22 สรรพคุณและประโยชน์ของหญ้าเกล็ดหอยเทศ !

หญ้าเกล็ดหอยเทศ

หญ้าเกล็ดหอยเทศ ชื่อวิทยาศาสตร์ Hydrocotyle sibthorpioides Lam.[1],[3] จัดอยู่ในวงศ์เล็บครุฑ (ARALIACEAE)

สมุนไพรหญ้าเกล็ดหอยเทศ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หญ้าเกล็ดหอย (ภาคกลาง), เกล็ดหอย หญ้าเกล็ดหอยเล็ก (ไทย), โพวตี่กิ้ม เทียงโอ่วซุย (จีนแต้จิ๋ว), เทียนหูซุยพูตี้จิ่น (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของหญ้าเกล็ดหอยเทศ

  • ต้นหญ้าเกล็ดหอย จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกขนาดเล็ก ลำต้นมีลักษณะเป็นเส้นเล็กยาวแผ่สาขา เลื้อยไปตามหน้าดิน ปกคลุมดินเป็นแผ่น ยาวประมาณ 10-50 เซนติเมตร ลำต้นเป็นข้อ ๆ ตามลำต้นมีข้อจะแตกรากฝอยยึดดิน ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ดและการแยกลำต้น เป็นพรรณไม้ที่ขึ้นได้ดีในที่ชุ่มชื้น มีเขตการกระจายพันธุ์ในเขตร้อน พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย โดยมักพบขึ้นเองตามที่โล่งชุ่มชื้น ตามแหล่งน้ำ หน้าผา หินปูน และตามที่รกร้างทั่วไป ที่ระดับต่ำจนถึงระดับสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 2,100 เมตร[1],[2],[3]

ต้นหญ้าเกล็ดหอยเทศ

หญ้าเกล็ดหอยเทศ

  • ใบหญ้าเกล็ดหอย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปค่อนข้างกลมหรือคล้ายรูปไต โคนใบเว้าเข้าหากันเป็นรูปหัวใจ ส่วนริมขอบใบมีรอยหยักประมาณ 5-7 หยัก (แต่บางครั้งถึง 9 หยัก) มีฟันเลื่อย 2-3 รอย ใบมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5-2 เซนติเมตร แผ่นใบบาง หลังใบเป็นสีเขียวเข้มและเป็นมัน ส่วนท้องใบเป็นสีขาวและมีขนสั้นอ่อนนุ่มขึ้นปกคลุมเล็กน้อย เส้นใบออกจากโคนใบ จำนวนเท่ากับหยักของแต่ละใบ ก้านใบเป็นเส้นบางเล็ก ยาวได้ประมาณ 1-8 เซนติเมตร[1],[2],[3]

หญ้าเกล็ดหอยเล็ก

  • ดอกหญ้าเกล็ดหอย ออกดอกเป็นช่อหรือออกเป็นกระจุกคล้ายร่ม โดยจะออกตามบริเวณข้อของลำต้นหรือตามง่ามใบ ในช่อหนึ่งจะมีดอกย่อยประมาณ 10-15 ดอก ลักษณะของดอกเป็นสีเขียวอมขาวหรือสีแดงอ่อน มีขนาดเล็กมาก กลีบดอกเป็นรูปกลมรี มี 5 กลีบ เกสรเพศผู้มี 5 อัน รังไข่มี 2 ช่อง ในแต่ละช่องจะมีออวุล 1 เม็ด ส่วนยอดเกสรเพศเมียมี 2 อัน ก้านดอกสั้นมากหรือไร้ก้าน[1],[2],[3]

โพวตี่กิ้ม

ดอกหญ้าเกล็ดหอยเทศ

  • ผลหญ้าเกล็ดหอย ผลออกเป็นคู่ มีลักษณะแบน และเหลี่ยมคล้ายรูปหัวใจ ผิวผลเป็นมันและมีแต้มเป็นจุด ผลกว้างประมาณ 1.5-2 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 1-1.25 มิลลิเมตร ส่วนเมล็ดมีขนาดเล็กมาก[1],[2],[3]

สรรพคุณของหญ้าเกล็ดหอย

  1. ทั้งต้นมีรสขมฝาด เผ็ดเล็กน้อย มีกลิ่นหอม เป็นยาเย็นออกฤทธิ์ต่อตับ ไต และม้าม ใช้เป็นยาดับพิษร้อนถอนพิษไข้ ช่วยแก้อาการร้อนใน (ทั้งต้น)[2]
  2. ลำต้นนำมาต้มเอาน้ำกินเป็นยาแก้ไข้ (ลำต้น)[1]
  3. ช่วยแก้อาการไอ ไอกรน (ลำต้น, ทั้งต้น)[1],[2] ใช้เป็นยาแก้ไอสำหรับเด็ก แต่ถ้าใช้มากเกินไปอาจทำให้อาเจียนได้ (ทั้งต้น)[3]
  4. ช่วยขับเสมหะ (ทั้งต้น)[2]
  5. ช่วยแก้ตาแดง รักษาตาเป็นต้อ (ลำต้น, ทั้งต้น)[1],[2]
  1. ช่วยแก้อาการเจ็บคอ คออักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบ ด้วยการใช้หญ้าเกล็ดหอย 50 กรัม นำไปต้มหรือตำคั้นเอาน้ำผสมกับเกลือ ใช้รับประทานหรืออมแก้อาการเจ็บคอ (ลำต้น, ทั้งต้น)[1],[2]
  2. ใช้รักษาโรคบิดถ่ายเป็นมูกเลือด (ลำต้น, ทั้งต้น)[1],[2]
  3. ช่วยแก้อาการท้องมาน บวมน้ำ (ทั้งต้น)[2]
  4. ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ขับนิ่วในไต ขับนิ่วในทางเดินปัสสาวะ แก้ทางเดินปัสสาวะติดเชื้อ (ลำต้น, ทั้งต้น)[1],[2]
  5. ช่วยแก้ดีพิการ (ลำต้น)[2]
  6. ช่วยแก้ตับอักเสบ ตับแข็ง (ลำต้น)[1]
  7. ช่วยแก้ดีซ่าน ตำรับยารักษาตับอักเสบติดเชื้อแบบดีซ่าน จะใช้ต้นสด 30-60 กรัม นำมาตำคั้นเอาน้ำผสมกับเหล้าแบ่งรับประทานวันละ 2 ครั้ง ติดต่อกันประมาณ 4-7 วัน[2] จากการรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคดีซ่านการอักเสบเฉียบพลันจำนวน 10 คน โดยใช้ลำต้นสดประมาณ 30-60 กรัม ใส่น้ำและเหล้าหมักจากข้าวเหนียว อย่างละเท่ากัน นำมาตุ๋นเป็นยากินหลังอาหารเช้าและอาหารกลางวัน พบว่าคนไข้หายตัวเหลืองทั้งหมด (ลำต้น, ทั้งต้น)[3]
  8. ใช้เป็นยาห้ามแผลสด โดยเฉพาะแผลที่ปลิงและทากดูด (ทั้งต้น) Hydrocotyle sibthorpioides
  9. ลำต้นนำมาคั้นเอาน้ำใช้ทารักษาแผลมีหนองเรื้อรัง แผลเป็นตุ่มพองรอบเอว ฝีอักเสบเรื้อรังมีหนอง หูอักเสบมีหนอง (ลำต้น, ทั้งต้น)[1],[2]
  10. ลำต้นนำมาคั้นเอาน้ำใช้ทารักษาบริเวณที่เป็นผื่นคัน ใช้แก้โรคผิวหนัง แก้บวม ปวดบวม แก้ฟกช้ำจากการหกล้ม (ลำต้น, ทั้งต้น)[1],[2],[3]
  11. ใช้แก้งูสวัด ด้วยการใช้หญ้าเกล็ดหอยนำมาตำให้ละเอียด แล้วนำไปแช่ในแอลกอฮอล์ 6 ชั่วโมง จากนั้นนำมาทาบริเวณที่เป็นแผล (ทั้งต้น)[2]
  12. ลำต้นนำมาต้มเอาน้ำกินเป็นยาแก้บวม (ลำต้น)[1]

ขนาดและวิธีใช้ : การใช้ตาม [1] ต้นสดให้ใช้ครั้งละประมาณ 30-60 กรัม ส่วนแบบแห้งให้ใช้ครั้งละ 10-20 กรัม นำมาต้มเอาน้ำกินเป็นยา ส่วนการใช้ภายนอกให้กะปริมาณตามความเหมาะสม[1],[2]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของหญ้าเกล็ดหอย

  • สารที่พบ คือสารจำพวก Flavonoid glycoside และสารจำพวก Phenols และ Amino acid, Coumarin, Hyperin อีกทั้งยังพบน้ำมันระเหยต่าง ๆ[2]
  • น้ำต้มจากหญ้าเกล็ดหอยเทศ ในความเข้มข้น 1:1 จะสามารถยับยั้งแบคทีเรียในกลุ่ม Strepto coccus และ Staphylo coccus ได้ อีกทั้งยังมีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อบิดหรือเชื้อไทฟอยด์ได้ดีอีกด้วย[2]

ประโยชน์ของหญ้าเกล็ดหอย

  1. ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับคลุมดินทั่วไปตามบ้าน[1]
  2. สำหรับสัตว์เลี้ยงที่มีอาการป่วยเป็นไข้ ให้ใช้ลำต้นหญ้าเกล็ดหอยสดประมาณ 250 กรัม นำมาตำคั้นเอาน้ำให้สัตว์เลี้ยงกิน[1]
  3. หากวัวมีอาการเจ็บคอหรือคออักเสบ ให้ใช้ลำต้นสดและโล้ยเถ่าเช่าสด อย่างละ 1 กำมือ นำมาตำคั้นเอามาผสมกับน้ำเล็กน้อยให้วัวกิน[1]
  4. สัตว์เลี้ยงที่เยื่อตาอักเสบ ให้รักษาโดยใช้ลำต้นหญ้าเกล็ดหอยสด นำมาคั้นเอาน้ำผสมกับเกลือเล็กน้อย แล้วนำไปป้ายตา[1]
  5. หมูที่เป็นไตอักเสบ บวมน้ำ ให้ใช้ลำต้นสด ผักกาดสด มั่งแส่โชย และกึงป๊วก อย่างละ 39 กรัม นำมาต้มเอาน้ำผสมกับน้ำเต้าหู้ ประมาณครึ่งชามและน้ำตาลทราย 60 กรัม ให้หมูกิน[1]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “หญ้าเกล็ดหอย”.  หน้า 799-801.
  2. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “หญ้าเกล็ดหอยเทศ”.  หน้า 576.
  3. ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “หญ้าเกล็ดหอย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/.  [05 ก.ย. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by CANTIQ UNIQUE,  Ahmad Fuad Morad, Sergiu Ciubotariu, Siyang Teo, Friends of Chiltern Mt Pilot National Park)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด