อวดเชือก สรรพคุณและประโยชน์ของต้นเครืออวดเชือก 10 ข้อ !

อวดเชือก

อวดเชือก ชื่อวิทยาศาสตร์ Combretum latifolium Blume. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Combretum extensum Roxb. ex G.Don.) จัดอยู่ในวงศ์สมอ (COMBRETACEAE)[1]

สมุนไพรอวดเชือก มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ถั่วแป๋เถา (เชียงใหม่), แกดำ (หนองคาย), แหนเหลือง (กาญจนบุรี), ขมิ้นเครือ (ปราจีนบุรี, ภาคอีสาน), มันแดง แหนเครือ (ภาคเหนือ), ผ่อนออึ ซิคริ๊บ่อ (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่), เครืออวดเชือก เป็นต้น[1],[3]

ลักษณะของอวดเชือก

  • ต้นอวดเชือก หรือ เครืออวดเชือก มีถิ่นกำเนิดในแถบร้อนชื้นอย่างทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา แต่ก็ขึ้นได้ดีในกลุ่มประเทศอาเซียนรวมถึงทางภาคใต้ของบ้านเรา โดยจัดเป็นพรรณไม้เถาเลื้อยเนื้อแข็งขนาดเล็ก ชอบเลื้อยพันต้นไม้อื่น กิ่งอ่อนเกลี้ยงมีสีแดงอ่อน ๆ หรือเรื่อ ๆ ลำต้นมีความสูงหรือยาวได้ประมาณ 5-15 เมตร ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและการปักชำเถา เป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ที่เจริญเติบโตได้ดีและเร็วในดินที่ร่วนซุย มีความชื้นปานกลาง ชอบแสงแดดค่อนข้างจัด ในประเทศไทยพบได้ทุกภาคตามที่เปิดใกล้ริมลำธารที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลจนถึงระดับ 600 เมตร[1],[2]

ต้นอวดเชือก

เครืออวดเชือก

  • ใบอวดเชือก ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ ลักษณะของใบเป็นรูปมนรีหรือรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนใบสอบหรือมน ส่วนขอบใบเรียบไม่มีจัก ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-9 เซนติเมตร และยาวได้ประมาณ 8-12 เซนติเมตร พื้นใบเป็นสีเขียว เนื้อใบหนาและเหนียว มีก้านใบยาวประมาณ 0.7-2 เซนติเมตร[1],[2]

ต้นเครืออวดเชือก

  • ดอกอวดเชือก ออกดอกเป็นช่อกระจุก โดยจะออกบริเวณปลายยอดหรือตามง่ามใบ ดอกเป็นสีขาวแกมเขียว มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ มีกลีบดอก 4 กลีบ ลักษณะค่อนข้างกลมเกลี้ยง มีขนาดประมาณ 2 เซนติเมตร กลางดอกมีเกสร 8 อัน[1],[2]

ดอกเครืออวดเชือก

  • ผลอวดเชือก ลักษณะของผลค่อนข้างกลมหรือเป็นรูปไข่แกมวงรี มีขนาดประมาณ 1 นิ้ว ผลเมื่อสุกจะเป็นสีเหลือง ภายในผลมีเมล็ดขนาดใหญ่ 1 เมล็ด รอบผลมีกลีบ 4 กลีบ หรือที่เรียกว่าปีก สีน้ำตาลอ่อน[1],[2]

ผลอวดเชือก

ผลเครืออวดเชือก

สรรพคุณของอวดเชือก

  1. ผลมีสรรพคุณเป็นยาช่วยเจริญอาหารหรือเป็นยาบำรุง (ผล)[1]
  2. เนื้อไม้มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงโลหิต เป็นยาบำรุง (เนื้อไม้, เปลือกต้น)[1]
  3. เนื้อไม้นำมาบดละลายกับน้ำอุ่นใช้รับประทานเป็นยาธาตุ (เนื้อไม้) (ข้อมูลจาก : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 29 เมษายน 2547)
  4. ใบอ่อนนำมาเคี้ยวกินหรือนำรากมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการร้อนใน (ใบอ่อน)[3]
  5. เนื้อไม้ใช้เป็นยาสมานลำไส้ (เนื้อไม้)[1]
  6. เครือหรือทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการปวดท้องจากท้องเสีย (เครือ, ทั้งต้น)[3]
  7. รากอวดเชือกมีสรรพคุณเป็นยาขับประจำเดือนของสตรี (ราก)[1]
  8. รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยารักษากามโรค (ราก)[2]

ประโยชน์ของอวดเชือก

  1. ใบอ่อนมีรสฝาดนำมาหมกกับไฟใช้กินแทนเมี่ยง (ลั้วะ)[3]
  2. เถาอวดเชือกนั้นมีความหนาและแข็งมาก สามารถนำไปเผาถ่านได้ถ่านเนื้อดี
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “อวดเชือก”.  หน้า 836-837.
  2. หนังสือสารานุกรมสมุนไพร เล่ม 4 กกยาอีสาน.  (มูลนิธิมหาวิทยาลัยมหิดล).  “อวดเชือก”.  หน้า 69.
  3. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “อวดเชือก”.  อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [22 ก.ย. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Dinesh Valke, Hai Le) เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด