อาการก่อนคลอด
การคลอดเป็นวิถีที่ธรรมชาติมอบให้แก่คุณแม่โดยเฉพาะ เพื่อให้ลูกน้อยในครรภ์ได้เคลื่อนตัวออกจากมดลูกมาสู่โลกภายนอก โดยเฉพาะในช่วง 3-4 สัปดาห์ก่อนคลอด คุณแม่จะเริ่มรู้สึกว่ามีการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เกิดขึ้นกับร่างกายมากมาย ซึ่งนั่นก็เป็นผลมาจากการกระตุ้นของฮอร์โมนที่สร้างมาจากมดลูกและทารกในครรภ์ เพื่อให้ร่างกายได้เตรียมพร้อมสำหรับการคลอดที่จะมาถึงในไม่ช้า
เมื่อเข้าสู่ระยะสุดท้ายของการตั้งครรภ์ หรือในอีกไม่กี่สัปดาห์ก่อนถึงเวลาคลอด จะมีอาการสำคัญ 2-3 อย่างที่คุณแม่จะต้องเฝ้าสังเกตดู เพราะอาการเหล่านี้คือ “อาการนำก่อนคลอด” ซึ่งอาการบางอย่างที่เกิดขึ้นอาจพอมีช่วงเวลาให้คุณแม่ได้พอเตรียมตัวบ้าง ดังนี้ (แต่สำหรับบางอาการนั้นคุณแม่จะต้องรีบไปโรงพยาบาลในทันที เพราะใกล้จะคลอดเต็มทีแล้ว)
1.) เจ็บครรภ์เตือน หรือ เจ็บท้องเตือน (False Labor) ในช่วงใกล้คลอดมดลูกของคุณแม่จะขยายตัวเต็มที่และเคลื่อนตัวลงต่ำ คุณแม่จึงรู้สึกได้ว่ามดลูกแข็งตัวบ่อยครั้งขึ้นจนสามารถคลำและรู้สึกได้ว่าเป็นก้อนแข็ง ๆ ที่บริเวณหน้าท้อง อาการเจ็บท้องเตือนเป็นการเตรียมความพร้อมของปากมดลูกให้มีความอ่อนนุ่ม หลังจากที่มดลูกคลายตัวลงจะช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปสู่รก ทำให้ทารกในครรภ์ได้รับสารอาหารเพิ่มขึ้น และเป็นการฝึกให้ทารกคุ้นเคยกับการขาดเลือดหรือภาวะเครียดระหว่างการคลอดที่มดลูกจะหดรัดตัวอย่างรุนแรง ซึ่งอาการเจ็บท้องเตือนนี้อาจจะเริ่มต้นที่ปลายไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ หรือในช่วง 2-3 เดือนสุดท้ายก่อนการคลอด (ส่วนใหญ่จะเริ่มที่ประมาณ 28 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์) และจะปวดถี่หรือรุนแรงมากขึ้นเมื่อใกล้คลอด อย่างไรก็ตาม คุณแม่จะไม่รู้สึกเจ็บปวดแต่อย่างใด เพราะอาการจะดีขึ้นเมื่อคุณแม่ได้พักผ่อนสบาย ๆ เพียงแค่นั่งหรือนอนพักอยู่นิ่ง ๆ สักครู่อาการจะหายไปเอง
ส่วนระยะเวลาและอาการเจ็บท้องเตือนนั้นจะไม่แน่นอนและมีจังหวะไม่สม่ำเสมอครับ เดี๋ยวถี่เดี๋ยวห่าง (อาจจะนานประมาณ 20-25 วินาทีในแต่ละครั้ง) เจ็บมากบ้างน้อยบ้างไม่สม่ำเสมอ ในบางรายก็เจ็บติด ๆ กันหลายครั้งแล้วก็หยุดเจ็บ ถ้าลุกขึ้นมาเดินหรือเคลื่อนไหวแล้วก็จะดีขึ้น ไม่มีเลือดหรือมูกปนเลือดออกมาจากช่องคลอด บางคนบอกว่าคล้ายกับการปวดประจำเดือน อาการเช่นนี้ผู้ที่ไม่เคยคลอดมาก่อนอาจจะนึกว่าเป็นการเจ็บท้องคลอดจริง ๆ เลยรีบไปโรงพยาบาล แต่เมื่อไปถึงโรงพยาบาลอาการเจ็บท้องก็หายไป ซึ่งอาการอย่างนี้เรียกว่า “เจ็บเตือน” หรือ “เจ็บหลอก” ครับ พอหมอตรวจดูแล้วก็มักจะให้กลับบ้าน หรือถ้าเป็นเวลากลางคืนก็อาจจะให้นอนรอจนรุ่งเช้าแล้วค่อยให้กลับบ้านไปก่อน เพราะถ้านอนรอที่โรงพยาบาลก็อาจจะใช้เวลาอีกหลายวันก็ได้กว่าจะเจ็บท้องคลอดจริง ๆ
ปัจจัยที่กระตุ้นให้อาการเจ็บท้องเตือนเป็นถี่ขึ้น ได้แก่ การยกของหนัก, การสัมผัสที่ท้อง, การมีเพศสัมพันธ์, การเคลื่อนไหวของทารก, การขาดน้ำ เป็นต้น ส่วนการดูแลเมื่อมีอาการเจ็บท้องเตือนถี่ คุณแม่ควรลดกิจกรรมที่ต้องออกแรงหรือการเปลี่ยนท่าเพื่อลดอาการเจ็บท้องเตือน, นอนพักตะแคงซ้าย, ดื่มน้ำสักแก้ว (การขาดน้ำจะทำให้การเจ็บท้องเตือนเป็นถี่ขึ้น), ปัสสาวะบ่อย ๆ (การอั้นปัสสาวะจะกระตุ้นให้เจ็บท้องเตือนได้บ่อยขึ้น), หายใจเข้าออกยาว ๆ ลึก ๆ อย่างช้า ๆ ซึ่งจะช่วยลดอาการเจ็บท้องเตือนได้
2.) ศีรษะทารกลงต่ำ คุณแม่จะรู้สึกว่าท้องลดต่ำลงก่อนจะใกล้คลอดประมาณ 2-4 สัปดาห์ เพราะศีรษะของทารกจะเคลื่อนตัวลงต่ำเข้าสู่อุ้งเชิงกรานเพื่อเตรียมพร้อมที่จะคลอด (แต่ก็มีบางรายที่ท้องไม่ลดต่ำจนกระทั่งเริ่มเจ็บท้องคลอดก็มีครับ หรืออย่างคุณแม่ที่เคยคลอดลูกมาแล้วส่วนใหญ่ท้องก็จะไม่ลดต่ำครับ ถ้าลดลงก็จะเจ็บท้องคลอดเลย) ในช่วงที่ท้องลดต่ำลงนี้จะทำให้คุณแม่ส่วนใหญ่รู้สึกสบายตัวยิ่งขึ้น อาการอึดอัดแน่นหน้าอกลดน้อยลง เนื่องจากมดลูกลดระดับลงไม่ดันกะบังลมจึงทำให้คุณแม่หายใจสะดวกยิ่งขึ้น ภายหลังรับประทานก็ไม่ค่อยแน่นท้องเพราะกระเพาะอาหารถูกกดน้อยลง แต่ในทางตรงข้ามคุณแม่จะรู้สึกอึดอัดปวดถ่วงหรือรู้สึกหน่วง ๆ บริเวณอุ้งเชิงกรานเหมือนกับมดลูกจะหลุดออกมา (บริเวณหัวหน่าวเหมือนเด็กจะไหลออกมา) คุณแม่จึงมีอาการปวดปัสสาวะบ่อยขึ้นเพราะศีรษะทารกไปกดเบียดกระเพาะปัสสาวะ และมีอาการเท้าบวมมากขึ้น เวลาจะลุกจะนั่งก็รู้สึกว่าลำบากมากกว่าเดิม บางรายก็มีอาการเป็นตะคริวบ่อยขึ้นด้วย เพราะศีรษะของทารกและมดลูกกดทับเส้นเลือดดำในอุ้งเชิงกรานมากกว่าในระยะอื่น จึงทำให้เลือดไหลกลับจากขาไม่สะดวก ถ้าคุณแม่เพิ่งตั้งครรภ์เป็นครั้งแรกก็จะพบว่าศีรษะของทารกเคลื่อนตัวลงต่ำเมื่ออายุครรภ์ได้ประมาณ 36 สัปดาห์ หรือในช่วงประมาณ 2-3 สัปดาห์ก่อนคลอด แต่สำหรับคุณแม่ครรภ์หลัง ศีรษะของทารกอาจเคลื่อนตัวลงต่ำเมื่อคุณแม่เจ็บครรภ์ใกล้คลอด (Second Stage of Labour)
3.) มีมูกขาวข้นออกทางช่องคลอด คุณแม่ส่วนใหญ่จะรู้สึกว่ามีตกขาวมากขึ้น เพราะมูกที่อุดอยู่ปากมดลูก (เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากภายนอกโพรงมดลูกเข้าไปสู่ทารกในระหว่างการตั้งครรภ์) จะหลุดและไหลออกมาทางช่องคลอด แต่คุณแม่จะไม่รู้สึกว่ามีอาการคันแต่อย่างใด มูกที่ออกมาจะเป็นสีขาวมีลักษณะเหนียวข้น และมักจะหลุดออกมาในช่วงก่อนการคลอดประมาณ 1-2 สัปดาห์ และยิ่งเข้าสู่ระยะใกล้คลอดมากขึ้นเท่าใดก็อาจจะพบว่ามีเลือดออกปนมากับมูกด้วยก็ได้ เพราะในช่วงนี้ปากมดลูกของคุณแม่จะบางลงและเปิดขยายตัวมากขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอดที่จะมาถึง จึงทำให้เส้นเลือดบริเวณปากมดลูกเกิดการฉีกขาด (ถ้ามีมูกเลือด คุณแม่ควรไปพบแพทย์ทันที เพราะเป็นอาการที่แสดงว่าคุณแม่ใกล้จะคลอดลูกเต็มทีแล้ว)
4.) ลูกดิ้นน้อยลง คุณแม่บางคนอาจรู้สึกว่าทารกในครรภ์ดิ้นน้อยลงจากเดิม เพราะในช่วงนี้ทารกจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วมากเมื่อเปรียบเทียบกับขนาดของโพรงมดลูกที่ขยายตัวเพียงเล็กน้อย และน้ำคร่ำที่สร้างขึ้นก็มีปริมาณที่จำกัด ทารกที่ตัวโตขึ้นแต่กลับต้องมาอยู่ในโพรงมดลูกที่ดูเหมือนว่าจะคับแคบลงไปทุกที จึงส่งผลให้ทารกเคลื่อนไหวไม่ค่อยได้ ลูกเลยดิ้นน้อยลง อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณแม่รู้สึกว่าลูกดิ้นน้อยลงอย่างผิดปกติหรือหยุดดิ้นนานเกินไป คุณแม่จะต้องรีบไปพบแพทย์ในทันที เพราะทารกอาจมีสิ่งใดที่ผิดปกติเกิดขึ้นก็ได้
อาการใกล้คลอด
การคลอดเป็นเรื่องธรรมชาติที่ร่างกายของคุณแม่จะส่งสัญญาณเตือนให้รู้เมื่อใกล้ถึงกำหนดคลอด คือ มีอาการเจ็บท้องหลอกและเจ็บท้องจริง แต่คุณแม่ไม่ต้องรีบร้อนไปโรงพยาบาลในทันที ให้ใจเย็น ๆ เตรียมตัวเตรียมใจรับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นและตรวจสอบทุกอย่างให้เรียบร้อยอีกครั้งก่อนไปโรงพยาบาล (เช่น สิ่งของเครื่องใช้ของคุณแม่และของใช้ของลูก หนังสือ กล้องถ่ายรูป ฯลฯ) ซึ่งคุณแม่ใกล้คลอดนั้นจะมีมูกเลือดออกมาก่อน บางคนอาจมีน้ำเดิน แล้วตามด้วยอาการเจ็บท้องในไม่ช้า แต่คุณแม่บางคนอาจมีอาการเจ็บท้องคลอดก่อนก็มีครับ
1.) มีมูกเลือดออกทางช่องคลอด ในช่วงใกล้คลอดมดลูกจะบางลงและเปิดขยายตัวมากขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการคลอด จึงทำให้เส้นเลือดบริเวณปากมดลูกเกิดการฉีกขาด คุณแม่จึงควรหมั่นสังเกตดูว่ามีก้อนมูกปนเลือดลักษณะเหนียวข้นออกมาทางช่องคลอดหรือไม่ ถ้าพบว่ามีเลือดออกปนมากับมูกควรรีบพบแพทย์ได้แล้วครับ เพราะแสดงว่าคุณแม่ใกล้จะคลอดเต็มทีแล้ว
2.) น้ำเดิน หรือ น้ำคร่ำเดิน โดยปกติแล้วถุงน้ำคร่ำที่ห่อหุ้มตัวทารกอยู่มักจะแตกในช่วงท้าย ๆ ของการเจ็บครรภ์ แต่ในบางครั้งคุณแม่อาจมีน้ำเดินก่อนที่จะรู้สึกเจ็บครรภ์ก็ได้ครับ เพราะเมื่อใกล้คลอด มดลูกจะบีบรัดตัวดันให้ทารกออกมา หัวของทารกจะกดที่ถุงน้ำคร่ำ ทำให้ถุงน้ำคร่ำเกิดรั่วหรือแตก (คุณแม่บางคนอาจได้ยินเสียง “โพละ” เบา ๆ อยู่ข้างในเมื่อถุงน้ำคร่ำแตก) น้ำคร่ำซึ่งมีลักษณะเป็นน้ำใส ๆ คล้ายปัสสาวะ ไม่มีกลิ่น และอาจขุ่นเล็กน้อย จึงไหลออกมาทางช่องคลอด ซึ่งอาจจะไหลพรวดออกมาหรือค่อย ๆ ไหลออกมาก็ได้ครับ (ปริมาณของน้ำคร่ำที่ไหลออกมานั้นจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับตำแหน่งของถุงน้ำคร่ำและศีรษะของทารกว่าอยู่ในตำแหน่งที่ขวางทางเดินของน้ำคร่ำหรือไม่) ถ้าคุณแม่มีอาการน้ำเดินไม่ว่าจะมีอาการเจ็บท้องคลอดหรือไม่ก็ตาม ก็ต้องรีบไปพบแพทย์ในทันทีครับ เพราะสายสะดือของทารกในครรภ์อาจถูกกดทับจากภาวะที่น้ำคร่ำน้อยลงหรือเกิดภาวะสายสะดือโผล่แลบ (Umbilical Cord Prolapes) ในกรณีที่ทารกในครรภ์ไม่ได้อยู่ในท่าที่เอาศีรษะลง หรือถ้าทิ้งให้น้ำเดินเป็นเวลานานหลายชั่วโมง (มากกว่า 18 ชั่วโมง) อาจทำให้เกิดอาการอักเสบติดเชื้อตามมาได้ เนื่องจากเชื้อโรคเข้าไปในโพรงมดลูกได้ และโดยทั่วไปคุณแม่มักจะคลอดภายใน 24-48 ชั่วโมงหลังจากมีน้ำเดินครับ
3.) เจ็บครรภ์คลอด หรือ เจ็บท้องคลอดจริง (True Labor) คุณแม่จะมีอาการเจ็บท้องรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ในลักษณะที่เจ็บสม่ำเสมออย่างต่อเนื่อง รุนแรงขึ้น นานขึ้น และถี่ขึ้นจนกว่ากระบวนการคลอดจะสิ้นสุดลง ถ้าสังเกตให้ดีจะรู้สึกว่าเริ่มเจ็บที่ส่วนบนของมดลูกก่อน แล้วเจ็บร้าวลงไปข้างล่าง ท้องแข็งตึง ถ้าเดินหรือเคลื่อนไหวก็จะเจ็บมากขึ้น ส่วนใหญ่มักจะมีมูกหรือมูกปนเลือดออกมาทางช่องคลอดมากขึ้น ถ้าคุณแม่มีอาการเจ็บทุก ๆ 10 นาที ก็ไปโรงพยาบาลได้แล้วครับ ถ้าบ้านอยู่ไกลก็ต้องรีบไปให้เร็วกว่านี้ครับ เพราะถ้ารอจนเจ็บถี่แล้วอาจจะคลอดระหว่างเดินทางซึ่งคงเกิดความโกลาหลกันพอสมควร เพราะญาติหรือคนขับรถก็คงจะทำคลอดให้ไม่ได้ จึงอาจเกิดอันตรายได้มาก
เมื่อคุณแม่มีการเจ็บท้องคลอดจริงเกิดขึ้น มดลูกจะหดรัดตัวเป็นจังหวะ มีความรุนแรงสม่ำเสมอและถี่มากขึ้นเรื่อย ๆ ในระยะแรกมดลูกจะหดรัดตัวนานครั้งละ 30-60 วินาที และทิ้งช่วงเวลาห่างกันประมาณครั้งละ 5-20 นาที คุณแม่แต่ละคนจะมีความรู้สึกเจ็บปวดรุนแรงต่างกัน ระยะท้ายของการเจ็บครรภ์คลอด มดลูกจะหดรัดตัวถี่ขึ้น โดยจะหดรัดตัวนานครั้งละ 60-90 วินาที และใช้เวลาห่างกันครั้งละ 2-4 นาที (อาการเจ็บท้องคลอดจะมีกลไกคล้ายกับอาการเจ็บหน้าอก ขณะที่มดลูกหดรัดตัว เส้นเลือดต่าง ๆ ในกล้ามเนื้อมดลูกจะถูกบีบรัดไปด้วย มดลูกจึงมีอาการขาดเลือดและออกซิเจนจนทำให้คุณแม่รู้สึกเจ็บท้อง และความเจ็บปวดจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อมดลูกหดรัดตัวถี่)
คุณแม่แต่ละคนจะมีระยะเวลาในการเจ็บท้องคลอดต่างกัน คุณแม่ครรภ์แรกอาจจะมีอาการเจ็บท้องนานถึง 12-14 ชั่วโมงก่อนที่จะมีการคลอดเกิดขึ้น แต่สำหรับคุณแม่ครรภ์หลังจะเจ็บท้องคลอดนานประมาณ 6-7 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาของการเจ็บท้องคลอดอาจจะเนิ่นนานกว่าปกติถ้าทารกอยู่ในท่าหรือมีส่วนนำที่ผิดปกติขณะอยู่ในครรภ์ (โดยเฉพาะทารกที่มีส่วนนำที่ไม่ใช่ศีรษะ) อีกทั้งอาการเจ็บท้องตลอดยังแบ่งเป็นระยะย่อย ๆ ได้อีก 3 ระยะ โดยระยะแรกจะใช้เวลาค่อนข้างนานประมาณ 5-8 ชั่วโมงในครรภ์แรก ซึ่งเป็นระยะที่อาการเจ็บยังไม่รุนแรงนักและเป็นระยะที่ปากมดลูกเริ่มเปิดมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนในระยะถัดมาจะเป็นการเจ็บท้องถี่และรุนแรงมากขึ้น ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 3-5 ชั่วโมง จนกระทั่งในระยะสุดท้ายหรือ “ระยะเบ่ง” คุณแม่จะรู้สึกเจ็บท้องรุนแรงมากที่สุดและกินระยะเวลานานประมาณ 1 ชั่วโมง ซึ่งจะเป็นช่วงก่อนที่จะมีการเบ่งทารกคลอดออกมาครับ (ตลอดระยะเวลาที่คุณแม่เจ็บท้อง แพทย์จะพิจารณาให้ยาบรรเทาอาการเจ็บทางเส้นเลือดหรืออาจฉีดยาชาเข้าทางไขสันหลังให้กับคุณแม่)
4.) ปากมดลูกบางและขยาย ในขณะตั้งครรภ์ปากมดลูกจะมีลักษณะกลมหนาและปิดสนิทตลอดเวลา (ปากมดลูกจะมีความหนาและยาวประมาณ 2 เซนติเมตร) แต่เมื่อเข้าสู่ระยะใกล้คลอด อิทธิพลของระดับฮอร์โมนที่สูงขึ้นในตัวคุณแม่จะทำให้ปากมดลูกเริ่มบางตัวและอ่อนนุ่มลง เมื่อปากมดลูกหดรัดตัวสม่ำเสมอขึ้นเรื่อย ๆ จะทำให้ปากมดลูกบางลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งความหนาของปากมดลูกหมดไปและค่อย ๆ เปิดกว้างออกจนถึง 10 เซนติเมตร ซึ่งเป็นความกว้างที่ศีรษะของทารกสามารถเคลื่อนผ่านลงมาได้
อาการอื่น ๆ ที่ควรรีบไปโรงพยาบาล
นอกจากอาการเจ็บท้องคลอดแล้ว ยังมีอาการอื่น ๆ อีกหลายอาการที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วคุณแม่จะต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที ได้แก่
- มีมูกเลือดออกมาทางช่องคลอด แม้ว่าจะไม่มีอาการเจ็บท้องคลอดก็ตาม
- มีเลือดสด ๆ ออกมาทางช่องคลอด ในกรณีนี้ยิ่งต้องรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพราะอาจจะไม่ใช่การเจ็บท้องคลอดธรรมดา อาจจะมีรกเกาะต่ำหรือรกขวางทางคลอด
- มีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง ที่ไม่เหมือนการเจ็บท้องคลอด
- มีน้ำคร่ำที่เป็นน้ำใส ๆ ไหลออกจากช่องคลอด ไม่ว่าจะมีอาการเจ็บท้องคลอดหรือไม่ก็ตาม เพราะแสดงว่าถุงน้ำคร่ำซึ่งห่อหุ้มตัวของลูกน้อยอยู่นั้นเกิดรั่วหรือแตกแล้ว
หากคุณแม่มีอาการเหล่านี้จะต้องรีบไปโรงพยาบาล เพราะอาจเกิดความผิดปกติเกิดขึ้นได้ ซึ่งถ้าถึงโรงพยาบาลเร็วก็จะได้รับการดูแลจากแพทย์และพยาบาลได้อย่างทันท่วงที และขอแนะนำให้คุณแม่งดอาหารและน้ำไปด้วยนะครับ เพราะถ้าเกิดพบความผิดปกติและคุณแม่ไม่สามารถคลอดเองได้ แพทย์อาจต้องให้ยาสลบแล้วช่วยโดยการผ่าตัดทำคลอด (ถ้าคุณแม่กินอาหารไปเต็มที่ก็อาจจะต้องรอให้อาหารย่อยหมดก่อนจึงจะเริ่มดมยาสลบได้) ในขณะเดียวกัน แม้ว่าคุณแม่จะมีอาการเจ็บท้องคลอดปกติ ระหว่างเจ็บท้องคลอดนั้นอาหารจะไม่ย่อย เกิดการพะอืดพะอม ยาแก้ปวด ก็จะอาเจียนมาก คุณแม่จึงควรงดน้ำและอาหารไปด้วยจะดีที่สุดครับ
คำแนะนำ : สำหรับคุณแม่ผู้รักสวยรักงาม ในกรณีที่จะต้องไปโรงพยาบาลนั้นแนะนำว่าอย่าเขียนคิ้ว ทาขอบตา หรือทาปากไปนะครับ เพราะถ้าคุณแม่ทาปากด้วยลิปสติก แพทย์ก็อาจจะบอกไม่ได้ว่าคุณแม่มีอาการขาดออกซิเจนหรือไม่ (ซึ่งจะเห็นได้ว่าริมฝีปากมีสีม่วงคล้ำ หรือที่มักเรียกว่า “ปากเขียว“) หรือถ้าเลือดออกมากจะทำให้ริมฝีปากซีด ถ้าคุณแม่ทาปากไปด้วยแพทย์ก็จะสังเกตไม่ได้ สำหรับการทาเล็บก็เช่นกันครับ ในช่วงใกล้คลอดก็กรุณาอย่าทาเล็บครับ เพื่อแพทย์จะได้สังเกตถึงความผิดปกติดังกล่าวได้ แล้วก็ควรตัดเล็บให้สั้นลงด้วย เพราะบางคนเมื่อเจ็บท้องมากจะต้องบีบมือแพทย์หรือพยาบาล ถ้าเล็บยาว แพทย์หรือพยาบาลก็อาจจะถูกข่วนหรือถูกจิกจนมือหรือแขนเป็นรอยได้ครับ
เมื่อเริ่มมีอาการเจ็บท้องคลอด คุณแม่ต้องทำอะไรบ้าง ?
เมื่อเริ่มเจ็บท้องคุณแม่ควรตั้งสติใจเย็น ๆ สำหรับคุณแม่ท้องแรกอาการเจ็บท้องอาจนานถึง 12-24 ชั่วโมง ส่วนในท้องหลัง ๆ นั้น จะมีอาการเจ็บท้องประมาณ 7 ชั่วโมง คุณแม่อย่าลืมเตือนตัวเองในทันทีเมื่อเริ่มเจ็บท้องคลอด โดยให้ทำสิ่งต่อไปนี้
- แจ้งให้ทางโรงพยาบาลที่ฝากครรภ์ทราบ
- หากคุณแม่ไม่มีใครพาไปโรงพยาบาล ต้องติดต่อขอรถพยาบาลให้มารับ
- ติดต่อให้คุณพ่อช่วยส่งข่าวให้ญาติสนิทและเพื่อนใกล้ชิดทราบ เพื่อจะได้ช่วยให้กำลังใจในการคลอด
- บอกกล่าวฝากฝังผู้ที่จะช่วยดูแลลูกได้
- ตรวจดูกระเป๋าที่จัดเตรียมไว้ทั้งของคุณแม่และลูกน้อยว่าเรียบร้อยดีหรือไม่
- ในขณะที่รอคนมารับไปโรงพยาบาล ให้คุณแม่นั่งพักทำจิตใจให้สบาย
การเดินทางไปโรงพยาบาลของคุณแม่ใกล้คลอด
เวลาผ่านไปหนึ่งชั่วโมงแล้วและคุณแม่ยังคงเจ็บท้องอยู่ทุก ๆ 5-10 นาที ในแต่ละครั้งมดลูกจะแข็งตัวและเจ็บอยู่ประมาณ 1 นาที นอนพักอย่างไรก็ไม่หายเจ็บ คุณแม่ควรติดต่อทางโรงพยาบาลได้แล้ว ถ้าคุณแม่เพิ่งจะมีลูกเป็นคนแรก ก็พอวางใจได้เลยครับว่าคุณแม่จะต้องเจ็บท้องในระยะแรกอย่างน้อย 8 ชั่วโมง จึงทำให้ยังพอมีเวลาเหลือเฟือที่จะตรวจสอบสิ่งต่าง ๆ ให้เรียบร้อยก่อนไปโรงพยาบาล ดีกว่าไปนอนรอเฉย ๆ อยู่ที่โรงพยาบาล
คุณแม่ควรเตรียมเรื่องการเดินทางไปโรงพยาบาลให้พร้อมในช่วงสัปดาห์ที่ใกล้คลอด ถ้าคุณแม่เดินทางไปโรงพยาบาลโดยรถยนต์ โดยมีคุณพ่อหรือคนที่จะพาคุณแม่ไปด้วย ก็ควรจะคำนึงถึงเส้นทางที่จะใช้ พร้อมกับคำนวณเวลาที่จะต้องใช้ในการเดินทางไว้คร่าว ๆ (ถ้าบ้านอยู่ไกลจากโรงพยาบาล ควรเผื่อเวลาสำหรับการเดินทางไว้ด้วยนะครับ หรืออยู่ในเมืองใหญ่ที่การจราจรมักจะติดขัด หากไม่แน่ใจเรื่องปัญหาการจราจร จะเป็นการดีกว่าถ้าออกเดินทางไปโรงพยาบาลให้เร็วขึ้นกว่าเดิม) และควรคิดเผื่อด้วยว่าหากเส้นทางเดิมใช้ไม่ได้ ควรจะเปลี่ยนไปใช้เส้นทางใด เมื่อไปถึงโรงพยาบาลแล้วจะต้องเข้าไปโรงพยาบาลทางไหนจึงจะไปถึงห้องคลอดได้สะดวกรวดเร็วที่สุด เพื่อจะได้ไม่ฉุกละหุกหากคุณแม่เจ็บท้องคลอดในตอนกลางคืน ในขณะที่รอเวลาไปโรงพยาบาล คุณแม่อาจคลายอาการเจ็บท้องด้วยวิธีการหายใจก็ได้ (จะกล่าวถึงในบทความถัดไป)
- รถยนต์ ถ้าคุณแม่มีคุณพ่อหรือผู้อาสาช่วยขับรถพาไปโรงพยาบาล ก็ควรแน่ใจว่าเครื่องยนต์รถยังทำงานได้ดี แบตเตอรี่ และน้ำมันยังอยู่ในสภาพพร้อมเต็มที่ ทั้งตรวจดูลมยางให้เรียบร้อย เพื่อความมั่นใจว่าจะพาคุณแม่ไปถึงโรงพยาบาลได้โดยสะดวกและปลอดภัย และอย่าลืมเตรียมผ้าขนหนูผืนใหญ่ไปรองเบาะนั่งเผื่อกรณีที่มีน้ำเดินในระหว่างทางด้วยนะครับ เบาะของคุณพ่อจะได้ไม่เลอะเทอะ เพราะจะล้างทำความสะอาดให้หมดจดได้ยาก และคุณแม่ควรนั่งบนเบาะด้านหลัง เพราะมีขนาดกว้างพอให้นอนลงได้สบาย ๆ ถ้าเบาะหลังรถยนต์มีขนาดใหญ่ คุณแม่จะสะดวกมากยิ่งขึ้นเมื่อนั่งในท่าคุกเข่าและจับเบาะหลังเอาไว้ให้แน่น สิ่งสำคัญคือ ห้ามคุณแม่เป็นคนขับรถเองในขณะเจ็บท้อง (ยกเว้นในกรณีที่ไม่มีทางเลือก หรือเกิดความจำเป็นจริง ๆ)
- การคลอดกะทันหัน ในระหว่างการเดินทางไปโรงพยาบาล ถ้าลูกพร้อมจะออกจากท้องแม่แล้ว คุณแม่ต้องตั้งสติ ทำใจเย็น ๆ ไว้ ถ้าอยู่ไม่ไกลจากโรงพยาบาลมากนัก ก็อาจไปทันก่อนที่ลูกจะคลอดออกมา แต่ถ้ายังอยู่ไกลจากโรงพยาบาลมาก ควรจอดรถแล้วโทรศัพท์เรียกรถพยาบาลหรือแวะสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขช่วยดูแลหรือเตรียมตัวคลอดฉุกเฉิน
- โทรเรียกรถพยาบาล หากคุณแม่บังเอิญอยู่คนเดียวในขณะที่เจ็บท้อง คุณแม่ควรโทรศัพท์เรียกรถพยาบาลหรือเบอร์โทรศัพท์สำหรับศูนย์บริการแท็กซี่เตรียมไว้ และบอกรายละเอียดเส้นทางมายังบ้านให้ชัดเจน เพื่อรถจะได้ไม่หลงทางเสียเวลา
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือ 40 สัปดาห์ พัฒนาครรภ์คุณภาพ. “อาการนำก่อนคลอด”. (รศ.พญ.สายฝน – นพ.วิชัย ชวาลไพบูลย์)”. หน้า 200-201.
- หนังสือคู่มือตั้งครรภ์และเตรียมคลอด. “เจ็บท้องคลอดเป็นอย่างไร”. (ศ. (คลินิก) นพ.สุวชัย อินทรประเสริฐ)”. หน้า 304-306.
ภาพประกอบ : www.momjunction.com, www.wikihow.com (by Wikivisual)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)