5 สรรพคุณและประโยชน์ของต้นหนามโค้ง ! (ผักงวม)

5 สรรพคุณและประโยชน์ของต้นหนามโค้ง ! (ผักงวม)

หนามโค้ง

หนามโค้ง ชื่อวิทยาศาสตร์ Caesalpinia furfuracea (Prain) Hattink (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Mezoneuron furfuraceum Prain, Mezoneuron glabrum sensu Baker, Mezoneurum furfuraceum Prain) จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยราชพฤกษ์ (CAESALPINIOIDEAE หรือ CAESALPINIACEAE)[1]

สมุนไพรหนามโค้ง มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า นวม (ลำปาง), งวม ผักงวม (อุตรดิตถ์), พาย่วม หนามโค้ง (ภาคเหนือ) เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของหนามโค้ง

  • ต้นหนามโค้ง จัดเป็นพรรณไม้เถาเลื้อยพาดพันต้นไม้อื่น มีเนื้อไม้แข็ง มีหนามแหลมโค้งเป็นคู่ทั่วทั้งลำต้น เปลือกเถาเป็นสีน้ำตาล[1]

ต้นหนามโค้ง

ลำต้นหนามโค้ง

  • ใบหนามโค้ง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบมน โคนใบเบี้ยว แผ่นใบบาง ใบย่อยนั้นมีขนาดเล็ก[1]

ใบหนามโค้ง

  • ดอกหนามโค้ง ออกดอกเป็นช่อที่ปลายยอด ดอกเป็นสีเหลือง กลีบดอกมี 4 กลีบ และมีกลีบเลี้ยงดอก 4 กลีบ[1]

ดอกงวม

ดอกหนามโค้ง

  • ผลหนามโค้ง ผลมีลักษณะเป็นฝักแบน ปลายฝักแหลม โคนฝักแหลม ภายในฝักมีเมล็ดประมาณ 4-6 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะแบน[1]

ฝักหนามโค้ง

สรรพคุณของหนามโค้ง

  • ฝักมีรสเปรี้ยวอมฝาด ใช้เป็นยาแก้ไข้ (ฝัก)[1]
  • รสเปรี้ยวฝาดของฝักใช้เป็นยาช่วยกัดเสมหะ (ฝัก)[2]
  • ฝักใช้เป็นยาระบายอ่อน ๆ[1] ช่วยในการย่อยอาหาร (ฝัก)[3]
  • ใช้เป็นยาสมานท้อง (ฝัก)[1]

ประโยชน์ของหนามโค้ง

  • ฝักอ่อนใช้ทำเป็นยำผักงวม ซึ่งเครื่องปรุงที่ต้องใช้จะประกอบไปด้วยฝักอ่อนผักงวม 2 กำ, พริกแห้ง 6-7 เม็ด, หอมแดง 4 หัว, ข่า 1 แว่น, ตะไคร้ 1-2 ต้น, ปลาร้าหรือกะปิ, เกลือ, ปลาสด และน้ำมะกรูด ส่วนขั้นตอนการทำนั้นให้โขลกเครื่องปรุงน้ำพริกให้ละเอียดก่อน แล้วต้มปลาให้สุก แกะเนื้อครึ่งหนึ่งลงไปโขลกกับน้ำพริก หั่นฝักผักงวมให้เป็นฝอยละเอียด แล้วนำลงไปคลุกเคล้ากับน้ำพริกให้ทั่ว เติมน้ำปลาและเนื้อปลาแกะที่เหลือให้มีน้ำพอเปียก จากนั้นปรุงรสด้วยน้ำปลาและน้ำมะกรูด เป็นอันเสร็จ ใช้รับประทานกับข้าวเหนียว[2]

ผักงวม

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ).  “หนามโค้ง”.  หน้า 187.
  2. อาหารจากผักพื้นบ้าน, กรมส่งเสริมการเกษตร สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง. “ยำผักงวม”.  อ้างอิงใน : หนังสือคู่มือการปรุงอาหารจากผักพื้นบ้านไทย (ยิ่งยง ไพสุขศานติวัฒนา).  [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : area-based.lpru.ac.th/veg/.  [14 ก.ค. 2015].
  3. สวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนถิ่นโอภาสวิทยา.  “งวม”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : plant.opat.ac.th.  [14 ก.ค. 2015].

ภาพประกอบ : plant.opat.ac.th, www.oknation.net (by คนเมืองแป้), www.reviewchiangmai.com

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด