อัลปราโซแลม (Alprazolam) สรรพคุณ วิธีใช้ ผลข้างเคียง ฯลฯ

อัลปราโซแลม (Alprazolam) สรรพคุณ วิธีใช้ ผลข้างเคียง ฯลฯ

อัลปราโซแลม

อัลปราโซแลม หรือ อัลพราโซแลม (Alprazolam) หรือยาที่มักเรียกชื่อกันผิด ๆ ว่า “อัลฟาโซแลม” เป็นยาที่รู้จักกันในชื่อทางการค้าว่า ซาแน็กซ์ (XANAX), แอนเพรส (ANPRESS) โดยจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทชนิดหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepine) เช่นเดียวกับไดอะซีแพม (Diazepam) แต่มีระยะเวลาในการออกฤทธิ์สั้นประมาณ 4-6 ชั่วโมง และมีฤทธิ์แก้ซึมเศร้าร่วมด้วย ถูกนำมาใช้ในวงการแพทย์เพื่อรักษาภาวะวิตกกังวลมานานแล้ว รูปแบบของยาที่มีใช้ในโรงพยาบาลส่วนใหญ่จะเป็นรูปแบบของยาเม็ด และการใช้ยานี้จะต้องได้รับคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น

ในปัจจุบันมีการควบคุมการใช้ยาอัลปราโซแลมอย่างเข้มงวด ทั้งนี้เพื่อป้องกันการนำยาไปใช้ในทางที่ผิด เช่น นำไปผสมในสารเสพติดอื่น ๆ หรือยาแก้ไอเพื่อให้เกิดความมึนเมา หรือนำไปใช้เป็นยานอนหลับอย่างแรงเพื่อหวังล่วงละเมิดทางเพศ ด้วยเหตุที่ว่ายานี้เป็นสารประกอบที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่า และออกฤทธิ์ได้เร็วหลังจากรับประทานยาไปแล้วประมาณ 8-25 นาที ถ้านำไปผสมกับเครื่องดื่ม เช่น น้ำอัดลม หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งแอลกอฮอล์) ก็จะทำให้ผู้ที่ดื่มมีอาการง่วงซึม มึนงง สะลึมสะลือ ไร้สติ ไม่รู้สึกตัว สูญเสียการทรงตัว และหลงลืมหรือสูญเสียความทรงจำ โดยจะจำเหตุการณ์ต่าง ๆ ไม่ได้หลังจากที่รับประทานยาไปแล้ว ทำให้เป็นที่มาในการใช้ยานี้เพื่อล่วงละเมิดทางเพศ เพราะเหยื่อจะจำเหตุการณ์ต่าง ๆ ไม่ได้ ทำให้บ่อยครั้งยานี้จึงมักถูกเรียกว่า “ยาเสียตัว” หรือ “ยาเสียสาว” แต่ฤทธิ์ของยาจะคงอยู่ไม่เกิน 1 วัน ถ้าดื่มน้ำมาก ๆ ยาก็จะถูกขับออกมาทางปัสสาวะจนหมด ดังนั้น ผู้หญิงจึงต้องระมัดระวังให้มากเพื่อมิให้ตกเป็นเหยื่อของผู้ไม่หวังดีที่แอบผสมยานี้ลงไปได้

ตัวอย่างยาอัลปราโซแลม

ยาอัลปราโซแลม (ชื่อสามัญ) มีชื่อทางการค้า เช่น อัลเซแลม (Alcelam), อัลแลม (Allam), อัลแน็กซ์ (Alnax), อัลปาแซม (Alpazam), อัลปราแลน (Alpralan), อัลปราเมด (Alpramed), เอแน็กซ์ (Anax), แอนเพรส (ANPRESS), ไดโซแลม (Dizolam), ฟาร์โซแลม (Farzolam), อินโซแลม (Inzolam ),  ไมตราแน็กซ์ (Mitranax), โมซิแน็กซ์ (Moxinax), ฟาร์แน็กซ์ (Pharnax), ฟาร์ซอล (Prazol), สยามพราซอล (Siampraxol), ซูแน็กซ์ (Sunax), ซาแลม (Xalam), ซานาซิน (Xanacine), ซาแน็กซ์ (XANAX), ไซเมด (Xiemed), โซแลม (Zolam) ฯลฯ

รูปแบบยาอัลปราโซแลม

  • ยาเม็ด ขนาด 0.25, 0.50 และ 1 มิลลิกรัม

อัลฟาโซแลม
IMAGE SOURCE : www.keyword-suggestions.com

ซาแน็กซ์
IMAGE SOURCE : pillspharma.net

ยาซาแน็กซ์
IMAGE SOURCE : www.healthtap.com

หมายเหตุ : ยานี้จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภทที่ 2 ที่ห้ามมีวางจำหน่ายตามร้านขายยา และในคลินิกต้องมีใบอนุญาตเป็นพิเศษ

สรรพคุณของยาอัลปราโซแลม

  • ใช้เป็นยารักษาภาวะวิตกกังวล (มีฤทธิ์คลายกังวล) เช่น โรควิตกกังวลทั่วไป (Generalized anxiety disorder), โรคแพนิค (Panic disorder), โรคกลัวการเข้าสังคม (Social Phobia), ภาวะเครียดจากสิ่งกดดันภายนอก, ภาวะวิตกกังวลก่อนผ่าตัด, ภาวะวิตกกังวลที่มีภาวะซึมเศร้าร่วมด้วย เป็นต้น
  • ใช้เป็นยาช่วยให้นอนหลับ แก้อาการนอนไม่หลับ (มักใช้ในกรณีที่จำเป็น)
  • ใช้เป็นยาร่วมรักษากลุ่มอาการเนื่องจากการขาดสุรา (Alcohol withdrawal syndrome) สำหรับผู้ที่เลิกเหล้า
  • ใช้รักษาภาวะนั่งไม่ติดที่ (Akathisia) จากผลข้างเคียงของยารักษาโรคจิต

กลไกการออกฤทธิ์ของยาอัลปราโซแลม

ยาอัลปราโซแลมจะมีกลไกการออกฤทธิ์โดยการเปลี่ยนแปลงการทำงานของสารสื่อประสาทในสมองมนุษย์ ทำให้เกิดฤทธิ์ตามสรรพคุณดังกล่าวข้างต้น โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ค่อนข้างเร็วหลังการรับประทานยาประมาณ 8-25 นาที ส่วนระยะเวลาในการดูดซึมของยาอัลปราโซแลมจะอยู่ที่ประมาณ 2 ชั่วโมง

การออกฤทธิ์ของยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีนจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการละลายไขมันของยา โดยยาที่ละลายในไขมันได้ดีจะออกฤทธิ์เร็ว เนื่องจากสามารถผ่านเข้าสู่สมองได้ง่าย แต่ระยะเวลาการออกฤทธิ์ของยาจะสั้นไปด้วย เนื่องจากตัวยาจะกระจายไปตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้เร็ว จึงทำให้ระดับของยาในเลือดลดลงเร็วกว่ายาที่ละลายไขมันได้น้อย โดยยาที่ละลายในไขมันได้ดี คือ ไดอะซีแพม (Diazepam), อัลปราโซแลม (Alprazolam), คลอไดอะซิปอกไซด์ (Chlordiazepoxide) และลอราซีแพม (Lorazepam) ตามลำดับ

ก่อนใช้ยาอัลปราโซแลม

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาอัลปราโซแลม สิ่งที่ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบมีดังนี้

  • ประวัติการแพ้ยาอัลปราโซแลม (Alprazolam) ยากลุ่มต้านอาการซึมเศร้า และยาอื่น ๆ ทุกชนิด รวมทั้งอาการจากการแพ้ยา เช่น รับประทานยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่น หายใจติดขัด/หายใจลำบาก เป็นต้น
  • โรคประจำตัวต่าง ๆ ยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ใช้เอง รวมถึงอาหารเสริม วิตามิน และยาสมุนไพรต่าง ๆ ที่กำลังใช้อยู่หรือกำลังจะใช้ เพราะยาอัลปราโซแลมอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่น ๆ และ/หรืออาหารเสริมอื่น ๆ ที่รับประทานอยู่ก่อนได้ เช่น
    • การรับประทานยาอัลปราโซแลมร่วมกับยาที่ใช้รักษาโรคเกี่ยวกับเชื้อราบางชนิด เช่น คีโตโคนาโซล (Ketoconazole), ไอทราโคนาโซล (Itraconazole) อาจทำให้เกิดภาวะเป็นพิษร้ายแรง หรือเกิดอาการง่วงนอนและการหายใจช้าลงได้
    • การรับประทานยาอัลปราโซแลมร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิด, ไซเมทิดีน (Cimetidine), โอเมพราโซล (Omeprazole), ไอเอ็นเอช/ไอโซไนอะซิด (INH/Isoniazid) จะทำให้ยาอัลปราโซแลมออกฤทธิ์มากขึ้น
    • การรับประทานยาอัลปราโซแลมร่วมกับยาคาร์บามาซีปีน (Carbamazepine), ไรแฟมพิซิน (Rifampicin), ทีโอฟิลลีน (Theophylline) จะทำให้ยาอัลปราโซแลมออกฤทธิ์น้อยลง
    • การรับประทานยาอัลปราโซแลมร่วมกับยาที่ใช้รักษาอาการเจ็บปวดบางกลุ่ม เช่น เฟนทานิล (Fentanyl) สามารถทำให้เกิดการกดการทำงานของกระแสประสาทในสมอง เกิดภาวะง่วงนอน อ่อนเพลีย ขาดการควบคุมสติ ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะหรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร
    • การรับประทานยาอัลปราโซแลมร่วมกับยานอนหลับอื่น ๆ หรือร่วมกับการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ยาจะออกฤทธิ์ทำให้กดประสาทมากขึ้น ก่อให้เกิดภาวะง่วงนอน อ่อนเพลีย ขาดการควบคุมสติ และอาจกดการหายใจ ส่งผลให้หยุดหายใจได้
  • เป็นหรือเคยเป็นโรคซึมเศร้า โรคต้อหิน โรคปอด โรคตับ โรคไต
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่ามีการตั้งครรภ์ หรือกำลังวางแผนในการตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายชนิดสามารถผ่านทางรกหรือน้ำนมและเข้าสู่ทารกจนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อทารกได้
  • หากคุณกำลังเข้ารับการผ่าตัดหรือทำทันตกรรมใด ๆ ก็ควรแจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบว่ากำลังใช้ยานี้อยู่

ข้อห้าม/ข้อควรระวังในการใช้ยาอัลปราโซแลม

  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่เคยมีประวัติการแพ้ยาอัลปราโซแลม (Alprazolam) และยาในกลุ่มเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepine)
  • ห้ามใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร (จากการทดสอบการใช้ยากับสัตว์ทดลองที่ตั้งครรภ์พบว่า สามารถก่อให้เกิดความพิการกับตัวอ่อนได้ จึงห้ามใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์)
  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคจิต ผู้ป่วยโรคต้อหินชนิดเฉียบพลันหรือมุมตาแคบ เพราะจะทำให้อาการของโรคต้อหินกำเริบมากขึ้น
  • ไม่ควรใช้ยานี้ร่วมกับยาที่มีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง (เช่น ยานอนหลับ) หรือแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้เสริมฤทธิ์กดประสาทมากขึ้น
  • ควรระมัดระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีความบกพร่องในการทำงานของตับหรือไต ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอ็มจี (Myasthenia gravis) และผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย
  • ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะหรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรหรือของมีคมหลังการรับประทานยา เนื่องจากยานี้อาจทำให้เกิดอาการง่วงซึมได้

วิธีใช้ยาอัลปราโซแลม

  • สำหรับภาวะวิตกกังวล (อาจมีภาวะซึมเศร้าร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้) ในผู้ใหญ่ให้รับประทานยานี้ครั้งละ 0.25-0.5 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง แล้วค่อย ๆ ปรับขนาดเพิ่มขึ้นจนได้ผล โดยทั่วไปขนาดสูงสุดคือวันละ 4 มิลลิกรัม (สำหรับผู้สูงอายุให้รับประทานยาครั้งละ 0.25 มิลลิกรัม วันละ 2-3 ครั้ง) ส่วนในเด็กให้เริ่มต้นด้วยขนาดครั้งละ 0.005 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ 3 ครั้ง แล้วจึงค่อย ๆ ปรับขนาดเพิ่มขึ้นเป็นครั้งละ 0.125-0.25 มิลลิกรัม จนถึงขนาดสูง คือ ครั้งละ 0.02 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (หรือวันละ 0.06 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม)
  • สำหรับโรคแพนิค ในผู้ใหญ่ให้เริ่มรับประทานยานี้ครั้งละ 0.5 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง แล้วปรับขนาดเพิ่มขึ้นทุก 3-4 วัน ในขนาดวันละ ≤ 1 มิลลิกรัม (สูงสุดไม่เกินวันละ 10 มิลลิกรัม) โดยขนาดที่ได้ผลดีโดยเฉลี่ย คือ ประมาณ 5-6 มิลลิกรัม/วัน แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจใช้ยานี้ในขนาดวันละ 2 มิลลิกรัม และบางรายอาจใช้มากถึงวันละ 10 มิลลิกรัม (สำหรับผู้สูงอายุให้รับประทานยาครั้งละ 0.5 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง)
  • สำหรับช่วยให้นอนหลับ ซึ่งนิยมใช้สำหรับผู้ป่วยก่อนผ่าตัด ให้รับประทานยานี้ในขนาด 0.5 มิลลิกรัม ในคืนก่อนการผ่าตัด หรือ 1 ชั่วโมงก่อนผ่าตัด

คำแนะนำในการใช้ยาอัลปราโซแลม

  • ขนาดการใช้ยาดังกล่าวเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้แทนคำสั่งการใช้ยาของแพทย์ได้ ดังนั้น การใช้ยานี้อย่างถูกต้องและปลอดภัยจึงควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ที่เชี่ยวชาญ มีข้อบ่งชี้ในการใช้ และต้องติดตามว่ายังมีความจำเป็นต้องใช้ยานี้อยู่หรือไม่ รวมถึงการหยุดใช้ยาเมื่อเหมาะสม ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาสั่งจ่ายขนาดการรับประทานยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นราย ๆ ไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการและชนิดของโรค และวัยของผู้ป่วย
  • ควรใช้ยานี้ตามวิธีใช้ที่ระบุไว้บนฉลากยาหรือตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด ห้ามใช้ยาในขนาดที่น้อยกว่าหรือมากกว่าที่ระบุไว้ หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกร
  • การใช้ยานี้ในผู้ป่วยด้วยโรควิตกกังวล ไม่ควรใช้ยานี้ติดต่อกันนานเกิน 8 เดือน และการใช้ยานี้ในผู้ป่วยด้วยโรคซึมเศร้า ไม่ควรใช้ติดต่อกันนานเกิน 6 เดือน
  • ถ้ามีอาการคลื่นไส้ ให้รับประทานยานี้หลังอาหาร
  • ในระหว่างการใช้ยานี้ ควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ (เพราะจะทำให้เสริมฤทธิ์กดประสาทมากขึ้น) และงดการสูบบุหรี่ (เพราะจะทำให้ลดฤทธิ์ของยาให้น้อยลง)
  • ยานี้อาจก่อให้เกิดอาการหน้ามืด วิงเวียน เดินเซ ผู้ป่วย (โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ต้องลุกเข้าห้องน้ำกลางดึก) จึงควรลุกขึ้นจากเตียงหรือเปลี่ยนท่าทางอย่างช้า ๆ หรือนั่งพักสักครู่ก่อนลุกขึ้นยืน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการหกล้ม
  • หลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะหรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรหรือของมีคมหลังการรับประทานยา

การเก็บรักษายาอัลปราโซแลม

  • ควรเก็บยานี้ในภาชนะบรรจุเดิมที่บรรจุมา ปิดให้สนิท และเก็บยาให้พ้นมือเด็กเสมอ
  • ควรเก็บยานี้ที่อุณหภูมิห้อง เก็บยาให้พ้นแสงแดดและความร้อน ไม่ให้อยู่ในที่มีอุณหภูมิร้อนมากกว่า 30 องศาเซลเซียส และไม่เก็บยาในบริเวณที่เปียกหรือชื้น
  • ให้ทิ้งยาเมื่อยาหมดอายุ

เมื่อลืมรับประทานยาอัลปราโซแลม

หากลืมรับประทานยาอัลปราโซแลม ให้รับประทานยาในทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่ถ้าเป็นเวลาที่ใกล้เคียงกับมื้อต่อไป ให้ข้ามไปรับประทานยามื้อต่อไปได้เลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

ผลข้างเคียงของยาอัลปราโซแลม

  • อาจเกิดผลข้างเคียง เช่น ง่วง ซึม ศีรษะโหวง ๆ วิงเวียน ปวดศีรษะ สายตาพร่ามัว มองเห็นภาพซ้อนหรือมองเห็นไม่ชัดเจน พูดจาอ้อแอ้ กลืนลำบาก เดินเซ ความจำบกพร่องหรือเกิดภาวะหลงลืม ความดันโลหิตต่ำหรือสูง ชีพจรเต้นช้าหรือเร็ว บวม ปากแห้ง คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร กลั้นปัสสาวะไม่อยู่หรือถ่ายปัสสาวะลำบาก ท้องผูกหรือท้องเดิน สมรรถภาพทางเพศเปลี่ยนแปลง เอนไซม์ตับ (AST, ALT) สูง ฯลฯ
  • อาจทำให้เกิดอาการแพ้ยา เป็นลมพิษ ผื่นคัน
  • การใช้ยานี้ติดต่อกันเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดการเสพติดได้ทั้งทางร่างกายและจิต หากหยุดใช้ยาในทันที อาจทำให้เกิดอาการขาดยา (Witdrawal symptoms) โดยจะมีอาการคลื่นไส้ ท้องไส้ปั่นป่วน นอนไม่หลับ สั่น เหงื่อแตก อ่อนเพลีย หัวใจเต้นเร็ว กระสับกระส่าย มีเสียงดังในหู เพ้อ ซึมเศร้า วิตกกังวล เป็นโรคจิต และอาจถึงกับชักได้ถ้าหยุดยาในทันทีหลังใช้ยานี้ในขนาดสูงมานาน (ถ้าต้องการลดขนาดยา ควรค่อย ๆ ปรับลดขนาดลงทีละน้อย)

การควบคุมตามกฎหมายของยาอัลปราโซแลม

แต่เดิมยาอัลปราโซแลมถูกจัดให้เป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภทที่ 4 ตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 แต่ในปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง “เปลี่ยนแปลงประเภทวัตถุออกฤทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2555” ซึ่งยกระดับการควบคุมยาอัลปราโซแลมจากวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 4 ให้เป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 (ส่งผลให้ร้านขายยาทุกประเภทไม่สามารถขายยาชนิดนี้ได้) และประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง “กำหนดชื่อและปริมาณวัตถุออกฤทธิ์ที่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันชั้นหนึ่งในสาขาทันตกรรม (ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม) หรือผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ชั้นหนึ่ง (ผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นหนึ่ง) มีไว้ในครอบครองได้โดยไม่ต้องขออนุญาต พ.ศ. 2555” ซึ่งจะมีผลทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพทุกรายต้องขอรับใบอนุญาตเพื่อมีไว้ครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ จึงจะสามารถครอบครองยาชนิดนี้ได้ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการนำยาไปใช้ในทางที่ผิดและการลักลอบนำเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 1.  “อัลพราโซแลม (Alprazolam)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 286-287.
  2. ยากับคุณ (Ya & You), มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา (วพย.).  “ALPRAZOLAM”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.yaandyou.net.  [03 ต.ค. 2016].
  3. หาหมอดอทคอม.  “ยาอัลปราโซแลม (Alprazolam)”.  (ภก.อภัย ราษฎรวิจิตร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [03 ต.ค. 2016].
  4. กรมสุขภาพจิต.  “อัลพราโซแลม”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.dmh.go.th.  [03 ต.ค. 2016].
  5. ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล.  “อัลปราโซแลม วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท”.  (ผศ.นพ.สุวิทย์ เจริญศักดิ์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th.  [03 ต.ค. 2016].
  6. Drugs.com.  “Alprazolam”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.drugs.com.  [03 ต.ค. 2016].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด