หนุมานนั่งแท่น
หนุมานนั่งแท่น ชื่อสามัญ Gout Plant, Guatemala Rhubarb, Fiddle-leaved Jatropha[5]
หนุมานนั่งแท่น ชื่อวิทยาศาสตร์ Jatropha podagrica Hook. จัดอยู่ในวงศ์ยางพารา (EUPHORBIACEAE)[1]
สมุนไพรหนุมานนั่งแท่น มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หัวละมานนั่งแท่น (ประจวบคีรีขันธ์), ว่านเลือด (ภาคกลาง), ว่านหนุมาน, ว่านหนูมานนั่งแท่น เป็นต้น[1],[4]
ลักษณะของหนุมานนั่งแท่น
- ต้นหนุมานนั่งแท่น เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดจากอเมริกากลาง พบได้ตั้งแต่ที่ระดับความสูงจากน้ำทะเลถึงระดับ 800 เมตร โดยจัดเป็นพรรณไม้พุ่ม ที่มีความสูงของต้นประมาณ 1.5-3 เมตร ลำต้นพองที่โคน ลำต้นอวบน้ำผิวไม่เรียบ เป็นสีน้ำตาลอมเขียว และมีเหง้าอยู่ใต้ดินลักษณะกลมยาว อาจเป็นเหลี่ยมเล็กน้อย ต้นมีน้ำยางสีขาวขุ่นใส ๆ ไม่เหนียวเหนอะหนะ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและใช้หัวหรือเหง้าที่อยู่ใต้ดิน เจริญเติบโตได้ดีในที่ชุ่มชื้น ชอบแสงแดดจัดแบบเต็มวัน สามารถทนต่อความแล้งได้ดี[1],[3]
- ใบหนุมานนั่งแท่น ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กว้าง โคนใบเป็นรูปหัวใจ ส่วนขอบใบเว้าเป็นแฉก 3-5 แฉก ใบมีขนาดกว้างและยาวประมาณ 5-15 เซนติเมตร หลังใบและท้องใบเรียบ ก้านใบยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร ติดแผ่นใบแบบก้นปิด หูใบแตกแขนงยาวได้ถึง 5 มิลลิเมตร[1],[3]
- ดอกหนุมานนั่งแท่น ออกดอกเป็นช่อกึ่งช่อเชิงหลั่น ยาวได้ถึง 26 เซนติเมตร แกนช่อดอกยาวได้ถึง 20 เซนติเมตร โดยจะออกที่ปลายยอด มีใบประดับเป็นรูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ดอกย่อยเป็นสีแดงมีจำนวนมาก กลีบดอกมี 5 กลีบ กลีบดอกเป็นสีส้มหรือสีแดง ดอกเพศผู้มีกลีบเลี้ยงเป็นรูปไข่กว้าง ยาวประมาณ 0.6 มิลลิเมตร กลีบดอกเป็นรูปไข่กว้างประมาณ 2 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 5-6 มิลลิเมตร จานรองดอกเป็นรูปโถ เกสรเพศผู้จะยาวประมาณ 6-8.5 มิลลิเมตร ก้านชูเกสรเชื่อมกันที่โคน ส่วนดอกเพศเมีย กลีบเลี้ยงจะเป็นรูปรี ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ส่วนกลีบดอกยาวประมาณ 6-7 มิลลิเมตร ก้านชูและก้านชูช่อดอกเป็นสีแดง[1],[2],[3]
- ผลหนุมานนั่งแท่น ผลมีลักษณะเป็นรูปทรงกลมรีหรือรูปกระสวย ผิวผลเรียบ แบ่งเป็นพู 3 พู ปลายมน มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นสีดำ เมื่อผลแห้งจะไม่แตก ภายในผลมีเมล็ดลักษณะเป็นรูปกระสวยหรือรูปรี มีขนาดกว้างประมาณ 6 มิลลิเมตร และยาว 12 มิลลิเมตร เมล็ดมีเยื่อสีขาวอยู่ที่ขั้ว[1],[2],[3]
สรรพคุณของหนุมานนั่งแท่น
- หัวหรือเหง้าใช้กินเป็นยาบำรุงพละกำลังสำหรับผู้ที่ใช้กำลังแบกหามหรือทำงานหนัก (เหง้า)[4]
- เหง้ามีสรรพคุณเป็นยาฟอกโลหิต (เหง้า)[4]
- ยาพื้นบ้านล้านนาจะใช้น้ำยางเป็นยาทารักษาแผลมีดบาด แผลถลอก และใช้ห้ามเลือด ส่วนวิธีใช้ขั้นตอนแรกก็ให้ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดเสียก่อน แล้วซับแผลด้วยสำลีให้แห้ง แล้วใช้มือเด็ดบริเวณก้านกลางใบ โดยให้เลือดใบที่ไม่แก่หรืออ่อนจนเกินไป เมื่อน้ำยางเริ่มไหลออกมาก็ให้ใช้นิ่วมือรองยางที่หยดลงมา แล้วนำไปป้ายบริเวณแผลวันละ 2-3 ครั้ง แผลก็เริ่มแห้งและตกสะเก็ดภายใน 1-2 วัน(น้ำยาง)[1],[2] ส่วนเหง้าก็มีสรรพคุณเป็นยาสมานแผลเช่นกัน (เหง้า)[4]
- ตำรับยาพื้นบ้านจะใช้น้ำยางจากต้นหนุมานนั่งแท่นเป็นยาทารักษาฝี (น้ำยาง)[1],[2]
- นำเหง้ามาโขลกให้ละเอียดใช้เป็นยาพอกทาตามข้อมือข้อเท้า นวดแก้อาการเคล็ดขัดยอก (เหง้า)[4]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของหนุมานนั่งแท่น
- เมล็ดมีสารกลุ่ม phorbol esters ที่เป็นพิษเช่นเดียวกับสบู่ดำ[2]
- สารสกัดจากเมล็ดหนุมานนั่งแท่นด้วยปีโตรเลียมอีเทอร์ มีฤทธิ์ต้านเชื้อราได้ดี[2]
พิษของหนุมานนั่งแท่น
- ส่วนที่เป็นพิษ : เมล็ดและยาง โดยมีสารพิษที่ออกฤทธิ์คล้ายกับ toxalbumin,curcin พิษจาก resin alkaloid glycoside[5]
- อาการเป็นพิษ : น้ำยางเมื่อถูกผิวหนังจะเกิดอาการแพ้ระคายเคือง บวมแดงแสบร้อน ส่วนเมล็ดหากรับประทานเข้าจะทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย หายใจเร็ว การเต้นของหัวใจผิดปกติ กล้ามเนื้อชักกระตุก ความดันโลหิตต่ำ (พิษคล้ายละหุ่ง) โดยเมล็ดตะมีรสอร่อยหากรับประทานเพียง 3 เมล็ด ก็ทำให้เป็นอันตรายได้ และถ้าเข้าตาจะทำให้ตาอักเสบ ตาบอดชั่วคราวได้ แต่ถ้าได้รับในปริมาณมากจะอาจทำให้ตาบอดถาวร (และห้ามนำเมล็ดหรือผลมารับประทานเด็ดขาด เพราะอาจทำให้เสียชีวิตได้)[5]
- การรักษาพิษ : ให้ล้างน้ำยางออกจากผิวหนังโดยใช้สบู่ และอาจใช้ยาสเตียรอยด์ทา แต่ถ้ารับประทานเข้าไปให้เอาส่วนที่ไม่ถูกดูดซึมออกโดใช้ถ่านกัมมันต์ (activated charcoal) ล้างท้อง หรือรีบทำให้อาเจียน และรักษาไปตามอาการ[5]
ประโยชน์ของหนุมานนั่งแท่น
- สมุนไพรหนุมานนั่งแท่นเป็นยาที่ถูกนำมาใช้รักษาแผลในม้า โดยพบว่าได้ยางหนุมานสามารถรักษาแผลให้หายได้ดีกว่าและเร็วกว่ายาเนกาซันท์ ยาปฏิชีวนะ และยาสมานแผลทั่วไป และยังเป็นยาเพียงชนิดเดียวที่ใช้รักษาบาดแผลเนื้องอกได้ ในขณะที่ยาอื่นรักษาไม่ได้ ส่วนแผลเน่าเปื่อยก็รักษาให้หายได้โดยใช้ระยะเวลาที่สั้นกว่ายาอื่นเท่าตัว (แม่โจ้)
- ในด้านของความเชื่อ ในสมัยก่อนมีการนำมาใช้ในทางคงกระพันชาตรี ด้วยการนำหัวว่านมาแกะเป็นรูปพญาวานร แล้วเสกด้วยคาถาพุทธคุณ “อิติปิโส ภะคะวา – ภะคะวาติ” 3-7 จบ แล้วอมไว้หรือพกติดตัวไว้ จะทำให้ศัตรูแพ้พ่าย ถ้านำมาแกะเป็นรูปพญานาคราช ให้เสกด้วย “เมตตา” 3-7 จบ เมื่อไปเจรจากับผู้ใด จะมีแต่ผู้รักใคร่ ปราถนาสิ่งใดก็สำเร็จทุกประการ ถ้านำมาแกะเป็นรูปพระพรหมแผลงศร ให้เสกด้วยคาถา “อิติปิโส ภะคะวา – ภะคะวาติ” 3-7 จบ ใครจะมาทำร้ายทิ่มแทงเราก็จะล้มทับตัวเอง อาวุธที่มีก็จะพลัดหลุดจามือ จนสุดท้ายต้องหลบหนีไปเอง ถ้านำหัวว่านมาแกะเป็นรูปภควัมบดีปิดหูปิดตา คือปิดทวารทั้งเก้า ให้เสกด้วยคาถา “อิติปิโส ภะคะว่า – ภะคะวาติ” 7 จบ แล้วนำมาอมไว้ในปาก ผู้อื่นจะมองไม่เห็น ทำร้ายไม่ได้ หรือหากต้องการสิ่งใดก็จะสมดัง ปราถนา และถ้านำมาแกะเป็นรูปพระ แล้วเสกด้วยคาถา “อะ อิ อุ ธะ 7 จบ ก็จะช่วยป้องกันอันตรายได้ทั้งปวง”[4]
- นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับและว่านมงคลชนิดหนึ่งตามบ้านและวัดทั่วไป นิยมขยายพันธุ์ด้วยการใช้หัวหรือเหง้า โดยนำดินร่วนปนทรายปนกับผงอิฐดินเผาทุบให้แหลกละเอียด ตากน้ำค้างทิ้งไว้หนึ่งคืน ผสมใบพืชตระกูลถั่ว หญ้าสับ วางหัวว่านไม่ต้องกลบดินจนมิด (ให้หัวโผล่ และให้แสงแดดรำไร) ตอนจะรดน้ำให้ว่าคาถา “นะโมพุทธายะ” 3 จบ และถ้าจะให้ดีควรปลูกในวันพฤหัสบดีข้างขึ้น เวลานำไปใช้ให้บอกกับต้นไม้ด้วยว่าจะใช้รักษาอะไร เช่น “ขอยารักษาแผลหน่อยนะ” แล้วน้ำยางจะไหลออกมามาก[4] ส่วนอีกความเชื่อหนึ่งระบุว่าถ้าจะขุดหัวว่านมาใช้ ให้เสกด้วยคาถา “สัพพาสี – ภาณามเห” 3 หรือ 7 จบ รดน้ำรอบต้นแล้วขุด ในขณะที่ขุดให้เสกด้วยคาถา “หะนุมานะ โสธาระ” ซึ่งเป็นคาถาผูกอีก 3 หรือ 7 จบ จึงเก็บหัวว่านมาใช้ และตอนนำมาใช้ก็ต้องเสกด้วยคาถา “นะโมพุทธายะ” 3 จบก่อนทุกครั้ง เชื่อว่าจะมีอานุภาพฟันแทงไม่เข้า
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “หนุมานนั่งแท่น (Hanuman Nang Thaen)”. หน้า 326.
- หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “หนุมานนั่งแท่น”. หน้า 134.
- ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “หนุมานนั่งแท่น”. อ้างอิงใน: หนังสือพรรณไม้เมืองไทย พืชสมุนไพร1. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org. [15 ก.ค. 2014].
- ว่านและสมุนไพรไทย, คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร. “ว่านหนุมานนั่งแท่น”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: natres.skc.rmuti.ac.th/WAN/. [15 ก.ค. 2014].
- พืชมีพิษต่อระบบทางเดินอาหารและโลหิต, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “หนุมานนั่งแท่น”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/use/toxic_002.htm. [15 ก.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Ton Rulkens, Mauricio Mercadante, laajala, Prof KMS, guzhengman, 1guy2be, jayjayc)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)