หมากผู้หมากเมีย
หมากผู้หมากเมีย ชื่อสามัญ Cordyline[3], Ti plant[5], Dracaena Palm[6]
หมากผู้หมากเมีย ชื่อวิทยาศาสตร์ Cordyline fruticosa (L.) A.Chev.[1] จัดอยู่ในวงศ์หน่อไม้ฝรั่ง (ASPARAGACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อย LOMANDROIDEAE
สมุนไพรหมากผู้หมากเมีย มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ปูหมาก (เชียงใหม่), หมากผู้ (ภาคเหนือ), มะผู้มะเมีย (ภาคกลาง), ทิฉิ่ว ทิฉิ่วเฮียะ (จีนแต้จิ๋ว), เที่ยซู่ (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[2]
หมากผู้หมากเมียมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด เนื่องจากมีการผสมพันธุ์จนได้ชนิดใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนยากที่จะทรายว่าต้นใดเป็นต้นพ่อต้นแม่ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพันธุ์ลูกผสมของ C.terminalis เช่น พันธุ์เพชรชมพู เพชรสายรุ้ง เพชรพนมรุ้ง เพชรประกายรุ้ง เพชรเจ็ดสี เพชรดารา เพชรน้ำหนึ่ง เพรชไพลิน เพชรไพลินกลาย เพชรตาแมว เพชรอินทรา เพชรเขื่อนขันธุ์ เพชรไพฑูรย์ เพียงเพชร พุ่มเพชร เปลวสุริยา รัศมีเพชร รุ้งเพชร ชมพูศรี ชมพูพาน สไบทอง ไก่เยาวลักษณ์ พันธุ์แคระ เป็นต้น
ลักษณะของหมากผู้หมากเมีย
- ต้นหมากผู้หมากเมีย จัดเป็นพรรณไม้พุ่มขนาดเล็ก ลักษณะของลำต้นตั้งตรง มีความสูงของต้นประมาณ 1-3 เมตร ไม่มีกิ่งก้านสาขามากนัก จัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ขยายพันธุ์ด้วยการตอน การปักชำลำต้น การปักชำยอด การปักชำเหง้า และการแยกลำต้น เจริญเติบโตได้ดีในดินเกือบทุกประเภท ชอบดินร่วนซุย ความชื้นปานกลาง และแสงแดดปานกลางถึงรำไร มักขึ้นใกล้แหล่งน้ำ ที่มีความชุ่มชื้น หรือใต้ต้นไม้ใหญ่ที่มีแสงแดดรำไร[1],[3],[5]
- ใบหมากผู้หมากเมีย ใบออกเป็นวงสลับกันบริเวณส่วนยอดของลำต้น ลักษณะของใบเป็นรูปยาวรี ปลายใบแหลม ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-4 นิ้ว และยาวประมาณ 12-20 เซนติเมตร ใบเป็นสีแดงเขียวหรือสีแดงม่วง[1] ทั้งนี้ ลักษณะของใบและสีของใบก็ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ที่ปลูกด้วยครับ เพราะบางพันธุ์ใบจะเป็นรูปใบหอกปลายแหลม บางพันธุ์ใบเป็นรูปใบพาย หรือเป็นรูปเรียวแหลมแคบเป็นรูปเข็ม หรือใบแคบเรียวยาวแตกกิ่ง ใบที่เป็นเหมือนใบอ้อยก็มี ซึ่งแผ่นใบจะยาวเรียวแหลมมาก เป็นต้น
- ดอกหมากผู้หมากเมีย ออกดอกเป็นช่อ ยาวประมาณ 12 นิ้ว โดยจะออกบริเวณยอดลำต้น ช่อดอกยาวประมาณ 30 เซนติเมตร ลักษณะของดอกย่อยมีกลีบเลี้ยงและกลีบดอกอย่างละ 6 กลีบ กลีบดอกเป็นรูปทรงกระยอก ดอกเป็นสีม่วงแดงหรือสีชมพูสลับด้วยสีเหลืองอ่อน ดอกมีเกสรเพศผู้ 6 อัน มีรังไข่ 3 ห้อง ในแต่ละห้องจะมีผลอ่อน 4-6 ผล ดอกย่อยมีขนาดยาวประมาณ 1 เซนติเมตร[1],[2]
- ผลหมากผู้หมากเมีย ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5 มิลลิเมตร ผลมีลักษณะฉ่ำน้ำ ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 1-3 เมล็ด [1]
สรรพคุณของหมากผู้หมากเมีย
- รากมีสรรพคุณเป็นยาฟอกเลือด ด้วยการใช้รากสดครั้งละ 30-60 กรัม ถ้ารากแห้งให้ใช้เพียงครั้งละ 15-20 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน (ราก)[2]
- ใช้เป็นยาแก้พิษกาฬ (พิษที่เกิดจากการติดเชื้อ) หรือนำมาต้มหรือแช่น้ำอาบแก้ไข้หัว (ไข้ร่วมกับผื่นหรือตุ่ม เช่น หัด เหือด อีสุกอีใส) (ใบ)[4]
- ใบมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้หวัด ไข้หวัดน้อย ไข้หวัดใหญ่ ไข้กำเดา ไข้พิษ ไข้กาฬ ไข้หัวต่าง ๆ แก้ตัวร้อน แก้ร้อนในกระหายน้ำ (ใบ)[3],[6]
- ใบสดใช้ประมาณ 15-30 กรัม นำมาต้มเอาน้ำกินเป็นยาแก้ไอ ไอเป็นเลือด หรือจะใช้ดอกแห้งประมาณ 15-30 กรัม นำมาต้มเอาน้ำกินเป็นยาแก้อาการไอเป็นเลือดก็ได้ ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าให้ใช้ใบสดประมาณ 60-100 กรัม หรือรากสดประมาณ 30-60 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน (ใบ,ดอก,ราก)[1],[2]
- ช่วยแก้โลหิตกำเดา ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 30-60 กรัม ถ้าแห้งใช้ 15-20 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน (ใบ)[2]
- ดอกใช้เป็นยาแก้วัณโรคปอด ด้วยการใช้ดอกแห้งประมาณ 15-30 ใบ นำมาต้มเอาน้ำกิน ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าให้ใช้ใบสด 60-100 กรัม หรือใช้รากสด 30-60 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน (ใบ,ดอก,ราก)[1],[2]
- รากมีสรรพคุณเป็นยาแก้บิด แก้ท้องเสีย แก้ลำไส้อักเสบ ด้วยการใช้รากแห้งประมาณ 3-5 กรัม นำมาต้มเอาน้ำกิน (ราก)[1],[2]
- ใบใช้เป็นยาแก้อาการเจ็บกระเพาะอาหารหรือปวดกระเพาะ แก้บิด ถ่ายเป็นมูกเบือด ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 15-30 กรัม นำมาต้มเอาน้ำกิน (ใบ)[1],[2] ส่วนตำรายาแก้บิดถ่ายเป็นมูกอีกตำรับ ระบุให้ใช้ใบสด 30-40 กรัม เปลือกลูกทับทิมแห้ง 10 กรัม ผักเบี้ยใหญ่สด 30 กรัม และดอกสายน้ำผึ้ง 15 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน (ใบ)[2]
- ใช้แก้ประจำเดือนมาไม่เป็นปกติ ด้วยการใช้รากแห้งประมาณ 3-5 กรัม นำมาต้มเอาน้ำกิน ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าให้ใช้ใบสด 60-100 กรัม ถ้าเป็นรากสดให้ใช้ 30-60 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน (ราก)[1],[2]
- ใช้แก้ประจำเดือนมามากเกินควร ด้วยการใช้ดอกสดครั้งละ 30-60 กรัม ส่วนดอกแห้งใช้เพียงครั้งละ 10-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม (ดอก)[2]
- ใช้เป็นยาแก้ปัสสาวะเป็นเลือด ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 15-30 กรัม นำมาต้มเอาน้ำกิน หรือจะใช้ดอกแห้งประมาณ 15-30 กรัม นำมาต้มเอาน้ำกินก็ได้ ส่วนอีกตำรับระบุให้ใช้ใบสด 60-100 กรัม หรือรากสด 30-60 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน (ใบ,ดอก,ราก)[1],[2]
- ใช้เป็นยาแก้ถ่ายเป็นเลือด ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 30-40 กรัม นำมาต้มกับเนื้อหมูรับประทาน (ใบ)[2]
- ใช้เป็นยาแก้ริดสีดวงทวาร ด้วยการใช้ดอกแห้งประมาณ 15-30 กรัม นำมาต้มเอาน้ำกิน (ดอก)[1],[2]
- ใบมีรสจืดมันเย็น มีสรรพคุณช่วยล้อมตับดับพิษ ใช้เป็นยาขับพิษ (ใบ)[3],[6]
- ใบสดนำมาตำให้ละเอียดใช้เป็นยาพอกหรือทาบริเวณที่เป็นบาดแผล (ใบ)[1]
- ใบและดอกสดนำมาตำให้ละเอียดใช้เป็นยาพอกห้ามเลือด (ใบ,ดอก)[1],[2]
- ใบนำมาต้มกับน้ำอาบช่วยแก้อาการคันตามผิวหนังหรือเม็ดผดผื่นคันตามผิวหนัง หรือจะใช้ใบร่วมกับใบหมากและใบมะยมก็ได้ (ใบ)[4],[6]
- ช่วยแก้อาการปวดบวมอักเสบ ด้วยการใช้ดอกสดนำมาตำพอกบริเวณที่เป็น ส่วนรากก็มีสรรพคุณแก้ปวดบวมอักเสบได้เช่นเดียวกับดอก (ดอก)[1],[2]
- ช่วยแก้ฟกช้ำดำเขียว (ราก)[2]
ข้อห้ามในการใช้สมุนไพรหมากผู้หมากเมีย
- สตรีมีครรภ์ ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้[1]
- ยาชนิดนี้มีพิษ ห้ามใช้ในปริมาณที่มากเกินไป[2]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของหมากผู้หมากเมีย
- ในใบพบสารจำพวก Phenols, Amino acid และน้ำตาล ส่วนผลพบสาร Cycasin, Neocycasin และแป้ง เป็นต้น[2]
ประโยชน์ของหมากผู้หมากเมีย
- ช่อดอกนำมาลวกกับน้ำพริกกินหรือนำไปแกงได้ (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน)[5]
- ใบนำมาสับแล้วตากให้แห้งใช้เข้ายาห่มตำรับไทลื้อ ช่วยบำรุงร่างกายและผิวพรรณ (ไทลื้อ)[5]
- ชาวไทใหญ่จะนำดอกมาใช้บูชาพระ ส่วนชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนจะนำใบมาใช้บูชาพระ[5]
- การใช้งานด้านภูมิทัศน์ หมากผู้หมากเมียเป็นไม้ใบที่มีสีสันสวยงาม สามารถนำมาใช้ปลูกเป็นไม้ประดับลงกระถางเพื่อประดับภายในอาคาร หรือจะปลูกไว้ในสวนที่มีแสงปานกลางถึงรำไรเพื่อเป็นจุดเด่นให้กับสวนหย่อม ริมน้ำตก ลำธาร หรือริมทะเลได้[3]
- ในด้านของความเชื่อ คนไทยโบราณเชื่อว่าหากบ้านใดปลูกต้นหมากผู้หมากเมียไว้เป็นไม้ประจำบ้านจะทำให้มีความอยู่เย็นเป็นสุข เพราะหมากผู้หมากเมียเป็นของคู่กันเหมือนคู่สุขคู่สมคู่บ้านคู่เมืองของคนไทย นอกจากนี้ยังใช้ใบเพื่อนำไปใช้ประกอบในงานพิธีมงคลสำคัญอีกหลายงาน เช่น งานแต่งงาน งานขึ้นบ้านใหม่ หรือใช้เป็นเครื่องบูชาพระ เป็นต้น และเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่บ้านและผู้อยู่อาศัย ควรปลูกต้นหมากผู้หมากเมียไว้ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของบ้าน และผู้ปลูกควรปลูกในวันอังคาร เพราะคนโบราณเชื่อว่าการปลูกไม้เพื่อเอาคุณทั่วไปทางใบให้ปลูกกันในวันอังคาร[7]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “หมากผู้หมากเมีย”. หน้า 821-822.
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “หมากผู้หมากเมีย”. หน้า 616.
- ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “หมากผู้หมากเมีย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th. [16 ก.ค. 2014].
- อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “หมากผู้หมากเมีย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/. [16 ก.ค. 2014].
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “Cordyline, Ti plant”. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [16 ก.ค. 2014].
- สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย. “หมากผู้หมากเมีย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.saiyathai.com. [16 ก.ค. 2014].
- ศูนย์ฝึกอบรมและควบคุมระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร. “หมากผู้หมากเมีย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: student.nu.ac.th/49190283/. [16 ก.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)