25 อาการคนท้อง & ลักษณะคนท้อง (อาการของคนตั้งครรภ์) !!

25 อาการคนท้อง & ลักษณะคนท้อง (อาการของคนตั้งครรภ์) !!

อาการของคนท้อง

อาการของการตั้งครรภ์ คุณแม่ส่วนใหญ่เมื่อสังเกตได้ว่าประจำเดือนไม่มา ประกอบกับมีอาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ก็อาจคิดว่าตัวเองนั้นกำลังตั้งครรภ์ แต่ความจริงแล้วกลับไม่ใช่เลย เนื่องจากอาจเป็นอาการบางอย่างที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวแล้วจะกลับเข้าสู่สภาพปกติในภายหลังก็ได้ อย่างไรก็ตาม การตั้งครรภ์นั้นจะต้องมีอาการเตือนหลายอย่างแน่นอนและเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นชัดเจนทั้งร่างกายและจิตใจ ซึ่งภาวะนี้จะแกว่งขึ้น ๆ ลง ๆ รวดเร็วมาก เพราะเป็นกลไกตามธรรมชาติที่ต้องปรับให้พร้อมที่จะมีทารกในครรภ์ แต่คุณแม่บางรายก็แทบจะไม่ทันสังเกตการเปลี่ยนแปลงหรือแทบไม่มีอาการอะไรแสดงออกมาเลยก็ได้ ซึ่งเราสามารถสังเกตเองได้จากการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ คือ

  1. ประจำเดือนหรือระดูขาด สำหรับสตรีที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ คือ อายุระหว่าง 15-49 ปี โดยปกติแล้วจะมีประจำเดือนมาปกติและมาใกล้เคียงกันทุกเดือน แต่เมื่อจู่ ๆ ประจำเดือนเกิดขาดหายไปนานเกินกว่า 10 วัน สิ่งแรกที่ควรนึกถึงก็คือ “การตั้งครรภ์” สาเหตุที่ประจำเดือนขาดในช่วงการตั้งครรภ์นั้นเป็นเพราะเมื่อร่างกายเข้าสู่ภาวะการตั้งครรภ์ ร่างกายจะผลิตฮอร์โปรเจสเตอโรนเป็นจำนวนมากที่เป็นตัวทำหน้าที่ในการหยุดยั้งการมีประจำเดือน และช่วยให้คุณแม่มีครรภ์ที่แข็งแรง อย่างไรก็ตามการขาดของประจำเดือนก็ไม่ได้แปลว่าจะต้องตั้งครรภ์เสมอไปครับ เพราะอาจจะมาจากการเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ ในร่างกายก็ได้ เช่น สตรีที่เพิ่งมีประจำเดือน, สตรีวัยกำลังหมดประจำเดือน, คุณแม่หลังคลอดที่กำลังให้นมลูก, การเดินทางหรือการย้ายที่อยู่, มีอารมณ์เปลี่ยนแปลง รู้สึกเครียดมากจนเกินไปจนทำให้ไข่ไม่ตก (เนื่องจากกลัวการตั้งครรภ์ กลัวตกงานหรือมีปัญหาเรื่องงาน หรือกลัวทะเลาะกับสามีหรือญาติ ฯลฯ) ซึ่งเหล่านี้เป็นกลุ่มที่มีรอบเดือนไม่แน่นอนอยู่แล้ว ส่วนผู้ที่ใช้ยาคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนทุกชนิด ประจำเดือนก็อาจขาดหายไปได้ครับ หรือโรคบางอย่างก็อาจมีผลต่อการขาดประจำเดือนได้เช่นกัน เช่น โรคของระบบต่อมไร้ท่อ เช่น เบาหวาน โรคเกี่ยวกับรังไข่ เป็นต้น เพราะฉะนั้น อย่าเพิ่งกังวลใจไป หากคุณยังไม่แน่ใจ
  2. เต้านมคัด โดยทั่วไปแล้วเวลาใกล้จะมีประจำเดือน สตรีส่วนใหญ่จะมีอาการคัดตึงเต้านมเล็กน้อย ส่วนหญิงตั้งครรภ์ก็เช่นกัน “แต่เต้านมของหญิงตั้งครรภ์จะคัดตึงมากกว่าและนานกว่า” เพราะร่างกายกำลังเตรียมสร้างน้ำนมให้ลูกน้อย ขยายใหญ่ขึ้น แต่ไม่นานก็จะหายไปเอง สตรีบางรายอาจรู้สึกเจ็บเต้านมและหัวนมด้วย (บางคนถึงกับจับต้องไม่ได้เลยก็มี) แต่ก็ไม่ต้องตกใจครับ เพราะอาการเจ็บจะหายไปได้เองภายหลังการตั้งครรภ์แล้วประมาณ 3 เดือน เมื่อคุณแม่มีอายุครรภ์มากขึ้น เต้านมก็จะยิ่งตึงมากขึ้น จากหัวนมที่เคยเป็นสีเนื้อหรือสีชมพูก็จะกลายเป็นสีคล้ำและใหญ่ขึ้น ส่วนบริเวณสีคล้ำรอบหัวนมหรือลายหัวนมที่เคยเล็กก็จะขยายกว้างขึ้น ซึ่งอาการเหล่านี้จะพบได้หลังจากขาดประจำเดือนไปแล้วประมาณ 1 เดือน (นับจากประจำเดือนมาครั้งสุดท้ายก็คือประมาณ 2 เดือนเต็ม) สรุป “เกิดการเปลี่ยนแปลงของเต้านม เต้านมเริ่มคัดตึง ขยายใหญ่ขึ้น หัวนมมีสีคล้ำลง รู้สึกเจ็บเต้านมและหัวนม ไวต่อการสัมผัส บริเวณลานหัวนมจะกว้างขึ้นและมีเส้นเลือดดำสีเขียว ๆ กระจายอยู่โดยรอบ และการเปลี่ยนแปลงนี้จะเห็นได้อย่างชัดเจนในคุณแม่ครรภ์แรกมากกว่าครรภ์หลัง
  3. ปัสสาวะบ่อย เมื่อเริ่มตั้งครรภ์ใหม่ ๆ หรือในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ไตจะทำงานหนักมากกว่าปกติ เพราะปริมาณของเลือดในร่างกายมีเพิ่มขึ้น (มดลูกที่โตขึ้นจากการตั้งครรภ์ จะต้องการเลือดไปเลี้ยงมดลูกมากกว่าปกติ) ร่างกายจึงปรับตัวให้มีเลือดเพิ่มขึ้น ชีพจรเต้นเร็วขึ้น มีเลือดผ่านไตมากขึ้นกว่าเดิม จึงทำให้ไตกลั่นกรองเอาปัสสาวะมามากขึ้น และในขณะเดียวกันมดลูกที่อยู่ติดกับด้านหลังของกระเพาะปัสสาวะก็มีขนาดใหญ่ขึ้นด้วย จึงไปเบียดและกดกระเพาะปัสสาวะ ทำให้พื้นที่ความจุของปัสสาวะมีน้อยลง ส่งผลให้คุณแม่ปัสสาวะบ่อยมากขึ้น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งอาการเริ่มแรกของการตั้งครรภ์ แต่เมื่อถึงช่วงกลางของการตั้งครรภ์ มดลูกจะอยู่สูงขึ้น การกดทับกระเพาะปัสสาวะจะลดลง ทำให้การถ่ายปัสสาวะก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติอีกครั้ง และเมื่อใกล้คลอดช่วงที่หัวเด็กจะลดต่ำลงอีกครั้ง คุณแม่ก็จะมีอาการปวดปัสสาวะบ่อยขึ้นอีกครั้งจนกว่าจะคลอด (แต่ถ้าไม่ได้ตั้งครรภ์และยังมีการปัสสาวะบ่อย ๆ สาเหตุอาจมาจากความวิตกกังวล การใช้ยาขับปัสสาวะ การติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะ หรือมาจากโรคเบาหวาน)
  4. มีอาการคลื่นไส้อาเจียน คุณแม่ที่เริ่มตั้งครรภ์ส่วนใหญ่มักจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ บางคนรู้สึกใจหวิว ๆ ใจสั่น บางคนก็หน้ามืด เป็นลม ซึ่งอาการเหล่านี้แหละครับที่เขาเรียกว่า “อาการแพ้ท้อง” ที่พบได้บ่อยที่สุดในหญิงตั้งครรภ์ และจะปรากฏออกมาในช่วงตั้งครรภ์ได้ประมาณ 6-12 สัปดาห์ (หลังจากวันที่ประจำเดือนขาด 2 สัปดาห์ขึ้นไป และจะเป็นอยู่จนกระทั่งหมดเดือนที่ 3 อาการก็จะหายไป) แต่ก็มีบางรายครับที่แพ้ท้องไปจนถึงสัปดาห์ที่ 16-20 สัปดาห์ (เดือนที่ 4-5) และจะมีน้อยรายมากครับที่แพ้ท้องไปจนกระทั่งตอนคลอด สาเหตุก็เป็นเพราะฮอร์โมนที่ผลิตขึ้นจากการตั้งครรภ์นั้นไปรบกวนระบบทางเดินอาหาร ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้หรือรู้สึกพะอืดพะอมและอาเจียนออกมา ในคุณแม่ที่มีอาการรุนแรงมากนั้นจะรับประทานอาหารอะไรไม่ได้เลย แพทย์อาจต้องให้น้ำเกลือเป็นการทดแทน โดยอาการแพ้ท้องของคุณแม่นั้นส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นในตอนเช้าหลังตื่นใหม่ ๆ หรือมีอาการแพ้มากในช่วงเช้า (Morning sickness) แต่ก็ไม่เสมอไปครับ ขึ้นอยู่กับความเครียดจากสภาพแวดล้อมด้วยที่อาจทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์หลายรายมีอาการคลื่นไส้อาเจียนมากในช่วงบ่ายและเย็น ถ้าเป็นมากก็อาจจะคลื่นไส้อาเจียนตลอดทั้งวัน ทานอะไรไม่ได้เลยก็มี บางครั้งแค่เห็นหรือได้กลิ่นอาหารที่เคยชอบแท้ ๆ ยังอาเจียนได้เลย คุณแม่บางคนเกิดอาการแพ้ตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะตอนท้องว่าง อาจทำให้เป็นลมเพราะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำได้ หลายคนเป็นมากจนน้ำหนักตัวลด และจะมีคุณแม่เพียง 50% เท่านั้นที่มีอาการแพ้ท้อง (แต่ถ้าไม่ได้ตั้งครรภ์และมีอาการดังกล่าว สาเหตุอาจมาจากความเครียด อาหารเป็นพิษ โรคติดต่อ หรือการเจ็บป่วยอื่น ๆ) ส่วนลักษณะอาการแพ้ท้องอื่น ๆ ก็เช่น
    • วิงเวียนศีรษะหรือเป็นลม เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดต่ำหรือความดันโลหิตลดลงก็อาจทำให้เกิดอาการหน้ามืด วิงเวียนศีรษะได้ แต่การรับประทานอาหารและดื่มน้ำอย่างเพียงพอ ก็จะช่วยป้องกันการเกิดอาการเหล่านี้ได้
    • ไวต่อกลิ่น ในช่วงตั้งครรภ์ คุณแม่มักมีอาการที่เรียกว่า Super Smell ซึ่งเป็นอาการที่จมูกจะไวต่อกลิ่นทุกชนิดมากเป็นพิเศษ ทำให้คุณแม่รู้สึกเหม็นหรือไม่ชอบกลิ่นบางชนิด ทั้ง ๆ ที่เคยคุ้นชินกับกลิ่นเหล่านี้มาก่อน จนอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ อย่างบางรายมีอาการเหม็นกลิ่นอาหาร อย่างเช่น กระเทียม ทั้ง ๆ ที่เมื่อก่อนเป็นอาหารที่รับประทานได้ปกติ หรือเหม็นกลิ่นน้ำหอมที่เคยชอบหรือคุ้ยเคย รวมถึงรู้สึกเหม็นกลิ่นตัวของคุณพ่อ เพราะธรรมชาติจะพยายามป้องกันร่างกายของคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ เพื่อให้คุณแม่ได้พักผ่อนมากที่สุด เนื่องจากเป็นช่วงที่ทารกกำลังเจริญเติบโต ซึ่งเป็นช่วงที่สำคัญที่สุดเลยทีเดียว
    • ความอยากอาหารเปลี่ยนแปลงไป เช่น อาจอยากทานอาหารแปลก ๆ ในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ เพราะระดับฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้การรับรู้รสชาติของคุณแม่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้อยากกินของแปลก ๆ ที่ไม่สามารถอธิบายได้ว่าเหตุใดจึงอยากกิน อย่างเช่นอาหารที่มีรสเปรี้ยว หรือบางรายก็มีอาการเบื่ออาหาร ไม่อยากกินอะไรเลยก็มี เนื่องจากฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นในช่วงตั้งครรภ์อ่อน ๆ ทำให้ไม่ค่อยรับรู้รสชาตินั่นเอง
  5. สีของเยื่อบุช่องคลอด คุณแม่อาจรู้สึกว่าอวัยวะภายในอุ้งเชิงกรานบวมน้ำ เยื่อบุช่องคลอดคล้ำขึ้นเป็นสีม่วงแดงหรือสีน้ำเงิน แต่บางครั้งอาจเกิดจากการอักเสบของอวัยวะในช่องคลอดก็ได้
  6. มีอาการอ่อนเพลีย รู้สึกเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า อยากนอนหลับตลอดเวลา เนื่องจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่สูงขึ้นมีผลทำให้กล้ามเนื้อในร่างกายคลายตัวเหมือนยากล่อมประสาท ภายในร่างกายมีการเผาไหม้อาหารหรือใช้พลังงานอย่างมากในการพัฒนาทารกในครรภ์ ทำให้ร่างกายมีอุณหภูมิสูงและสูญเสียพลังงานมากขึ้น และพลังงานเหล่านี้ยังช่วยปรับสภาพแวดล้อมภายในครรภ์ให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์อีกด้วย อาการเช่นนี้ดีสำหรับคุณแม่ เพราะจะช่วยให้ร่างกายได้ลดกิจกรรมต่าง ๆ ประจำวันลงได้บ้าง เพื่อให้คุณแม่ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่
    อาการคนท้องระยะแรก
  7. หายใจถี่ คุณแม่เมื่อรู้สึกเหนื่อยและเริ่มหายใจถี่ขึ้นเมื่อทำงานที่ต้องใช้แรงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน สาเหตุอาจเป็นเพราะมีตัวอ่อนที่กำลังเจริญเติบโตมีความต้องการออกซิเจนจากคุณแม่อยู่ก็เป็นได้ และอาการเช่นนี้จะเป็นอย่างต่อเนื่องไปตลอดการตั้งครรภ์ เมื่อทารกมีการเจริญเติบโตมากขึ้นก็จะมีแรงกดดันต่อปอดและกะบังลมของคุณแม่มากขึ้นอีกด้วย
  8. ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้น คุณแม่อาจสังเกตได้ว่าร่างกายของตนเองมีอุณหภูมิสูงมากขึ้นกว่าเดิม มีความรู้สึกร้อนง่ายกว่าปกติ จากที่ไม่ชอบพัดลม ก็ต้องมานั่งอยู่หน้าพัดลม นั่นเป็นเพราะมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและมีการใช้พลังงานมากขึ้นนั่นเอง
  9. อารมณ์เปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจเป็นผลมาจากฮอร์โมนในร่างกายที่มีการเปลี่ยนแปลง ทำให้คุณแม่มีอารมณ์อ่อนไหว แปรปรวน หรือหงุดหงิดได้ง่าย บางทีใครทำอะไรไม่ถูกใจเพียงน้อย กลับทำให้อารมณ์เสียขึ้นมาได้ง่าย หรือบางครั้งแค่ได้ยินหรือได้ฟังเรื่องเศร้า ๆ ก็ร้องไห้ น้ำตาซึม หรือปล่อยโฮได้เลย ทั้ง ๆ ที่เมื่อก่อนไม่เคยเป็นแบบนี้ แต่หลาย ๆ คนก็ไม่มีอาการแบบนี้ครับ และเมื่อผ่านพ้นช่วงนี้ไปอารมณ์ของคุณแม่ก็เข้าสู่ภาวะปกติ
  10. ปวดศีรษะ เป็นอีกหนึ่งสัญญาณเริ่มต้นของการตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนของฮอร์โมน คุณแม่บางคนอาจมีอาการปวดศีรษะบ่อยขึ้น แต่ก็ไม่รุนแรงมากนัก
  11. ปวดเกร็งในช่องท้อง ไม่ว่าจะเป็นการปวดประจำเดือนหรือตั้งครรภ์ในช่วงนี้นั้นยากที่จะบอกได้ แต่ถ้าคุณแม่รู้สึกปวดแบบหน่วง ๆ ก็อาจจะเป็นไปได้ว่ากำลังมีการยืดขยายของมดลูกให้พร้อมสำหรับการมีลูกก็เป็นได้
  12. เลือดออกทางช่องคลอด อาจมีเลือดออกเล็กน้อยแบบกะปริดกะปรอยในระยะแรกของการตั้งครรภ์ โดยที่ไม่มีอาการปวดเกร็งท้องร่วมด้วย ซึ่งมีสาเหตุมาจากการที่รกของทารกในครรภ์มีการแบ่งเซลล์และฝังตัวลงไปในเยื่อบุโพรงมดลูก และอาจทำให้คุณแม่บางรายเกิดมีเลือดออกได้ แต่อาการนี้มักจะเกิดขึ้นหลังจากตัวอ่อนปฏิสนธิได้ประมาณ 11-12 วัน ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่คุณแม่เริ่มสังเกตว่าประจำเดือนขาด เลือดที่ไหลออกมามักเป็นเลือดจาง ๆ สีแดงหรือสีชมพู และจะหยุดไหลไปเองภายใน 1-2 วัน ไม่มีอะไรต้องเป็นห่วง แต่คุณแม่ควรจะสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากพบว่ามีเลือดไหลออกทางช่องคลอดร่วมกับอาการปวดท้อง ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะอาจเป็นสัญญาณของภาวะการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้

ลักษณะของคนท้อง

นอกจากนี้ยังมีอาการอื่น ๆ ที่จะช่วยตอกย้ำความสงสัยได้ว่าคุณ “น่าจะตั้งครรภ์แล้ว” ได้แก่

  1. หน้าท้องขยายใหญ่ขึ้น เมื่อเริ่มตั้งครรภ์ได้ 3 เดือน และจะค่อย ๆ โตขึ้น และจะคลำพบก้อนนูน ๆ บริเวณเหนือหัวหน่าวในตอนเช้า
  2. รู้สึกเด็กดิ้น เมื่อมีอายุครรภ์ประมาณ 4-5 เดือน คุณแม่อาจรู้สึกได้ว่าเจ้าตัวน้อยกำลังเคลื่อนไหวเบา ๆ อยู่ในท้องได้ แต่คุณแม่ครรภ์แรกจะมีความรู้สึกนี้ช้ากว่าคุณแม่ครรภ์หลัง
  3. มีอาการหดรัดตัวของมดลูกเป็นบางครั้ง ซึ่งมักจะสังเกตได้เมื่อตั้งครรภ์ไปแล้วประมาณ 4 เดือน
  4. มีการเปลี่ยนแปลงที่ผิวหนัง โดยเพิ่มการสร้าง Pigmentation ของผิวหนังมากขึ้น ทำให้บริเวณใบหน้า คอ รักแร้ อวัยวะเพศ มีสีคล้ำขึ้น ไม่ขาวผ่องเหมือนเคย นอกจากนี้เส้นที่กลางท้องอาจจะมีสีคล้ำที่เรียกว่า “Striae” ด้วย
  5. รู้สึกขม เฝื่อน หรือมีรสชาติแปลก ๆ ในปาก ซึ่งเป็นอาการของโรคกรดไหลย้อนที่เป็นมากในหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นในขณะตั้งครรภ์นั้นทำให้หูรูดหลอดอาหารอ่อนแอลงและมดลูกที่ขยายตัวเพิ่มแรงกดต่อกระเพาะอาหาร หากคุณมีอาการดังกล่าวในขณะตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์
  6. ความต้องการทางเพศเปลี่ยนแปลง ขณะตั้งครรภ์ระยะแรกจะเกิดการเปลี่ยนฮอร์โมนและกระทบไปยังภาวะทางอารมณ์ ทำให้คุณแม่บางรายอาจมีความต้องการทางเพศลดลง หรือบางรายก็เพิ่มขึ้น ซึ่งอาการเหล่านี้จะเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติเมื่อเข้าสู่การตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสที่สอง
  7. ตกขาวเล็กน้อย อาการตกขาวกับคนท้องนั้นเป็นของคู่กัน เนื่องจากบริเวณปากมดลูกและช่องคลอดจะมีการสร้างของเหลวออกมาเพื่อหล่อลื่นบริเวณปากช่องคลอดอยู่แล้ว เมื่อมีการตั้งครรภ์ทั้งสรีระและฮอร์โมนในร่างกายก็มีการปรับตัวสูงขึ้น จึงทำให้พบอาการตกขาวในปริมาณที่มากขึ้นกว่าปกติ โดยจะมีลักษณะเป็นมูกเหลวสีขาวขุ่นหรือสีครีม แต่ไม่มีอันตรายแต่อย่างใด เพียงแต่คุณแม่อาจจะต้องใส่ใจในเรื่องการทำความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศอย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้เกิดความอับชื้นจนก่อให้เกิดเชื้อรา
  8. มีลมในกระเพาะมากขึ้น คุณแม่อาจจะรู้สึกว่าท้องตัวเองป่องขึ้นเล็กน้อย ซึ่งอาจเกิดจากการที่ฮอร์โมนโปรโจสเตอโรนเพิ่มสูงขึ้นและส่งผลต่อระบบการย่อยอาหาร จึงทำให้ระบบย่อยอาหารของคุณแม่ทำงานช้าลง มีแก๊สในกระเพาะมากขึ้น และอาจส่งผลให้เกิดอาการท้องผูกได้อีกด้วย
    อาการตั้งครรภ์
  9. ท้องผูกมากกว่าปกติ ซึ่งสาเหตุมาจากเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เช่น การบีบตัวของลำไส้ลดลง มดลูกทับลำไส้ใหญ่ แต่คุณแม่สามารถแก้ไขหรือช่วยบรรเทาอาการท้องผูกได้ด้วยการรับประทานอาหารที่มีเส้นใยสูง ดื่มน้ำให้เพียงพอ และออกกำลังกายอย่างพอเหมาะ ก็จะช่วยแก้ไขอาการท้องผูกได้
  10. ปวดหลัง คุณแม่อาจมีอาการปวดหรือเจ็บหลังช่วงล่างแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งอาการปวดแบบนี้อาจหมายถึงการผ่อนคลายหรือการยืดหยุ่นมากขึ้นของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นก็ได้ ทั้งนี้อาการปวดหลังอาจเกิดขึ้นได้กับคุณตลอดระยะเวลาการตั้งครรภ์ เนื่องจากน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นและศูนย์กลางของการทรงตัวของคุณแม่เปลี่ยนไป จึงทำให้ท่าทางในการยืน การนั่ง หรือการเดินของคุณมีการเปลี่ยนแปลงไปด้วย

ถ้าคุณอยากรู้ว่ากำลังตั้งครรภ์อยู่หรือเปล่า ก็คงต้องไปหาหมอกันนะครับ แต่ไม่ใช่ว่าประจำเดือนขาดหายไปเพียง 4-5 วันแล้วก็รีบไปหาหมอนะครับ เพราะมดลูกยังไม่โตมากพอที่จะตรวจให้ทราบได้ แต่ถ้าใจร้อนและต้องการทราบจริง ๆ ก็อาจจะต้องตรวจโดยวิธีการเจาะเลือด ซึ่งเป็นวิธีที่มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าและต้องเจ็บตัวด้วย หรือถ้าจะให้ง่ายกว่านั้นก็ตรวจปัสสาวะก็ได้ แต่อาจจะต้องรอให้ประจำเดือนขาดหายไปจากวันที่ควรจะมาก่อนประมาณ 7-10 วันขึ้นไป

ยิ่งในปัจจุบันนี้ความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่มีมากกว่าแต่ก่อน คุณสามารถซื้อชุดทดสอบการตั้งครรภ์มาตรวจเองได้เลย มีราคาไม่แพงนักและได้ผลที่แม่นยำพอสมควร ถ้าตรวจออกมาแล้วได้ผลบวก (แถบตรวจขึ้น 2 ขีด) นั่นหมายความว่า คุณกำลังตั้งครรภ์ แต่จะตั้งครรภ์ปกติหรือผิดปกติหรือไม่นั้นยังบอกไม่ได้ครับ แต่หากยังไม่แน่ใจก็ควรไปพบแพทย์จะดีที่สุดครับ หรือถ้าตรวจแล้วพบว่าได้ผลเป็นลบหรือแถบตรวจขึ้นเพียงขีดเดียวก็ยังไม่แน่ว่าจะตั้งครรภ์หรือเปล่า ให้ลองดูต่อไปอีกสัก 1 สัปดาห์ แต่ถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น ปวดท้อง ก็ควรไปพบแพทย์เลยจะดีที่สุด

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือ 40 สัปดาห์ พัฒนาครรภ์คุณภาพ. “ดีใจจัง ตั้งครรภ์แล้ว”. (รศ.พญ.สายฝน – นพ.วิชัย ชวาลไพบูลย์). หน้า 18-19.
  2. หนังสือคู่มือตั้งครรภ์และเตรียมคลอด. “เมื่อเริ่มตั้งครรภ์”. (ศ. (คลินิก) นพ.สุวชัย อินทรประเสริฐ). หน้า 26-28.
  3. ข้อมูลอื่น ๆ จากอินเทอร์เน็ต

ภาพประกอบ : Bigstock

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด