การตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้อง
การตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้อง, การตรวจช่องท้องด้วยอัลตราซาวด์ หรือการตรวจอัลตราซาวด์อวัยวะช่องท้อง (Ultrasound – Abdomen) คือ การสร้างภาพอวัยวะภายในช่องท้องด้วยการใช้คลื่นเสียงความถี่สูง* เพื่อหาความผิดปกติของอวัยวะภายในช่องท้อง เพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรค (เช่น สาเหตุของอาการปวดหรือแน่นท้อง) และประเมินภาวะของตับ ตับอ่อน ม้าม ถุงน้ำดี ไต ฯลฯ
หมายเหตุ : การสร้างภาพของเครื่องอัลตราซาวด์เป็นการใช้หลักการเดียวกับเครื่องโซนา (Sonar) ของระบบหาวัตถุใต้น้ำด้วยคลื่นเสียง เมื่อคลื่นเสียงกระทบกับวัตถุ (ในที่นี้คือเนื้อเยื่อหรืออวัยวะ) ก็จะสะท้อนกลับ ซึ่งเวลาของคลื่นสะท้อนจะทำให้ทราบได้ว่าวัตถุนั้นอยู่ใกล้ไกลเพียงใด มีรูปร่าง ขนาด และความหนาแน่นมากน้อยเพียงใด โดยคลื่นเสียงที่สะท้อนกลับมานี้จะถูกวัดและแสดงผลทันทีด้วยคอมพิวเตอร์ซึ่งจะสร้างภาพแบบเรียลไทม์บนจอภาพให้เห็นเป็นภาพเคลื่อนไหว
ข้อดีของการตรวจอัลตราซาวด์
- เป็นการตรวจที่มีความปลอดภัยสูง เพราะปราศจากรังสี ไม่ต้องเข้าไปนอนอยู่ในอุโมงค์ แม้จะมีโลหะในตัวก็ไม่เป็นไร
- การตรวจไม่ทำให้เจ็บ เพราะเป็นการตรวจแบบไม่เปิดผิวหนัง ไม่ใช่เข็มหรือต้องทำการฉีดยา
- การตรวจทำได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว การเตรียมตัวไม่ยุ่งยาก ใช้เวลาการตรวจในเวลาสั้น ๆ
- การตรวจมีราคาถูก เพราะเป็นเครื่องตรวจที่มีใช้กันอย่างแพร่หลายและมีราคาถูกกว่าการตรวจชนิดอื่น ๆ
- ช่วยให้เห็นภาพแม้ในขณะที่อวัยวะกำลังทำงานแบบเรียลไทม์ เช่น หัวใจกำลังเต้น พร้อมทั้งได้ยินเสียงการปั๊มเลือดของหัวใจไปด้วยพร้อมกัน
- สามารถตรวจได้เกือบทุกอวัยวะในร่างกายที่เป็นเนื้อเยื่อ
- สามารถใช้สนับสนุนการเจาะตัดชิ้นเนื้อหรือดูดของเหลวภายในร่างกายเพื่อนำไปตรวจ เช่น กรณี Needle Biopsy ต่อต่อมลูกหมาก
ข้อจำกัดของการตรวจอัลตราซาวด์
การใช้อัลตราซาวด์จะมีจุดอ่อนบางประการ กล่าวคือ คลื่นเสียงจะวิ่งผ่านทะลุตัวกลางที่เหมาะสมบางอย่างได้ดี เช่น น้ำ ของเหลว หรืออวัยวะที่อ่อนนุ่ม แต่คลื่นเสียงและคลื่นสะท้อนจะผ่านช่องว่างซึ่งเป็นโพรงที่มีอากาศหรือก๊าซหรือผ่านกระดูกได้ค่อนข้างยาก หรือผ่านสารตัวกลางเพื่อการตรวจด้วยวิธีอื่น เช่น สารแบเรียมมักไม่ได้ผล ด้วยเหตุนี้ ในวงการแพทย์จึงมีเครื่องตรวจชนิดอื่นที่สามารถช่วยชดเชยจุดอ่อนซึ่งกันและกันได้ เช่น การตรวจเอกซเรย์ ซีทีสแกน เอ็มอาร์ไอ
- ให้ภาพซึ่งเห็นได้แต่เพียงรูปร่างและขนาดของอวัยวะสำคัญ โดยไม่อาจเห็นจุด ซึ่งเป็นถุงไขมันขนาดเล็กหรือจุดเริ่มต้นมะเร็งจุดเล็ก ๆ ได้
- ไม่สามารถใช้ตรวจอวัยวะที่เป็นกระดูกหรือถูกกระดูกบังได้ เพราะกระดูกจะสะท้อนคลื่นกลับหมด จึงไม่สามารถทะลุทะลวงลงไปยังอวัยวะต่าง ๆ ได้
- ไม่สามารถใช้ตรวจอวัยวะส่วนที่มีลมได้ เช่น ปอด กระเพาะอาหาร ลำไส้ เพราะอากาศจะไม่สะท้อนคลื่นสัญญาณกลับ จึงทำให้ไม่สามารถรับสัญญาณมาสร้างภาพได้
- การตรวจในคนตัวใหญ่หรืออ้วนจะทำได้ยาก เนื่องจากเนื้อเยื่อที่มีปริมาณมากจะทำให้คลื่นอ่อนแรงและเป็นสาเหตุทำให้คลื่นที่สะท้อนกลับมายังหัวตรวจมีความแรงลดลงด้วย จึงทำให้เห็นภาพไม่ชัดเจน
การตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนบน
การตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนบน (Ultrasound Upper Abdomen หรือ Upper Adomen Ultrasonography) คือ การตรวจดูอวัยวะช่องท้องส่วนบน ได้แก่ ตับ, ตับอ่อน, ม้าม, ถุงน้ำดี, ท่อน้ำดี, ไต และช่องท้องทั่วไป ตลอดจนเส้นเลือดต่าง ๆ ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ เช่น มีก้อนที่ผิดปกติ นิ่วที่ไต นิ่วที่ถุงน้ำดี ฯลฯ
การตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนล่าง
การตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนล่าง (Ultrasound Lower Abdomen) คือ การตรวจดูอวัยวะของช่องท้องส่วนล่าง ได้แก่ มดลูก, รังไข่ (หญิง), ต่อมลูกหมาก (ชาย), กระเพาะปัสสาวะ, ไส้ติ่ง และบริเวณช่องท้องส่วนล่างอื่นๆ ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ เช่น ถุงน้ำในรังไข่, ก้อนเนื้อในมดลูก, ไส้ติ่งอักเสบ ฯลฯ ซึ่งการตรวจสามารถทำได้ 2 วิธี ดังนี้
- การตรวจโดยใช้หัวตรวจตรวจบริเวณผิวหน้าท้อง การตรวจด้วยวิธีนี้จะต้องตรวจในขณะที่ปวดปัสสาวะมากพอสมควร (ผู้เข้ารับการตรวจจึงสามารถดื่มน้ำเปล่าได้และต้องกลั้นปัสสาวะ) ทั้งนี้เป็นเพราะลมในลำไส้จะบังมดลูกและรังไข่ในผู้หญิงหรือบังต่อมลูกหมากในผู้ชาย ทำให้มองเห็นภาพอวัยวะได้ไม่ชัดเจน แต่เมื่อในกระเพาะปัสสาวะมีน้ำเต็ม น้ำปัสสาวะก็จะช่วยดันลำไส้ออกไป จึงทำให้เห็นมดลูก รังไข่ ต่อมลูกหมาก หรือนิ่วในกระเพาะปัสสาวะได้ เป็นต้น
- การตรวจโดยใส่หัวตรวจผ่านทางช่องคลอด การตรวจด้วยวิธีนี้ไม่ต้องรอให้ผู้รับการตรวจปวดปัสสาวะ และภาพที่ได้ก็มีความชัดเจนกว่า โดยเฉพาะการตรวจดูขนาดและปริมาณไข่สุกในรังไข่ แต่แพทย์จะทำการตรวจแบบนี้ให้ในเฉพาะสตรีที่แต่งงานแล้วเท่านั้น
การตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนบนและส่วนล่าง
การตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนบนและส่วนล่าง หรือการตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องทั้งหมด (Ultrasound Whole Abdomen) คือ การตรวจดูอวัยวะในช่องท้องทั้งหมด เช่น ตับ ตับอ่อน ม้าม ถุงน้ำดี ไต มดลูก รังไข่ ต่อมลูกหมาก กระเพาะปัสสาวะ ไส้ติ่ง ฯลฯ
ข้อบ่งชี้ของการตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้อง
ข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ทีร่อาจใช้อัลตราซาวด์ในการตรวจภาพ ได้แก่
- ใช้เพื่อตรวจสุขภาพโดยทั่วไปต่ออวัยวะภายในช่องท้องตามช่วงระยะเวลาหรือตามโปรแกรมที่โรงพยาบาลกำหนดว่าอยู่ในสภาพปกติดีหรือไม่
- ใช้ตรวจเพื่อหาความผิดปกติใด ๆ ในขณะที่ผู้รับการตรวจยังมิได้มีอาการที่หากมิได้ตรวจพบและละเลยไว้อาจเกิดโรคร้ายแรงขึ้นได้ในภายหลัง เช่น นิ่วในไต นิ่วในถุงน้ำดี ก้อนเนื้อในตับ
- ใช้ตรวจเพื่อยืนยันกับการตรวจอื่น ๆ ว่าพบก้อนเนื้อ และช่วยบอกได้ว่าก้อนเนื้อที่พบเป็นก้อนเนื้อประเภทใด เป็นส่วนของอวัยวะใด หรืออยู่ติดกับอวัยวะใด
- ใช้ตรวจเมื่อผู้ป่วยมีอาการปวด ตึง หรือแน่นท้อง, มีการเพิ่มขนาดของอวัยวะในช่องท้อง, มีก้อนนิ่วในถุงน้ำดีหรือไต, หลอดเลือดแดงเอออร์ตาในช่องท้องโป่งพอง หรือผลเลือดตับผิดปกติ
- ใช้ตรวจอย่างเจาะจงต่ออวัยวะใดอวัยวะหนึ่งที่สงสัย เพื่อการวินิจฉัยและการรักษา เช่น อาการปวดท้อง อาการเกิดโรคบางโรค ฯลฯ
- ใช้เพื่อนำทางในการตัดเนื้อเยื่อที่อยู่ลึกในร่างกายไปตรวจได้แม่นยำมากขึ้น
- ใช้ตรวจซ้ำเพื่อติดตามผล เนื่องจากความผิดปกติบางอย่างอาจต้องใช้เทคนิคพิเศษ หรือรูปจากมุมอื่น ๆ เพิ่มเติม หรือเพื่อเฝ้าดูการเปลี่ยนแปลงของความผิดปกตินั้น ๆ นอกจากนี้ยังเป็นวิธีที่ดีที่ช่วยประเมินประสิทธิภาพของการรักษาได้ด้วย ซึ่งแพทย์ผู้ดูแลจะเป็นผู้อธิบายเหตุผลในการตรวจอัลตราซาวด์ซ้ำเอง
การเตรียมตัวก่อนตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้อง
เพื่อให้ผลการตรวจสมตามความมุ่งหมาย ในการได้ภาพที่ไร้ข้อบกพร่อง ในการนี้ ผู้รับการตรวจอาจได้รับคำแนะนำให้ปฏิบัติหรืองดเว้นการปฏิบัติดังนี้
- ในมื้ออาหารเย็นก่อนวันตรวจในวันรุ่งขึ้น ควรรับประทานอาหารที่ไม่มีไขมัน (งดอาหารที่มีไขมัน)
- ผู้เข้ารับการตรวจต้องงดอาหารและเครื่องดื่มทุกชนิดก่อนถึงเวลาตรวจประมาณ 8-12 ชั่วโมง (สามารถดื่มน้ำเปล่าได้) เพื่อหลีกเลี่ยงการสะสมก๊าซในลำไส้และทำให้ถุงน้ำดีหดตัว (การรับประทานอาหารจะทำให้ถุงน้ำดีหดตัว ซึ่งจะมีผลทำให้มองเห็นถุงน้ำดีได้ไม่ชัดเจน)
- ผู้เข้ารับการตรวจไม่ควรนำของมีค่าใด ๆ (เช่น เครื่องประดับ) ติดตัวมาด้วย และควรสวมเสื้อผ้าหลวม ๆ สบายตัวเพื่อความสะดวกในการตรวจ (ควรแต่งกายด้วยชุดคนละท่อน และไม่สวมเสื้อชั้นในแบบเต็มตัวมาตรวจ)
- ผู้เข้ารับการตรวจไม่ควรทาครีมและโลชั่นในส่วนที่ต้องมีการตรวจ เพราะอาจมีผลต่อภาพได้
- การตรวจในบางจุดอาจต้องมีการดื่มน้ำมาก ๆ และกลั้นปัสสาวะเอาไว้จนปวดมาก ๆ จึงจะเข้าตรวจได้ ทั้งนี้ก็เพื่อให้รังสีแพทย์มองเห็นอวัยวะในช่องท้องได้อย่างชัดเจน สามารถตรวจและวินิจฉัยโรคได้อย่างละเอียด ถูกต้อง และรวดเร็ว
- สำหรับการตรวจอัลตราซาวด์ส่วนล่าง ในกรณีที่แพทย์สงสัยว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบ ห้ามผู้ป่วยดื่มน้ำและรับประทานอาหารทุกชนิด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
ขั้นตอนการตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้อง
การเข้ารับการตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนบนจะมีขั้นตอนง่าย ๆ ดังนี้
- ผู้เข้ารับการตรวจจำเป็นต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดที่โรงพยาบาลเตรียมไว้ให้
- ผู้เข้ารับการตรวจส่วนใหญ่จะถูกจัดให้อยู่ในท่านอนหงายบนเตียงที่จัดไว้ โดยเตียงอาจสามารถปรับเอียงหรือเคลื่อนไหวได้ และอาจถูกขอให้เอียงลำตัวไปด้านใดด้านหนึ่งเพื่อเพิ่มคุณภาพและความชัดเจนของภาพ
- เมื่อนอนลงบนเตียงในท่าที่ถูกต้องแล้ว แพทย์หรือผู้ช่วยแพทย์จะทาเจลลงบนหน้าท้องส่วนบนหรือบริเวณที่ต้องการตรวจ (อาจทำให้รู้สึกเปียกและเย็นจากเจลที่ทา แต่ไม่ทำให้เจ็บปวดใด ๆ) ซึ่งเจลนี้จะช่วยให้หัวตรวจสัมผัสกับพื้นผิวของร่างกายได้อย่างเต็มที่และไม่มีอากาศมาแทรกระหว่างหัวตรวจกับผิวหนังได้
- ต่อจากนั้นแพทย์จะใช้หัวตรวจซึ่งเป็นอุปกรณ์ปล่อยและรับคลื่นเสียง (Transducer) กดเคลื่อนไปมาตามผิวหนังในบริเวณที่แพทย์ต้องการจะจับภาพ ซึ่งภาพจะปรากฏที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ (โดยปกติแล้วการกดหัวตรวจลงไปบนร่างกายจะไม่ทำให้เกิดความเจ็บปวดหรือไม่สบายตัว แต่ถ้าเป็นบริเวณที่มีอาการเจ็บปวดอยู่แล้ว อาจทำให้รู้สึกแน่นหรือปวดเล็กน้อย ซึ่งท่านควรแจ้งแพทย์ให้ทราบว่าเจ็บบริเวณใด)
- การตรวจมักจะเสร็จสิ้นภายในเวลา 30 นาที ซึ่งหลังจากการตรวจเสร็จสิ้นแล้ว ผู้ช่วยแพทย์จะทำการเช็ดเจลออกจากผิวหนัง (ถ้าเช็ดออกไม่หมดก็ไม่เป็นไร เพราะเจลมักแห้งเร็ว ไม่ทำให้เกิดรอยด่างบนเสื้อผ้า และไม่ทำให้สีของเสื้อผ้าผิดเพี้ยน) ขอให้สวมเสื้อผ้า และรอให้รังสีแพทย์ตรวจสอบภาพและออกผล
- ผู้เข้ารับการตรวจสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติหลังการตรวจ รวมทั้งสามารถรับประทานอาหารได้ทันที
การแปลผลตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้อง
รังสีแพทย์จะเป็นผู้วิเคราะห์ภาพและส่งผลอ่านให้กับแพทย์ผู้ดูแลหลักที่ส่งตรวจ แล้วแพทย์ผู้ดูแลจะรวบรวมข้อมูลทุกอย่างและอธิบายผลตรวจให้ผู้รับการตรวจทราบ (ในบางกรณีรังสีแพทย์อาจให้ผู้รับการตรวจซักถามเกี่ยวกับผลตรวจเมื่อเสร็จสิ้นแล้วได้บ้างหากได้รับข้อมูลไม่เพียงพอ)
โดยการตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนบนและส่วนล่าง อาจช่วยให้พบความผิดปกติของบางอวัยวะได้ ไม่ว่าจะเป็นความผิดปกติของรูปร่างอวัยวะ ของเนื้อเยื่อ ของหลอดเลือด รวมทั้งการปรากฏตัวแปลก ๆ ของก้อนเนื้อ ติ่งเนื้อ (ซึ่งอาจจะเป็นก้อนมะเร็ง) ซึ่งหากมิได้ตรวจพบก่อนก็ย่อมก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรงในอนาคตขึ้นจากอวัยวะนั้น ๆ เช่น
ตับ|รูปร่างและขนาดปกติ|ตับอาจบวม อักเสบ
ตับอ่อน|รูปร่างและขนาดปกติ|ตับอ่อนอาจโตผิดปกติ หรืออาจมีปุ่มเนื้องอกที่น่าสงสัย
ม้าม|รูปร่างและขนาดปกติ|ม้ามอาจปริแตก (Ruptured)
ผนังถุงน้ำดี|มีความหนาปกติ|ผนังมีความหนาผิดปกติ หรือพบของเหลวอื่นในถุงน้ำดี (แสดงว่าถุงน้ำดีอาจอักเสบ)
ท่อน้ำดี|มีขนาดปกติ|อาจโตผิดปกติ (แสดงว่าน้ำดีไหลไม่สะดวก อาจมีเนื้องอกหรือนิ่วมาปิดกั้น)
นิ่วในถุงน้ำดี|ไม่มี|อาจพบมากหรือน้อย
ไต|มีรูปร่างกายคล้ายถั่วและมีขนาดปกติ|ไตอาจบวมผิดปกติ (แสดงว่าอาจมีการคั่งของปัสสาวะ), ท่อปัสสาวะจากไตอาจบวม ขยายใหญ่ขึ้น (แสดงว่ามีสิ่งอุดกั้นการไหลผ่านของปัสสาวะ), ตรวจพบนิ่วในไต (แต่นิ่วบางชนิดอาจไม่แสดงภาพให้เห็นได้จากอัลตราซาวด์)
หลอดเลือดเอออร์ตา (Aorta) เริ่มต้นออกมาจากหัวใจ|ผนังหลอดเลือดปกติจะกลม ราบเรียบ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน|บางส่วนอาจพบว่ามีอาการบวมโป่งพอง (Aneurysm)
ถุง (Cyst) ในเนื้อเยื่อของทุกอวัยวะ|ไม่มีถุง ปุ่ม หรือก้อนเนื้อแปลกปลอมใด ๆ ปรากฏให้เห็น|ถุง (Cyst) ภายในอาจมีลม น้ำ ของเหลว หรือไขมัน, ปุ่มเนื้อ (Lump) เป็นก้อนแข็ง อาจเกิดมีทั้งภายในหรือภายนอกอวัยวะ, ผื่นหนาขึ้น (Abscess) แสดงถึงภาวะอักเสบของอวัยวะ โดยหากตรวจพบลักษณะผิดปกติทั้ง 3 อย่างนี้ แพทย์ผู้ตรวจจะแจ้งให้ทราบและหารือในเรื่องการรักษาต่อไป
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือฉลาดตรวจสุขภาพ ฉบับรู้ทันโรคถอย เล่ม 2. “การตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนบน (Ultrasound Upper Abdomen)”. (พอ.ประสาร เปรมะสกุล). หน้า 131-137.
- หนังสือฉลาดตรวจสุขภาพ ฉบับรู้ทันโรคถอย เล่ม 2. “การตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนบนและส่วนล่าง (Ultrasound Whole Abdomen)”. (พอ.ประสาร เปรมะสกุล). หน้า 139-141.
- Radiological Society of North America (RSNA). “Ultrasound – Abdomen”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.radiologyinfo.org. [04 พ.ค. 2018].
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)