อหิวาตกโรค (Cholera) อาการ สาเหตุ การรักษาโรคอหิวาตกโรค 3 วิธี !!

อหิวาตกโรค (Cholera) อาการ สาเหตุ การรักษาโรคอหิวาตกโรค 3 วิธี !!

อหิวาตกโรค

อหิวาตกโรค, โรคอหิวาต์, โรคอุจจาระร่วงอย่างแรง, โรคลงราก หรือโรคห่า (Cholera)* เป็นโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ “วิบริโอคอเลอเร” (Vibrio cholerae) ที่เชื้อสามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้ป่วยมีอาการท้องร่วงเป็นน้ำและอาเจียนเป็นหลัก ซึ่งสามารถนำไปสู่ภาวะขาดน้ำและช็อกจนเป็นเหตุทำให้เสียชีวิตได้ในระยะเวลาสั้น ๆ

ในสมัยก่อนพบว่า การระบาดแต่ละครั้งจะมีผู้ป่วยเสียชีวิตเป็นร้อยเป็นพันคน จึงมีชื่อเรียกกันมาแต่โบราณว่า “โรคห่า” แต่ในปัจจุบันโรคนี้ลดความรุนแรงลงและพบการระบาดน้อยลงแล้ว

โรคอหิวาต์เป็นโรคที่พบเกิดได้ในทุกอายุตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ แต่จะพบได้ในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก (มักพบในคนอายุมากกว่า 15 ปีขึ้นไป) ผู้ชายและผู้หญิงมีโอกาสเกิดโรคนี้ได้เท่ากัน สามารถพบได้ประปรายทุกเดือนตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในถิ่นที่การสุขาภิบาลยังไม่ดีและในหมู่คนที่รับประทานอาหารที่ไม่ได้ปรุงให้สุกหรือขาดสุขนิสัยที่ดี (โรคนี้มักเกิดในช่วงฤดูร้อน โดยเฉพาะหลังความแห้งแล้งไม่มีฝนตกเป็นเวลานาน และมักเกิดหลังจากงานเทศกาลหรืองานฉลองซึ่งมีคนจากที่ต่าง ๆ มารวมกันมาก)

โดยมีรายงานโรคนี้ตามจังหวัดชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกและภาคใต้ และพบได้บ้างประปรายทางภาคเหนือและภาคอีสาน ส่วนในต่างประเทศโรคนี้จะพบได้บ่อยใน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ แอฟริกา และลาตินอเมริกา ซึ่งมักพบระบาดในกลุ่มคนที่อยู่กันอย่างแออัดและตามค่ายอพยพ (สำหรับในประเทศที่พัฒนาแล้วจะพบโรคนี้ได้น้อยมาก โดยมักพบในผู้ที่เพิ่งกลับมาจากการท่องเที่ยวในประเทศที่ยังไม่พัฒนา)
ในปี ค.ศ.2010 (พ.ศ.2553) มีผู้ป่วยอหิวาตกโรคทั่วโลกประมาณ 3-5 ล้านคน เสียชีวิตประมาณ 100,000-130,000 คนต่อปี ส่วนในประเทศไทยมีรายงานจากสำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข ในปี พ.ศ.2555 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 18 กันยายน (ในปีเดียว) พบโรคนี้ที่วินิจฉัยได้แน่นอนคิดเป็น 0.05 รายต่อประชากร 1 แสนคน และไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากโรคนี้

หมายเหตุ :

  • อหิวาตกโรค อ่านว่า อะ-หิ-วา-ตะ-กะ-โรก
  • Cholera อ่านว่า คอล-เออะระ
  • โรคลงราก มาจากคำว่า ลง (ที่แปลว่า ท้องเดิน) และคำว่า ราก (ที่แปลว่า อาเจียน)
  • โรคห่า คือ ชื่อเรียกรวม ๆ ของโรคหลายโรคที่แพร่ระบาดหนัก ๆ และทำให้มีผู้เสียชีวิตคราวละมาก ๆ เช่น อหิวาตกโรค ไข้ทรพิษ ฝีดาษ กาฬโรค

สาเหตุของอหิวาตกโรค

  • เชื้อที่เป็นสาเหตุ เกิดจากเชื้ออหิวาต์ ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียแกรมลบที่มีชื่อว่า “วิบริโอคอเลอเร” (Vibrio cholerae) ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายกลุ่มหลายชนิด สามารถแบ่งกลุ่มต่าง ๆ ได้มากกว่า 200 ซีโรกรุ๊ป แต่กลุ่มที่มีความสำคัญทำให้เกิดการระบาดได้ คือ ซีโรกรุ๊ป O1 (Vibrio cholerae serogroup O1) และซีโรกรุ๊ป O139 (Vibrio cholerae serogroup O139) และในแต่ละซีโรกรุ๊ปยังแบ่งย่อยออกเป็น 2 ชนิด คือ ชนิดคลาสสิก (Classical biotype) และชนิดเอลเทอร์ (El Tor biotype) ซึ่งมีอาการไม่รุนแรง ส่วนซีโรกรุ๊ปอื่น ๆ มักเรียกรวมกันว่า V. cholerae non-O1/non-O139 อาจทำให้เกิดอาการอุจจาระร่วงได้ แต่ไม่พบว่าทำให้เกิดการระบาด
  • เชื้อก่อโรคที่พบบ่อย สำหรับตัวก่อโรคที่สำคัญในปัจจุบัน คือ เชื้อชนิดเอลเทอร์ (El Tor) ที่เริ่มพบในปี พ.ศ.2504 ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มวิบริโอคอเลอเร ซีโรกรุ๊ป O1 (ซึ่งแบ่งออกเป็นชนิดคลาสสิกที่เป็นตัวก่อโรคระบาดร้ายแรงมาแต่เดิม และชนิดเอลเทอร์ซึ่งก่อโรคที่มีความรุนแรงน้อย แต่การระบาดในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2516 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะเกิดจากเชื้อชนิดเอลเทอร์เป็นหลัก แทบไม่พบชนิดคลาสสิกเลย) และวิบริโอคอเลอเร ซีโรกรุ๊ป O139 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่เกิดการระบาดครั้งใหญ่ในอินเดียและบังกลาเทศเมื่อปี พ.ศ. 2535-2536

    vibrio cholerae คือ
    IMAGE SOURCE : www.rki.de

  • การติดต่อ อหิวาตกโรคเป็นโรคติดต่อรวดเร็ว รุนแรง และก่อการระบาดได้อย่างรวดเร็ว เชื้ออหิวาตกโรคสามารถมีชีวิตอยู่ได้ทั้งในน้ำเค็มและน้ำจืด คนเป็นแหล่งเก็บกักที่สำคัญของเชื้อชนิดนี้ โดยเชื้อโรคจะอยู่ในอุจจาระของผู้ติดเชื้อ (ทั้งผู้ป่วยและพาหะ) เมื่อถูกขับถ่ายออกมาก็จะสามารถแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่นได้จากการปนเปื้อนในแหล่งน้ำต่าง ๆ (เช่น แม่น้ำ ลำคลอง ห้วย หนอง บึง) อาหาร น้ำดื่ม ภาชนะใส่อาหาร มือของผู้ติดเชื้อที่ไม่ได้ล้างน้ำหลังถ่ายอุจจาระ สิ่งของและสภาพแวดล้อมที่ถูกมือของผู้ติดเชื้อสัมผัส ทั้งนี้จะมีแมลงวันเป็นพาหะนำเชื้อ คนเราสามารถติดเชื้อเข้าสู่ร่างกายโดยทางใดทางหนึ่งดังนี้
    1. การดื่มน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติแบบดิบ ๆ
    2. การรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ ซึ่งการปนเปื้อนเชื้ออาจเกิดจากข้อใดข้อหนึ่งดังนี้
      • แมลงวัน (และบางครั้งแมลงสาบ) ที่ไต่ตอมอุจจาระของผู้ติดเชื้อ เป็นพาหะนำเชื้อ
      • มือของผู้ติดเชื้อ หรือมือของคนใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ (จากการสัมผัสมือของผู้ติดเชื้อ หรือสิ่งของ หรือสภาพแวดล้อมที่มีเชื้อปนเปื้อน)
      • ปนเปื้อนในดินหรือน้ำที่มีเชื้อ รวมทั้งผักผลไม้ที่ปลูกโดยการใส่ปุ๋ยที่ทำจากอุจจาระคน และผักผลไม้ที่ล้างด้วยน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อน
    3. การติดต่อจากคนสู่คน (พบได้น้อยมาก) จากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อภายในบ้าน สถานรับเลี้ยงเด็ก สถานพักฟื้น สถานประกอบการ โรงเรียน โรงงาน โรงพยาบาล ค่ายทหาร ค่ายกิจกรรมต่าง ๆ โดยการใช้มือสัมผัสถูกมือของผู้ติดเชื้อโดยตรง หรือจากการสัมผัสถูกสิ่งของหรือสภาพแวดล้อมที่มีเชื้อปนเปื้อน แล้วนำมือที่เปื้อนเชื้อนั้นไปสัมผัสกับปากของตนเองโดยตรงหรือไปเปื้อนถูกอาหารหรือน้ำดื่มอีกต่อหนึ่ง หรือจากการสัมผัสอุจจาระของผู้ป่วยหรือการถูกผู้ป่วยอาเจียนใส่
  • การติดต่อที่พบบ่อย การแพร่ระบาดของอหิวาตกโรคมักเกิดจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารทะเลที่นิยมกินกันแบบดิบ ๆ (เช่น หอยแครง หอยแมลงภู่ ปูแสมเค็ม) อาหารที่มีแมลงวันตอม อาหารกระป๋องที่เสียแล้ว รวมทั้งน้ำแข็ง ไอศกรีมที่ปนเปื้อนเชื้อ โดยมีแมลงวันหรือมือเป็นสื่อกลางในการนำพาเชื้อ มากกว่าการสัมผัสโดยตรง การระบาดจึงพบในคนที่บริโภคอาหารแบบดิบ ๆ สุก ๆ และใช้น้ำดื่มจากแหล่งน้ำที่มีคนจำนวนมากใช้ร่วมกัน เช่น ในชนบท ในชุมชน

    สาเหตุของอหิวาตกโรค
    IMAGE SOURCE : www.stopcholera.org

  • การเกิดโรค เมื่อเชื้ออหิวาตกโรคเข้าสู่ร่างกาย เชื้อบางส่วนจะถูกทำลายจากกรดในกระเพาะอาหาร และเชื้อส่วนที่เหลือรอดจากการทำลายของกรดจะผ่านจากกระเพาะอาหาร และสามารถผ่านเลยเข้าไปถึงลำไส้เล็กซึ่งมีความเป็นด่างสูงได้ (เชื้อชนิดนี้จะเจริญได้ดีภาวะที่เป็นด่าง ดังนั้น ในภาวะที่มีกรดน้อยเมื่อติดเชื้อผู้ป่วยมักจะมีอาการรุนแรง โดยเฉพาะ ผู้ที่รับประทานยาลดกรด ยาเคลือบกระเพาะอาหาร หรือผ่าตัดกระเพาะอาหาร) แล้วเชื้อจะเจริญเติบโตและสร้างสารพิษชื่อ “Cholera toxin” ซึ่งจะส่งผลทำให้เกิดการอักเสบของผนังลำไส้เล็ก ผนังลำไส้เล็กจึงไม่สามารถดูดซึมน้ำและเกลือแร่ได้ และยังกระตุ้นให้น้ำและเกลือแร่ในร่างกายซึมออกมาในลำไส้เล็กในปริมาณมาก เมื่อมีสารน้ำจำนวนมากหลั่งออกมาในลำไส้เกินกว่าที่ลำไส้ใหญ่จะดูดกลับได้หมดก็จะทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการท้องเสียถ่ายออกมาเป็นน้ำ (อุจจาระร่วง) ในปริมาณมาก โดยมีรายงานว่ามากได้ถึงวันละ 10-20 ลิตรโดยไม่มีมูกเลือด และสีของอุจจาระจะออกเป็นสีขาวเหมือนน้ำซาวข้าว
    • สารพิษที่เกิดขึ้นครั้งหนึ่ง ๆ จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการถ่ายเป็นน้ำอยู่นานถึง 24 ชั่วโมง ซึ่งยาปฏิชีวนะจะไม่ได้ช่วยให้การถ่ายลดลงใน 24 ชั่วโมงแรก แต่หลังจากการรับประทานยาแล้ว การแบ่งตัวของเชื้อรวมทั้งการสร้างสารพิษจะถูกยับยั้ง จึงทำให้การถ่ายลดลงใน 24 ชั่วโมงต่อมา
    • เชื้อจะไม่รุกรานเข้าร่างกาย แต่จะจำกัดอยู่เฉพาะในลำไส้ ผู้ป่วยจึงไม่มีอาการไข้ ซึ่งจะแตกต่างจากการติดเชื้อชนิดอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดอาการท้องเสียและผู้ป่วยมักมีไข้ร่วมด้วย
  • ระยะฟักตัวของโรค (ตั้งแต่ได้รับเชื้อจนกระทั่งเกิดอาการ) คือ ตั้งแต่ 2-3 ชั่วโมง ไปจนถึงประมาณ 5 วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณของเชื้อที่ได้รับและความรุนแรงของเชื้อซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายชนิดที่มีความรุนแรงของโรคต่างกัน (ส่วนใหญ่คือประมาณ 24-48 ชั่วโมง)
  • ระยะติดต่อ คือ ช่วงที่มีอาการท้องเสีย และเชื้อยังสามารถอยู่ในอุจจาระได้ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ประมาณ 1-2 สัปดาห์ก็จะถูกขับออกมาหมด มีส่วนน้อยที่อาจมีเชื้อในอุจจาระเป็นเวลานาน (ดังนั้น ระยะติดต่อ คือ ตลอดระยะเวลาที่ตรวจพบเชื้อในอุจจาระ) การให้ยาปฏิชีวนะจะช่วยลดระยะเวลาการแพร่เชื้อได้ ในผู้ใหญ่พบว่าการติดเชื้อเรื้อรังที่ทางเดินน้ำดีอาจเป็นได้นานเป็นปี ๆ และร่วมกับมีการปล่อยเชื้อออกมากับอุจจาระเป็นระยะได้

หมายเหตุ : ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ประมาณ 75% จะไม่มีอาการแสดง (แต่จะเป็นพาหะแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้) ส่วนอีก 20% จะมีอาการอุจจาระร่วงไม่รุนแรง (ทำให้อาจแยกไม่ได้จากอุจจาระร่วงที่เกิดจากสาเหตุอื่น ๆ) และจะมีเพียง 2-5% ที่มีอาการอุจจาระร่วงรุนแรง ถ่ายเป็นน้ำเฉียบพลันจำนวนมาก อาเจียน มักไม่ปวดท้อง (แต่อาจเจ็บบริเวณหน้าท้องเพราะเป็นตะคริวที่กล้ามเนื้อหน้าท้อง) และไม่มีไข้ (ยกเว้นในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี อาจมีไข้จากภาวะขาดน้ำได้)

อาการของอหิวาตกโรค

ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะมีอาการเพียงเล็กน้อยถึงปานกลาง โดยจะมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียนเล็กน้อย ถ่ายเหลวหรือถ่ายเป็นน้ำวันละหลายครั้ง (คล้ายโรคท้องเสียทั่วไปหรืออาหารเป็นพิษ) แต่จำนวนอุจจาระจะไม่เกินวันละ 1 ลิตร และมักจะหายได้เองภายใน 1-3 วัน หรืออย่างช้า 5 วัน

ส่วนในรายที่เป็นมากมักจะมีอาการถ่ายเป็นน้ำรุนแรงโดยไม่มีอาการปวดท้อง (มีเพียงส่วนน้อยที่อาจมีอาการปวดบิดในท้อง) โดยอุจจาระมักจะไหลพุ่ง (บางครั้งจะไหลพุ่งออกมาเองโดยไม่รู้ตัว) และผู้ป่วยแทบทุกรายมักจะมีอาการอาเจียนตามมาร่วมด้วย โดยที่ไม่มีอาการคลื่นไส้นำมาก่อน (มีเพียงส่วนน้อยที่อาจจะมีอาการคลื่นไส้) ในระยะแรกอุจจาระจะมีเนื้อปน ลักษณะเป็นน้ำสีเหลือง แต่ต่อมาจะกลายเป็นน้ำล้วน ๆ บางรายอุจจาระอาจมีสีเหมือนน้ำซาวข้าวเพราะว่ามีมูกมาก ไม่มีกลิ่นอุจจาระ แต่จะมีกลิ่นเหม็นเหมือนคาวปลาเล็กน้อย ผู้ป่วยอาจถ่ายวันละหลาย ๆ ครั้งถึงหลายสิบครั้ง หรือไหลพุ่งตลอดเวลา ส่วนอาการอาเจียนนั้น แรกเริ่มจะออกเป็นเศษอาหาร แต่ต่อมาจะออกเป็นน้ำและน้ำซาวข้าว

หากเป็นรุนแรงมาก ในช่วง 24 ชั่วโมงแรกปริมาณอุจจาระในผู้ป่วยผู้ใหญ่อาจออกมากกว่า 1 ลิตร/ชั่วโมง (ส่วนปริมาณในผู้ป่วยเด็กประมาณ 120-240 มิลลิลิตร/กิโลกรัม/วัน) ถ้าได้รับน้ำและเกลือแร่ชดเชยอย่างเพียงพอจะหยุดเองใน 1-6 วัน แต่ถ้าได้รับน้ำและเกลือแร่ชดเชยไม่ทันกับที่เสียไป ผู้ป่วยจะเกิดภาวะขาดน้ำรุนแรงและช็อกอย่างรวดเร็วภายใน 4-18 ชั่วโมง (อาการแรกเริ่มเมื่อขาดน้ำ ผู้ป่วยจะมีอาการกระหายน้ำมาก ปากคอแห้ง ปัสสาวะน้อยเป็นสีเหลืองเข้มหรือไม่มีเลย ชีพจรเต้นเร็ว กระสับกระส่ายหรือซึม ถ้าช็อกมากผู้ป่วยจะไม่รู้สึก) หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีผู้ป่วยก็มักจะเสียชีวิตภายในระยะเวลาสั้น ๆ

อาการโรคอหิวาตกโรค
IMAGE SOURCE : www.npr.org

ภาวะแทรกซ้อนของอหิวาตกโรค

ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญของโรคนี้ ได้แก่ ภาวะขาดน้ำและช็อก ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลันตามมา ทำให้ร่างกายสูญเสียเกลือแร่ เกิดอาการตะคริว ภาวะเลือดเป็นกรด และภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงอื่น ๆ

ภาวะแทรกซ้อนส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของภาวะกรดด่างและสารน้ำในเลือดอย่างรวดเร็วในขณะที่เกิดอาการและการรักษา ที่พบได้บ่อย ๆ คือ

  • ภาวะเลือดคั่งในปอด (Pulmonary edema) พบได้บ่อยในผู้ป่วยที่เลือดมีภาวะเป็นกรดมาก แล้วมีการให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดอย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยมาตอนแรกจะแห้ง แขนขาเย็นและเขียว เห็นขอบเบ้าตาชัด หายใจหอบลึก ชีพจรเบา ความดันโลหิตต่ำ ในภาวะเลือดเป็นกรดมากเช่นนี้ร่างกายจะเปลี่ยนการกระจายของเลือดมาสู่ที่ปอดมากและส่งไปที่หลอดเลือดส่วนปลายน้อย เมื่อมีการให้น้ำอย่างรวดเร็วโดยที่ยังไม่ได้แก้ไขภาวะเลือดเป็นกรดก่อนจะยิ่งเป็นการเพิ่มปริมาณน้ำในส่วนกลาง ทำให้มีเลือดคั่งในปอดได้มากขึ้น
  • ภาวะไตวายเฉียบพลัน (Acute tubular necrosis) ถ้าผู้ป่วยมีปัสสาวะออกน้อยกว่า 300 มิลลิลิตรต่อวัน เกินกว่า 24 ชั่วโมง โดยที่ให้น้ำเพียงพอแล้ว แสดงว่าผู้ป่วยมีภาวะไตวายเฉียบพลันแทรกซ้อนในช่วงแรกที่ช็อกแล้ว แม้จะหยุดถ่ายแล้วก็ยังต้องเฝ้าสังเกตอาการและควบคุมปริมาณน้ำเข้าออกในร่างกายต่อไป แต่ส่วนใหญ่ภาวะนี้จะฟื้นภายใน 1-2 สัปดาห์ โดยสัญญาณที่บ่งบอกว่าไตฟื้นคือภาวะที่ปัสสาวะออกมากอยู่หลายวันติดต่อกัน ซึ่งอาจออกมากกว่าวันละ 2-3 ลิตร (ในระหว่างที่ปัสสาวะออกน้อยต้องจำกัดน้ำเข้า และในระหว่างที่ปัสสาวะออกมากต้องให้ชดเชยให้ทัน)
  • ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ (Hypokalemia) มักเกิดขึ้นหลังจากที่ภาวะกรดในเลือดกลับสู่ภาวะปกติแล้ว โดยโพแทสเซียมในเลือดที่ออกมาจากเซลล์ตอนที่ร่างกายเป็นกรดมาก ๆ จะกลับเข้าเซลล์ตามเดิม จึงทำให้ภาวะพร่องโพแทสเซียมจากการสูญเสียไปกับน้ำอุจจาระปรากฏชัดเจนขึ้น
  • ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia) ผู้ป่วยบางรายอาจมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเนื่องจากรับประทานอาหารไม่ได้ ซึ่งจะพบได้ในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการซึม เรียกไม่รู้ตัว หรือชักได้
  • ภาวะตะคริว (Tetany) มักเกิดใน 2-3 ชั่วโมงแรกที่ให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด สาเหตุเป็นได้ 2 กรณี คือ เกิดการเปลี่ยนจากภาวะกรดเป็นด่างในเลือดเร็วเกินไป หรือผู้ป่วยยังคงหายใจเร็วอยู่แม้จะแก้ภาวะกรดในเลือดแล้ว โดยจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการชาและเกร็งนิ้วมือนิ้วเท้าในลักษณะจีบงุ้มเข้าหากัน แต่อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นเองโดยไม่ต้องรักษา
  • ภาวะลำไส้ไม่ทำงาน มักเกิดขึ้นหลังจากที่โรคหายแล้ว ซึ่งลำไส้จะยังดูดซึมอาหารประเภทไขมัน น้ำตาล วิตามินบี 12 และโฟเลตได้น้อย การรับประทานอาหารที่มีไขมันหรือน้ำตาลมาก ๆ ในช่วงที่เพิ่งฟื้นจากโรคอาจทำให้เกิดอาการท้องอืดได้ แต่อาการจะเป็นอยู่เพียงชั่วคราวเท่านั้น
  • ภาวะติดเชื้อแบคทีเรียอื่นซ้ำเติม เช่น ผู้ป่วยที่มีภาวะช็อกอาจเกิดติดเชื้อในเลือด ปอดบวม
  • ในหญิงตั้งครรภ์อาจแท้งหรือคลอดก่อนกำหนด

การวินิจฉัยอหิวาตกโรค

แพทย์สามารถวินิจฉัยอหิวาตกโรคได้จากประวัติอาการ ประวัติการสัมผัสโรค ลักษณะของอุจจาระ การตรวจอุจจาระ และการเพาะเชื้อจากอุจจาระ (การตรวจยืนยันด้วยการเพาะเชื้อจากอุจจาระจะได้ผลแน่นอนที่สุด ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน แต่อาจเพียงช่วยยืนยันการวินิจฉัยโรคได้เท่านั้น เพราะอาการของผู้ป่วยอาจหายก่อน) ในผู้ป่วยที่มีอาการถ่ายเป็นน้ำพุ่งไหลไม่หยุดที่อยู่ในถิ่นที่มีการระบาดแพทย์จะสงสัยว่าเป็นอหิวาตกโรคไว้ก่อน (เพื่อจะได้รักษาได้ทันท่วงที) และจะให้การรักษาโดยการให้ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ (ORS) หรือให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดทันทีถ้าไม่ได้ผลหรือได้ผลเร็วไม่เพียงพอหรือผู้ป่วยดื่มไม่ได้

สำหรับการตรวจร่างกายจะพบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่มีไข้ มีเพียงส่วนน้อยที่อาจมีไข้ต่ำ ไม่มีอาการปวดท้อง และมักตรวจพบภาวะขาดน้ำตั้งแต่ขนาดเล็กน้อยถึงรุนแรง ส่วนในรายที่เป็นรุนแรงจะพบภาวะช็อก (เหงื่อออก ตัวเย็น ชีพจรเต้นเร็ว ความดันโลหิตต่ำ) หายใจเร็วจากภาวะเลือดเป็นกรด ส่วนในผู้ป่วยเด็กอาจพบว่ามีไข้ ชัก ซึม หรือหมดสติ

วิธีรักษาอหิวาตกโรค

ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีภาวะขาดน้ำรุนแรง และยังรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำได้ดี

แพทย์จะให้การรักษาแบบอาการท้องเสียหรืออาหารเป็นพิษทั่วไป คือ การให้ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ (ORS) ทดแทนให้ได้เท่ากับปริมาณที่ถ่ายออกมาในแต่ละครั้ง (ซึ่งอาจต้องถึง 1 ลิตรต่อชั่วโมง) เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ แล้วเก็บอุจจาระส่งเพาะเชื้อ เมื่อทราบผลการตรวจว่าเป็นโรคนี้ (หรือในรายที่แพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยอาจเป็นโรคนี้ เช่น เป็นผู้สัมผัสผู้ป่วยที่เป็นอหิวาตกโรค หรืออยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค) แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้ออหิวาตกโรคในลำไส้เล็ก (ตามข้อ 2) ซึ่งจะช่วยลดระยะของโรคให้สั้นลง ลดการสูญเสียน้ำ ตลอดจนลดระยะของการแพร่เชื้อลงได้

  • โดยทั่วไปอาการมักจะดีขึ้นภายใน 1-5 วัน แต่ถ้าดูแล 2-3 วันแล้วอาการยังไม่ทุเลาหรือเป็นรุนแรงขึ้น เช่น อาเจียนบ่อย รับประทานอาหารไม่ได้ หรือมีภาวะขาดน้ำมากขึ้น การรักษาจะต้องให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดโดยเร็ว

    ผงโออาร์เอส
    IMAGE SOURCE : drugwithme.blogspot.com, www.seapharm.co.th, www.th.boots.com, webiz.co.th

ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เช่น ถ่ายเป็นน้ำรุนแรง อาเจียนรุนแรง รับประทานอาหารไม่ได้ หรือมีภาวะขาดน้ำรุนแรง การรักษาจะต้องให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำโดยเร็ว ซึ่งแพทย์จะรับตัวผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล

  • แพทย์จะทำการวินิจฉัยโดยการตรวจอุจจาระและเพาะเชื้อจากอุจจาระ (Rectal swab culture) ตรวจดูความสมดุลของอิเล็กโทรไลต์ และประเมินภาวะขาดน้ำ
  • การรักษา คือ การปรับสมดุลสารน้ำและเกลือแร่ โดยการให้สารน้ำในรูปของริงเกอร์แล็กเทต (Ringer lactate) หรืออะซีทาร์ (Acetar) แต่ถ้าไม่มีอาจใช้น้ำเกลือนอร์มัล (NSS) แทน โดยให้ในปริมาณที่สามารถทดแทนให้เพียงพอกับความต้องของร่างกายผู้ป่วย (ในกรณีที่ผู้ป่วยช็อกแพทย์จะให้ในขนาด 20-40 มิลลิลิตร/กิโลกรัม อย่างเร็ว ๆ จนกว่าความดันโลหิตจะกลับมาเป็นปกติ และมีความรู้สึกตัวดี) และให้กินโพแทสเซียมคลอไรด์ หรือให้ทางหลอดเลือดดำถ้าผู้ป่วยอาเจียน

    การรักษาอหิวาตกโรค
    IMAGE SOURCE : www.jhr.ca

  • ถ้าผลตรวจออกมาพบว่า ผู้ป่วยเป็นอหิวาตกโรค หรือสงสัยว่าเป็นโรคนี้ แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
    1. ยาเตตราไซคลีน (Tetracycline) ในขนาด 2 กรัม เพียงครั้งเดียว หรือให้ในขนาดครั้งละ 500 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง ติดต่อกัน 3 วัน
    2. ยาดอกซีไซคลีน (Doxycycline) ในขนาด 300 มิลลิกรัม เพียงครั้งเดียว หรือให้ในขนาดครั้งละ 100 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ติดต่อกัน 3 วัน
    3. ยาโคไตรม็อกซาโซล (Co-trimoxazole) 2 เม็ด วันละ 2 ครั้ง ติดต่อกัน 3 วัน
    4. ในผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่เชื้อดื้อต่อยาเตตราไซคลีน แพทย์จะให้ยานอร์ฟล็อกซาซิน (Norfloxacin) ในขนาดครั้งละ 400 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ติดต่อกัน 3 วัน หรือให้ยาไซโพรฟล็อกซาซิน (Ciprofloxacin) ในขนาด 1 กรัม เพียงครั้งเดียว หรือให้ยาอิริโทรมัยซิน (Erythromycin) ในขนาดครั้งละ 250 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง ติดต่อกัน 3 วัน
    5. สำหรับเด็กและหญิงตั้งครรภ์ แพทย์จะให้ยาฟูราโซลิโดน (Furazolidone) ในขนาด 300 มิลลิกรัม (หรือ 7 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) เพียงครั้งเดียว หรือในขนาด 100 มิลลิกรัม (หรือ 5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน) วันละ 4 ครั้ง ติดต่อกัน 3 วัน หรือให้ยาอิริโทรมัยซิน (Erythromycin) ในขนาด 250 มิลลิกรัม (หรือ 40 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน) วันละ 4 ครั้ง ติดต่อกัน 3 วัน หรือให้ยาโคไตรม็อกซาโซล (Co-trimoxazole) 2 เม็ด (หรือ 50 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน) วันละ 2 ครั้ง ติดต่อกัน 3 วัน
  • ผลการรักษา หากผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีก็มักจะหายได้ภายใน 3-6 วัน หลังจากได้รับยาปฏิชีวนะ อาการท้องเดินมักจะหายได้ใน 48 ชั่วโมง ปัจจุบันพบว่า อัตราการเสียชีวิตต่ำกว่า 1% เนื่องจากผู้ป่วยได้รับการทดแทนสารน้ำและเกลือแร่ได้เพียงพอและรวดเร็วก่อนที่จะเกิดภาวะขาดน้ำรุนแรงและช็อก (แต่ในรายที่มีอาการรุนแรงและไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ภายในเวลา 2-3 ชั่วโมง ซึ่งจะมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 50-60% เพราะผู้ป่วยอาจถ่ายอุจจาระได้ถึงวันละ 10-20 ลิตร แต่ทั้งนี้ความรุนแรงของโรคก็ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อด้วย)

คำแนะนำและข้อควรรู้เกี่ยวกับอหิวาตกโรค

  • เมื่อมีอาการท้องเสียที่มีอาการเข้าข่ายอหิวาตกโรค ควรรีบดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ (ORS) และรีบไปพบแพทย์เป็นการฉุกเฉิน
  • ถ้ายังไม่หายดีผู้ป่วยควรงดอาหารที่มีรสจัดหรือเผ็ดร้อน รวมถึงของหมักดอง
  • ผู้ป่วยที่มีอาการอุจจาระร่วงรุนแรง หรือสงสัยว่าเป็นอหิวาตกโรค เช่น เป็นผู้ที่สัมผัสโรคหรือเป็นผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค ควรเก็บอุจจาระส่งเพาะเชื้อทุกราย ถ้าพบว่าเกิดจากอหิวาตกโรค ควรรายงานต่อหน่วยงานที่ควบคุมโรคนี้ เพื่อที่จะได้ดำเนินการควบคุมมิให้เกิดโรคระบาด
  • สำหรับผู้ที่สัมผัสโรค ควรเก็บอุจจาระเพาะหาเชื้อและเฝ้าสังเกตอาการอย่างน้อย 5 วัน ถ้าพบว่าเป็นพาหะควรให้ยาปฏิชีวนะ เช่น เตตราไซคลีน (Tetracycline), ดอกซีไซคลีน (Doxycycline), ไซโพรฟล็อกซาซิน (Ciprofloxacin)
  • ในพื้นที่ที่มีอหิวาตกโรคชุกชุมและมีประชากรอยู่กันอย่างแออัด โดยที่การจัดการสุขาภิบาลยังไม่ดี ย่อมมีโอกาสเสี่ยงต่อการระบาดของโรคนี้ได้สูง
  • ความรุนแรงของอาการผู้ป่วยจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภูมิคุ้มกันที่มีอยู่ จำนวนเชื้อที่ผู้ป่วยได้รับ ภาวะกรดในกระเพาะอาหาร การมีหมู่เลือดกรุ๊ปโอ ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรครุนแรงจากเชื้อชนิดเอลเทอร์ เป็นต้น (การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะช่วยป้องกันและลดความรุนแรงของโรคได้)
  • ผู้ที่เคยเป็นอหิวาตกโรคแล้วจะมีภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้ไปตลอดชีวิต
  • โรคนี้เป็นได้แค่ในคนเท่านั้น ยังไม่ปรากฏว่าสัตว์เกี่ยวข้องในการแพร่ของโรค

วิธีป้องกันอหิวาตกโรค

การป้องกันโรคติดเชื้อในทางเดินอาหารที่ดีที่สุดคือการสร้างสุขนิสัยส่วนตัวให้ดี ดังนี้

  1. รักษาสุขอนามัยพื้นฐานโดยการปฏิบัติตามหลักสุขบัญญัติแห่งชาติให้ดี เพื่อช่วยลดโอกาสการติดเชื้อต่าง ๆ
  2. ดื่มน้ำสะอาดหรือน้ำต้มสุกหรือได้รับการฆ่าเชื้อแล้ว และน้ำนมสัตว์ที่ดื่มจะต้องผ่านกรรมวิธีการฆ่าเชื้อหรือพาสเจอไรซ์ก่อน หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำคลองหรือดื่มน้ำบ่อแบบดิบ ๆ และไม่กินน้ำแข็งหรือไอศกรีมที่เตรียมไม่สะอาด
  3. ระวังไม่ให้น้ำเข้าปากเมื่อลงเล่นหรืออาบน้ำในลำคลอง
  4. รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ ในขณะยังร้อน และไม่มีแมลงวันตอม (อาหารที่ปรุงสุกแล้วควรมีฝาชีครอบ) และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารหมักดอง อาหารสุก ๆ ดิบ ๆ (โดยเฉพาะอาหารทะเล) และอาหารที่ปรุงทิ้งไว้นาน ๆ หรือมีแมลงวันตอม
  5. ควบคุมแมลงวันโดยการใช้มุ้งลวด ใช้กับดัก หรือพ่นยาฆ่าแมลง และควบคุมการขยายพันธุ์ของแมลงวันซึ่งเป็นพาหะของโรคด้วยการเก็บและทำลายภาชนะด้วยวิธีที่เหมาะสม
  6. ล้างผักผลไม้ให้สะอาดเสมอ ส่วนภาชนะที่ใส่อาหารก็ควรล้างให้สะอาดทุกครั้งก่อนใช้
  7. ตัดเล็บให้สั้นอยู่เสมอ ล้างมือด้วยน้ำกับสบู่ให้สะอาดก่อนเตรียมอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร และหลังการขับถ่ายอุจจาระทุกครั้ง
  8. หลีกเลี่ยงการประกอบอาหารในระหว่างที่กำลังมีอาการท้องเสีย
  9. ถ่ายอุจจาระลงในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ จัดสร้างส้วมให้ถูกหลักสุขาภิบาล และห้ามถ่ายหรือเทอุจจาระ ปัสสาวะ และสิ่งปฏิกูลลงในแม่น้ำลำคลอง หรือเททิ้งเรี่ยราดตามพื้นดิน เพื่อป้องกันการแพร่ของเชื้อโรค
  10. หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ป่วยที่เป็นโรคอหิวาตกโรค แต่ถ้ามีผู้ป่วยเป็นอหิวาตกโรคในบ้าน ทุกคนในบ้านจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำดังกล่าว ที่สำคัญคือ
    • รักษาสุขอนามัยพื้นฐานตามหลักสุขบัญญัติแห่งชาติอย่างเคร่งครัดเป็นกรณีพิเศษ
    • ล้างมือด้วยน้ำกับสบู่ให้สะอาดบ่อย ๆ ก่อนเตรียมอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ และหลังการดูแลผู้ป่วย
    • ดื่มแต่น้ำสะอาดหรือน้ำต้มสุก อาหารทุกชนิดต้องปรุงสุกใหม่ และบริโภคทันทีหลังปรุงเสร็จ ไม่ทิ้งค้าง
    • ควรนำอุจจาระและสิ่งที่ผู้ป่วยอาเจียนออกมาไปเทใส่ส้วมหรือฝังลงดินให้มิดชิด (ที่ฝังจะต้องห่างจากแหล่งน้ำดื่ม) อย่าเทลงตามพื้นหรือเทลงแม่น้ำลำคลอง หรือนำไปทำลายด้วยการใส่น้ำยาฆ่าเชื้อคลอรีนหรือตามคำแนะนำของแพทย์หรือพยาบาล
    • เสื้อผ้าและของใช้ต่าง ๆ ของผู้ป่วยที่แปดเปื้อนเชื้อ ต้องนำไปซักล้างให้สะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อคลอรีนหรือน้ำต้มเดือด (ห้ามนำไปซักในแม่น้ำลำคลอง) ส่วนพื้นและห้องนอนของผู้ป่วยก็ควรทำความสะอาดด้วยเช่นกัน
  11. สำหรับผู้ที่สัมผัสโรคจะต้องรับประทานยาที่แพทย์ให้จนครบ และห้ามออกนอกบ้าน เพื่อเฝ้าสังเกตอาการอย่างน้อย 5 วัน
  12. ในปัจจุบันไม่แนะนำให้ใช้ยาปฏิชีวนะแก่ชุมชนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค เนื่องจากไม่ได้ผลและอาจทำให้เชื้อดื้อยาได้ แต่แพทย์อาจพิจารณาให้ในกลุ่มคนขนาดเล็ก เช่น ในบ้าน ในเรือนจำ หรือในชุมชนที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคเกิน 20%
  13. ในปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคชนิดใหม่ โดยเป็นวัคซีนชนิดกิน (Oral cholera vaccine) ที่ต้องกิน อย่างน้อย 2-3 ครั้ง ซึ่งในแต่ละครั้งให้กินห่างกันประมาณ 1 สัปดาห์ และจะมีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นเพียงพอ และได้ผลดีประมาณ 1 สัปดาห์หลังได้รับวัคซีนครบ และต้องได้รับวัคซีนกระตุ้นทุก 6 เดือน ถึง 2 ปี ขึ้นอยู่กับอายุ ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้ใช้ในประเทศที่มีการระบาดของโรคเป็นประจำโดยเฉพาะในคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง (เช่น เด็ก ผู้ป่วยเอดส์) และในผู้ที่ต้องเดินทางเข้าไปในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคหรือมีการระบาดของโรคนี้เป็นประจำ ส่วนในประเทศไทยการใช้วัคซีนตัวนี้จะขึ้นอยู่กับคำแนะนำของแพทย์ ดังนั้น ผู้ที่สนใจควรปรึกษาแพทย์

วัคซีนอหิวาตกโรค
IMAGE SOURCE : www.npr.org

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “อหิวาต์ (Cholera)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 492-496.
  2. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 284 คอลัมน์ : เวชปฏิบัติปริทัศน์.  “อหิวาตกโรค”.  (ศ.พญ.วันดี วราวิทย์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th.  [28 ก.พ. 2017].
  3. หาหมอดอทคอม.  “อหิวาตกโรค (Cholera)”.  (ศ.เกียรติคุณ พญ.พวงทอง ไกรพิบูลย์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [28 ก.พ. 2017].
  4. แผนกพยาบาลอายุรศาสตร์และจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล.  “อหิวาตกโรค”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th.  [01 มี.ค. 2017].
  5. สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค.  “Cholera”.  (เสาวพักตร์ เหล่าศิริถาวร, ธีรศักดิ์ ชักนำ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.boe.moph.go.th.  [02 มี.ค. 2017].
  6. ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ.  “อหิวาตกโรค (cholera)”.  (นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.bangkokhealth.com.  [03 มี.ค. 2017].
  7. MutualSelfcare.  “อหิวาตกโรค (Cholera)”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : mutualselfcare.org.  [03 มี.ค. 2017].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด