หน้า 7 หลัง 7 เสี่ยงท้อง !! มาดูวิธีการนับระยะปลอดภัยที่ชัวร์กว่า :)

หน้า 7 หลัง 7 คืออะไร

หน้า 7 หลัง 7 คือ การนับระยะปลอดภัย (แบบโบราณ) ที่ใช้กันมานานแล้ว แต่ก็ยังใช้กันแบบผิด ๆ ถูก ๆ โดยเป็นวิธีการคุมกำเนิดแบบธรรมชาติอย่างหนึ่งที่ใช้ได้เฉพาะกับสตรีที่มีรอบเดือนปกติ มาตรงเวลาอย่างสม่ำเสมอทุกเดือน (รอบเดือน หมายถึง จำนวนวันในแต่ละรอบประจำเดือน ไม่ใช่รอบเดือนตามปฏิทิน) คือ ประมาณ 26-32 วัน ซึ่งโดยปกติแล้วสตรีทั่วไปจะมีรอบเดือนประมาณ 28 วัน แต่บางคนก็มีรอบเดือนที่สั้นกว่าหรือยาวกว่าปกติ คือ ไม่ต่ำกว่า 26 วัน และไม่ยาวกว่า 32 วัน โดยระยะปลอดภัยที่ว่านี้ก็คือ ช่วง 7 วันก่อนที่ประจำเดือนจะมารอบหน้า และ 7 วันหลังจากที่ประจำเดือนมาวันแรก (เริ่มนับตั้งแต่วันที่ประจำเดือนมาวันแรก)

  • กรณีของหน้า 7 หรือ 7 วันก่อนมีประจำเดือน ก็แปลว่าคุณจะต้องรู้ว่าประจำเดือนคราวต่อไปจะมาวันที่เท่าไร จึงจะสามารถกะได้ว่า 7 วันนั้นคือวันไหนบ้าง สมมติกะได้ว่าประจำเดือนรอบหน้าจะมาวันที่ 15 คุณก็จะรู้ได้ว่าวันปลอดภัยคือวันที่ 14, 13, 12, 11, 10, 9, 8 ดังนั้นพอถึงวันที่ 8 ก็จะรู้ว่าถึงวันปลอดภัยที่พร้อมจะมีเพศสัมพันธ์ได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะตั้งครรภ์
  • กรณีของหลัง 7 หรือ 7 วันหลังจากประจำเดือนมาวันแรก ก็แปลว่าจะมีวันที่มีเพศสัมพันธ์ได้อย่างปลอดภัยแค่ไม่กี่วัน (ถ้าคุณไม่ฝ่าไฟแดง) สมมติว่า ถ้ารอบเดือนนั้นมีประจำเดือนมา 4 วัน ก็จะมีวันปลอดภัยเหลือ 3 วัน ถ้าประจำเดือนมา 5 วัน ก็จะมีวันปลอดภัยเหลือ 2 วัน แต่ถ้ากลัวไม่คุ้มและอยากจะฝ่าไฟแดงก็สามารถทำได้ครับ เพราะไม่มีอันตรายแต่อย่างใด แต่ก็ต้องสวมใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งครับ เพราะการมีเพศสัมพันธ์ในขณะที่มีประจำเดือนอาจทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือติดโรคได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นหนองใน ซิฟิลิส ฯลฯ รวมถึงอาจเกิดการถลอกเป็นแผลได้ง่ายขึ้นด้วย

หน้า 7 หลัง 7 นับยังไง

การนับหน้า 7 หลัง 7 จะใช้ป้องกันการตั้งครรภ์ได้อย่างปลอดภัยในเฉพาะสตรีที่มีรอบเดือนปกติและมาอย่างสม่ำเสมอทุกเดือน เพราะหากคลาดเคลื่อนเพียงวันเดียวนั้นอาจหมายถึงการตั้งครรภ์ !! โดยเฉพาะในกรณีของ “หน้า 7” หรือก่อนมีประจำเดือน 7 วัน ถ้าสมมติประจำเดือนในรอบเดือนนั้นมาคลาดเคลื่อนหรือมาช้าไป 1-3 วัน แล้วมีเพศสัมพันธ์ในช่วงเวลาดังกล่าว โอกาสเกิดการตั้งครรภ์ก็สูงมาก

ก่อนอื่นผมมีความจำเป็นจะต้องอธิบายให้ความเข้าใจถึงคำว่า “ประจำเดือนมาสม่ำเสมอ” เสียก่อน เพราะมีหลาย ๆ คนยังไม่เข้าใจแบบแจ่มแจ้ง เมื่อนำไปปฏิบัติตามก็ซวย เกิดการตั้งครรภ์ขึ้นมาดื้อ ๆ โดยข้อมูลที่มักเข้าใจกันผิด ๆ ก็คือ

  • บางคนเข้าใจว่า “หลัง 7” คือหลังจากประจำเดือนหมดแล้วก็เริ่มนับเป็นวันที่ 1 ผิดนะครับ แบบนี้เตรียมเลี้ยงลูกได้ ความจริงคือต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ประจำเดือนมาวันแรกเลยครับ
  • บางคนเริ่มนับวันแรกเป็นหลังวันที่ประจำเดือนมา แบบนี้ผิดครับ ความจริงจะต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ประจำเดือนมาเลยครับ เช่น มาวันที่ 7 ก็ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 7 เป็นวันแรกเลยครับ
  • บางคนเข้าใจว่าประจำเดือนตัวเองมาทุกเดือน ก็เลยคิดไปเองว่า “รอบเดือนมาสม่ำเสมอ” แต่ความจริงแล้วแม้ประจำเดือนจะมาทุกเดือน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีรอบเดือนมาสม่ำเสมอนะครับ เพราะบางคนมาแบบสวิง เดือนแรกมีรอบเดือน 26 วัน เดือนถัดมามี 30 วัน มาอีกเดือนมี 32 วัน และเดือนล่าสุดมี 28 วัน ถ้าไปใช้วิธีนี้ในการนับก็เรียกว่าพลาดแล้วล่ะครับ

รอบเดือนมาสม่ำเสมอ หรือ รอบเดือนมาตรงกำหนด หมายถึง ผู้ที่มีจำนวนวันในแต่ละรอบประจำเดือนเท่ากันทุกเดือน เช่น

  • นางสาว A มีรอบเดือนจำนวน 28 วัน ก็แปลว่าเมื่อครบ 28 วัน ประจำเดือนก็จะเริ่มมาแล้ว ถ้านางสาว A ประจำเดือนมาวันแรกวันที่ 15 กันยายน เมื่อนับไปอีก 28 วัน ก็จะตรงกับวันที่ 12 ตุลาคม พอวันที่ 13 ตุลาคมประจำเดือนของนางสาว A ก็จะมา เดือนหน้าก็นับไปอีก 28 วัน ก็จะตรงกับวันที่ 9 พฤศจิกายน และประจำเดือนจะเริ่มมาวันที่ 10 พฤศจิกายน
  • นางสาว B มีรอบเดือนจำนวน 26 วัน ก็แปลว่าเมื่อครบ 26 วัน ประจำเดือนก็จะเริ่มมาแล้ว ถ้านางสาว B ประจำเดือนมาวันแรกวันที่ 15 กันยายน เมื่อนับไปอีก 28 วัน ก็จะตรงกับวันที่ 10 ตุลาคม พอวันที่ 11 ตุลาคม ประจำเดือนของนางสาว B ก็จะมา เดือนหน้าก็นับไปอีก 26 วัน ก็จะตรงกับวันที่ 5 พฤศจิกายน และประจำเดือนจะเริ่มมาวันที่ 6 พฤศจิกายน แบบนี้แหละครับที่เรียกว่ารอบเดือน “มาสม่ำเสมอ” หรือ “มาตรงกำหนดแม้จะไม่ตรงกับวันที่ในปฏิทินก็ตาม

มาถึงการคำนวณหน้า 7 หลัง 7 แบบคร่าว ๆ กันบ้าง ถ้าเข้าใจหลักการแล้วก็ไม่มีอะไรซับซ้อนครับ โดยสามารถคำนวณได้ดังนี้ (แต่ยังไม่แนะนำครับ)

  • สมมติว่า นางสาว ก. ประจำเดือนมาตรงกันทุกเดือนและมาสม่ำเสมอ โดยประจำเดือนเริ่มมาวันแรกคือวันที่ 15 ดังนั้น
    • ช่วงระยะปลอดภัยหน้า 7 ก็คือช่วงก่อนวันที่ 15 นับไปอีก 7 วัน คือ วันที่ 8, 9, 10, 11, 12, 13, 14
    • ช่วงระยะปลอดภัยหลัง 7 ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ประจำเดือนมาวันแรก ถ้าประจำเดือนมาตรงกับวันเดิมคือวันที่ 15 ก็ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 15 ไปอีก 7 วัน คือ วันที่ 15, 16, 17, 18, 19, 20, 21 (แต่ถ้ารอบเดือนนั้นประจำเดือนเกิดมาคลาดเคลื่อน สมมติว่ามาวันที่ 16 ก็ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 16 ไปอีก 7 วันครับ คือ วันที่ 16, 17, 18, 19, 20, 21, 22)
    • เพราะฉะนั้น ระยะที่ปลอดภัยที่นางสาว ก. สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้อย่างปลอดภัยก็คือตั้งแต่วันที่ 8-21

จากตัวอย่างนี้หากนำไปปฏิบัติตามอย่างจริง ๆ ผมเชื่อว่าไม่พลาดครับ หมายถึง ไม่พลาดที่จะมีลูกนะครับ !! เพราะเป็นการคำนวณแบบหยาบ ๆ ซึ่งข้อมูลหลาย ๆ แห่งก็ยังแนะนำการนับหน้า 7 หลัง 7 ด้วยวิธีแบบนี้อยู่ น่าใจหายเสียเหลือเกินว่าประชากรในบ้านเราจะเพิ่มขึ้นจากการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมมากน้อยเพียงใด เพราะอย่าลืมครับว่าจำนวนวันของแต่ละรอบเดือนในแต่ละคนไม่เท่ากัน แม้รอบเดือนของคน ๆ นั้นจะมาตรงเวลาสม่ำเสมอก็ตาม เพราะอย่างบางคนมีรอบเดือนสั้น ส่วนบางคนก็มีรอบเดือนยาว หากนำไปปฏิบัติตามก็คงไม่พ้นได้เลี้ยงลูกเป็นแน่แท้ บางคนนึกภาพไม่ออก ผมจึงขอสมมติเหตุการณ์ดังนี้ครับ

  • นางสาว ข. มีรอบเดือนสม่ำเสมอ คือ 32 วัน มีประจำเดือนมาวันแรก คือวันที่ 1 กุมภาพันธ์ (เดือนนี้มี 28 วัน) ถ้าใช้หลักการนับวันข้างต้นโดยเอารอบเดือนหน้า คือ วันที่ 1 มีนาคมเป็นตัวตั้ง ก็จะได้ระยะปลอดภัยคือวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 7 มีนาคม แต่อย่าลืมว่านางสาว ข. มีรอบเดือนเฉลี่ยคือ 32 วัน นั่นหมายความว่าวันปลอดภัยจะต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ไล่ไปจนครบ 32 วัน ซึ่งจะตรงกับวันที่ 4 มีนาคม ดังนั้นระยะปลอดภัยที่แท้จริงของนาวสาว ข. ก็คือ ก่อนวันที่ 4 มีนาคม นับเพิ่มไปอีก 7 วัน และนับย้อนจากวันที่ 4 ไปอีกจนครบ 7 วัน ดังนั้น ระยะปลอดภัยจริง ๆ ของนางสาว ข. คือวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 10 มีนาคม !! คุณเห็นอะไรไหมครับ ?? ถ้านางสาว ข. ใช้หลักการนับวันข้างต้นคำนวณ แล้วเริ่มมีเพศสัมพันธ์กันตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ มันจะเกิดอะไรขึ้น ?? ทั้ง ๆ ที่วันก่อนปลอดภัยจริง ๆ จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ คลาดเคลื่อนไปถึง 4 วันเต็ม ๆ !! มันก็เสี่ยงท้องสิครับแบบนี้

คราวนี้เรามาดูวิธีการคำนวณหน้า 7 หลัง 7 แบบถูกต้องกันดีกว่าครับ ว่าถ้ามีรอบเดือนมาตรงกันทุกเดือนจะมีวิธีการคำนวณแบบถูกต้องกันอย่างไร ผมจะสมมติว่า

  • นางสาว ค. มีรอบเดือนมาสม่ำเสมอ โดยมีจำนวนวันในแต่ละรอบเดือน คือ 28 วัน สมมติว่าประจำเดือนของนางสาว ค. ประจำเดือนมาวันแรก คือ วันที่ 1 มกราคม 2558 ดังนั้น
    • ช่วงระยะปลอดภัย “หลัง 7” จะต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ประจำเดือนมาวันแรก คือ วันที่ 1 มกราคมไล่ไปจนครบ 7 วัน คือ วันที่ 1, 2, 3, 4, 5, 6 และ 7 มกราคม 2558 (1-7 ม.ค. นี่จะคือช่วงปลอดภัยของ “หลัง 7” ครับ)
    • ช่วงระยะปลอดภัย “หน้า 7” จากตัวอย่างข้างต้น นางสาว ค. มีจำนวนวันในแต่ละรอบเดือน คือ 28 วัน ก็ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมไปจนครบ 28 วัน ก็จะตรงกับวันที่ 27 มกราคม ก็ให้เอาวันที่ 27 มกราคมนี่แหละครับเป็นวัน “กำหนดหน้า 7” ฉะนั้นหน้า 7 จะต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 27 มกราคมย้อนกลับมาจนครบ 7 วัน คือ วันที่ 27, 26, 25, 24, 23, 22, 21 มกราคม 2558 นี้จะเป็นช่วงปลอดภัยครับ นางสาว ค. สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ
    • จากนี้นางสาว ค. ก็ต้องรอให้ประจำเดือนมาก่อนครับ เพื่อความชัวร์ (ซึ่งคาดว่าวันที่ 28 มกราคม ประจำเดือนก็จะต้องมาแล้ว) แล้วจึงค่อยเริ่มการนับ “หลัง 7” ใหม่อีกรอบ และก็วนแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ครับ นี่แหละครับคือการนับหน้า 7 หลัง 7 ที่ถูกต้อง 🙂

แต่อย่างที่บอกไปครับหลักการนี้มันใช้ได้เฉพาะกับสตรีที่มีรอบเดือนมาสม่ำเสมอแบบเป๊ะ ๆ อย่างนางสาว ค. เท่านั้น ซึ่งคนส่วนมากรอบเดือนจะไม่เป๊ะขนาดนั้นไงครับ ซึ่งในหัวข้อถัดไปผมจะอธิบายให้ฟังครับว่า ถ้าจะคำนวณวันปลอดภัยอย่างถูกต้องสำหรับคนทั่วไปที่ประจำเดือนมาสม่ำเสมอ แต่ไม่ตรงเป๊ะแบบนางสาว ค. เราจะคำนวณกันอย่างไร ในหัวข้อ “การนับวันปลอดภัย” ครับ

ข้อสงสัยเรื่องหน้า 7 หลัง 7

หน้า 7 หลัง 7 หลั่งนอก จะท้องไหม ?

ตอบ หากรอบเดือนมาสม่ำเสมอและใช้วิธีการนับอย่างถูกต้อง โอกาสการตั้งครรภ์ก็น้อยมากครับ

หน้า 7 หลัง 7 หลั่งใน จะท้องไหม ?

ตอบ ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการคุมกำเนิดใดที่ให้ผล 100% (นอกจากการงดมีเพศสัมพันธ์) ในกรณีของหน้า 7 หลัง 7 ก็เช่นกัน ทั้งนี้เป็นเพราะปัจจัยอื่น ๆ หลายอย่าง เช่น วันตกไข่ของสตรีที่แต่ละคนมักมีไม่เท่ากัน ถ้าไปใช้วิธีการนับแบบหน้า 7 หลัง 7 แล้วเกิดประจำเดือนในรอบนั้นมาคลาดเคลื่อนและเป็นช่วงตกไข่พอดี ก็เสี่ยงต่อการปฏิสนธิทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยรุ่นที่เป็นวัยเจริญพันธุ์ การตกไข่ก็จะยิ่งมีบ่อยกว่าวัยอื่น ๆ จึงทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์สูงมากขึ้นตามไปด้วย

นับหน้า 7 หลัง 7 แบบถูกต้องจะท้องไหม ?

ตอบ อย่างที่บอกไม่มีอะไรแน่นอน 100% ครับ ขนาดฝ่าไฟแดงแล้วท้องก็ยังมีกรณีให้เห็นอยู่บ่อย ๆ ที่ตอบได้ก็คือ “ยังมีโอกาสท้อง” อยู่ครับ แต่ถ้านับอย่างถูกต้องโอกาสท้องก็จะลดน้อยลง

ถ้ามีเพศสัมพันธ์ในวันที่มีประจำเดือนจะปลอดภัยหรือไม่ ?

ตอบ ตามปกติแล้วปลอดภัยครับ ถ้ารอบเดือนของคุณไม่มามากกว่าคราวละ 7 วัน

รอบเดือนมาไม่สม่ำเสมอ สามารถใช้วิธีนับหน้า 7 หลัง 7 ได้หรือไม่ ?

ตอบ ไม่ได้ครับ เพราะบางคนรอบเดือนมาแบบสะเปะสะปะมาก เดือนก่อนโน้นมาวันที่ 10 ของปฏิทิน เดือนต่อมาประจำเดือนมาวันที่ 7 แล้วเดือนล่าสุดมาวันที่ 14 เรียกได้ว่าเอาแน่เอานอนไม่ได้เลย มาบ้างไม่มาบ้าง แบบนี้ใช้วิธีการนับหน้า 7 หลัง 7 ไม่ได้ครับ

หากมีเพศสัมพันธ์ก่อน 7 วัน หรือหลัง 7 วัน ประมาณ 1-2 วัน จะปลอดภัยหรือไม่ ?

ตอบ ก่อนอื่นต้องอธิบายให้เข้าใจก่อนว่า “เมื่อไหร่ก็ตามที่ไข่ตก แล้วไม่มีการปฏิสนธิอีก 14 วัน ประจำเดือนก็จะมา” สมมติว่าไข่ตกวันที่ 1 มกราคม แล้วไม่มีเพศสัมพันธ์เลย ในวันที่ 14 มกราคม ประจำเดือนก็จะมา ในกรณีของคนที่รอบเดือนมาไม่สม่ำเสมอ เอาแน่เอานอนไม่ได้ จะไม่มีทางคำนวณหาวันที่ไข่จะตกได้ แต่สำหรับคนที่มีรอบเดือนมาสม่ำเสมอ ก็จะสามารถกะวันที่ประจำเดือนจะมาในคราวหน้าได้ครับ เช่น

  • นางสาว C มีรอบเดือนมาทุก ๆ 30 วันแน่นอน เมื่อครบ 30 วัน ประจำเดือนของนางสาว C ก็จะมา สมมติว่า ประจำเดือนของนางสาว C มาวันที่ 1 มกราคม เมื่อนับไปอีก 30 วัน ก็จะตรงกับวันที่ 30 มกราคม เมื่อถึงวันที่ 31 มกราคม ประจำเดือนของนางสาว C ก็จะมา
    • เมื่อคำนวณหาวันตกไข่ ก็ให้นับย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 30 มกราคมไปจนครบ 14 วัน ก็จะตรงกับวันที่ 17 มกราคม ซึ่งเป็นวันที่ไข่ตกหรือวันที่ไม่ปลอดภัยมาก ๆ (เสี่ยงตั้งครรภ์สุด ๆ)
    • แต่วันที่ไข่ตกมันอาจจะมาตรงบ้างไม่ตรงบ้าง แต่บวกลบแล้วไม่เกิน 2 วัน จึงต้องเผื่อวันไข่ตกเพิ่มเข้าไปอีก 4 วัน นั่นคือวันที่ 15, 16, 18, 19 มกราคม สรุปแล้วช่วงไม่ปลอดภัยจะรวมเป็น 5 วัน คือวันที่ 15, 16, 17, 18, 19 มกราคม
    • เมื่อไข่ตกแล้วก็จะมีชีวิตอยู่ได้อีก 24 ชั่วโมง (ถ้าสมมติว่ามีเพศสัมพันธ์วันที่ 20 มกราคม แต่ไข่ตกวันที่ 19 ก็ยังมีสิทธิตั้งครรภ์ได้ครับ) ดังนั้น การนับวันไม่ปลอดภัยจึงต้องบวกเพิ่มไปอีก 1 วัน คือวันที่ 20 มกราคม รวมแล้วเป็น 6 วัน คือวันที่ 15, 16, 17, 18, 19, 20 มกราคม
    • แต่ยังไม่หมดแค่นั้นครับ เพราะเชื้ออสุจิเมื่อเข้ามาอยู่ในช่องคลอด มันจะมีชีวิตอยู่รอผสมกับไข่ได้นานถึง 48 ชั่วโมง (ถ้าสมมติว่ามีเพศสัมพันธ์วันที่ 13 หรือ 14 มกราคม แต่ไข่ตกวันที่ 15 มกราคมก็ยังมีสิทธิ์ตั้งครรภ์ได้นั่นเอง) ดังนั้น วันที่ไม่ปลอดภัยจึงมีเพิ่มขึ้นมาอีก 2 วัน !! คือวันที่ 13 และ 14 มกราคม รวมแล้ววันไม่ปลอดภัยจึงมีเพิ่มขึ้นรวมเป็น 8 วัน !! คือวันที่ 13, 14, 15, 16, 17, 18, 19, 20 มกราคม

สรุป โอกาสเสี่ยงขึ้นอยู่กับรอบเดือนของแต่ละคนว่าสั้นหรือยาว ถ้ารอบเดือนยาว (32-33 วัน) ก็สามารถมีเพศสัมพันธ์เลย 7 วันหลังมา 1-2 วันได้อย่างปลอดภัย แต่ถ้ารอบเดือนสั้น (26 วัน) ก็ไม่ควรครับ เพราะเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ และควรลดวันปลอดภัยจาก 7 วันหลัง ลงมาเหลือ 6 วัน

ข้อสรุปเกี่ยวกับหน้า 7 หลัง 7
  • ในกรณีที่รอบเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ก็สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ในช่วงที่มีประจำเดือน (ไม่เกิน 7 วัน นับจากวันที่ประจำเดือนมา) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่ารอบเดือนของคุณสั้นหรือยาวแค่ไหนด้วย
  • การจะใช้วิธีนับวันปลอดภัยหน้า 7 หลัง 7 จะต้องมีรอบเดือนมาสม่ำเสมอ และมาแบบเป๊ะ ๆ เท่านั้น เช่น 28, 28, 28 หรือ 30, 30, 30 ฯลฯ
  • ในกรณีที่มีรอบเดือนสั้น การมีเพศสัมพันธ์ในช่วง 7 วันหลังมีประจำเดือน โดยเฉพาะวันท้าย ๆ ก็จะเริ่มหมิ่นเหม่แล้วครับ และเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ได้ โดยเฉพาะวันที่ 6 หรือ 7 แต่ถ้ารอบเดือนยาวก็ไม่มีปัญหาอะไร วันที่ 7 ก็ยังคงปลอดภัยสบายใจหายห่วงครับ
  • ในกรณีของ “หลัง 7 หรือ 7 วันหลัง” (นับจากวันแรกที่ประจำเดือนมา) ความปลอดภัยในการคุมกำเนิดจะลดลงเรื่อย ๆ ครับ และก็จะมาถึง 8 วันอันตรายที่ไม่ปลอดภัย พอพ้นจาก 8 วันอันตรายนี้ไปแล้ว ความปลอดภัยจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นจนถึง 7 วันก่อนที่ประจำเดือนจะมา ซึ่งจะเป็นช่วงปลอดภัยที่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้นั่นเองครับ
  • สำหรับคนที่ใช้วิธีนี้แล้วท้อง หลัก ๆ แล้วจะมีแค่ 2 กรณีครับ คือ นับไม่ถูกหลัก (นับแบบหยาบ ๆ) และรอบเดือนมาไม่สม่ำเสมอแต่ดันไปใช้การนับหน้าเจ็ดหลังเจ็ด ถ้าท้องก็ไม่ต้องแปลกใจเลยครับ !! ส่วนอีกกรณีที่พบได้น้อยมากก็คือ นับอย่างถูกวิธีก็แล้ว รอบเดือนมาสม่ำเสมอก็แล้ว หรือแม้กระทั่งฝ่าไฟแดง แต่ก็ยังท้อง !! ถ้าคุณเป็นหนึ่งในนี้ก็ไม่ต้องแปลกใจครับ คุณยังมีเพื่อนร่วมอุดมการณ์อีกหลายคน

การนับวันปลอดภัย

การนับระยะปลอดภัย เป็นวิธีการคุมกำเนิดโดยวิธีธรรมชาติอย่างหนึ่งที่ใช้กันมานานแล้ว โดยเป็นการกำหนดวันที่ปลอดภัยแบบง่าย ๆ คือ “หน้า 7 หลัง 7” หรือ “ก่อน 7 หลัง 7” (เจ็ดวันก่อนมีประจำเดือน และเจ็ดวันหลังจากมีประจำเดือนคือช่วงที่ปลอดภัย สามารถร่วมเพศได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะตั้งครรภ์) แต่สูตรนี้อย่างที่กล่าวมาครับว่าโอกาสผิดพลาดมีสูง ถ้าประจำเดือนของสตรีมาไม่สม่ำเสมอหรือนับไม่ถูกหลัก ซึ่งในปัจจุบันก็มีวิธีการหาระยะปลอดภัยอยู่หลายวิธีครับ เช่น การนับวัน (Calendar method), การวัดอุณหภูมิหลังตื่นนอน (Basal body temperature method), การสังเกตมูกที่ปากมดลูก (Cervical mucous method) และวิธีอื่น ๆ หรือจะใช้ร่วมกันทั้ง 2 วิธีเลยก็ได้ แต่ในบทความนี้ผมจะขอกล่าวถึงเฉพาะหลักการนับวันครับ ว่าการนับวันที่ปลอดภัยมากที่สุด ณ ขณะนี้เขานับกันอย่างไร ไปดูเลยครับ

การหาระยะปลอดภัยด้วยวิธีการนับวัน (Calendar method) จะอาศัยหลักทางชีววิทยาที่ว่า “ในสตรีที่มีรอบเดือนปกติทุก 28 วัน จะมีการตกไข่ประมาณวันที่ 14 (อาจมากกว่าหรือน้อยกว่า 2 วัน) ก่อนที่จะมีประจำเดือนครั้งต่อไป หรือประมาณ 12-16 วันก่อนจะมีประจำเดือนครั้งต่อไป เมื่อไข่ตกแล้วจะมีชีวิตอยู่ได้เพียง 24 ชั่วโมง โอกาสการตั้งครรภ์จึงมีถึงวันที่ 17 ของรอบเดือน ส่วนเชื้ออสุจิจะมีชีวิตรอผสมไข่อยู่ได้ประมาณ 48 ชั่วโมง หรือ 2 วันก่อนการตกไข่” จากทฤษฎีนี้จะได้ว่า ในสตรีที่มีประจำเดือนมาทุก 28 วัน ช่วงที่มีโอกาสตั้งครรภ์ได้ คือช่วงวันที่ 10-17 ของรอบเดือน (เริ่มนับวันแรกตั้งแต่วันที่ประจำเดือนมา) ในคนที่ประจำเดือนมาสม่ำเสมอก็คงคำนวณได้ไม่ยาก แต่ในความเป็นจริงแล้วมีน้อยคนครับที่ประจำเดือนจะมาอย่างสม่ำเสมอทุก ๆ 28 วัน ผู้ที่ประจำเดือนคลาดเคลื่อนในแต่ละรอบเดือนจึงไม่เหมาะที่จะคำนวณด้วยสูตรโดยตรง แต่ให้คำนวณด้วยสูตรดังต่อไปนี้แทน

  • วิธีการคำนวณ : การนับวันเพื่อหาระยะปลอดภัยจะต้องทำการจดบันทึก “ความยาวของรอบเดือน” ไว้ทุกเดือนเป็นระยะเวลา 8-12 เดือน (ถ้าให้ดีคือ 12 เดือนจะแม่นสุด) โดยในแต่ละรอบเดือนให้เริ่มนับวันแรกตั้งแต่เริ่มมีประจำเดือน ไปจนกระทั่งถึงวันสุดท้ายก่อนมีประจำเดือนในรอบต่อไป แล้วดูว่ารอบเดือนครั้งไหนมีจำนวนวันที่สั้นที่สุดและยาวที่สุด แล้วจึงนำมาคำนวณตามสูตร ดังนี้
    • วันแรกของระยะไม่ปลอดภัย (First fertile day) = จำนวนวันที่สั้นที่สุดของรอบเดือน – 18
    • วันสุดท้ายของระยะไม่ปลอดภัย (Last fertile day) = จำนวนวันที่ยาวที่สุดของรอบเดือน – 11
  • ยกตัวอย่าง : นางสาว ง. ได้จดจำนวนวันในแต่ละรอบประจำเดือนไว้ 10 เดือน คือ 26, 24, 25, 28, 26, 27, 29, 30, 28, 26 จะเห็นได้ว่ารอบประจำเดือนที่สั้นที่สุดคือ 24 วัน และยาวสุดคือ 30 วัน เมื่อนำมาคำนวณจะได้
    • วันแรกของระยะไม่ปลอดภัย = 24-18 = 6 ส่วนวันสุดท้ายของระยะไม่ปลอดภัย = 30-11 = 19 ดังนั้น ระยะไม่ปลอดภัยที่ควรงดการมีเพศสัมพันธ์ (หรือต้องใช้วิธีคุมกำเนิดอย่างอื่น) ในรอบเดือนหน้า จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 6 จนถึงวันที่ 19 ของรอบเดือน (ไม่ใช่วันตามปฏิทินนะครับ) ซึ่งสูตรนี้จะแม่นยำมากกว่าสูตรหน้า 7 หลัง 7 ครับ ส่วนผู้ที่อายุยังน้อยหรือวัยรุ่นที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ (ซึ่งเป็นวัยที่มีการตกไข่บ่อยกว่าวัยอื่น) สตรีหลังแท้งบุตร หรือคุณแม่ที่เพิ่งคลอดบุตรใหม่ ๆ ประจำเดือนจะยังมาไม่ค่อยสม่ำเสมอ รังไข่จะยังทำงานไม่ปกติ หากใช้วิธีนี้คำนวณจะมีโอกาสผิดพลาดได้มากครับ จึงไม่แนะนำให้ใช้วิธีนี้
การนับวันปลอดภัย

ประสิทธิภาพของการนับวันปลอดภัย

ตามหลักแล้วการนับวันปลอดภัย (Calendar rhythm method) อย่างถูกต้อง (Perfect use) จะมีโอกาสล้มเหลวทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้ 9% ซึ่งหมายความว่าจำนวนการตั้งครรภ์ต่อปี (first year of use) ของสตรีที่คุมกำเนิดด้วยวิธีการนับวันปลอดภัยจำนวน 100 คน จะมีโอกาสตั้งครรภ์ได้ประมาณ 9 คน แต่โดยทั่วไปแล้วจากการใช้งานจริง (Typical use) พบว่าจะมีอัตราการล้มเหลวทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้สูงมากขึ้นกว่าเดิม (ไม่มีข้อมูลเป็นตัวเลขที่แน่นอน)

การกำหนดระยะเวลาเจริญพันธุ์

การกำหนดระยะเวลาเจริญพันธุ์ (The standard days method – SDM) เป็นการกำหนดช่วงเวลาไปเลยว่าในวันที่ 8-19 (แถบสีฟ้า) ของรอบเดือนจะเป็นชวงที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ โดยเป็นการคำนวณค่าเฉลี่ยของรอบประจำเดือนของสตรีทั่วไปที่มีรอบประจำเดือน 26-32 วัน หากต้องการคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้ ก็ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงเวลาดังกล่าว

หน้า7หลัง7คืออะไร

ประสิทธิภาพของการกำหนดระยะเวลาสืบพันธุ์

ตามหลักแล้วการกำหนดระยะเวลาสืบพันธุ์อย่างถูกต้อง (Perfect use) จะมีโอกาสล้มเหลวทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้เพียง 5% ซึ่งหมายความว่าจำนวนการตั้งครรภ์ต่อปี (first year of use) ของสตรีที่คุมกำเนิดด้วยการกำหนดระยะเวลาสืบพันธุ์จำนวน 100 คน จะมีโอกาสตั้งครรภ์ประมาณ 5 คน แต่โดยทั่วไปแล้วจากการใช้งานจริง (Typical use) กลับพบว่าอัตราการล้มเหลวทำเกิดการตั้งครรภ์จะเพิ่มสูงมากขึ้นเป็น 24% หรือคิดเป็น 1 ใน 5 คน จากผู้ที่คุมกำเนิดด้วยวิธีนี้

ส่วนด้านล่างนี้เป็นตารางเปรียบเทียบระหว่างการคุมกำเนิดด้วยวิธีการนับวันปลอดภัยและวิธีการกำหนดระยะเวลาสืบพันธุ์ กับวิธีการคุมกำเนิดแบบอื่น ๆ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจครับ

วิธีคุมกำเนิด|การใช้แบบทั่วไป|การใช้อย่างถูกต้อง|ระดับความเสี่ยง
ยาฝังคุมกำเนิด|0.05 (1 ใน 2,000 คน)|0.05|ต่ำมาก
ทำหมันชาย|0.15 (1 ใน 666 คน)|0.1|ต่ำมาก
ห่วงอนามัยเคลือบฮอร์โมน|0.2 (1 ใน 500 คน)|0.2|ต่ำมาก
ยาฉีดคุมกำเนิด (ฮอร์โมนรวม)|0.2 (1 ใน 500 คน)|0.2|ต่ำมาก
ทำหมันหญิงแบบทั่วไป|0.5 (1 ใน 200 คน)|0.5|ต่ำมาก
ห่วงอนามัยหุ้มทองแดง|0.8 (1 ใน 125 คน)|0.6|ต่ำมาก
การสังเกตระยะปลอดภัย (FA)|0.45|24|ขึ้นอยู่กับวิธีการที่ใช้
การให้นมบุตรหลังในระยะ 6 เดือนแรก|2 (1 ใน 50 คน)|0.3|ต่ำ
ยาฉีดคุมกำเนิด (ฮอร์โมนเดี่ยว)|6 (1 ใน 17 คน)|0.2|ปานกลาง
แผ่นแปะคุมกำเนิด|9 (1 ใน 11 คน)|0.3|ปานกลาง
วงแหวนคุมกำเนิด (NuvaRing)|9 (1 ใน 11 คน)|0.3|ปานกลาง
ยาเม็ดคุมกำเนิด|9 (1 ใน 11 คน)|0.3|ปานกลาง
การนับวันปลอดภัย (Calendar rhythm method)|ไม่มีข้อมูล|9|ไม่มีข้อมูล
ถุงยางอนามัยชาย|18 (1 ใน 5 คน)|2|สูง
การหลั่งนอก|22 (1 ใน 4 คน)|4|สูงมาก
การกำหนดระยะเวลาเจริญพันธุ์ (Standard days method)|24 (1 ใน 4 คน)|5|สูงมาก
การหลั่งใน (ไม่มีการป้องกัน)|85 (6 ใน 7 คน)|85|สูงมาก

หมายเหตุ : ตัวเลขที่แสดงเป็นจำนวนการตั้งครรภ์ต่อปี (first year of use) ของสตรีที่คุมกำเนิดด้วยวิธีดังกล่าวจำนวน 100 คน โดยกำหนดให้ สีฟ้า = ความเสี่ยงต่ำมาก / สีเขียว = ความเสี่ยงต่ำ / สีเหลือง = ความเสี่ยงปานกลาง / สีส้ม = ความเสี่ยงสูง / สีแดง = ความเสี่ยงสูงมาก (ข้อมูลจาก : www.contraceptivetechnology.org, Comparison of birth control methods – Wikipedia)

ภาพประกอบ : en.wikipedia.com, www.wikihow.com

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด