อัคคีทวาร
อัคคีทวาร ชื่อวิทยาศาสตร์ Rotheca serrata (L.) Steane & Mabb. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Clerodendrum serratum (L.) Moon, Clerodendrum serratum var. wallichii C.B.Clarke)[1],[2] จัดอยู่ในวงศ์กะเพรา (LAMIACEAE หรือ LABIATAE)[3]
สมุนไพรอัคคีทวาร มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หลัวสามเกียน (เชียงใหม่), แข้งม้า (เชียงราย), พรายสะเลียง สะเม่าใหญ่ (นครราชสีมา), หมากดูกแฮ้ง (สกลนคร), มักแค้งข่า (ปราจีนบุรี), อัคคี (สุราษฎร์ธานี), ตั่งต่อ ปอสามเกี๋ยน สามสุม (ภาคเหนือ), ตรีชวา อัคคี (ภาคกลาง), พายสะเมา (วาริชภูมิ), ควีโดเยาะ (กะเหรี่ยงเชียงใหม่), ผักห้าส้วย (ไทใหญ่), ลำกร้อล (ลั้วะ), ซานไถหงฮวา ซานตุ้ยเจี่ย (จีนกลาง), ชะรักป่า, แคว้งค่า, ผ้าห้ายห่อคำ, มักก้านต่อ, หมอกนางต๊ะ, หูแวง, ฮังตอ เป็นต้น[1],[2],[3],[4],[5],[7]
ลักษณะของอัคคีทวาร
- ต้นอัคคีทวาร จัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ลำต้นตั้งตรงและจะแยกเป็นช่อ ๆ มีความสูงของต้นประมาณ 1-4 เมตร ลำต้นกลมหรือเป็นเหลี่ยมเล็กน้อย เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีน้ำตาลอ่อนหรือสีเทาเข้ม ตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนเป็นเหลี่ยม เปลือกมีรูสีขาวและมีขนปกคลุม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด การปักชำ การตอนกิ่ง เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วน ชอบความชื้นและแสงแดดปานกลาง มีเขตการกระจายพันธุ์กว้างตั้งแต่ประเทศปากีสถาน อินเดีย พม่า จีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย ในประเทศไทยพบขึ้นได้ตามป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณที่เปิดและค่อนข้างชื้น ที่ระดับความสูงจาดระดับน้ำทะเลประมาณ 500-1,000 เมตร[1],[2],[4]
- ใบอัคคีทวาร ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกันหรือเรียงซ้อนกันเป็นวง ใบแตกตามข้อ ไม่มีก้านใบ ในแต่ละข้อส่วนมากจะออกเป็น 3 ใบวงเป็นรอบกัน บางข้อมีใบประมาณ 3-4 ใบ ลักษณะของใบเป็นรูปรียาวหรือรูปใบหอก ปลายใบแหลมเป็นติ่งสั้น โคนใบสอบหรือแหลม ส่วนขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อยช่วงกลางขอบใบไปจนถึงปลายใบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-10 เซนติเมตร และยาวประมาณ 15-28 เซนติเมตร หลังใบเรียบเป็นสีเขียวเข้มเป็นมัน ส่วนท้องใบเรียบเป็นสีอ่อนกว่า บ้างว่าทั้งใบมีขนปกคลุม เส้นกลางใบเป็นสีเขียวเข้มหรือสีม่วง ก้านใบสั้น[1],[2]
- ดอกอัคคีทวาร ออกดอกเป็นช่อ โดยจะออกตามซอกใบและที่ปลายยอด ดอกย่อยเป็นสีม่วงอ่อนเข้ม สีม่วงอ่อนอมสีฟ้า หรือสีชมพูอ่อน กลีบดอกมี 5 กลีบ รูปทรงกระบอก โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ๆ กลีบดอกแต่ละกลีบมีขนาดไม่เท่ากัน ดอกมีขนสีน้ำตาลเข้มปกคลุม มีกลีบเลี้ยงลักษณะเป็นรูปไข่กลับ 2 ใบหุ้มอยู่ กลีบเลี้ยงมีขนาดเล็ก สีชมพูอ่อน ใจกลางของดอกมีเกสรเพศผู้ 4 อัน ลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก และใต้เกสรมีขนปกคลุม ออกดอกในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม บ้างว่าออกดอกในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม[1],[2]
- ผลอัคคีทวาร ลักษณะของผลเป็นรูปค่อนข้างกลมหรือกลมแป้น ผิวผลเรียบเป็นมัน ผลเมื่ออ่อนเป็นสีเขียว พอแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีดำ ภายในผลมีเมล็ดสีดำ 1 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดอัคคีทวารเป็นรูปกลมรี[1],[2]
สรรพคุณของอัคคีทวาร
- ใบสดมีรสขื่นร้อน ใช้ตำพอกแก้อาการปวดศีรษะ ปวดศีรษะเรื้อรัง (ใบ)[1],[3]
- ผลมีสรรพคุณเป็นยาแก้โรคเยื่อตาอักเสบ ด้วยการใช้ผลสุกหรือดิบนำมาเคี้ยวค่อย ๆ กลืนน้ำกิน (ผล)[1],[3]
- ชาวบ้านจะนิยมฝานลำต้นเป็นชิ้นบาง ๆ ตากแห้งแล้วนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาลดความดันโลหิต (ต้น)[7]
- ทั้งต้นมีรสขมเผ็ด มีพิษเล็กน้อย เป็นยาเย็น ใช้เป็นยาขับพิษร้อนถอนพิษไข้ แก้ไข้จับสั่น (ทั้งต้น)[2] ใช้เป็นยาแก้ไข้ป่า ด้วยการฝานลำต้นเป็นชิ้นบาง ๆ ตากให้แห้ง ใช้ต้มกับน้ำกิน (ต้น)[6],[7]
- ตำรับยาแก้ไข้จับสั่น ระบุให้ใช้ต้นอัคคีทวารสด 35 กรัม, เมล็ดพริกไทย 5 กรัม, เมล็ดเฉาก๊วย 5 กรัม นำมารวมกันต้มกับน้ำกินก่อนเกิดอาการไข้ประมาณ 1 ชั่วโมง ซึ่งจากการรักษาด้วยวิธีนี้พบว่าได้ผลดี แต่ในขณะที่ทำการรักษาไม่ควรรับประทานส้มหรือของที่มีรสเปรี้ยว รวมไปถึงของที่มีกลิ่นคาว และห้ามรับประทานถั่ว (ต้น)[2]
- ผลมีรสเปรี้ยวขื่นร้อน ใช้ทั้งผลสุกและดิบ นำมาเคี้ยวค่อย ๆ กลืนเอาน้ำเป็นยาแก้ไอ (ผล)[1],[3]
- ช่วยแก้อาการเจ็บคอ คออักเสบ แก้ทอนซิลอักเสบ (ทั้งต้น)[2]
- รากของอัคคีทวารมีรสขมร้อน จึงมีสรรพคุณช่วยทำให้เสมหะแห้ง ช่วยในระบบทางเดินหายใจได้ดี เช่น แก้หอบหืด อาการไอ แก้ไข้ แพ้อากาศ รวมไปถึงริดสีดวงจมูกหรืออาการอักเสบเรื้อรังของโพรงจมูก (ราก)[7]
- รากอัคคีทวารนำมาต้มผสมกับขิงและลูกผักชี ใช้กินเป็นยาแก้คลื่นเหียน อาเจียน (ราก)[3],[7]
- ใบนิยมนำมาต้มกับขิงกินเป็นยาแก้หลอดลมอักเสบ (ใบ)[7]
- ใบนำมาลนไฟแล้วนำมาประคบบริเวณหน้าอกจะช่วยแก้อาการเจ็บหน้าอกได้ (ใบ)[5]
- รากใช้เป็นยารักษาสุขภาพของระบบกระเพาะอาหารและลำไส้ โดยมีสรรพคุณช่วยในการย่อยอาหาร ขับลม แก้อาการเบื่ออาหาร แก้ปวดเกร็งท้อง (ราก)[7]
- ใบอัคคีทวารมีสรรพคุณเป็นยาแก้อาการจุกเสียด จึงนิยมใช้ต้มกินแก้ท้องท้องอืด (ใบ)[7]
- ต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้ปวดท้อง ด้วยการนำลำต้นมาฝานเป็นชิ้นบาง ๆ ตากให้แห้งแล้วนำมาต้มกับน้ำกิน (ต้น)[6],[7]
- ช่วยแก้อาการเสียดท้อง ด้วยการใช้ใบอัคคีทวารนำมาต้มกับน้ำรับประทาน (ใบ)[3]
- ต้นอัคคีทวารมีรสขื่นร้อน ใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาขับปัสสาวะ (ต้น)[1],[3] ส่วนแก่นหรือเนื้อไม้ก็มีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะเช่นกัน โดยชาวบ้านจะนิยมฝานลำต้นเป็นชิ้นบาง ๆ ตากให้แห้งใช้ต้มรับประทานเป็นยาขับปัสสาวะ ขับนิ่ว (แก่น,เนื้อไม้)[6],[7]
- ใช้เป็นยารักษาริดสีดวงทวาร ด้วยการใช้รากหรือต้นยาวประมาณ 1-2 องคุลี นำมาฝนกับน้ำปูนใสให้ข้น ใช้ทาริดสีดวง เป็นยาเกลื่อนหัวริดสีดวงทวาร หรือจะใช้ใบอัคคีทวารประมาณ 10-20 ใบ นำมาตากแห้ง แล้วคลุกกับน้ำผึ้งรวง ปั้นเป็ดเม็ดขนาดเท่าเม็ดพุทรา ใช้รับประทานครั้งละ 2-4 เม็ด ทุกวัน ติดต่อกันประมาณ 7-10 วัน ส่วนอีกวิธีนั้นให้ใช้ใบแห้งนำมาบดหรือป่นให้เป็นผง โรคในถ่ายไฟ เผาเอาควันใช้รมหัวริดสีดวงงอกที่ทวารหนัก ก็จะช่วยทำให้หัวริดสีดวงทวารยุบฝ่อได้ (ราก,ต้น,ใบ)[1],[3],[4]
- ทั้งต้นใช้เป็นยาแก้ตับอักเสบ (ทั้งต้น)[2]
- ใบสดหรือต้นสดใช้ตำพอกแก้โรคผิวหนัง แก้กลากเกลื้อน โรคเรื้อนได้ (ต้น,ใบ)[1],[3] ส่วนต้นสดใช้ตำพอกแก้ฝีหนอง และโรคผิวหนัง (ทั้งต้น)[2],[3] ส่วนใบและต้นมีสรรพคุณช่วยดูดหนอง (ใบ,ต้น)[3],[6]
- ใบสดนำมาอังไฟแล้วขยี้ใส่แผลฝีหนองเรื้อรัง หรือรอยแผลจากการถูกแมลงกัดและปากนกกระจอก (ใบ)[5]
- รากแห้งหรือต้นแห้งนำมาฝนกับน้ำปูนใสให้ข้น ใช้เป็นยาเกลื่อนฝี ทารักษาแผลบวมได้ดี (ราก,ต้น)[7]
- ต้นสดใช้ตำพอกแก้อาการฟกช้ำ ปวดบวม (ทั้งต้น)[2]
- ช่วยแก้อาการปวดเมื่อยเนื่องจากลมชื้นเข้าข้อ (ทั้งต้น)[2]
- ใบสดและต้นสดใช้ตำพอกแก้อาการขัดตามข้อ (ต้น,ใบ)[3]
- ทั้งต้นใช้ภายนอกเป็นยาแก้กระดูกร้าว กระดูกแตก ด้วยการใช้ต้นสดนำมาตำพอกบริเวณที่เป็น (ทั้งต้น)[2]
- ทั้งต้นใช้ต้มให้หญิงที่เพิ่งคลอดบุตรดื่ม หรือนำมาต้มกับน้ำอาบแก้อาการปวดเมื่อย (ทั้งต้น)[5]
- ใบสดนำมาโขลกเอาน้ำกินสำหรับคุณแม่มือใหม่ที่เพิ่งคลอดลูก เพื่อให้มดลูกเข้าอู่ดีขึ้นและแก้อักเสบ (ใบ)[7]
หมายเหตุ : วิธีการใช้ตาม [2] ถ้าเป็นยาแห้งให้ใช้ครั้งละ 10-15 กรัม ส่วนยาสดให้นำมาตำพอกแผลภายนอกตามความเหมาะสม[2] ส่วนการใช้ตาม [7] ส่วนของรากให้นำมาต้มกินหรือบดเป็นผงกิน[7]
ข้อควรระวัง : สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้[2]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของอัคคีทวาร
- สารที่พบ ได้แก่ Glucorin, Oleanolic acid, Queretaroic, Serratagenic acid เป็นต้น[2]
- เมื่อนำสารที่สกัดได้จากทั้งต้นอัคคีทวารมาฉีดให้หนูทดลอง ในปริมาณ 20 มิลลิกรัม ต่อ 1 กิโลกรัม โดยฉีดติดต่อกันเป็นระยะเวลา 20 วัน พบว่าสามารถช่วยป้องกันอาการภูมิแพ้ที่เกิดจากโปรตีนไข่ขาวได้[2]
- เมื่อนำน้ำที่สกัดได้นำมาให้หนูทดลองหรือสุนัขทดลอง พบว่าสามารถยับยั้งฮีสตามีนที่ทำให้ลำไส้ของสัตว์ทดลองบีบตัวได้[2]
- สมุนไพรอัคคีทวารมีฤทธิ์ต้านการแพ้ ต้านฮีสตามีน ต้านการบีบตัวของลำไส้ ลดความดันโลหิต ขับลม ฆ่าเชื้อโรค ส่วนเปลือกรากนั้นมีสาร campesterol และ sitosterol สารสกัดเปลือกรากอัคคีทวารมีฤทธิ์ฆ่าอสุจิ ต้านการแพ้ ต้านการบีบตัวของลำไส้และลดความดันโลหิต[7]
ประโยชน์ของอัคคีทวาร
- ชาวลั้วะจะใช้ยอดอ่อนและดอกนำมารับประทานสดร่วมกับน้ำพริก หรือนำไปลวกแล้วนำไปยำ หรือใช้ประกอบอาหาร เช่น แกง หรือผัด เป็นต้น[5] ส่วนคนอีสานจะนำช่อดอกของต้นอัคคีทวารมาหมกไฟหรือย่างกินกับซุปหน่อไม้ แกงหน่อไม้ หมกหน่อไม้[7]
- นอกจากนี้จะใช้เป็นยารักษาอาการต่าง ๆ ของคนแล้ว อัคคีทวารยังใช้ได้ดีกับสัตว์เลี้ยง เช่น โค กระบือ ที่มีปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะอาหารได้อีกด้วย โดยนำผลสุกหรือดิบของอัคคีทวารมากรอกให้สัตว์เลี้ยงกิน[7]
- ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับได้เป็นอย่างดี และยังมีสรรพคุณทางยาที่ดีด้วย[4],[7]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “อัคคีทวาร (Akkhi Thawan)”. หน้า 342.
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “อัคคีทวาร”. หน้า 646.
- สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “อัคคีทวาร”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [26 ก.ค. 2014].
- หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 2. “อัคคีทวาร”.
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “ชะรักป่า, อัคคีทวาร”. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [26 ก.ค. 2014].
- อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “อัคคีทวาร”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/. [26 ก.ค. 2014].
- สมุนไพรดอทคอม. “อัคคีทวาร ยาโบราณแก้ริดสีดวง”. อ้างอิงใน: มูลนิธิสุขภาพไทย. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.samunpri.com. [26 ก.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Ahmad Fuad Morad, Dinesh Valke, siti sarah mohamad, Doron Bhastekar, indianature sn)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)