อวบดำ สรรพคุณและประโยชน์ของต้นอวบดำ 4 ข้อ ! (ปริศนา)

อวบดำ สรรพคุณและประโยชน์ของต้นอวบดำ 4 ข้อ ! (ปริศนา)

อวบดำ

อวบดำ ชื่อวิทยาศาสตร์ Chionanthus ramiflorus Roxb. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Linociera ramiflora (Roxb.) Wall. ex G. Don) จัดอยู่ในวงศ์มะลิ (OLEACEAE)[1],[2]

สมุนไพรอวบดำ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เกลื่อน (สุราษฎร์ธานี), ตาไชใบใหญ่ (ตรัง), อวบดํา (ชุมพร), พลู่มะลี (เขมร-สุรินทร์), โว่โพ้ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี) เป็นต้น[1],[2] (บ้างเรียกว่า “ปริศนา“, “หว้าชั้น“)

ลักษณะของอวบดำ

  • ต้นอวบดำ จัดเป็นไม้พุ่มผลัดใบขนาดเล็ก ลำต้นตั้งตรง มีความสูงของต้นประมาณ 5-10 เมตร เปลือกต้นเรียบเป็นสีขาวอมน้ำตาล เกลี้ยงหรือแตกระแหงเล็กน้อย ส่วนกิ่งก้านเรียวเล็กและลู่ลงเล็กน้อย กิ่งอ่อนมีสีน้ำตาล มีเขตการกระจายพันธุ์ในอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จนถึงออสเตรเลีย ในประเทศไทยพบได้ทุกภาค ตามป่าดิบและป่าผลัดใบ ที่ระดับความสูงตั้งแต่ 450-800 เมตร จากระดับน้ำทะเล[1],[2],[3]

ต้นอวบดำ

  • ใบอวบดำ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนาน หรือรูปขอบขนานแกมรูปรี ปลายใบแหลม โคนใบสอบหรือเป็นรูปลิ่ม ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-18 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบเกลี้ยงทั้งหลังใบและท้องใบ เนื้อใบหนาและเหนียวคล้ายแผ่นหนัง หลังใบเป็นสีเขียวเข้ม มีเส้นใบข้าง 8-12 คู่ ก้านใบเกลี้ยง ยาวได้ประมาณ 2.5-3.5 เซนติเมตร[1],[2]

ใบอวบดำ

  • ดอกอวบดำ ออกดอกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนงหลวม ๆ โดยจะออกตามซอกใบหรือกิ่งก้าน ช่อดอกยาวได้ประมาณ 3-15 เซนติเมตร แขนงข้างของช่อด้านล่างยาวอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของความยาวของช่อหลัก ดอกอวบดำนั้นมีขนาดเล็กเป็นสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน ดอกมีกลิ่นหอมเอียน ๆ มีดอกย่อยประมาณ 40-100 ดอก ดอกย่อยจะมีขนาดประมาณ 0.3-0.7 เซนติเมตร กลีบดอกมีอย่างละ 4 กลีบ ลักษณะเป็นรูปขอบขนาน ยาวได้เป็น 2 เท่าของหลอดกลีบ ส่วนกลีบเลี้ยงเป็นสีเขียว มี 4 กลีบ ขนาดประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร พูกลีบลึก โคนกลีบติดกัน ปลายแยกเป็นแฉกตื้น ๆ ดอกมีเกสรเพศผู้ 2 อัน ขนาดสั้นกว่าหลอดกลีบ อับเรณูมีขนาดประมาณ 1 มิลลิเมตร ลักษณะเป็นรูปรีหรือรูปขอบขนาน ไม่มีก้านชู กลม มีติ่งที่ปลาย ปลายเกสรเพศเมีย เป็น 2 พู จาง ๆ ก้านชูสั้น ส่วนก้านดอกย่อยนั้นยาวประมาณ 1-2 มิลลิเมตร[1],[2]

พลู่มะลี

ดอกอวบดำ

  • ผลอวบดำ ผลเป็นผลสด ลักษณะของผลเป็นรูปมนรีหรือรูปไข่กลับ มีขนาดกว้างประมาณ 0.5-2.2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร ผิวผลเรียบ มีชั้นกลีบเลี้ยงรองรับ ผลอ่อนเป็นสีเขียว เนื้อผลบาง เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงดำ ชั้นหุ้มเมล็ดแข็ง ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด ออกดอกและติดผลพร้อมกันในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนพฤษภาคม[1],[2]

อวบดํา

ผลอวบดำ

สรรพคุณของอวบดำ

  • รากของต้นอวบดำนำมาต้มกับน้ำใช้อม จะช่วยทำให้ฟันทน (ราก)[1],[2]
  • ตำรับยาสมุนไพร โรงพยาบาลกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ จะใช้ลำต้นอวบดำในตำรับยาตะแบกป่า โดยนำมาผสมกับเนื้อไม้ตะแบกป่า (มะเกลือเลือด) ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยารักษาโรคมุตกิด โรคระดูขาวของสตรี และยังช่วยรักษาภาวะมีบุตรยากในสตรีเนื่องจากรอบเดือนผิดปกติอีกด้วย (ลำต้น)[2]

ประโยชน์ของอวบดำ

  • รากอวบดำใช้เคี้ยวอมเพื่ออดบุหรี่[1],[2]
  • เนื้อไม้อวบดำสามารถนำมาใช้ในงานก่อสร้างบ้านเรือนได้[3]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “อวบดำ (Aup Dam)”.  หน้า 339.
  2. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “พลู่มะลี”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com.  [22 ก.ย. 2014].
  3. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “อวบดำ”.  อ้างอิงใน : หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 4, ไม้ต้นในสวน Tree in the Garden.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org.  [22 ก.ย. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Russell Cumming, Jan, igomak, judymonkey17, Keith Townsend, Xylopia)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด