หัวร้อยรู
หัวร้อยรู ชื่อสามัญ Ant plant
หัวร้อยรู ชื่อวิทยาศาสตร์ Hydnophytum formicarum Jack จัดอยู่ในวงศ์เข็ม (RUBIACEAE)
สมุนไพรหัวร้อยรู มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ปุ่มฟ้า, ปมเป้า, ปุ่มเป้า, ปุมเป้า หัวร้อยรู (ตราด), กระเช้าผีมด (สุราษฎร์ธานี), ร้อยรู (ปัตตานี), กาฝากหัวเสือ (นราธิวาส), ดาลูบูตาลิมา, ดาลูปูตาลิมา (มลายู-ภาคใต้), หัวร้อยรู (ภาคกลาง), ป่าช้าผีมด (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) เป็นต้น[1],[2],[3],[4],[5],[7]
ลักษณะของหัวร้อยรู
- หัวร้อยรู หรือ ว่านหัวร้อยรู จัดเป็นพืชจำพวกหัว เป็นไม้ที่อิงอาศัยเกาะอยู่ตามต้นไม้อื่น หรือเรียกว่าไม้กาฝาก ลำต้นสูง 30-60 เซนติเมตร โคนต้นขยายใหญ่เป็นรูปกลมป้อมหรือเป็นพู มีลำต้นอวบน้ำ ที่โคนต้นโป่งพอง ต้นแก่จะมีหัวกลมโตขนาดเท่าลูกมะพร้าวห้าว ภายในหัวจะเป็นรูย้อนขึ้นและย้อนลง พรุนไปทั่วหัว เมื่อผ่าออกดูมักจะมีมดดำอาศัยอยู่ภายในหัว เนื้อนิ่ม มีสีน้ำตาลไหม้ หัวมีรสเมา หัวร้อยรูมักขึ้นตามคาคบไม้ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ดและวิธีการแยกกอ สามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วน เป็นพืชที่ชอบความชื้นมากและแสงแดดปานกลาง มักขึ้นในป่าดงดิบทั่วไป ในประเทศไทยหัวร้อยรูมีเขตการกระจายพันธุ์อยู่ทั่วทุกภาค สำหรับในต่างประเทศที่พบก็ได้แก่ ประเทศพม่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย และอินโดจีน[1],[4]
- ใบหัวร้อยรู มีใบเป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามกัน โคนใบสอบ ปลายใบมน แผ่นใบหนาเรียบเนียน อวบน้ำ ใบกว้างประมาณ 2-7 เซนติเมตรและยาวประมาณ 4-15 เซนติเมตร ผิวใบเรียบเกลี้ยงทั้งสองด้าน มีเส้นแขนงใบประมาณ 5-7 คู่เห็นไม่เด่นชัด ส่วนก้านใบสั้น ยาวประมาณ 2-5 มิลลิเมตร ส่วนหูใบเล็ก ลักษณะเป็นรูปไข่[2],[3],[4]
- ดอกหัวร้อยรู ออกดอกเดี่ยวเป็นกระจุกอยู่ตามง่ามใบและรอบข้อประมาณ 2-5 ดอก ดอกมีขนาดเล็ก ไม่มีก้านดอก กลีบดอกสีขาว กลีบดอกมี 4 แฉก เชื่อมติดกันเป็นหลอดไม่มีก้านชูอับเรณู และจะออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม[2],[4]
- ผลหัวร้อยรู ลักษณะของผลเป็นรูปรี ผลสีเขียวและมีขนาดเล็กมาก มีขนาดกว้างประมาณ 3-4 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 5-7 มิลลิเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดงสดใส[2],[4]
สรรพคุณของหัวร้อยรู
- ว่านหัวร้อยรูช่วยบำรุงหัวใจ ช่วยขับชีพจร [1],[2],[3],[7]
- ใช้เป็นยารักษาเบาหวาน[2] ด้วยการนำหัวร้อยรูมาผสมกับแก่นสัก รากทองพันชั่ง ต้นกำแพงเจ็ดชั้น หัวข้าวเย็นเหนือ หัวข้าวเย็นใต้ และหญ้ากันชาดทั้งต้น นำมาต้มเป็นน้ำดื่ม[3]
- ใช้เป็นยาแก้พิษประดงหรืออาการของโรคผิวหนังที่มีผื่นคันเป็นเม็ดขึ้นคล้ายผด มีอาการคันมาก และมักมีไข้ร่วมด้วยเสมอ (หัว)[1],[2],[3],[7]
- หัวใช้ตำกินเป็นยาขับพยาธิ (หัว)[1],[7]
- หัวใช้ผสมกับสมุนไพรชนิดอื่น ต้มกับน้ำดื่ม ช่วยรักษาโรคปอด (หัว)[2],[3]
- ใช้เป็นยาแก้พิษในข้อกระดูกหรือโรคกระดูกที่มีอาการเจ็บปวด กระดูกเปราะ ผิวหนังเป็นจ้ำ มีผื่น อาจจะเป็นแผลกินลึกถึงกระดูกได้ (หัว)[1],[2],[3],[7]
- ช่วยแก้อาการปวดเข่า แก้ข้อเข่า แก้ข้อเท้าปวดบวม (หัว)[1],[2],[7]
- หัวร้อยรูช่วยป้องกันและรักษาโรคมะเร็ง (หัว)[1],[6],[7] สูตรยารักษามะเร็งของศูนย์อภิบาลผู้ป่วยมะเร็งธรรมชาติบำบัด อโรคยศาล วัดคำประมง สาขาเกาะสีชัง ระบุว่าให้ใช้ หัวร้อยรู 50 กรัม, โกฐจุฬา 50 กรัม, โกฐเชียง 50 กรัม, กำแพงเจ็ดชั้น 50 กรัม, ทองพันชั่ง 200 กรัม, เหงือกปลาหมอ 200 กรัม, หญ้าหนวดแมว 50 กรัม, ผีหมอบ (ไมยราบ) 100 กรัม, ข้าวเย็นเหนือ 200 กรัม, ข้าวเย็นใต้ 200 กรัม และไม้สักหิน 50 กรัม ก่อนการต้มยาให้จุดธูป 3 ดอก พร้อมเทียนคู่ และให้ทำสมาธิ ให้ระลึกถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พร้อมทั้งสวดพระคาถาสักกัตวาฯ 3 จบ และอัญเชิญบารมีของพระพุทธไภษัชยคุรุไวฑูรยประภา และท่านบรมครูชีวกโกมารภัจจ์ ที่เป็นผู้คิดค้นตำรับยานี้ แล้วให้นำไปปักไว้กลางแจ้ง เป็นอันเสร็จพิธี สำหรับวิธีทำให้นำสมุนไพรทั้งหมดใส่ในหม้อดินที่ใหญ่ที่สุด และให้ใส่น้ำฝนลงไปในหม้อดินพอท่วม เพื่อแช่ยาไว้ประมาณ 10 นาที จากนั้นให้ตั้งไฟแรงปานกลางแล้วปิดฝาหม้อ ต้มให้เดือดนาน 15 นาที (เริ่มนับตั้งแต่ยาเริ่มเดือดเต็มที่) แล้วยกหม้อยาลง แล้วรินน้ำยาเก็บไว้ในหม้อเคลือบใหญ่ที่มีหูหิ้ว เบอร์ 32 (ครั้งที่ 1) หลังจากนั้นให้เติมน้ำลงไปพอท่วมยา แล้วต้มให้เดือดประมาณ 15 นาที (เริ่มนับตั้งแต่ยาเริ่มเดือดเต็มที่) แล้วรินน้ำยามาเก็บรวมกับของเก่า (ครั้งที่ 2) เมื่อเสร็จแล้วให้ใส่น้ำให้ท่วมตัวยาอีกครั้ง แล้วทำเหมือนครั้งที่ 2 ส่วนกากที่เหลือทิ้งไว้ให้เย็นแล้วนำไปเทที่บริเวณต้นไม้โพธิ์[6]
- หัวร้อยรู จัดอยู่ในตำรับยา “พิกัดมหากาฬทั้ง 5” ซึ่งประกอบไปด้วย หัวร้อยรู หัวถั่วพู หัวกระเช้าผีมด มหากาฬใหญ่ และมหากาฬนกยูง โดยมีสรรพคุณช่วยดับพิษร้อน แก้พิษไข้ ถอนพิษไข้ ไข้กาฬ ประดงผื่นคัน แก้พิษอักเสบ ช้ำบวม น้ำเหลืองเสีย (หัว)[1]
- ช่วยบำรุงน้ำนมของสตรี (หัว)[2]
ประโยชน์ของหัวร้อยรู
- นอกจากใช้เป็นยาสมุนไพรแล้ว ยังมีประโยชน์ในเรื่องของความเชื่อ ด้วยเชื่อว่าหัวร้อยรูเป็นว่านทางเสน่ห์เมตตามหานิยม มักนำมาใช้ร่วมกับกาฝากชนิดต่าง ๆ เพื่อนำมาใช้ทำเป็นวัตถุมงคล[6]
แหล่งอ้างอิง
- ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “หัวร้อยรู”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com. [14 ต.ค. 2013].
- ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร กรมวิชาการเกษตร. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doa.go.th/hrc/chumphon. [14 ต.ค. 2013].
- สวนพฤกษศาสตร์คลองไผ่ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. อ้างอิงใน: หนังสือสยามไภษัชยพฤกษ์:ภูมิปัญญาของชาติ คณะเภสัช มหาวิทยาลัยมหิดล. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th. [14 ต.ค. 2013].
- กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.dnp.go.th. [14 ต.ค. 2013].
- เครือข่ายกาญจนาภิเษก. พืชพื้นบ้าน นราธิวาส. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: kanchanapisek.or.th. [14 ต.ค. 2013].
- บ้านสวนพอเพียง. “ว่านหัวร้อยรู…สมุนไพรความหวังของผู้เป็นมะเร็ง“. โดย: yoshige675. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.bansuanporpeang.com. [14 ต.ค. 2013].
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. “กระเช้าผีมด”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). หน้า 56.
ภาพประกอบ : www.thaicrudedrug.com (by Sudarat Homhual), www.flickr.com (by Bernard DUPONT, Yeoh Yi Shuen, Reuben C. J. Lim, Wee Foong Ang, Quentin, Timothy Utteridge)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)