22 สรรพคุณและประโยชน์ของต้นหนุมานประสานกาย !

22 สรรพคุณและประโยชน์ของต้นหนุมานประสานกาย !

หนุมานประสานกาย

หนุมานประสานกาย ชื่อสามัญ Edible-stemed Vine[6]

หนุมานประสานกาย ชื่อวิทยาศาสตร์ Schefflera leucantha R.Vig. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Schefflera kwangsiensis Merr. ex H.L.Li, Schefflera tamdaoensis Grushv. & Skvortsova, Schefflera tenuis H.L.Li) จัดอยู่ในวงศ์เล็บครุฑ (ARALIACEAE)[1],[3]

สมุนไพรหนุมานประสานกาย มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ว่านอ้อยช้าง (เลย), ชิดฮะลั้ง กุชิดฮะลั้ง (จีน) เป็นต้น[1]

ลักษณะของหนุมานประสานกาย

  • ต้นหนุมานประสานกาย จัดเป็นพรรณไม้พุ่ม ที่มีลำต้นสูงประมาณ 1-4 เมตร ผิวของลำต้นค่อนข้างเรียบเกลี้ยง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง และปักชำ เจริญเติบโตได้ดีในดินทุกประเภท ต้องการน้ำและความชื้นปานกลาง และเป็นพรรณไม้กลางแจ้ง[1],[2],[7]

ต้นหนุมานประสานกาย

  • ใบหนุมานประสานกาย ใบเป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ ออกเรียงสลับ มีใบย่อยประมาณ 7-8 ใบ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปยาวรี รูปวงรี หรือรูปใบหอก ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมีหูใบซึ่งจะติดอยู่กับก้านใบพอดี ส่วนริบขอบใบเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-8 เซนติเมตร พื้นผิวใบเรียบเป็นมัน ส่วนก้านใบย่อยยาวได้ประมาณ 8-25 มิลลิเมตร[1],[2]

ใบหนุมานประสานกาย

  • ดอกหนุมานประสานกาย ออกดอกเป็นช่อ ช่อหนึ่งยาวได้ประมาณ 3-5 นิ้ว ลักษณะของดอกย่อยเป็นดอกสีเขียวหรือสีนวลและมีขนาดเล็ก ก้านช่อดอกยาวประมาณ 3-7 มิลลิเมตร[1],[2]

ดอกหนุมานประสานกาย

  • ผลหนุมานประสานกาย ผลมีลักษณะเป็นรูปไข่ อวบน้ำ ขนาดของผลมีความกว้างประมาณ 4-5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 5-6 มิลลิเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่เต็มที่หรือสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดงสด[1]

ผลหนุมานประสานกาย

สรรพคุณของหนุมานประสานกาย

  1. ทั้งต้นมีรสหอมเผ็ดปร่า ขมฝาดเล็กน้อย มีสรรพคุณช่วยทำให้เลือดลมเดินสะดวก (ทั้งต้น)[6]
  2. ใบมีรสหอมเผ็ดปร่า ขมฝาดเล็กน้อย มีสรรพคุณช่วยรักษาโรคหอบหืด แพ้อากาศ เป็นภูมิแพ้ ด้วยการใช้ใบสดเล็ก ๆ 9 ใบ นำมาต้มกับน้ำ 3 ถ้วยแก้ว แล้วเคี่ยวจนเหลือ 1 ถ้วยแก้ว ใช้รับประทานก่อนอาหารวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น เป็นเวลา 7 สัปดาห์ โรคหืดจะหาย (ใบ)[1],[2],[3],[6]
  3. ช่วยรักษาโรคหลอดลมอักเสบ และปอดอักเสบ ด้วยการใช้ใบสดเล็ก ๆ 9 ใบ นำมาต้มกับน้ำ 3 ถ้วยแก้ว แล้วเคี่ยวจนเหลือ 1 ถ้วยแก้ว ใช้รับประทานก่อนอาหารวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น เป็นเวลา 7 สัปดาห์ (ใบ)[3],[6]
  4. ช่วยรักษาวัณโรคปอด ด้วยการใช้ใบสดเล็ก ๆ 9 ใบ นำมาต้มกับน้ำ 3 ถ้วยแก้ว แล้วเคี่ยวจนเหลือ 1 ถ้วยแก้ว ใช้รับประทานก่อนอาหารวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น ติดต่อกัน 60 วัน แล้ว x-ray ดู ปอดจะหาย และให้รับประทานต่อไปอีกระยะหนึ่ง (ใบ)[3]
  5. ช่วยรักษาวัณโรค ด้วยการใช้ใบ 10 ช่อ และรากสดของพุดตาน 10 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน (ใบ)[8]
  1. ใบใช้เป็นยาแก้ไอ ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 9 ใบ นำมาต้มเอาแต่น้ำกิน หรือใช้ใบสดนำมาตำให้ละเอียดคั้นเอาแต่น้ำ นำมาผสมกับเหล้ากินเป็นยา (ใบ)[1],[2]
  2. ใบนอกจากจะมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไอแล้ว ยังมีสรรพคุณช่วยบรรเทาหวัด ลดอาการไอ แก้ร้อนใน แก้เจ็บคอและคออักเสบได้เป็นอย่างดี ด้วยการใช้ใบสดนำมาเคี้ยวแล้วค่อย ๆ กลืนช้า ๆ (ใบ)[5],[6],[8]
  3. ช่วยรักษาแผลในปากที่เกิดจากร้อนใน ด้วยการรับประทานใบสด 1-2 ใบ แล้วนำมาเคี้ยวให้ละเอียด แล้วกลืนเช้าเย็น (ใบ)[7],[8]
  4. ช่วยขับเสมหะ ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 9 ใบ นำมาต้มเอาแต่น้ำกิน (ใบ)[3]
  5. ช่วยแก้อาเจียนเป็นเลือด ด้วยการใช้ใบสด 12 ใบย่อย นำมาคั้นน้ำ 2 ถ้วยตะไล ใช้รับประทานครั้งละ 1 ถ้วยตะไล ติดต่อกัน 5-7 วัน (ใบ)[1],[2],[3]
  6. ใช้เป็นยาแก้พิษต่าง ๆ ด้วยการใช้ใบนำมาต้มเอาแต่น้ำหรือนำมาคั้นเอาน้ำผสมกับเหล้ากิน (ใบ)[1]
  7. ทั้งต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยารักษาโรคกระเพาะอาหารและลำไส้ (ทั้งต้น)[6]
  8. ช่วยแก้อาการตกเลือดเนื่องจากการคลอดบุตรของสตรีในระหว่างการคลอดหรือภายหลังการคลอดบุตรหรือเนื่องจากตกเลือดเพราะใกล้หมดประจำเดือน ให้ใช้ใบสดประมาณ 10-15 ช่อ นำมาตำให้ละเอียดผสมกับเหล้าโรง 4-6 ช้อน แล้วคั้นเอาน้ำกิน (ใบ)[8]
  9. ใบสดนำมาตำให้ละเอียดแล้วเอากากมาทาหรือพอกเป็นยาสมานแผล และช่วยห้ามเลือด (ใบ)[1],[2]
  10. ยางใช้ใส่แผลสด จะช่วยทำให้แผลแห้งเร็ว (ยาง)[1]
  11. ช่วยแก้อาการอักเสบบวม (ใบ)[6]
  12. ช่วยแก้ช้ำใน ด้วยการใช้ใบหนุมานประสานกายประมาณ 1-3 ช่อ นำมาตำให้ละเอียด ต้มกับน้ำครึ่งแก้ว แล้วกรองด้วยผ้าขาวบาง ใช้น้ำยานี้กินทุกเช้าและเย็น (ใบ)[6],[7],[8]
  13. ใช้แก้เส้นเลือดฝอยในสมองแตกทำให้เป็นอัมพาต และช่วยกระจายเลือดลมที่จับกันเป็นก้อนหรือคั่งภายใน (ใบ)[6]
  14. ส่วนในคู่มือยาสมุนไพร และโรคประเทศเขตร้อนและวิธีบำบัดรักษา ได้ระบุว่าใบหนุมานประสานกายสามารถใช้รักษาโรคหลอดลมอักเสบในระยะเรื้อรัง โรคหืด โรคแพ้อากาศ และอาการแพ้อื่น ๆ ได้ นอกจากจะใช้รักษาโรคเกี่ยวกับหลอดลมและหืดแล้ว นักวิทยาศาสตร์ขาวญี่ปุ่นยังได้ทำการวิจัยแล้วพบว่ายังมีคุณสมบัติในการรักษาโรคเกี่ยวปอดต่าง ๆ ได้อีกดังต่อไปนี้ เช่น ปอดชื้น วัณโรค ต่อมน้ำเหลืองในปอดอักเสบ เยื่อหุ้มปอดอักเสบ เยื่อบุช่องท้องอักเสบ เยื่อหุ้มปอดอักเสบชนิดมีหนอง เนื้อร้ายในปอด เป็นแผลในปอด ไอกรน โรคไข้ปอดบวม โรคไข้หวัดใหญ่ (ใบ)[9]

ข้อห้ามในการใช้สมุนไพรหนุมานประสานกาย

  • ห้ามใช้สมุนไพรชนิดนี้กับคนที่เป็นโรคหัวใจ คนที่มีไข้สูง และหญิงตั้งครรภ์[6]
  • ห้ามกินยานี้ในขณะที่กำลังเหนื่อยหรือในขณะที่หัวใจเต้นเร็ว เช่น หลังการออกกำลังกาย เพราะจะยิ่งทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น[6]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของหนุมานประสานกาย

  • สารเคมีที่พบ ได้แก่ Butulinic acid,D-glucose, D-Xylose, Oleic acid, L-rhamnose[3]
  • สารสกัดจากใบหนุมานประสานกายมีสารซาโปนินซึ่งมีฤทธิ์ขยายหลอดลมแต่ไปกดหัวใจ โดยสารในกลุ่มซาโปนิน (Saponins) สามารถขยายหลอดลม ซึ่งจะลดการหลั่งของสารที่ก่อให้เกิดการแพ้ คือ ฮีสตามีน (Histamine) และสารเมซโคลิน (Methcholine)[2],[6]
  • จากการทดสอบความเป็นพิษของสมุนไพรชนิดนี้ที่มีต่อหัวใจ พบว่าเพิ่มแรงบีบตัวของหัวใจและเป็นพิษต่อหัวใจ ในขนาดสูงอาจทำให้มีอาการน้ำตาลในเลือดต่ำได้[4]
  • สารสกัดด้วยเอทานอลจากใบหนุมานประสานกาย มีฤทธิ์กระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อบุผิวให้เร็วขึ้น และเพิ่มการหดตัวของบาดแผลได้มากกว่าแผลที่ไม่ได้ใช้สมุนไพร[6]

ประโยชน์ของหนุมานประสานกาย

  • สมุนไพรหนุมานประสานกาบมีประสิทธิภาพในการป้องกันยุงได้หลายชนิด โดยวิธีการเตรียมน้ำมันทากันยุง ให้นำใบสมุนไพรมาล้างให้สะอาด แล้วนำไปผึ่งให้แห้ง จากนั้นนำมาหั่นให้มีขนาดเล็กเท่า ๆ กัน จากนั้นให้เทน้ำมันมะพร้าวที่มีน้ำหนักเท่ากับตัวยาใส่ลงในกระทะ แล้วนำไปตั้งไฟให้ร้อนจัด แล้วนำสมุนไพรที่เตรียมไว้ทอดด้วยไฟร้อน ๆ ประมาณ 5 นาที แล้วปิดไฟ หลังจากนั้นให้ช้อนเอาสมุนไพรออก แล้วกรองน้ำมันด้วยผ้าขาวบาง ทิ้งไว้ให้เย็น แล้วเอาน้ำมันมาใช้เป็นยาทากันยุง โดยสารสกัดจากใบหนุมานประสานกายสามารถช่วยป้องกันยุงที่กัดกลางวันได้ประมาณ 2 ชั่วโมง และยุงที่กัดกลางคืนได้นานถึง 7 ชั่วโมง (หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 6 ธันวาคม 2554 หน้า 22)
  • ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับและสมุนไพร หรือใช้ปลูกประดับอาคารต่าง ๆ ได้ดี เพราะหนุมานประสานกายเป็นพืชที่ปลูกเลี้ยงง่าย ไม่ต้องการการดูแลมากนัก ปลูกใส่ไว้ในกระถางได้ สามารถเก็บมาใช้ประโยชน์ได้นานและทันใจ ถ้าวันไหนรู้สึกเจ็บคอ ครั่นเนื้อครั่นตัว ก็ให้เด็ดเอาใบมาสักหนึ่งช่อเคี้ยวให้ละเอียด กลืนเอาแต่น้ำ แล้วคายกากทิ้งก็จะช่วยบรรเทาอาการได้ดีมาก แต่ถ้าใช้รักษาหอบหืดก็อาจจะต้องใช้เวลาในการรับประทานติดต่อกันนานสักหน่อยถึงจะหายดี[6]
  • ในปัจจุบันหมอชาวบ้านได้คิดค้นยาจากสมุนไพรหนุมานประสานกายนำมาทำเป็นยาสมุนไพรสำเร็จเป็นรายแรก โดยมีสรรพคุณเป็นยาบรรเทาโรคหวัด ไร้ผลข้างเคียง ส่วนผสมมาจากธรรมชาติ 100% ไม่เป็นอันตราย และผ่านการพิสูจน์ตำรับยาจาก อย. แล้ว นอกจากใบหนุมานประสานกายแล้ว ยังประกอบไปด้วยสมุนไพรชนิดอีกหลายชนิด เช่น ชะเอมเทศ ลูกมะแว้ง และหญ้าเกร็ดหอม เป็นต้น ซึ่งจากการทดสอบกับกลุ่มตัวอย่างพบว่าสามารถช่วยบรรเทาโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจได้ดี ไม่ว่าจะเป็นหวัด มีอาการไอ เจ็บคอ ฯลฯ ก็จะเห็นผลภายใน 2-3 วัน[5]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “หนุมานประสานกาย”.  หน้า 818-819.
  2. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “หนุมานประสานกาย”.  หน้า 185.
  3. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “หนุมานประสานกาย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [15 ก.ค. 2014].
  4. สำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์.  “หนุมานประสานกาย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: aidsstithai.org/herbs/.  [15 ก.ค. 2014].
  5. ผู้จัดการออนไลน์.  “ยกหนุมานประสานกายแจ๋ว! นำร่องสินค้าสมุนไพรไทยสู้หวัด”. [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.manager.co.th.  [15 ก.ค. 2014].
  6. ไทยโพสต์.  “หนุมานประสานกาย แก้ไอ เจ็บคอ หอบหืด สมานแผล”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaipost.net.  [15 ก.ค. 2014].
  7. เทศบาลเมืองทุ่งสง.  “หนุมานประสานกาย”  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.tungsong.com.  [15 ก.ค. 2014].
  8. สารศิลปยาไทย ฉบับที่ ๗, สมาคมผู้ประกอบโรคศิลปแผนไทย (เชียงใหม่).  “หนุมานประสานกาย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก:http://www.oocities.org/thaimedicinecm/.  [15 ก.ค. 2014].
  9. หนังสือคู่มือยาสมุนไพร และโรคประเทศเขตร้อนและวิธีบำบัดรักษา.  (พ.ต.อ.ชลอ อุทกภาชน์).  “หนุมานประสานกาย”.

ภาพประกอบ : www.pharmacy.mahidol.ac.th

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด