หนาดคำ สรรพคุณและประโยชน์ของต้นหนาดคำ 15 ข้อ !

หนาดคำ สรรพคุณและประโยชน์ของต้นหนาดคำ 15 ข้อ !

หนาดคำ

หนาดคำ ชื่อวิทยาศาสตร์ Inula cappa (Buch.-Ham. ex D.Don) DC. จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)[1]

สมุนไพรหนาดคำ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เขืองแพงม้า หนาดดอย (ภาคเหนือ), พอปัวล่ะ ห่อเปรื่อะ ห่อเผื่อะ (กะเหรี่ยงเชียงใหม่), เพาะปกาล่า (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน) เป็นต้น[1],[3]

ลักษณะของหนาดคำ

  • ต้นหนาดคำ จัดเป็นไม้ล้มลุก มีอายุได้หลายปี ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง สูงได้ประมาณ 75-150 เซนติเมตร ส่วนโคนเนื้อค่อนข้างแข็ง ส่วนที่ยังอ่อนอยู่จะมีขนสีเทาแกมเหลืองปกคลุมหนาแน่น[1] ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย พบได้ตามที่เปิด ทุ่งหญ้า และตามป่าโปร่ง ที่ระดับความสูง 800-1,600 เมตร จากระดับน้ำทะเล[2]

ต้นหนาดคำ

  • ใบหนาดคำ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-20 เซนติเมตร มีขนเหนียวติดมือที่ผิวด้านหลังใบ ส่วนท้องใบมีขนละเอียดยาวเป็นมันสีเงินแกมเทา[1],[2]

ใบหนาดคำ

  • ดอกหนาดคำ ออกดอกเป็นช่อกระจุก โดยจะออกตามซอกใบและที่ปลายกิ่ง มีก้านช่อดอกมาก ดอกย่อยไม่มีก้าน หรือมีก้านสั้น กลีบดอกเป็นสีเหลืองทอง มีชั้นใบประดับ ออกดอกในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์[1],[2]

หนาดคํา

ดอกหนาดคำ

  • ผลหนาดคำ ผลเป็นผลแห้ง ไม่แตก ลักษณะของผลเป็นรูปขอบขนาน ผลมีขนยาวสีเทา[1]

สรรพคุณของหนาดคำ

  1. ชาวเขาเผ่าแม้วจะใช้รากหนาดคำนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาบำรุงกำลัง แก้อาการอ่อนเพลีย (ราก)[1]
  2. ตำรับยาพื้นบ้านล้านนาจะใช้รากหนาดคำ ฝนกับน้ำกินอย่างน้อยครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ เป็นยาแก้แพ้อาหาร (ราก)[1]
  3. ตำรายาพื้นบ้านจะใช้ใบหนาดคำ นำมาต้มกับน้ำกินช่วยย่อยอาหาร (ใบ)[1]
  1. รากใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ท้องร่วง (ราก)[3]
  2. ตำรายาไทยจะใช้รากเป็นยาแก้นิ่ว ขับปัสสาวะ (ราก)[1]
  3. รากหนาดคำใช้ผสมกับรากกระดูกไก่ และรากหนาด (Inula polygonata DC.) ฝนกับน้ำกินเป็นยารักษาอาการประจำเดือนไม่ปกติ แก้ผิดเดือน ผิดสาบ (ราก)[1]
  4. ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนจะใช้ต้นนำมาต้มกับน้ำอาบแก้อาการลมผิดเดือน (ต้น)[3]
  5. รากใช้ต้มกับน้ำกินจะช่วยให้คลอดบุตรง่ายขึ้น (ราก)[1]
  6. รากมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไตพิการ (ราก)[1]
  7. รากใช้ฝนกับน้ำกินอย่างน้อยครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ เป็นยาแก้ผื่นคัน (ราก)[1]
  8. ใบใช้ตำพอกหรือคั้นเอาน้ำทารักษาแผลสด แผลถลอก และใช้ห้ามเลือด (ใบ)[1]
  9. ใบนำมาย่างไฟแล้วนำมาพันขาจะช่วยบรรเทาอาการปวด (ใบ)[3]
  10. ใบนำมาอังไฟใช้ประคบบริเวณที่มีอาการเคล็ด ปวดบวม (ใบ)[3]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของหนาดคำ

  • น้ำมันหอมระเหยจากดอกและเมล็ดหนาดคำ มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด โดยเฉพาะเชื้อที่ทำให้เกิดอาการท้องร่วง และเชื้อที่ทำให้เกิดแผลพุพอง[1]

ประโยชน์ของหนาดคำ

  • ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนจะใช้ยอดอ่อนนำมาลวกกินกับน้ำพริก[3]
  • ใช้เป็นอาหารสัตว์พวกเคี้ยวเอื้องได้ดี[2]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “หนาดคำ”.  หน้า 130.
  2. หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 1.  “หนาดคำ”.
  3. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “หนาดคำ”.  อ้างอิงใน :  หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th.  [01 ต.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Michael Wieser, 阿橋, Bryan To)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด