตุ้นตัวรับความรู้สึกบริเวณผนังกระเพาะอาหารทำให้เกิดอาการขึ้นมา
- Hypersensitivity to gastric distention คือ การรับรู้ความรู้สึกของกระเพาะอาหารที่ไวกว่าคนปกติทั่วไป
การวินิจฉัยอาการอาหารไม่ย่อย
แพทย์สามารถวินิจฉัยอาการอาหารไม่ย่อยและสาเหตุการเกิดได้จากประวัติอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการรับประทานยา การตรวจร่างกาย และจากการที่ให้ผู้ป่วยรับประทานยาลดกรด (Antacids) หรือยาช่วยย่อยอาหาร (Digestive drug) ร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร หลังจากนั้นจะดูอาการประมาณ 3-4 สัปดาห์ ถ้าผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นก็จะวินิจฉัยได้ว่า เป็นอาการอาหารไม่ย่อย แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการไม่ดีขึ้นหรือมีอาการมากขึ้นก็อาจมีการตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติมตามดุลยพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจหาเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคแผลเพ็ปติก, การตรวจเลือดดูน้ำตาลเพื่อวินิจฉัยโรคเบาหวาน, การส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหารและลำไส้ (Upper endoscopy) ร่วมกับการตัดชิ้นเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยาเพื่อวินิจฉัยแยกโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร, การกลืนแป้งแบเรียมตรวจกระเพาะอาหาร (Barium UGI study) เมื่อสงสัยว่าเป็นมะเร็งในกระเพาะอาหาร, การตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงในช่องท้องส่วนต้น (Ultrasound Upper Abdomen) ที่อาจพบก้อนในตับ เป็นต้น
แพทย์จะตรวจร่างกายอย่างละเอียดก่อนจะวินิจฉัยได้ว่าผู้ป่วยเป็นเพียงอาการอาหารไม่ย่อยชนิดไม่มีแผล เพราะในผู้ที่เป็นอาหารไม่ย่อยชนิดไม่มีแผลแพทย์มักจะตรวจไม่พบความผิดปกติใด ๆ นอกจากอาจมีอาการท้องอืด เคาะท้องเกิดเสียงโปร่ง ๆ ของลมในท้อง
ก่อนจะวินิจฉัยอาการจุกแน่นตรงลิ้นปี่ว่าเป็นเพียงอาหารไม่ย่อยชนิดไม่มีแผล หรือแผลเพ็ปติก หรือโรคกระเพาะอาหาร แพทย์จะซักถามอาการและตรวจดูอาการของผู้ป่วยอย่างละเอียด เพราะมีโรคอีกหลายโรคที่อาจมีอาการคล้ายกับโรคทั้ง 2 ชนิดนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป อาจเป็นโรคกรดไหลย้อน โรคหัวใจขาดเลือด นิ่วน้ำดี มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งตับ หรือมะเร็งในช่องท้องอื่น ๆ
วิธีรักษาอาหารไม่ย่อย
แนวทางการรักษาอาการอาหารไม่ย่อย คือ การรักษาไปตามสาเหตุ (ในรายที่ทราบสาเหตุ) เช่น การรักษาโรคแผลเพ็ปติก การปรับเปลี่ยนยาเมื่อเกิดจากผลข้างเคียงของยา เป็นต้น ส่วนในรายที่ไม่ทราบสาเหตุ (อาหารไม่ย่อยชนิดไม่มีแผล ซึ่งพบได้เป็นส่วนใหญ่) แนวทางการรักษาหลัก ๆ คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และการให้ยาต่าง ๆ เช่น ยาลดกรด (Antacids), ยาเพิ่มการบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้, ยาช่วยย่อยอาหาร (Digestive drug) และยาขับลม (Antiflatulent) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยและดุลยพินิจของแพทย์ เช่น
- ถ้ามีอาการแสบท้องเวลาหิวหรือตอนดึก หรือมีอาการจุกเสียดแน่นท้องหลังอาหาร เรอเปรี้ยว หรือมีประวัติรับประทานยาแอสไพริน ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ หรือดื่มแอลกอฮอล์ แพทย์จะให้รับประทานยาลดกรด (Antacids) ร่วมกับยาลดการสร้างกรดกลุ่มต้านเอช 2 (H2 antagonist) เช่น รานิทิดีน (Ranitidine) ถ้ารู้สึกว่าอาการทุเลาลงหลังรับประทานยาได้ 2-3 ครั้ง ให้รับประทานยาติดต่อกันนานประมาณ 8 สัปดาห์ เพื่อครอบคลุมโรคแผลเพ็ปติกที่อาจเป็นสาเหตุของอาหารไม่ย่อยได้
- ผู้ป่วยควรไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจพิเศษเพิ่มเติม (การวินิจฉัยอาจต้องตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ อัลตราซาวนด์ ตรวจคลื่นหัวใจ เอกซเรย์กระเพาะลำไส้ด้วยการกลืนแป้งแบเรียม (Barium GI study) ใช้กล้องส่องตรวจกระเพาะลำไส้ (Endoscopy) เป็นต้น แล้วให้การรักษาไปตามสาเหตุที่ตรวจพบ) ถ้ามีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
- รับประทานยาลดกรดและยาลดการสร้างกรดกลุ่มต้านเอช 2 มา 2-3 ครั้งแล้วยังไม่รู้สึกทุเลาลงแม้แต่น้อย หรือมีอาการทุเลาลงแล้วแต่รับประทานยาจนครบ 2 สัปดาห์แล้วยังรู้สึกไม่หายดี หรือมีอาการกำเริบซ้ำอีกหลังจากหยุดรับประทานยาจนครบ 8 สัปดาห์แล้ว
- มีอาการเบื่ออาหาร กลืนลำบาก น้ำหนักตัวลดลง ซีด ตาเหลือง ตับโต ม้ามโต คลำได้ก้อนในท้อง อาเจียนรุนแรง อาเจียนเป็นเลือด เป็นต้น
- สงสัยว่าเป็นโรคหัวใจขาดเลือดหรือนิ่วน้ำดี
- พบในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป
- ผู้ป่วยควรไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจพิเศษเพิ่มเติม (การวินิจฉัยอาจต้องตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ อัลตราซาวนด์ ตรวจคลื่นหัวใจ เอกซเรย์กระเพาะลำไส้ด้วยการกลืนแป้งแบเรียม (Barium GI study) ใช้กล้องส่องตรวจกระเพาะลำไส้ (Endoscopy) เป็นต้น แล้วให้การรักษาไปตามสาเหตุที่ตรวจพบ) ถ้ามีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
- ถ้ามีลมในท้องหรือเรอ แพทย์จะให้รับประทานยาแก้ท้องอืดท้องเฟ้อหรือยาขับลม (Antiflatulent) หรือยาลดกรดที่มีไซเมทิโคนผสมอยู่ โดยในเด็กเล็กให้รับประทานยาไซเมทิโคน ½-1 หยด (0.3-0.6 มิลลิลิตร) ผสมกับน้ำ 2-4 ออนซ์ (¼-½ ถ้วย) หรือใช้ทิงเจอร์มหาหิงคุ์ทาหน้าท้อง ถ้ายังไม่ได้ผลหรือมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ให้รับประทานยาเมโทโคลพราไมด์ (Metoclopramide) หรือดอมเพอริโดน (Domperidone) ก่อนอาหาร 3 มื้อ
- ถ้ามีความเครียด วิตกกังวล หรือนอนไม่หลับ ให้รับประทานยาไดอะซีแพม (Diazepam)
- ถ้ามีอาการดีขึ้น ให้รับประทานยาต่อไปประมาณ 2-4 สัปดาห์ แต่ถ้ายังไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อตรวจหาสาเหตุ
- มีหลักฐานชี้ว่า การบำบัดโดยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (Cognitive behavioral therapy – CBT) สามารถช่วยลดอาการของผู้ป่วยได้ แต่ยังไม่มีหลักฐานที่มีคุณภาพเพียงพอชัดเจนสำหรับการลดอาการอาหารไม่ย่อยในผู้ป่วยทุกราย แต่อาจใช้ในกรณีผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องของอารมณ์ที่ผิดปกติร่วมด้วย เช่น โรคซึมเศร้า (Major depressive disorder) เป็นต้น
- การปฏิบัติตัวเมื่อมีอาการอาหารไม่ย่อย ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวดังนี้
- งดการสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ช็อกโกแลต ชา กาแฟ น้ำอัดลม หรือเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพริน ยาสเตียรอยด์ ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาแอนติสปาสโมดิก ทีโอฟิลลีน เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด อาหารมัน ของหมักดอง อาหารสุก ๆ ดิบ ๆ หรืออาหารที่ย่อยได้ยาก (อาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล) เพราะอาหารเหล่านี้จะทำให้อาการเลวลง
- ควรรับประทานอาหารให้ตรงเวลาทุกมื้อ ส่วนอาหารมื้อเย็นให้รับประทานก่อนเวลาเข้านอนอย่างน้อย 3 ชั่วโมงขึ้นไป
- เคี้ยวอาหารให้ละเอียด ไม่เร่งรีบในการรับประทานอาหาร และอย่ารับประทานอาหารแต่ละมื้อจนอิ่มมากเกินไป
- หลังรับประทานอาหารเสร็จใหม่ ๆ อย่าล้มตัวลงนอนทันทีหรืออยู่ในท่าก้มงอตัว แต่ควรรออย่างน้อยประมาณ 2-3 ชั่วโมง และหลีกเลี่ยงการใส่กางเกง กระโปรง หรือคาดเข็มขัดที่รัดแน่นจนเกินไป
- ควรเคลื่อนไหวร่างกายสักพักหลังการรับประทานอาหารเพื่อช่วยในการย่อยและการบีบตัวของกระเพาะอาหาร เพราะจะช่วยขับเคลื่อนอาหารออกจากกระเพาะอาหารได้เร็วและไม่คั่งค้างจนก่อให้เกิดอาการได้
- ถ้ามีความเครียดควรออกกำลังกายเป็นประจำหรือหาวิธีผ่อนคลายความเครียด เช่น การทำงานอดิเรกหาความบันเทิงใจ ปลูกต้นไม้ ฟังเพลง เล่นดนตรี ดูภาพยนตร์ สวดมนต์ไหว้พระ ทำสมาธิ ภาวนา ตามหลักศาสนาที่นับถือ
- ออกกำลังกายแบบแอโรบิกอย่างสม่ำเสมอสัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง ครั้งละ 20-40 นาที (แต่ไม่ควรออกกำลังกายทันทีหลังรับประทานอาหาร)
- ถ้ามีน้ำหนักตัวมากควรหาทางลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานอย่างถูกวิธี
- อาจปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาเกี่ยวกับการซื้อยาลดกรด (Antacids) หรือยาช่วยย่อยอาหาร (Digestive drug) มารับประทาน
- ถ้าภายหลังการดูแลตนเองแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นภายใน 3-4 สัปดาห์ หรือเมื่อมีความกังวลในอาการที่เกิดขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจสาเหตุของอาการ แต่ถ้าอาการต่าง ๆ เลวลง ควรรีบไปพบแพทย์ภายใน 1 สัปดาห์ และควรรีบไปพบแพทย์ฉุกเฉิน เมื่ออาเจียนเป็นเลือดหรือถ่ายอุจจาระเป็นสีดำเหมือนยางมะตอย
- นอกจากนั้น คือ การสังเกตความสัมพันธ์ระหว่างอาการกับประเภทและปริมาณของอาหาร แล้วหลีกเลี่ยงหรือลดปริมาณอาหารเหล่านั้นลงและค่อย ๆ ปรับตัวไปเรื่อย ๆ
วิธีป้องกันอาหารไม่ย่อย
การป้องกันไม่ให้เกิดอาการอาหารไม่ย่อยควรป้องกันที่สาเหตุและหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง รวมทั้งการปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารดังที่กล่าวในหัวข้อ “การปฏิบัติตัวเมื่อมีอาการอาหารไม่ย่อย”
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2. “อาหารไม่ย่อย (Dyspepsia)”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 530-533.
- ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี. “ดีสเปปเซีย อาการธรรมดาที่ไม่ธรรมดาในเวชปฏิบัติปฐมภูมิ”. (อ.พญ.กนกพร สุขโต). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : med.mahidol.ac.th. [08 ก.พ. 2017].
- หาหมอดอทคอม. “อาหารไม่ย่อย ธาตุพิการ (Indigestion)”. (ศ.เกียรติคุณ พญ.พวงทอง ไกรพิบูลย์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [09 ก.พ. 2017].
- Siamhealth. “อาหารไม่ย่อย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.siamhealth.net. [10 ก.พ. 2017].
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)