หนาดดอย
หนาดดอย ชื่อสามัญ Winged Spermatowit[1]
หนาดดอย ชื่อวิทยาศาสตร์ Laggera pterodonta (DC.) Sch.Bip. ex Oliv. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Blumea pterodonta DC., Conyza ctenoptera Kunth, Laggera pterodonta (DC.) Benth.) จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)
สมุนไพรหนาดดอย มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หนาดเหลี่ยม (น่าน) ส่วนเชียงใหม่เรียก “หนาดดอย“[1]
ลักษณะของหนาดดอย
- ต้นหนาดดอย จัดเป็นไม้ล้มลุกฤดูกาลเดียว มีความสูงของต้นได้ถึง 2 เมตร ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง แตกกิ่งก้านเป็นสันสี่เหลี่ยมแผ่เป็นปีกบาง ๆ สีเขียว มีขนละเอียด[1]
- ใบหนาดดอย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลับแกมรูปขอบขนานถึงรูปไข่กลับ ใบบริเวณโคนต้นมีขนาดกว้างประมาณ 6-12 เซนติเมตร และยาวประมาณ 14-26 เซนติเมตร ส่วนใบบริเวณปลายกิ่งจะแคบกว่า โดยจะมีขนาดกว้างประมาณ 2-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-12 เซนติเมตร แผ่นใบมีขนละเอียดทั้งสองด้าน หลังใบเป็นสีเขียวหม่นถึงสีเขียวเข้ม ส่วนท้องใบเป็นสีเขียว[1]
- ดอกหนาดดอย ออกดอกเป็นช่อกระจุกแน่นแยกแขนงหรือเชิงหลั่น โดยจะออกตามซอกใบ มีชั้นใบประดับ กลีบดอกเป็นสีม่วงเข้ม เชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว[1]
- ผลหนาดดอย ผลเป็นผลแห้ง ลักษณะของผลเป็นรูปเส้นยาว ขอบเป็นสัน ไม่แตก และมีขนละเอียด[1]
สรรพคุณของหนาดดอย
- ตำรับยาพื้นบ้านล้านนาจะใช้หนาดดอยทั้งต้นผสมกับเหง้าไพล เหง้าขมิ้น ตำหมกไฟ ใช้เป็นยาพอกแก้ฝีหนอง ปวดบวม (ทั้งต้น)[1]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของหนาดดอย
- สารสกัดจากทั้งต้นมีฤทธิ์ต้านการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งในหลอดทดลองและมีฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัส แต่ควรมีการวิจัยเพิ่มเติมต่อไป[1]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “หนาดดอย”. หน้า 138.
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Hai Le)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)