หมาก สรรพคุณและประโยชน์ของต้นหมาก 59 ข้อ !

หมาก สรรพคุณและประโยชน์ของต้นหมาก 59 ข้อ !

หมาก

หมาก ชื่อสามัญ Areca nut, Areca nut palm, Areca palm, Betel nut palm, Betel Nuts[1],[5]

หมาก ชื่อวิทยาศาสตร์ Areca catechu L. จัดอยู่ในวงศ์ปาล์ม (ARECACEAE) ซึ่งแต่เดิมใช้ชื่อวงศ์ว่า PALMAE หรือ PALMACEAE[1],[2],[3]

สมุนไพรหมาก มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หมากเมีย (ทั่วไป), หมากสง (ภาคใต้), แซ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), สีซะ (กะเหรี่ยง-ภาคเหนือ), มะ (ชอง-ตราด), เซียด (ชาวบน-นครราชสีมา), ปีแน (มลายู-ภาคใต้), ปิงน๊อ (จีนแต้จิ๋ว), ปิงหลาง (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[3]

ลักษณะของต้นหมาก

  • ต้นหมาก มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียเขตร้อน จัดเป็นไม้ยืนต้นจำพวกปาล์ม มีความสูงของต้นประมาณ 10-15 เมตร ลำต้นตั้งตรง เป็นต้นเดี่ยวไม่แตกกิ่งก้าน ลักษณะของลำต้นเป็นรูปทรงกระบอก มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 8-12 เซนติเมตร เปลือกลำต้นเป็นรอยขวั้นรอบ ๆ ขึ้นไปตลอดลำต้น ในระยะแรกจะเจริญเติบโตด้านกว้างและด้านสูง แต่หลังจากหยุดการเจริญเติบโตจะเจริญเติบโตด้านความสูง ต้นหมากมีตายอดส่วนปลายสุดของลำต้น ถ้ายอดตายหมากจะตาย ตายอดจะเป็นที่เกิดของใบหลังจากใบร่วงหล่นจะทิ้งรอยติดของใบไว้ เรียกว่าข้อ ข้อของต้นหมากสามารถคำนวณหาอายุหมากได้ 1 ปี โดยหมากจะมีใบหรือข้อเพิ่มขึ้น 5 ใบ หรือ 5 ข้อ ต้นหมากจะมีเนื้อเป็นเสี้ยนยาวจับตัวกันแน่นบริเวณเปลือกนอกลึกเข้าไปประมาณ 2 เซนติเมตร แต่ส่วนกลางของลำต้นเป็นเสี้ยนไม่อัดแน่น และมีเนื้อไม้อ่อนนุ่มคล้ายกับฟองน้ำ จึงทำให้ต้นหมากเหนียวและสามารถโยกเอนได้มาก ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลสูงกว่า 700 เมตร[1],[3],[5]

ต้นหมาก

  • ใบหมาก ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงเวียนหนาแน่นที่ปลายยอด ก้านใบรวมยาวได้ประมาณ 130-200 เซนติเมตร ลักษณะของใบย่อยรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบเรียวแคบ ใบอ่อนมีรอยแยก ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 50-70 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบหนา กาบใบหุ้มลำต้น[1],[3]

ใบหมาก

  • ดอกหมาก (จั่นหมาก) โดยจะออกตามซอกโคนก้านใบหรือกาบนอก ดอกออกรวมกันเป็นช่อขนาดใหญ่ประกอบไปด้วยโคนจั่นยึดติดอยู่ที่ข้อของลำต้น ก้านช่อดอกเป็นเส้นยาวแตกออกโดยรอบแกนกลาง มีกลีบหุ้มช่อขนาดใหญ่ยาวประมาณ 40 เซนติเมตร เป็นมันเงา มีใบประดับหุ้มอยู่ ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน กลีบดอกเป็นสีขาวแกมสีเหลืองมี 6 กลีบ เรียงเป็นชั้น 2 ชั้น สีเขียว ยาวประมาณ 5-6 มิลลิเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้ 6 อัน มีเกสรเพศเมียเป็นเส้น 3 เส้นบาง ๆ แผ่ออก ดอกเพศผู้จะมีขนาดเล็กและอยู่ตรงส่วนปลายของก้านช่อดอก ส่วนดอกเพศเมียจะค่อนข้างใหญ่และอยู่ที่โคนก้านช่อดอก ดอกเพศผู้จะใช้เวลาประมาณ 21 วัน หลังจากนั้น 5 วัน ดอกเพศเมียจะเริ่มบาน[1],[3],[5]

ดอกหมาก

  • ผลหมาก ผลออกเป็นทะลาย ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม รูปกลมรี รูปไข่ รูปไข่ปลายแหลม หรือเป็นรูปกระสวยขนาดเล็ก โดยเฉลี่ยแล้วผลที่รวกมันเป็นทะลาย ในหนึ่งทะลายจะมีผลอยู่ประมาณ 10-150 ผล ผิวผลเรียบ มีกลีบเลี้ยงติดเป็นขั้วผล ผลมีขนาดกว้างประมาณ 5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7 เซนติเมตร ผลดิบหรือผลสดเปลือกผลจะเป็นสีเขียวเข้ม เรียกว่า “หมากดิบ” ผลเมื่อแก่เปลือกผลจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองส้มทั้งผลหรือสีแดงแกมส้ม เรียกว่า “หมากสุก” หรือ “หมากสง” ผลประกอบไปด้วย 4 ส่วน คือ เปลือกชั้นนอก (ส่วนของเปลือกที่เป็นเยื่อบาง ๆ สีเขียว เนื้อเปลือกมีเส้นใยละเอียดเหนียว), เปลือกชั้นกลาง (เป็นเส้นใยหนามากมองเห็นชัด), เปลือกชั้นใน (เป็นเยื่อบาง ๆ ละเอียดติดอยู่กับเนื้อหมาก), และส่วนของเมล็ดหรือเนื้อหมาก เมื่ออ่อนจะนิ่ม เนื้อส่วนผิวจะมีลายเส้นสีเหลืองถึงสีน้ำตาล ส่วนเนื้อจะเป็นสีเหลืองอ่อน ๆ ถึงสีเหลืองเข้มอมแดง ภายในผลมีเมล็ดเดียว มักออกผลในช่วงเดือนพฤษภาคม[1],[3],[4],[5]

ผลหมาก

ลูกหมาก

เมล็ดหมาก

สรรพคุณของหมาก

  1. ผลอ่อนมีรสฝาดหวาน สรรพคุณเป็นยาช่วยทำให้เจริญอาหาร (ผล)[1]
  2. เปลือกผลมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงธาตุ (เปลือกผล)[3]
  3. รากมีรสฝาดเย็น มีสรรพคุณเป็นยาแก้โรคกษัย (ราก)[1]
  4. ผลใช้เป็นยาแก้โรเบาหวาน ด้วยการใช้หมากที่กินกับพลูแบบสด 1 ลูก นำมาผ่าเป็น 4 ซีก ต้มกับน้ำ 1 ลิตร จนเดือดหรือประมาณ 10 นาที ใช้ดื่มก่อนอาหารครั้งละครึ่งแก้วเช้า กลางวัน และเย็น เมื่อนำตาลในเลือดลดลงก็ให้นำมาต้มดื่มแบบวันเว้นวันได้ ซึ่งหมากจะมีฝาด จึงช่วยสมานแผลของผู้เป็นโรคเบาหวานให้หายเร็วขึ้นได้อีกด้วย (ผล)[13]
  5. ใบมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ แก้หวัด (ใบ)[2]
  6. รากหมากใช้ผสมกับรากมะพร้าว รากมะกอก รากมะปรางเปรี้ยว รากมะปรางหวาน ลูกกระจับน้ำ ลูกบัวหลวง เกสรบัวหลวง และหัวแห้ว ใช้กินเป็นยาแก้พิษผิดสำแดงไข้ (ราก)[2]
  7. รากนำมาต้มกับน้ำเป็นยาแก้พิษร้อนภายใน แก้พิษไข้ร้อน (ราก)[1],[2],[13] หรือจะใช้ใบนำมาต้มกับน้ำกินและอาบเป็นยาแก้ไข้ แก้หวัดก็ได้ (ใบ)[13]
  8. หมากมีสรรพคุณในการรักษาโรคมาลาเรีย (ผล)[14]
  9. ช่วยขับเหงื่อ (เมล็ด)[4]
  10. ดอกเพศผู้ เป็นยาหอม ช่วยแก้กระหายน้ำ (ดอกเพศผู้)[12]
  1. ผลมีสรรพคุณช่วยแก้อาการไอ (ผล)[1]
  2. ช่วยขับเสมหะ (เนื้อผล)[1],[3]
  3. หมากแก่ หรือ หมากสง มีรสฝาดจัด มีสรรพคุณเป็นยาแก้เสมหะในลำไส้เป็นพิษ ช่วยปิดธาตุ และสมานแผล (หมากแก่)[4]
  4. ช่วยแก้เมา แก้อาเจียน (ผล)[1]
  5. ผลหมากสุกเมื่อนำมาต้มกับน้ำกินแล้วจะช่วยป้องกันอาการของโรคต้อหินหรือความดันภายในลูกตา เพื่อไม่ให้สูงจนผิดปกติได้ (ผล)[14]
  6. ตำรายาไทยจะใช้เมล็ดเป็นยารักษาโรคในปาก ช่วยแก้ปากเปื่อย (เมล็ด)[4] ส่วนอีกข้อมูลระบุให้ใช้รากนำมาต้มกับน้ำเดือดใช้อมในขณะยังอุ่นแก้ปากเปื่อย (ราก)[8],[11],[13]
  7. รากนำมาต้มเอาน้ำอมช่วยถอนพิษถูกสารปรอทตามฟันได้ดีมาก (ราก)[8],[13]
  8. ช่วยทำให้เหงือกและฟันแข็งแรง (เมล็ด)[4]
  9. ช่วยบำรุงกระเพาะ (ดอกเพศผู้)[12]
  10. เปลือกผลมีรสเผ็ด เป็นยาร้อนเล็กน้อย ออกฤทธิ์ต่อม้ามและกระเพาะลำไส้ ใช้เป็นยาขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ช่วยขับน้ำในกระเพาะลำไส้ และช่วยในการย่อยอาหาร (เปลือกผล)[3]
  11. เนื้อภายในผลมีรสขมฝาดเผ็ดเล็กน้อย เป็นยาร้อนเล็กน้อยออกฤทธิ์ต่อม้าม กระเพาะ และลำไส้ใหญ่ มีสรรพคุณช่วยขับน้ำชื้น ขับสิ่งคั่งค้าง แก้พุงโรแน่นท้อง ขับลมในกระเพาะลำไส้ (เนื้อผล)[3]
  12. ตำรับยาแก้กระเพาะอาหารไม่ย่อย แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ด้วยการใช้เนื้อของผลหมาก, เปลือกส้มเขียว, ถิ่งพ้วย อย่างละ 12 กรัม อึ่งแปะ, ดินประสิว, โกฐน้ำเต้า, หัวแห้วหมู และซำเล้ง อย่างละ 6-7 กรัม นำมาต้มกับน้ำหรือนำมาบดเป็นผงปั้นเป็นยาลูกกลอนกิน (เนื้อผล)[3]
  13. รากมีสรรพคุณเป็นยาสมานลำไส้ (ราก)[1],[2],[13]
  14. ช่วยแก้อาการท้องเดิน (ไม่ใช่บิดหรืออหิวาตกโรค) (ราก)[1] เมล็ดมีสรรพคุณช่วยรักษาท้องเดิน ท้องเสีย (เมล็ด)[4]
  15. ช่วยแก้โรคบิด (ราก)[11]
  16. ช่วยแก้บิดปวดเบ่ง ปวดแน่นท้อง (เมล็ด)[4]
  17. ช่วยแก้บิดทวารหนัก (เนื้อผล)[3]
  18. ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ ยาขับพยาธิได้หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น พยาธิตัวกลม พยาธิตัวตืด พยาธิใบไม้ ด้วยการใช้เนื้อในผลหมาก นำมาบดให้เป็นผง โดยใช้ประมาณ 50-60 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินในขณะท้องว่าง (เนื้อผล)[3],[4],[14]
  19. ช่วยขับพยาธิในถุงน้ำดี ด้วยการใช้เนื้อในผลและเล็บมือนาง อย่างละ 35 กรัม, โกฐน้ำเต้า 6 กรัม, พริกหอม 3 กรัม, บ๊วยดำ 10 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินในขณะท้องว่าง (เนื้อผล)[3]
  20. ยาพื้นบ้านล้านนาจะใช้เมล็ดหมากผสมกับกาฝากต้นโพ เห็ดกระด้าง และรากมะเขือแจ้ดอกคำ นำมาฝนกับน้ำกินเป็นยารักษาโรคทางเดินปัสสาวะ (เมล็ด)[2],[4]
  21. เมล็ดมีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะ (เมล็ด)[4] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่ารากก็มีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะเช่นกัน (ราก)[11]
  22. เปลือกผลมีสรรพคุณช่วยลดอาการบวมน้ำตอนช่วงล่างของเอว (เปลือกผล)[3] ส่วนเนื้อผลมีสรรพคุณช่วยลดอาการขาบวมน้ำ (เนื้อผล)[3]
  23. ช่วยป้องกันสารพิษทำลายตับ (ใบ)[2],[13] ช่วยล้อมตับดับพิษ ช่วยขับพิษภายในและภายนอก (ใบ)[9],[11]
  24. ผลมีสรรพคุณเป็นยาสมานแผล (ผล)[1] เมล็ดมีสรรพคุณเป็นยาสมานทั้งภายนอกและภายใน ช่วยสมานแผลทำให้เลือดหยุดไหล และแผลหายเร็ว ด้วยการใช้เมล็ดหรือเนื้อหมากนำมาปิดบริเวณบาดแผล (เมล็ด)[4],[11]
  25. รากมีสรรพคุณช่วยถอนพิษบาดแผล (ราก)[1]
  26. เมล็ดใช้เป็นยายับยั้งการไหลของหนองเวลาเป็นแผล (เมล็ด)[4]
  27. เมล็ดใช้ฝนทารักษาแผลเน่าเปื่อย แผลเป็น ช่วยฆ่าพยาธิบาดแผล ขจัดรอยแผลเป็น (เมล็ด)[4],[12]
  28. เมล็ดใช้ภายนอกเป็นยาทาแก้คัน (เมล็ด)[4] บางข้อมูลระบุว่าใบนำมาต้มกับน้ำอาบจะช่วยแก้เม็ดผดผื่นคันตามตัวได้ (ใบ)[9],[11],[13]
  29. ช่วยแก้เกลื้อน (ราก)[1]
  30. ใช้รักษาหูด ด้วยการใช้ผลดิบ 1 ผล (ผลหมากที่สุกแก่แต่ยับดิบอยู่) นำมาฝานเอาเนื้อในออกมาเป็นชิ้น ๆ เหมือนการเตรียมหมากเพื่อกิน หลังจากนั้นนำไปย่างไฟให้ร้อน แล้วรีบนำมาพอกทับปิดที่หัวหูดทันที จะช่วยทำให้หัวหูดหลุดลอกออกมาได้ (ผล)[14]
  31. ช่วยรักษาโรคน้ำกัดเท้า ด้วยการนำผลหมากมาผ่าเป็น 4 ซัก แล้วใช้ทั้งเปลือกและเนื้อในถูทาบริเวณที่ถูกน้ำกัดเท้าจนเกิดแผลบ่อย ๆ ทุกวัน อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นและหายไปในที่สุด(ผล,เมล็ด)[4],[8]
  32. รากนำมาแช่กับเหล้ากินเป็นยาแก้ปวดเมื่อยเส้นเอ็นได้ดีมาก (ราก)[2],[13]

หมายเหตุ : วิธีการใช้ตาม [3] ถ้าเป็นเนื้อในผล ยาแห้ง ให้ใช้ครั้งละ 5-10 กรัม ส่วนเปลือกผล ยาแห้ง ให้ใช้ครั้งละ 6-20 กรัม ถ้าใช้เป็นยาขับถ่ายพยาธิ ให้ใช้เนื้อผลได้ถึง 50-80 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินตอนท้องว่างหรือบดเป็นผงกิน[3]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของต้นหมาก

  • สารที่พบมีหลายชนิด ได้แก่ Arecoline, Arecaidine, Arecolidine, Guvacoline, Guvacine, Isoguvacine, Leucocyanidin, Alkaloid 0.3-0.7%, Tanin 15% และพบน้ำมันระเหย 18% เป็นต้น[2],[3]
  • เมล็ดมีสาร Procyanidins ที่ช่วยยับยั้งการเจริญของเชื้อที่ทำให้เกิดโรคฝันผุ[2]
  • เมล็ดมีสาร Arecatannin B1 ซึ่งเป็นสารที่สามารถยับยั้งเอนไซม์ที่มีความจำเป็นต่อเชื้อโรคเอดส์ ซึ่งควรทำการวิจัยต่อไป[2]
  • สารที่สกัดได้จากเนื้อผลของผลหมาก เมื่อนำไปให้สัตว์ทดลองกิน พบว่ามีผลกระตุ้นให้กระเพาะและลำไส้ที่หดเกร็งเคลื่อนไหวได้ และยังช่วยทำให้น้ำย่อยของกระเพาะและลำไส้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย[3]
  • สารก Arecoline มีคุณสมบัติกระตุ้นการทำงานของหัวใจ แรงดันโลหิต ปริมาณของน้ำตาลกลูโคสในสมอง[7]
  • เนื้อผลมีฤทธิ์ฆ่าพยาธิตัวกลมและพยาธิตัวแบนได้ดี เพราะมีสาร Arecoline ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้พยาธิมึนชาได้ โดยเฉพาะใช้เป็นยาถ่ายพยาธิในหมูจะมีประสิทธิภาพดีมาก (ผล)[3]
  • เมื่อนำเนื้อในผลมาต้มกับน้ำแล้วป้อนให้หนูทดลองกิน พบว่าภายใน 20 นาที สามารถฆ่าพยาธิในหนูทดลองได้[3]
  • สารสกัดด้วยเอทานอลจากเนื้อของผลหมากสง มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของคะน้าได้[6]
  • หมากมีสารอัลคาลอยด์ที่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อราและฆ่าเชื้อไวรัส[14]
  • มีรายงานความเป็นพิษพบว่าเมล็ดหมากทำให้เกิดการก่อนกลายพันธุ์ เนื้องอกและมะเร็งซึ่งคาดว่าเกิดจากสารแทนนิน โดยพบว่าคนที่กินหมากจะมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งในช่องปาก[2] มีรายงานว่าการเคี้ยวหมากอาจทำให้เกิดอาการลิ้นและเหงือกเป็นฝ้าขาว เกิดเส้นใยใต้เยื่อเมือกและการเกิดมะเร็งในช่องปาก ซึ่งน่าจะมาจากสาร Cytotoxic และ Teratogenic N- nitrosamines[7]

ประโยชน์ของหมาก

  1. เมล็ดใช้เป็นยาถ่ายพยาธิในสัตว์ เช่น สุนัข ไก่ชน และแกะ ด้วยการนำผลแก่มาบดให้สัตว์กิน[2],[4],[11]
  2. ใช้กำจัดหนอน ในเวลาที่วัวหรือควายเป็นแผลมีหนอน จะทำให้หนอนตายหมด[11]
  3. ส่วนยอดอ่อนของลำต้นสามารถนำมารับประทานเป็นอาหารจำพวกผักได้ ส่วนจั่นหมากหรือดอกหมากเมื่อยังอ่อนอยู่ก็ใช้รับประทานเป็นอาหารได้เช่นกัน[7],[11]
  4. ช่อดอกซึ่งมีกลิ่นหอมจะถูกนำมาใช้ในงานแต่งงานและงานศพ[7]
  5. ใบหมากหรือทางหมาก (รวมกาบ) มีประโยชน์อย่างมากต่อความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันของชาวสวน เพราะชาวสวนจะใช้ก้านทางที่มีใบมาผูกห้อยตรงช่องทางเข้าออกของซึ่งเป็นที่จับถ่ายของชาวสวน เพราะช่วยบังตาได้เป็นอย่างดี และชาวสวนยังใช้ทางหมากแห้งนำมาทำเป็นเสวียนขนาดใหญ่สำหรับรองรับกระทะใบบัวขนาดใหญ่ในขณะที่กวนน้ำตาลองุ่นให้เป็นน้ำตาลปี๊บอีกด้วย[10]
  1. กาบใบนำมาใช้ประโยชน์ในด้านการทำภาชนะ เครื่องจักสาน หรือวัสดุห่อหุ้มสิ่งของได้ ปลอกมีด ในสมัยก่อนเด็ก ๆ จะนำมาทำเป็นของเล่น คือ รถลาก โดยให้เด็กคนหนึ่งนั่งลงบนกาบใบ มือจับไว้ที่โคนทาง แล้วให้เด็กอีกคนหนึ่งจับที่ปลายทางส่วนที่เหลือใบไว้ แล้ววิ่งลากไป นอกจากนี้ยังสามารถนำมาดัดหรือเจียนทำเป็นเนียนสำหรับขูดน้ำพริกที่สากและคดน้ำพริกจากครก ซึ่งคุณสมบัติที่ดีมากของเนียนก็คือ ความนิ่งของกาบหมากนั่นเอง และกาบหมากยังสามารถนำมาทำเป็นที่จับกระทะเคี่ยวตาล เวลายกขึ้นยกลงจากเตาตาลแทนการใช้ผ้าได้อีกด้วย[7],[10],[11]
  2. กาบหมากยังสามารถนำมาใช้ทำพัดสำหรับพัดคลายร้อนในหน้าร้อนได้เป็นอย่างดี โดยนำกาบใบมาเจียนให้เป็นรูปวงกลมหรือรูปวงรี มีที่สำหรับมือจีบยื่นออกมา ซึ่งก่อนใช้จะต้องใช้ก้นของครกตำข้าวทับให้แบนเรียบเสียก่อน[10]
  3. เนื้อในเมล็ดสามารถนำมาใช้ในการผลิตสีย้อมผ้าได้[7]
  4. เปลือกผลสามารถนำมาใช้ทำเป็นเชื้อเพลิงได้[7]
  5. ลำต้นสามารถนำมาใช้ในการก่อสร้างได้ เช่น ใช้ทำสะพาน เฟอร์นิเจอร์ ทำเสาตอม่อ ฟากสับ แม่บันได ลูกบันได ส่วนโคนแก่ใช้ทำชั้นพะองเพื่อทอดทำสะพานข้ามกระโดง ท้องร่อง และเมื่อนำลำต้นมาทะลวงไส้ออก จะสามารถใช้เป็นท่อระบายน้ำได้ นอกจากนี้ยังใช้ทำไม้คานแบกของ ทำคร่าวสำหรับยึดฝาฟากสับ และยังใช้ต้นหมากนำมากั้นคันดินและทำเป็นตอม่อเพื่อป้องกันคันดินที่กั้นน้ำเข้าสวนพังได้อีกด้วย[7],[10],[11]
  6. ปัจจุบันมีการปลูกต้นหมากไว้เป็นไม้ประดับทั่วไป เนื่องจากมีลำต้นและทรงพุ่มที่ดูสวยงาม[7]
  7. ชาวไทยนิยมกินหมากร่วมกับพลูและปูนแดง โดยมากจะเอาใบพลูที่ไม่แก่หรืออ่อนจนเกินไปมาทาด้วยปูนแดง แล้วใช้กินกับหมากที่หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ เคี้ยวด้วยกัน ก็จะมีน้ำหมากสีแดง ซึ่งจะต้องบ้วนทิ้ง (การกินหมากจะทำให้ฟันดำและปากแดง เมื่อเคี้ยวติดต่อกันหลายปีฟันจะเปลี่ยนเป็นสีดำ) ในสมัยก่อนชาวไทยทั้งชายและหญิงตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงวัยชราก็ล้วนแต่กินหมากกันทั้งสิ้น และการเคี้ยวหมากหลังการรับประทานอาหาร จะช่วยทำให้ลมหายใจหอมสดชื่น ช่วยดับกลิ่นปาก แก้แมงกินฟัน ช่วยทำให้เหงือกแข็งแรง และช่วยกระตุ้นการทำงานของต่อมน้ำลาย กระตุ้นการสร้างน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร ทำให้มีการย่อยอาหารที่ดีขึ้น และยังช่วยเพิ่มความอยากอาหารได้อีกด้วย (แต่หมากบางต้นเมื่อนำมากินแล้วจะทำให้เกิดอาการวิงเวียน ใจสั่น และขับเหงื่อ เรียกว่า “หมากยัน”)[7],[8],[11]
  8. ในยุโรปมีการใช้ผลหมากเป็นส่วนผสมของยาสีฟัน เพราะเชื่อว่าจะทำให้ฟันขาวขึ้นได้[11]
  9. เมื่อการกินหมากกลายเป็นธรรมอย่างหนึ่ง จึงทำให้เกิดการพัฒนาไปสู่วัฒนธรรมหมากอย่างจริงจัง นั่นก็คือ การใช้หมากเป็นเครื่องต้อนรับแขก (แต่ในปัจจุบันคนไทยกินหมากน้อยลงมาก), การนำมาใช้ในพิธีทางศาสนา (เช่น พิธีกรานกฐินเมื่อออกพรรษา), ใช้หมากในพิธีไหว้ครูและพิธีบายศรีสูขวัญ หรือนำมาจัดเป็นหมากพลูไว้เป็นชุดขายเพื่อนำไปเป็นเครื่องบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ส่วนในต่างประเทศอย่างมาเลเซียจะมีประเพณีที่ว่า หากฝ่ายหญิงเคี้ยวหมากไปพร้อม ๆ กับฝ่าย นั่นแสดงว่าเธอยินดีที่จะเป็นคู่ครอง ส่วนคนจีนไหหลำจะเชื่อว่า เจ้าสาวที่จะมาไหว้ว่าที่แม่สามีจะต้องนำหมากพลูมากไหว้ ส่วนคนญวนจะมีประเพณีที่ว่าคู่บ่าวสาวจะต้องกินหมาก 120 คำให้หมด ถึงจะแต่งงานกันได้ ส่วนคนพม่านั้นถือว่า สาวใดยื่นหมากให้ฝ่ายชาย นั่นหมายถึงเธอกำลังทอดสะพานให้แก่ฝ่ายชาย เป็นต้น[7],[10],[15]
  10. คุณค่าทางโภชนาการของผลหมากสุกที่ยังสดต่อ 100 กรัม ประกอบไปด้วยน้ำ 21-30 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 35-40 กรัม, ไขมัน 5-10 กรัม, ใยอาหาร 11-15 กรัม, โพลีฟีนอล 11-18 กรัม มีสารประกอบอัลคาลอยด์ 0.1-0.2%[7]
  11. ในด้านการนำมาใช้ทางอุตสาหกรรม ผลหมากเมื่อนำมาสกัดจะได้ไขมัน เมือก ยาง และสาร Arecoline ซึ่งมีสารแทนนินสูง จึงสามารถนำมาใช้ในทางอุตสาหกรรมได้หลายชนิด เช่น การใช้ทำสีต่าง ๆ ใช้ย้อมแห อวน ทำให้แหหรืออวนนิ่มอ่อนตัว เส้นด้ายไม่เปื่อยเร็ว ช่วยยืดอายุการใช้งานได้นานขึ้น และยังใช้สกัดเป็นน้ำยาฟอกหนัง ทำให้หนังนิ่มมีสีสวย หรือใช้สกัดทำเป็นยารักษาโรค เช่น ยาขับพยาธิในสัตว์ ยาแก้ท้องเสีย ท้องเดิน ยาขับปัสสาวะ ยาสมานแผล ยาขับพิษ ยาทาแก้คัน น้ำมันนวด และยาแก้ปากเปื่อย เป็นต้น[11]
  12. หมากเป็นพืชที่มีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมประเพณีพื้นบ้านความเป็นอยู่ของคนไทยในอดีต เพราะคนไทยนิยมกินหมากตั้งแต่เจ้านายถึงชาวบ้านคนธรรมดา แต่ในปัจจุบันคนนิยมกินหมากลดน้อยลงมาก หมากจึงมีบทบาทในแง่ทางอุตสาหกรรมมากกว่า เพราะมีการส่งออกเพื่อจำหน่ายต่างประเทศคิดเป็นมูลค่าหลายร้อยล้านบาทต่อปี หมากจึงเป็นพืชเศรษฐกิจที่น่าสนใจอย่างหนึ่ง เนื่องจากเป็นพืชที่เพาะปลูกง่าย ดูแลรักษาไม่ยาก โรคและแมลงรบกวนน้อย การลงทุนไม่สูงนัก สามารถทำรายได้อย่างสม่ำเสมอเป็นเวลานานนับสิบปี[5]

หมากกับมะเร็งปาก

คนทั่วโลกนับร้อยล้านคนกินหมาก (โดยเฉพาะทางเอเชียใต้) หลายคนติดหมากถึงขนาดถ้าไม่ได้เคี้ยวหมาก ร่างกายจะไม่มีแรง ระทดระทวย และปากหาวบ่อย เพราะเวลากินหมากเข้าไปแล้วคนกินจะรู้สึกมีความสุข เนื่องจากชีพจรเต้นเร็วและแรง ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้น ในอดีตนั้นหมากเป็นสัญลักษณ์ของความนับถือและมิตรภาพ อีกทั้งการเคี้ยวหมากในสมัยก่อนก็ถือเป็นแฟชั่นอย่างหนึ่งที่ได้รับความนิยมมาก แต่ภายหลังประเพณีการกินหมากในไทยได้ถูกห้ามในสมัยของรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ทั้งนี้ก็เพื่อให้คนไทยก้าวสู่ความเป็นอารยชน แม้จนถึงวันนี้การกินหมากยังมีให้เห็นกันอยู่ก็ตาม และการปลูกหมากก็ยังเป็นการปลูกเพื่อเป็นพืชส่งออก

ในปัจจุบันแพทย์ได้พบหลักฐานว่า การกินหมากมากเป็นประจำจะทำให้คนกินเป็นโรคมะเร็งปาก เพราะหมากมีสารก่อมะเร็งที่เหมือนกับบุหรี่หลายตัว และจากการสำรวจยังพบว่า การกินหมากจะเพิ่มโอกาสการเป็นโรคหัวใจ โรคหืด และโรคเบาหวานได้ โดยเฉพาะ 90% ของคนที่กินหมากมักจะเป็นมะเร็งปาก เนื่องจากพิษหมากไปทำให้เยื่อเมือกในเซลล์ปากเปลี่ยนแปลง จนในที่สุดแก้มจะแข็ง ทำให้ผู้ป่วยอ้าปากไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้รัฐบาลในหลาย ๆ ประเทศจึงได้มีการรณรงค์ให้คนลดการกินหมาก ซึ่งการดำเนินการเช่นนี้มีผลทำให้สถิติการเป็นโรคมะเร็งปากในบางประเทศลดลง หลังจากที่ประชาชนเริ่มเข้าใจแล้วว่าไม่ควรกินหมาก จึงทำให้บางประเทศออกกฎหมายห้ามผลิตสินค้าที่มีหมากเจือปน และออกกฎหมายเพื่อจำกัดการผลิตหมาก[15]

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “หมาก (Mak)”.  หน้า 328.
  2. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “หมาก Areca Plam, Betelnut Palm”.  หน้า 41.
  3. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “หมาก”.  หน้า 612.
  4. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “หมาก”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com.  [19 ก.ค. 2014].
  5. สำนักงานเกษตรจังหวัดฉะเชิงเทรา.  “หมาก (Betel  Nuts)”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.chachoengsao.doae.go.th.  [19 ก.ค. 2014].
  6. การประชุมทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 48 วันที่ 3-5 ก.พ. 2553.  (ศานิต สวัสดิกาญจน์, สุวิทย์ เฑียรทอง, เนาวรัตน์ ประดับเพ็ชร์, สิริวรรณ สมิทธิอาภรณ์, วริสรา ปลื้มฤดี).  “ผลของสารสกัดจากพืชบางชนิดต่อการยับยั้งการเจริญเติบโตของคะน้า”.  หน้า 412-421.
  7. บ้านจอมยุทธ์.  “หมาก ( areca palm ) Areca catechu L.”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.baanjomyut.com.  [19 ก.ค. 2014].
  8. ไทยรัฐออนไลน์.  (นายเกษตร).  “หมาก แก้น้ำกัดมือเท้า”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thairath.co.th.  [19 ก.ค. 2014].
  9. ศูนย์รวมข้อมูลสิ่งมีชีวิตในประเทศไทย, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน).  “หมาก”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaibiodiversity.org.  [19 ก.ค. 2014].
  10. จุฬาวิทยานุกรม.  “ต้นหมาก”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.chulapedia.chula.ac.th.  [19 ก.ค. 2014].
  11. ฐานข้อมูลพันธุกรรมพืช กรมวิชาการเกษตร.  “หมาก”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: th.apoc12.com.  [19 ก.ค. 2014].
  12. โครงการรวบรวมและอนุรักษ์พันธุกรรมผักพื้นบ้านและไม้ผลพื้นเมืองภาคใต้พร้อมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สู่ประชาชนทั่วไป, คณะทรัพยากรธรรมชาติ  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.  “หมาก”.  อ้างอิงใน: หนังสือพฤกษาพัน (เอื้อมพรวีสมหมาย และคณะ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.natres.psu.ac.th.  [19 ก.ค. 2014].
  13. ไทยรัฐออนไลน์.  (นายเกษตร).  “หมาก แก้เบาหวานแผลหายเร็ว”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thairath.co.th.  [19 ก.ค. 2014].
  14. รักบ้านเกิด.  “การใช้หมากรักษาหูด”.  อ้างอิงใน: กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rakbankerd.com.  [19 ก.ค. 2014].
  15. ผู้จัดการออนไลน์.  (นายเกษตร).  “หมากกับมะเร็งปาก”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.manager.co.th.  [19 ก.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by LiChieh Pan, Forest and Kim Starr, Yeoh Yi Shuen, Vijayasankar Raman, PeterCH51, Nam Keng, Ahmad Fuad Morad)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด