หนาดดำ สรรพคุณของต้นหนาดดำ ! (เกี๋ยงพาช้าง)

หนาดดำ สรรพคุณของต้นหนาดดำ ! (เกี๋ยงพาช้าง)

หนาดดำ

หนาดดำ ชื่อวิทยาศาสตร์ Acilepis squarrosa D.Don (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Vernonia squarrosa (D.Don) Less.) จัดอยู่ในวงศ์ วงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)[1],[2]

สมุนไพรหนาดดำ มีชื่อเรียกอื่นว่า ม่วงนาง (ชัยภูมิ), เกี๋ยงพาช้าง (ภาคเหนือ)[2] บางตำราใช้ชื่อสมุนไพรชนิดนี้ว่า “หนาดคำ[1]

ลักษณะของหนาดดำ

  • ต้นหนาดดำ จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกอายุหลายปี ลำต้นตั้งตรง มีความสูงได้ประมาณ 40-100 เซนติเมตร มีขนสากมือ[1]

ต้นหนาดดำ

  • ใบหนาดดำ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปใบหอกแกมรูปไข่หรือรูปไข่กลับ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-8 เซนติเมตร ผิวใบด้านล่างมีขน[1]

ใบหนาดดำ

  • ดอกหนาดดำ ออกดอกเดี่ยวหรือออกเป็นช่อเล็ก ๆ ประมาณ 2-3 ดอก โดยจะออกตามซอกใบและที่ปลายกิ่ง ดอกมีขนาดประมาณ 1-2 เซนติเมตร กลีบดอกเป็นฝอยละเอียดสีม่วงเข้ม สีม่วงชมพู หรือสีม่วงแดง อัดกันแน่นอยู่บนกลีบเลี้ยงรูปถ้วยสีเขียว กลีบเลี้ยงเรียงซ้อนกันเป็นชั้นๆ ขึ้นไป สามารถออกได้ตลอดทั้งปี[1]

ดอกหนาดดำ

  • ผลหนาดดำ ผลเป็นผลแห้ง ไม่แตก มีขนนุ่ม มี 10 สัน[1]

สรรพคุณของหนาดดำ

  • ยาพื้นบ้านล้านนาจะใช้รากหรือต้นหนาดดำ นำมาผสมกับสมุนไพรต้นหรือรากผักอีหลืน ทั้งต้นสังกรณีดง ตรีชวาทั้งต้น และหัวยาข้าวเย็น ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาถอนพิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย (ต้น, ราก)[1]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “หนาดดำ”.  หน้า 224.
  2. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้.  “หนาดดำ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th.  [14 ก.ค. 2015].

ภาพประกอบ : crassa.cocolog-nifty.com

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด