อะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin) สรรพคุณ วิธีใช้ ผลข้างเคียง ฯลฯ

อะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin) สรรพคุณ วิธีใช้ ผลข้างเคียง ฯลฯ

อะม็อกซีซิลลิน

อะม็อกซีซิลลิน / อะมอกซิซิลลิน (Amoxicillin) หรือยาที่คนทั่วไปรู้จักในชื่อการค้าว่า อะม็อกซิคลาฟ (Amoksiklav), อะม็อกซี (Amoxy), คูแรม (Curam), ไดม็อกซิน (Dymoxin), จีพีโอ ม็อกซ์ (GPO Mox) เป็นยาปฏิชีวนะพวกเดียวกับแอมพิซิลลิน (Ampicillin) ซึ่งสังกัดอยู่ในกลุ่มเพนิซิลลิน (Penicillins) แต่เนื่องจากยานี้ดูดซึมทางลำไส้ได้ดีกว่าและใช้ในขนาดเพียงครึ่งหนึ่งของยาแอมพิซิลลิน รวมทั้งรับประทานยาหลังอาหารได้ ในปัจจุบันจึงนิยมใช้ยานี้แทนยาแอมพิซิลลินในทุกกรณี

อะม็อกซีซิลลินเป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย และมักทำให้เกิดความเข้าใจผิดในการใช้ยามากพอสมควร เพราะหลาย ๆ ครั้งผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้หวัดมักจะถามหายาอะม็อกซีซิลลินเพื่อรับประทานแก้เจ็บคอ แต่โรคไข้หวัดนั้นเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งยาอะม็อกซีซิลลินไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้ (ฆ่าได้แต่เชื้อแบคทีเรีย)

ตัวอย่างยาอะม็อกซีซิลลิน

ยาอะม็อกซีซิลลิน (ชื่อสามัญ) มีชื่อทางการค้า เช่น อะมาซิน (Amacin), เอเอ็มเค (AMK), อะม็อกซิคลาฟ (Amoksiklav), อะม็อกซิคลาฟ จีพีโอ (Amoksiklav GPO), อะม็อกซิลลิน (Amoxcillin), อะม็อกซีซิลลิน ทีพี ดรัก (Amoxycillin TP Drug), อะม็อกซีซิลลิน ยูโทเปียน (Amoxycillin Utopian), อะม็อกซิ ที.โอ. (Amoxi T.O.), อะม็อกซิล (Amoxil), อะม็อกซิน (Amoxin), อะม็อกลิน (Amoxlin), อะม็อกซ์ ซุส (Amox Sus – 250), อะม็อกซี (Amoxy), อะม็อกซี เอ็มเอช (Amoxy MH), เอเชียม็อกซ์ (Asiamox), ออกคลาฟ (Augclav), ออกเมนติน (Augmentin), ไบร-อะม็อกซ์ (Bry-amox), โบม็อกซ์ 500 (Bomox 500), คาม็อกซ์ (Camox), คาวูม็อกซ์ (Cavumox), คาโนซี (Clanoxy), คลาฟม็อกซี (Clavmoxy), คลาโวมิด (Clavomid), คูแรม (Curam), ไดม็อกซิน (Dymoxin), จีพีโอ ม็อกซ์ (GPO Mox), ไอบิอะม็อกซ์ (Ibiamox), แมนคลามาย (Manclamine), แมนม็อกซ์ (Manmox), ม็อกซิน (Moxcin), ม็อกซิเมด (Moximed), ม็อกซิโม (Moximo), ม็อกซิลแคป (Moxilcap), พอนด์น็อกซิล (Pondnoxcill), ไพ-อะม็อกซ์ (Py-amox), ไพม็อกซิล (Pymoxcill), แรนซิล (Rancil), ราน็อกซิล (Ranoxyl), เอส.เอ็ม. อะม็อกซ์ (S.M. amox), เซอร์วาม็อกซ์ (Servamox), ยูนิม็อกซ์ (Unimox) ฯลฯ

รูปแบบยาอะม็อกซีซิลลิน

  • ยาแคปซูล ขนาด 250 และ 500 มิลลิกรัม
  • ยาเม็ด ขนาด 500 และ 875 มิลลิกรัม
  • ยาน้ำเชื่อม ขนาด 125 และ 250 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร (1 ช้อนชา)
  • ยาผงละลายน้ำ ขนาด 125, 200, 250 และ 400 มิลลิกรัม
  • ยาฉีด ขนาด 250, 500 และ 1,000 มิลลิกรัม
  • ยาเม็ดที่ผสมกับยาอื่น เช่น ออกเมนติน (Augmentin), อะม็อกซิคลาฟ (Amoksiklav)

ยาamoxicillin500
IMAGE SOURCE : drugline.info

อะม็อกซีซิลลิน
IMAGE SOURCE : www.medscape.com

สรรพคุณของยาอะม็อกซีซิลลิน

อะม็อกซีซิลลินเป็นยาปฏิชีวนะที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้อย่างกว้างขวาง ทั้งเชื้อแบคทีเรียชนิดแกรมบวก (Gram-positive bacteria) ที่มักเป็นสาเหตุของการติดเชื้อของอวัยวะที่อยู่นอกช่องท้อง (เช่น ทางเดินหายใจ ตา หู ผิวหนัง) และเชื้อแบคทีเรียชนิดแกรมลบ (Gram-negative bacteria) ที่มักเป็นสาเหตุของการติดเชื้อของอวัยวะที่อยู่ในช่องท้อง (เช่น ทางเดินอาหาร ทางเดินปัสสาวะ อวัยวะสืบพันธุ์) โดยถูกนำมาใช้รักษาการติดเชื้อของระบบอวัยวะ ดังต่อไปนี้

  • หู เช่น หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน หรือ หูน้ำหนวก (Otitis media)
  • ทางเดินหายใจ เช่น การติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนบน (Upper Respiratory tract Infection), ไข้หวัด (Common cold) ที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน, คออักเสบ (Pharyngitis), ต่อมทอนซิลอักเสบ (Tonsillitis), ไซนัสอักเสบ (Sinusitis), หลอดลมอักเสบ (Bronchitis), หลอดลมฝอยอักเสบ (Bronchiolitis), ปอดอักเสบ (Pneumonia), ครู้ป (Croup) จากแบคทีเรีย, โรคแอคติโนมัยโคสิส (Actinomycosis)
  • ทางเดินอาหาร เช่น ไข้ไทฟอยด์ (Typhoid fever)
  • ทางเดินปัสสาวะและอวัยวะสืบพันธุ์ เช่น กรวยไตอักเสบ (Pyelonephritis), โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ (Urinary tract infection), กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis), ท่อปัสสาวะอักเสบ (Urethritis), ปีกมดลูกอักเสบ (Salpingitis), โรคหนองในเทียม (Chlamydia infection)
  • ผิวหนัง เช่น การติดเชื้อของผิวหนังหรือเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง (Skin or Soft tissue infection), เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นลึกอักเสบ (Cellulitis), แผลอักเสบหรือแผลติดเชื้อ (Infected wound), โรคไฟลามทุ่ง (Erysipelas), โรคไลม์ (Lyme disease)
  • โรคติดเชื้ออื่น ๆ เช่น โรคฉี่หนู หรือ โรคเลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis), การติดเชื้อเอชไพโลไร (H.pylori) ในผู้ป่วยแผลเพ็ปติก (Peptic ulcer)
  • ใช้ป้องกันโรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) และป้องกันเยื่อบุหัวใจอักเสบจากแบคทีเรีย (Bacterial endocarditis)

กลไกการออกฤทธิ์ของยาอะม็อกซีซิลลิน

ยาอะม็อกซีซิลลินจะมีกลไกการออกฤทธิ์โดยการไปทำลายผนังเซลล์ของเชื้อโรคและทำให้เชื้อโรคตาย ทั้งนี้เส้นทางที่นำยาไปฆ่าเชื้อโรคได้คือเลือดในร่างกายนั่นเอง โดยระดับยาในเลือดที่มีความเข้มข้นจนถึงจุดที่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ จะยับยั้งการแพร่พันธุ์ของเชื้อโรคในร่างกาย ซึ่งผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับยาที่ถูกขนาดและต่อเนื่องเป็นระยะเวลาที่เพียงพอ การรักษาจึงจะได้ผลดี

ก่อนใช้ยาอะม็อกซีซิลลิน

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาอะม็อกซีซิลลิน สิ่งที่ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบมีดังนี้

  • ประวัติการแพ้ยากลุ่มเพนิซิลลิน (เช่น อะม็อกซีซิลลิน, เพนิซิลลินวี, ไดคล็อกซาซิลลิน), ยากลุ่มเซฟาโลสปอริน (Cephalosporin) และยาอื่น ๆ ทุกชนิด รวมทั้งอาการจากการแพ้ยา เช่น รับประทานยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่น หายใจติดขัด/หายใจลำบาก เป็นต้น
  • โรคประจำตัวต่าง ๆ และยาที่แพทย์สั่งจ่ายหรือที่ใช้เอง รวมถึงอาหารเสริม วิตามิน และยาสมุนไพรต่าง ๆ ที่กำลังใช้อยู่หรือกำลังจะใช้ เพราะยาอะม็อกซีซิลลินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่น ๆ และ/หรืออาหารเสริมอื่น ๆ ที่รับประทานอยู่ก่อนได้ เช่น
    • การใช้ยาอะม็อกซีซิลลินร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น วาร์ฟาริน (Warfarin) อาจทำให้เลือดออกง่าย
    • การใช้ยาอะม็อกซีซิลลินร่วมกับยารักษาโรคเกาต์ เช่น ยาอัลโลพูรินอล (Allopurinol) อาจก่อให้เกิดผื่นคันตามร่างกายและอาจลุกลามจนถึงขั้นรุนแรงได้
    • การใช้ยาอะม็อกซีซิลลินร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิด เช่น ไดเนสตรอล (Dienestrol), ไดเอ็ททิลสติลเบสตรอล (Diethylstilboestrol) และสติลเบสทรอล (Stilboestrol) จะลดประสิทธิภาพของการคุมกำเนิด ทำให้การคุมกำเนิดไม่ได้ผล หรือมีประจำเดือนออกผิดปกติได้ จึงไม่ควรใช้ยานี้ร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิด
  • หากเป็นโรคตับ โรคไต โรคภูมิแพ้ โรคหอบหืด ไข้ละออง ผื่นลมพิษ หรือโรคฟีนิลคีโตนูเรีย (Phenylketonuria)
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่ามีการตั้งครรภ์ หรือกำลังวางแผนในการตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายชนิดสามารถผ่านทางรกหรือน้ำนมและเข้าสู่ทารกจนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อทารกได้

ข้อห้าม/ข้อควรระวังในการใช้ยาอะม็อกซีซิลลิน

  • ห้ามใช้ยาที่หมดอายุ
  • ควรระมัดระวังการใช้ยากับผู้ที่แพ้ยากลุ่มเพนิซิลลิน
  • ควรระมัดระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับ โรคไต โรคหอบหืด หญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร ซึ่งผู้ป่วยในกลุ่มนี้ไม่ควรซื้อยานี้มารับประทานเอง ต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์และให้แพทย์เป็นผู้สั่งจ่ายยาเท่านั้น

วิธีใช้ยาอะม็อกซีซิลลิน

  • สำหรับหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน/หูน้ำหนวก (Otitis media) คออักเสบ (Pharyngitis) และต่อมทอนซิลอักเสบ (Tonsillitis) ในผู้ใหญ่ ให้รับประทานยาครั้งละ 250-500 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 7-10 วัน ส่วนในเด็กอายุ 4 สัปดาห์ ถึง 3 เดือน ให้รับประทานยาวันละ 20-30 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยแบ่งให้ทุก 12 ชั่วโมง ส่วนในเด็กอายุ 4 เดือน ถึง 12 ปี ให้รับประทานยาวันละ 20-50 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยแบ่งให้วันละ 8-12 ชั่วโมง
  • สำหรับการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนบน (Upper Respiratory tract Infection) ในผู้ใหญ่ ให้รับประทานยาครั้งละ 250-500 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง หรือรับประทานยาครั้งละ 500-875 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 7-10 วัน
  • สำหรับไซนัสอักเสบ (Sinusitis) ในผู้ใหญ่ ให้รับประทานยาครั้งละ 250-500 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง หรือรับประทานยาครั้งละ 500-875 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 10-14 วัน
  • สำหรับหลอดลมอักเสบ (Bronchitis) ในผู้ใหญ่ ให้รับประทานยาครั้งละ 250-500 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง หรือรับประทานยาครั้งละ 500-875 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 7-10 วัน
  • สำหรับปอดอักเสบ (Pneumonia) ในผู้ใหญ่ ให้รับประทานยาครั้งละ 500 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง หรือรับประทานยาครั้งละ 875 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 7-10 วัน ส่วนในเด็ก ให้รับประทานยาวันละ 4-50 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยแบ่งให้ทุก 8 ชั่วโมง
  • สำหรับโรคแอคติโนมัยโคสิส (Actinomycosis) ในผู้ใหญ่ ให้รับประทานยาครั้งละ 500 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง หรือรับประทานยาครั้งละ 875 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 6 เดือน
  • สำหรับไข้ไทฟอยด์ (Typhoid fever) ในผู้ใหญ่ ให้รับประทานยาครั้งละ 500 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 14 วัน ส่วนในเด็ก ให้รับประทานยาครั้งละ 50 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยแบ่งให้วันละ 3-4 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 14 วัน
  • สำหรับโรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ (Urinary tract infection) ในผู้ใหญ่ ให้รับประทานยาครั้งละ 250-500 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 3-7 วัน ส่วนในเด็กอายุ 4 สัปดาห์ ถึง 3 เดือน ให้รับประทานยาวันละ 20-30 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยแบ่งให้ทุก 12 ชั่วโมง ส่วนในเด็กอายุ 4 เดือน ถึง 12 ปี ให้รับประทานยาวันละ 20-50 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยแบ่งให้วันละ 8-12 ชั่วโมง
  • สำหรับกระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis) ในผู้ใหญ่ ให้รับประทานยาครั้งละ 250-500 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 3-7 วัน
  • สำหรับโรคหนองในเทียม (Chlamydia infection) ในผู้ใหญ่ ให้รับประทานยาครั้งละ 500 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 7 วัน
  • สำหรับการติดเชื้อของผิวหนังหรือเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง (Skin or Soft tissue infection) ในผู้ใหญ่ ให้รับประทานยาครั้งละ 250-500 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง หรือรับประทานยาครั้งละ 500-875 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 7-10 วัน ส่วนในเด็กอายุ 4 สัปดาห์ ถึง 3 เดือน ให้รับประทานยาวันละ 20-30 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยแบ่งให้ทุก 12 ชั่วโมง ส่วนในเด็กอายุ 4 เดือน ถึง 12 ปี ให้รับประทานยาวันละ 20-50 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยแบ่งให้วันละ 8-12 ชั่วโมง
  • สำหรับโรคไลม์ (Lyme disease) ในผู้ใหญ่ ให้รับประทานยาครั้งละ 500 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 14-30 วัน
  • สำหรับการติดเชื้อเอชไพโลไร (H.pylori) ในผู้ใหญ่ ให้รับประทานยาครั้งละ 1,000 มิลลิกรัม วันละ 2-3 ครั้ง ทุก 8-12 ชั่วโมง ติดต่อกันเป็นเวลา 14 วัน
  • สำหรับการติดเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial infection) ในผู้ใหญ่ ให้รับประทานยาครั้งละ 250-500 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง หรือรับประทานยาครั้งละ 500-875 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 7-21 วัน
  • การใช้ป้องกันโรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) สำหรับผู้ที่สัมผัสเชื้อ ในผู้ใหญ่ ให้รับประทานยาครั้งละ 500 มิลลิกรัม ทุก 8 ชั่วโมง ติดต่อกันเป็นเวลา 60 วัน ส่วนในเด็ก ให้รับประทานยาวันละ 80 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยแบ่งให้วันละ 3 ครั้ง (ทุก 8 ชั่วโมง) ติดต่อกันเป็นเวลา 60 วัน
  • การใช้ป้องกันเยื่อบุหัวใจอักเสบจากแบคทีเรีย (Bacterial endocarditis) ในผู้ใหญ่ ให้รับประทานยาในขนาด 2,000 มิลลิกรัม ส่วนในเด็ก ให้รับประทานในขนาด 50 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เพียงครั้งเดียว ก่อนที่จะทำการถอนฟันหรือสอดใส่เครื่องมือในทางเดินหายใจเป็นเวลา 1 ชั่วโมง

คำแนะนำในการใช้ยาอะม็อกซีซิลลิน

  • ยาอะม็อกซีซิลลินสามารถรับประทานก่อนอาหารหรือหลังอาหารก็ได้ ซึ่งถือเป็นข้อดีและความสะดวกในการใช้ยาตัวนี้
  • ถ้าเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ให้รับประทานยานี้พร้อมอาหาร
  • ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยานี้มารับประทานเอง เนื่องจากแต่ละกลุ่มของโรคจะมีวิธีใช้ยาและขนาดการใช้ยาที่แตกต่างกันไป และยังขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อโรคและความรุนแรง ดังนั้นจึงควรให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยและสั่งจ่ายยาที่เหมาะสม
  • ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาอะม็อกซีซิลลินดังกล่าวเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งการใช้ยาของแพทย์ได้ ผู้ป่วยควรใช้ยานี้ตามวิธีที่ระบุไว้บนฉลากยาหรือตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด ห้ามใช้ยาในขนาดที่น้อยกว่าหรือมากกว่าที่ระบุไว้ หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกร
  • ให้รับประทานยานี้อย่างต่อเนื่องจนครบช่วงการรักษา แม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม ผู้ป่วยไม่ควรหยุดรับประทานยาด้วยตัวเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์
  • ผลข้างเคียงของยานี้อาจทำให้เกิดผื่นคัน ลมพิษ หรือมีอาการหอบหืด หากพบอาการหายใจมีเสียงหวีด (อาการของโรคหอบหืด) หลังใช้ยา ให้หยุดใช้ยาทันทีแล้วรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล

การเก็บรักษายาอะม็อกซีซิลลิน

  • ควรเก็บยานี้ในภาชนะบรรจุเดิมที่บรรจุมา ปิดให้สนิท และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยงเสมอ
  • ควรเก็บยานี้ที่อุณหภูมิไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส เก็บยาให้พ้นแสงแดด (เช่น ในรถยนต์ บริเวณใกล้หน้าต่าง) และไม่เก็บยาในบริเวณที่เปียกหรือชื้น (เช่น ในห้องน้ำ ในช่องแช่แข็งของตู้เย็น)
  • ยาผงสำหรับเด็กที่ละลายน้ำแล้ว ต้องเก็บในตู้เย็นเพื่อชะลอความเสื่อมของยา (ห้ามเก็บในช่องแช่แข็ง)
  • ให้ทิ้งยาที่เสื่อมสภาพหรือหมดอายุแล้ว

เมื่อลืมรับประทานยาอะม็อกซีซิลลิน

โดยทั่วไปเมื่อลืมรับประทานยาอะม็อกซีซิลลิน ให้รับประทานยาในทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ แต่ถ้าเป็นเวลาที่ใกล้เคียงกับมื้อต่อไป ให้ข้ามไปรับประทานยามื้อต่อไปได้เลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

ผลข้างเคียงของยาอะม็อกซีซิลลิน

  • อาจมีอาการแพ้ เป็นลมพิษ ผื่นคัน หอบหืด กลุ่มอาการสตีเวนส์จอห์นสัน (Stevens-Johnson syndrome) และภาวะช็อกจากการแพ้ (Anaphylactic shock)
  • อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปากเปื่อย ลิ้นเปื่อย จุกแน่นท้อง ท้องเดิน เหนื่อย อ่อนเพลีย ตัวเหลืองตาเหลือง มีเลือดออกหรือฟกช้ำง่ายกว่าปกติ ชัก ฯลฯ
  • ผลข้างเคียงที่พบได้น้อยแต่รุนแรง ได้แก่ เม็ดเลือดต่ำ, เกล็ดเลือดต่ำ, โรคลำไส้อักเสบชนิดรุนแรง (Pseudomembranous colitis), ตับอักเสบ, ภาวะดีซ่าน (ชนิด Cholestatic jaundice), หายใจลำบาก, หน้าบวม ปากบวม ลิ้นบวม, ปากแดง, มีผื่นคันตามผิวหนัง, มีการลอกของผนังในช่องปาก ผิวลอก หรือเป็นแผลพุพอง, ท้องเสียเป็นน้ำอย่างรุนแรง, ปัสสาวะสีเข้ม, ปัสสาวะลำบากหรือปริมาณปัสสาวะที่ออกมาเปลี่ยนแปลงไป
  • ถ้าใช้ยานี้เป็นเวลานาน อาจทำให้ลิ้นเป็นฝ้าขาวจากโรคเชื้อรา (Oral candidiasis) หรือช่องคลอดอักเสบจากเชื้อรา (Candida vaginitis) ได้
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 1.  “อะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 239-240.
  2. Drugs.com.  “Amoxicillin”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.drugs.com.  [13 ต.ค. 2016].
  3. ยากับคุณ (Ya & You), มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา (วพย.).  “AMOXICILLIN”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.yaandyou.net.  [13 ต.ค. 2016].
  4. หาหมอดอทคอม.  “อะมอกซิซิลลิน (Amoxicillin)”.  (ภก.อภัย ราษฎรวิจิตร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [13 ต.ค. 2016].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด