หมวกครอบปากมดลูก : 12 ข้อดี-ข้อเสียของหมวกยางคุมกำเนิด !!

หมวกครอบปากมดลูก

หมวกครอบปากมดลูก หรือ หมวกยางครอบปากมดลูก หรือ หมวกยางคุมกำเนิด (Cervical Cap) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับคุมกำเนิดแบบชั่วคราวชนิดหนึ่ง โดยจะมีลักษณะรูปร่างคล้ายกับฝาครอบปากมดลูก (Diaphragm) แต่จะมีขนาดเล็ก ใช้สำหรับสวมปิดครอบปากมดลูกได้พอดี

หมวกครอบปากมดลูกอาจทำจากยางธรรมชาติหรือสารสังเคราะห์หรือซิลิโคน (Silicone) ที่ไม่ระคายเคืองต่อผิวก็ได้ ผู้ใช้จึงไม่เกิดอาการแพ้ ยกเว้นในรายที่แพ้สารนั้น ๆ อยู่ก่อนแล้ว โดยหมวกครอบจะมีไว้ใช้ใส่เข้าไปในช่องคลอดให้ตัวหมวกไปสวมครอบที่ปากมดลูกก่อนจะมีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวอสุจิวิ่งเข้าไปในโพรงมดลูกเพื่อผสมกับไข่ ส่วนมากตัวหมวกจะมีการใส่ยาฆ่าเชื้ออสุจิไว้ด้วย เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดอีกทางหนึ่ง โดยเป็นตัวช่วยทำลายเชื้ออสุจิ

เปรียบเทียบระหว่างหมวกครอบปากมดลูกกับฝาครอบปากมดลูก : พบว่าทั้งสองแบบมีสิ่งที่เหมือนกันในเรื่องของหลักการทำงานในการคุมกำเนิด การใส่อุปกรณ์เข้าไปในช่องคลอดและถอดออกทำแบบเดียวกัน มีขั้นตอนการใส่และถอดออกคล้ายกัน ต้องใช้ร่วมกับยาฆ่าเชื้ออสุจิเหมือนกัน และมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดใกล้เคียงกัน ส่วนสิ่งที่แตกต่างกัน คือ เรื่องของขนาด โดยหมวกครอบปากมดลูกจะมีขนาดใหญ่กว่าฝาครอบปากมดลูก แต่หมวกครอบปากมดลูกจะครอบปากมดลูกได้สนิทกว่าฝาครอบปากมดลูก ในการใช้จึงอาจทำให้เกิดความมั่นใจมากกว่า ว่าจะไม่เลื่อนหรือหลุดออกมาตอนมีเพศสัมพันธ์ จึงไม่ขัดจังหวะการมีเพศสัมพันธ์ ส่วนภาพด้านล่างนี้คือหมวกครอบปากมดลูกแต่ละแบบครับ

หมวกยางครอบปากมดลูก

Lea's shield

ประสิทธิภาพของหมวกครอบปากมดลูก

ตามหลักแล้วการใช้หมวกครอบปากมดลูกอย่างถูกต้องเหมาะสม (Perfect use) จะมีโอกาสล้มเหลวทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้ประมาณ 7.6% (FemCap), 9% (Prentif ในสตรีที่ไม่มีบุตร), 26% (Prentif ในสตรีที่มีบุตร), 5% (Lea’s Shield ในสตรีที่ไม่มีบุตร), 15% (Lea’s Shield ในสตรีที่มีบุตร) ซึ่งหมายความว่า จำนวนการตั้งครรภ์ต่อปี (first year of use) ของสตรีที่คุมกำเนิดด้วยการใช้หมวกครอบปากมดลูก จำนวน 100 คน จะมีโอกาสตั้งครรภ์ประมาณ 7.6, 9, 26, 5 และ 15 คน ตามลำดับ แต่โดยทั่วไปแล้วจากการใช้งานจริง (Typical use) กลับพบว่า อัตราการล้มเหลวทำเกิดการให้ตั้งครรภ์จะเพิ่มสูงมากขึ้นเป็น 16% และ 32% สำหรับหมวกครอบปากมดลูกชนิด Prentif ในสตรีที่มีบุตรและไม่มีบุตร ตามลำดับ หรือคิดเป็น 16 หรือ 32 ใน 100 คน (ส่วนหมวกครอบปากมดลูกชนิดอื่น ๆ ไม่มีข้อมูลการใช้ทั่วไปเป็นตัวเลขที่แน่ชัดครับ) จากผู้ที่คุมกำเนิดด้วยวิธีนี้ ส่วนด้านล่างนี้เป็นตารางเปรียบเทียบระหว่างการคุมกำเนิดด้วยวิธีการใช้หมวกครอบปากมดลูกกับวิธีการคุมกำเนิดแบบอื่น ๆ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจครับ

วิธีคุมกำเนิด|การใช้แบบทั่วไป|การใช้อย่างถูกต้อง|ระดับความเสี่ยง
ยาฝังคุมกำเนิด|0.05 (1 ใน 2,000 คน)|0.05|ต่ำมาก
ทำหมันชาย|0.15 (1 ใน 666 คน)|0.1|ต่ำมาก
ห่วงอนามัยเคลือบฮอร์โมน|0.2 (1 ใน 500 คน)|0.2|ต่ำมาก
ยาฉีดคุมกำเนิด (ฮอร์โมนรวม)|0.2 (1 ใน 500 คน)|0.2|ต่ำมาก
ทำหมันหญิงแบบทั่วไป|0.5 (1 ใน 200 คน)|0.5|ต่ำมาก
ห่วงอนามัยหุ้มทองแดง|0.8 (1 ใน 125 คน)|0.6|ต่ำมาก
หมวกครอบปากมดลูกแบบ Lea’s Shield (สตรีที่ไม่มีบุตร)|5 (1 ใน 20 คน)|ไม่มีข้อมูล|ต่ำ
ยาฉีดคุมกำเนิด (ฮอร์โมนเดี่ยว)|6 (1 ใน 17 คน)|0.2|ปานกลาง
หมวกครอบปากมดลูกแบบ FemCap|7.6 (1 ใน 13 คน)|ไม่มีข้อมูล|ปานกลาง
หมวกครอบปากมดลูกแบบ Prentif (สตรีที่ไม่มีบุตร)|9 (1 ใน 11 คน)|16|ปานกลาง
แผ่นแปะคุมกำเนิด|9 (1 ใน 11 คน)|0.3|ปานกลาง
วงแหวนคุมกำเนิด (NuvaRing)|9 (1 ใน 11 คน)|0.3|ปานกลาง
ยาเม็ดคุมกำเนิด|9 (1 ใน 11 คน)|0.3|ปานกลาง
การนับวันปลอดภัย (Calendar rhythm method)|ไม่มีข้อมูล|9|ไม่มีข้อมูล
ฝาครอบปากมดลูก (Diaphragm)|12 (1 ใน 8 คน)|6|สูง
ฟองน้ำคุมกำเนิด (สตรีที่ไม่มีบุตร)|12 (1 ใน 8 คน)|19|สูง
หมวกครอบปากมดลูกแบบ Lea’s Shield (สตรีที่มีบุตร)|15 (1 ใน 6 คน)|ไม่มีข้อมูล|สูง
ถุงยางอนามัยชาย|18 (1 ใน 5 คน)|2|สูง
ถุงยางอนามัยสตรี|21 (1 ใน 5 คน)|5|สูงมาก
การหลั่งนอก|22 (1 ใน 4 คน)|4|สูงมาก
การกำหนดระยะเวลาเจริญพันธุ์ (Standard days method)|24 (1 ใน 4 คน)|5|สูงมาก
ฟองน้ำคุมกำเนิด (สตรีที่มีบุตร)|24 (1 ใน 4 คน)|20|สูงมาก
หมวกครอบปากมดลูกแบบ Prentif (สตรีที่มีบุตร)|26 (1 ใน 3 คน)|32|สูงมาก
ยาฆ่าเชื้ออสุจิ (Spermicidal)|28 (1 ใน 3 คน)|18|สูงมาก
การหลั่งใน (ไม่มีการป้องกัน)|85 (6 ใน 7 คน)|85|สูงมาก
หมายเหตุ : ตัวเลขที่แสดงเป็นจำนวนการตั้งครรภ์ต่อปี (first year of use) ของสตรีที่คุมกำเนิดด้วยวิธีดังกล่าวจำนวน 100 คน โดยกำหนดให้ สีฟ้า = ความเสี่ยงต่ำมาก / สีเขียว = ความเสี่ยงต่ำ / สีเหลือง = ความเสี่ยงปานกลาง / สีส้ม = ความเสี่ยงสูง / สีแดง = ความเสี่ยงสูงมาก (ข้อมูลจาก : www.contraceptivetechnology.org, Comparison of birth control methods – Wikipedia)

หมวกครอบปากมดลูกเหมาะกับใคร ?

  • สตรีที่ต้องการคุมกำเนิดแบบชั่วคราว
  • สตรีที่มีข้อห้ามในการใช้วิธีการคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมน เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาฉีดคุมกำเนิด แผ่นแปะคุมกำเนิด ฯลฯ

ข้อห้ามในการใช้หมวกครอบปากมดลูก

  • ห้ามใช้หมวกครอบปากมดลูกในขณะที่กำลังมีประจำเดือน
  • หากมีการติดเชื้อในช่องคลอดหรือติดเชื้อที่ปากมดลูก ยิ่งไม่ควรใช้หมวกครอบปากมดลูก เพราะจะทำให้เกิดอาการเจ็บแสบเวลาใส่และถอด อีกทั้งยังอาจทำให้เกิดบาดแผลเพิ่มเติม ทำให้ตกขาวคั่งค้างในช่องคลอดมากขึ้น นอกจากนี้การรักษาภาวะการอักเสบก็จะไม่ได้ผลดีตามไปด้วย ดังนั้น จึงควรรักษาการอักเสบติดเชื้อให้หายดีเสียก่อน แล้วจึงใช้หมวกครอบปากมดลูก
  • ไม่แนะนำให้ใช้หมวกครอบปากมดลูกในรายที่เป็นเด็กสาว เพราะใส่ยากและหลุดง่ายหากใส่ไม่ดี
  • ห้ามใส่ในกรณีที่ตรวจปากมดลูกพบเซลล์ผิดปกติ

วิธีใช้หมวกครอบปากมดลูก

การสวมใส่หมวกครอบปากมดลูก ฝ่ายหญิงสามารถสวมใส่หมวกครอบปากมดลูกเข้าไปในช่องคลอดได้ด้วยตัวเอง หรือจะให้ฝ่ายชายใส่ให้ก็ได้ โดยมีขั้นตอนดังนี้

  1. ล้างมือให้สะอาด และตรวจสอบความสมบูรณ์ของหมวกครอบปากมดลูกก่อนใช้ทุกครั้ง โดยให้ดูว่าตัวอุปกรณ์มีรูรั่ว รอยฉีกขาด หรือเว้าแหว่งผิดปกติหรือไม่ หากมีปัญหาจะส่งผลให้ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดลดลง อีกทั้งยังต้องใช้สารฆ่าเชื้ออสุจิร่วมกับหมวกครอบปากมดลูกด้วยเสมอ จึงต้องตรวจดูวันหมดอายุของยาฆ่าเชื้ออสุจิและหมวกครอบปากมดลูกด้วย
    วิธีใส่หมวกครอบปากมดลูก
  2. ให้แกะหมวกครอบปากมดลูกออกจากกล่องบรรจุและทาหรือใส่ยาฆ่าเชื้ออสุจิทั้งด้านในและด้านนอกของหมวกครอบปากมดลูก (ห้ามใส่แป้งหรือน้ำมันทุกชนิด เพราะจะทำให้ตัวอุปกรณ์เสียหาย)
    วิธีใช้หมวกครอบปากมดลูก
  3. เลือกใส่ในท่าที่สบาย โดยอาจจะเป็นท่านอนชันเข่า ท่านั่งยอง ๆ ท่ายืน หรือท่ายืนยกเข่า 1 ข้างบนเก้าอี้ก็ได้ แล้วจึงใช้นิ้วมือข้างที่ถนัดจับขอบหมวกครอบปากมดลูก บีบเข้าหากันเพื่อให้หมวกแคบลง แล้วจึงสอดเข้าไปในช่องคลอด ใส่นิ้วเข้าไปในช่องคลอดเพื่อจัดให้หมวกครอบปากมดลูกเข้าไปในครอบปากมดลูกพอดี
    วิธีใส่หมวกยางครอบปากมดลูกวิธีใช้หมวกยางครอบปากมดลูก
  4. หลังจากมีเพศสัมพันธ์เสร็จแล้ว ต้องใส่คาไว้ในช่องคลอดประมาณ 6-8 ชั่วโมงเพื่อให้ยาฆ่าเชื้ออสุจิทำงานก่อน (อย่าเพิ่งรีบร้อนเอาออก เพราะจะทำให้เชื้ออสุจิในช่องคลอดที่ยังไม่ตายจากยาฆ่าเชื้อวิ่งเข้าไปในโพรงมดลูกได้) เมื่อจะเอาหมวกครอบปากมดลูกออก ให้ค่อย ๆ ใช้นิ้วสอดเข้าไปล้วงเอาหมวกครอบปากมดลูกออกมา และหากจะมีการร่วมเพศซ้ำก็ควรใส่ยาฆ่าเชื้ออสุจิเข้าไปในช่องคลอดเพิ่มเติมด้วย (ไม่ควรทิ้งหมวกครอบปากมดลูกไว้ในช่องคลอดนานเกิน 24 ชั่วโมง)
  5. เมื่อนำหมวกครอบปากมดลูกออกมา ให้นำไปล้างให้สะอาด ตากและเก็บไว้ในที่แห้ง เพื่อจะได้นำกลับมาใช้ได้ใหม่ แล้วล้างมือให้สะอาดก็เป็นอันเสร็จวิธีการ ส่วนการจะนำมาใช้ซ้ำได้กี่รอบก็ต้องอ่านจากเอกสารกำกับที่ข้างกล่อง เพราะหมวกครอบปากมดลูกในแต่ละรุ่นจะมีความแตกต่างกันที่ตัววัสดุที่นำมาใช้ แต่โดยทั่วไปแล้วหมวกครอบปากมดลูกจะทำมาจากวัสดุที่ทนทาน ไม่ฉีกขาดได้ง่าย และมีราคาพอประมาณ จึงสามารถนำมาใช้งานซ้ำได้หลายครั้งจนกว่าตัวหมวกจะฉีกขาดหรือหมดอายุจึงค่อยเปลี่ยนไปใช้ชิ้นใหม่ ถ้าจะถามว่าสามารถใช้งานได้ซ้ำกี่ครั้ง ก็คงไม่สามารถตอบได้ชัดเจน เพราะขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้และวิธีการดูแลรักษา
    วิธีถอดหมวกยางครอบปากมดลูกวิธีถอดหมวกครอบปากมดลูก

ส่วนด้านล่างนี้คือภาพการใส่หมวกครอบปากมดลูกชนิด Lea’s Shield

Lea's Shield

หมวกครอบปากมดลูกมีผลต่อเพศสัมพันธ์หรือไม่ ?

การสวมใส่หมวกครอบปากมดลูกให้พอดีกับปากมดลูก จะไม่ทำให้เกิดปัญหาหรือมีผลต่อการมีเพศสัมพันธ์ของฝ่ายชาย ส่วนฝ่ายหญิงนั้น ในการใช้หมวกครอบปากมดลูกช่วงแรกอาจจะรู้สึกว่ามีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในช่องคลอด แต่ถ้าหากใช้จนชินแล้วก็น่าจะไม่มีปัญหาทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง คือ ไม่มีผลต่อการมีเพศสัมพันธ์ แต่อย่างไรก็ตามหากมีปัญหาเกิดขึ้นทั้ง 2 ฝ่ายก็ควรจะพูดคุยปรึกษาเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น

หมวกครอบปากมดลูกหาซื้อได้ที่ใด ?

คุณสามารถหาซื้อหมวกครอบปากมดลูกได้ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่บางแห่งหรือตามร้านขายยาขนาดใหญ่ทั่วไป (เนื่องจากว่าอุปกรณ์ชนิดนี้จะมีอยู่ด้วยกันหลายขนาดและทำมาจากวัสดุที่แตกต่างกัน อายุการใช้งานก็แตกต่างกันไปและมีการใช้ซ้ำกันได้ ในการเลือกซื้อผู้ซื้อควรเลือกขนาดที่พอเหมาะสำหรับตัวเองก่อนจะตัดสินใจใช้งานจริง โดยจะมีทั้งขนาดเล็ก กลาง และขนาดใหญ่ จึงอาจต้องซื้อมาลองใส่ดูก่อนเพื่อหาขนาดที่เหมาะสมกับสรีระ)

ข้อดีของหมวกครอบปากมดลูก

  1. ใช้เป็นวิธีการคุมกำเนิดแบบชั่วคราว เหมาะสำหรับคู่สมรสที่ไม่ได้พบกันบ่อย เพราะจะใช้เฉพาะเวลามีเพศสัมพันธ์เท่านั้น
  2. สามารถใช้ได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องอาศัยความร่วมมือจากบุคลากรทางการแพทย์
  3. ตัวอุปกรณ์ไม่มีส่วนผสมของฮอร์โมน จึงทำให้ไม่เกิดผลข้างเคียงจากการคุมกำเนิดโดยใช้ฮอร์โมนเหมือนการคุมกำเนิดวิธีอื่น เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาฉีดคุมกำเนิด ยาฝังคุมกำเนิด แผ่นแปะคุมกำเนิด เป็นต้น
  4. ผลข้างเคียงของหมวกครอบปากมดลูกมีโอกาสเกิดได้น้อยมาก (ในบางรายอาจพบว่าแพ้ยาง มีอาการระคายเคืองอักเสบ บางรายพบว่ามีอาการทางเดินปัสสาวะอักเสบได้บ่อยขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเคยเป็นมาก่อนในอดีต)
  5. หากเลือกใส่หมวกครอบปากมดลูกได้ถูกขนาดและอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องในช่องคลอด จะไม่มีปัญหาในขณะมีเพศสัมพันธ์
  6. ทำให้มีประจำเดือนมาเป็นปกติ เพราะการคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้ไม่มีฮอร์โมนเป็นส่วนผสม
  7. เมื่อหยุดใช้งาน ก็สามารถมีลูกได้ทันที

ข้อเสียของหมวกครอบปากมดลูก

  1. หาซื้อได้ไม่สะดวก ขั้นตอนในการใส่หมวกครอบปากมดลูกจะค่อนข้างยุ่งยาก คือ ต้องใส่ก่อนการมีเพศสัมพันธ์และต้องมีการดึงอุปกรณ์ออกมาทำความสะอาดอีกเมื่อเสร็จภารกิจ
  2. มีโอกาสล้มเหลวจากการคุมกำเนิดได้ง่าย แม้จะใช้อย่างถูกต้องก็ตาม แต่จะยิ่งมีโอกาสล้มเหลวมากขึ้นไปอีกหากใช้อย่างไม่ถูกต้องเหมาะสม
  3. ในบางรายที่ใช้หมวกครอบปากมดลูกอาจระคายเคืองต่อสารที่ใช้ มีอาการคัน และทำให้มีตกขาวได้
  4. หมวกครอบปากมดลูกที่ค้างอยู่ในช่องคลอดหลังการใช้ อาจเอาออกมาไม่ได้
  5. ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ เนื่องจากช่องคลอดยังมีการสัมผัสกับอวัยวะเพศของฝ่ายชายอยู่
เอกสารอ้างอิง
  1. หาหมอดอทคอม.  “ฝาครอบปากมดลูก (Cervical cap)”.  (รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ประนอม บุพศิริ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [16 ต.ค. 2015].

ภาพประกอบ : www.cervicalbarriers.org, www.wikihow.com

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด