อัญชันป่า
อัญชันป่า ชื่อวิทยาศาสตร์ Clitoria macrophylla Benth. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Clitoria acuminata Wall., Clitoria grahamii Steud., Clitoria grahamii “Benth., p.p.”, Clitoria macrophylla Wall., Clitoria macrophylla var. macrophylla) จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยถั่ว FABOIDEAE (PAPILIONOIDEAE หรือ PAPILIONACEAE)[1],[2]
สมุนไพรอัญชันป่า มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หำพะยาว เอื้องชันป่า อัญชันป่า (เชียงใหม่), หมากแปบผี (เลย), ก่องข้าวเย็น (อุบลราชธานี) เป็นต้น[1],[4]
ลักษณะของอัญชันป่า
- ต้นอัญชันป่า จัดเป็นไม้เถาเลื้อยขนาดเล็ก เลื้อยไปตามหน้าดิน ยอดตั้งไม่ตรง มีความสูงประมาณ 15-25 เซนติเมตร เถาแข็ง ลำต้นกลม ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก มีอายุได้หลายปี ปลายยอดค่อนข้างอ่อน ต้นมีความสูงประมาณ 38.42-78.66 เซนติเมตร ลำต้นเป็นสีเขียวอมเหลือง มีขนยาวประมาณ 1-2 มิลลิเมตร และมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของลำต้นประมาณ 2.54-3.94 มิลลิเมตร ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดและแยกหน่อ เจริญเติบโตได้ดีในดินทรายหรือดินร่วนปนทราย พบขึ้นกระจายทั่วไปในทำเลเลี้ยงสัตว์สาธารณะ ตามพื้นที่ป่า ป่าละเมาะ ป่าเต็งรัง ป่าพลวง ป่าดิบแล้ง ป่าเขา และป่าโปร่ง[1],[3],[4]
- ใบอัญชันป่า ใบเป็นใบประกอบ มีใบย่อย 3 ใบ ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปหอก รูปขอบขนาน รูปขอบขนานแกมรูปใบหอก หรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ ปลายใบแหลมแบบมีติ่งอ่อน คือมีติ่งคล้ายขนยื่นออกมาจากปลายใบ โคนใบแหลมหรือสอบเรียว ส่วนขอบใบมีรอยหยักแบบขนครุย ใบกลางมีขนาดกว้างประมาณ 3.47-4.75 เซนติเมตร และยาวประมาณ 9.03-12.95 เซนติเมตร ส่วนใบข้างกว้างประมาณ 3.04-3.66 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6.4-9.1 เซนติเมตร แผ่นใบหนาเหนียวและหยาบ หลังใบเป็นสีเขียวถึงเขียวเข้ม ส่วนท้องใบเป็นสีเทา การเรียงตัวของเส้นใบเป็นแบบโค้งจรดกัน ส่วนล่างของลำต้นมีใบเดี่ยวขึ้นปะปน หูใบเป็นสีเขียวอ่อนเป็นเส้นเรียวปลายแหลม[1],[3],[4]
- ดอกอัญชันป่า ออกดอกเป็นช่อ โดยจะออกตามซอกใบและตามข้าง ช่อดอกยาวประมาณ 4-5.4 เซนติเมตร ดอกมีลักษณะคล้ายกับดอกอัญชัน แต่ดอกจะเป็นสีขาว กลีบดอกเป็นรูปดอกถั่วสีขาวนวล กลีบดอกที่อยู่นอกสุดมีขนาดกว้างประมาณ 1.8 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3.5 เซนติเมตร ออกดอกในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนพฤศจิกายน[1],[3],[4]
- ผลอัญชันป่า ผลมีลักษณะเป็นฝักกลมยาวและนูนคล้ายฝักของถั่วเขียว ฝักมีขนาดกว้างประมาณ 0.61-0.71 เซนติเมตร และมีความยาวประมาณ 4.38-4.94 เซนติเมตร เมื่อแห้งแก่ฝักจะแตกออก ภายในฝักมีเมล็ดประมาณ 6-8 เมล็ด[1],[3],[4]
สรรพคุณอัญชันป่า
- ชาวเขาเผ่าอีก้อจะใช้ต้นอัญชันป่าทั้งต้นนำมาตำพอกเป็นยาห้ามเลือด ใช้รักษาแผลสด แผลถลอก (ทั้งต้น)[1]
- บางข้อมูลระบุว่า รากอัญชันป่ามีสรรพคุณเป็นยาถอนพิษ ใช้แก้พิษสุนัขบ้า (ราก)[3]
ประโยชน์ของอัญชันป่า
- รากนำมาทุบใส่ในไหปลาร้าหรือใช้ปิดปากไห จะช่วยป้องกันหนอนแมลงวัน ฆ่าหนอนได้[2],[3]
- ใช้เป็นแหล่งอาหารของสัตว์แทะเล็มตามธรรมชาติของโค กระบือ สัตว์ป่า โดยมีคุณค่าทางอาหารซึ่งประกอบไปด้วย โปรตีน 11.63%, คาร์โบไฮเดรต (NFE) 50.47%, เส้นใยอาหาร 33%, เส้นใยส่วน ADF 38.36%, NDF 47.36%, ไขมัน 1.63%, เถ้า 3.27%, ลิกนิน 10.35% เป็นต้น[4]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “อัญชันป่า”. หน้า 74.
- หนังสือพรรณไม้พื้นบ้านอีสาน เล่ม 1. (สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช มหาวิทยาลัยมหาสารคาม). “อัญชันป่า”. หน้า 201.
- ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “อัญชันป่า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.bedo.or.th. [21 ก.ย. 2014].
- สำนักพัฒนาอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์. “อัญชันป่า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : nutrition.dld.go.th. [21 ก.ย. 2014].
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)