หญ้าหวาน สรรพคุณและประโยชน์ของหญ้าหวาน 14 ข้อ !

หญ้าหวาน สรรพคุณและประโยชน์ของหญ้าหวาน 14 ข้อ !

หญ้าหวาน

หญ้าหวาน ชื่อสามัญ Stevia (สตีเวีย)

หญ้าหวาน ชื่อวิทยาศาสตร์ Stevia rebaudiana (Bertoni) Bertoni (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Eupatorium rebaudianum Bertoni, Stevia rebaudiana (Bertoni) Hemsl.) จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE) เป็นพืชพื้นเมืองของประเทศบราซิลและทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศปารากวัยในทวีปอเมริกาใต้

ทำไมถึงเรียกว่าหญ้าหวาน ? นั่นเป็นเพราะว่าในส่วนของใบหญ้าหวานนั้นมีความหวานมากกว่าน้ำตาลถึง 10-15 เท่า แต่เป็นความหวานที่ไม่ก่อให้เกิดพลังงาน และที่สำคัญก็คือสารสกัดที่ได้จากหญ้าหวานที่มีชื่อว่า สตีวิโอไซด์ (Stevioside) นั้นเป็นสารที่ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลถึง 200-300 เท่า ! และด้วยความที่มันมีคุณสมบัติพิเศษอย่างนี้ หญ้าหวานจึงเป็นพืชที่กำลังได้รับความสนใจจากผู้รักสุขภาพเป็นอย่างมาก โดยได้มีการนำไปใช้ในด้านอุตสาหกรรมต่าง ๆ อย่างเครื่องดื่ม ยาสมุนไพร และด้านการแพทย์

ซึ่งแน่นอนว่าชาวพื้นเมืองในประเทศปารากวัยก็รู้จักนำหญ้าหวานมาสกัดเพื่อใช้ในการบริโภคหลายศตวรรษแล้ว โดยนำมาใช้ผสมในเครื่องดื่ม ชงกับชา ฯลฯ และสำหรับต่างประเทศ อย่างประเทศญี่ปุ่นก็ได้มีการใช้สารสกัดดังกล่าวมานานมากเป็นสิบ ๆ ปีแล้ว โดยนำไปใช้ผสมกับผลิตภัณฑ์อาหารต่าง ๆ เช่น เต้าเจี้ยว ซีอิ๊ว ผักดอง เนื้อปลาบด เป็นต้น

สำหรับในประเทศไทย หญ้าหวานได้เริ่มเข้ามามีบทบาทในภายหลัง และได้มีการนำเข้ามาปลูกในช่วงปี พ.ศ.2518 โดยได้มีการนำมาเพาะปลูกในภาคเหนือ ซึ่งจะเพาะปลูกกันมากในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา และลำพูน เนื่องจากพืชนิดนี้จะชอบอากาศที่ค่อนข้างเย็น ในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิประมาณ 20-26 องศาเซลเซียส และพืชชนิดนี้จะเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดีเมื่อเพาะปลูกในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 600-700 เมตร

หญ้าหวานสมุนไพรอันตราย สู่สมุนไพรเพื่อสุขภาพ

หญ้าหวานมีการใช้กันอย่างกว้างขวางยาวนานโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกาใต้ เมื่อปี ค.ศ.1887 ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีรายงานว่ามันเป็นอันตรายแต่อย่างใด จนกระทั่งต่อมาในปี ค.ศ.1985 ก็ได้มีผลงานวิจัยทางด้านลบของหญ้าหวานออกมา โดยนักวิทยาศาสตร์ที่ชื่อ John M. Pezzuto และคณะ ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน ได้สรุปผลการวิจัยและตีพิมพ์ลงในวารสาร Proc. Nati. Acad. Sci. โดยระบุว่าหญ้าหวานนั้นอันตราย เพราะทำให้เกิดการ Mutagenic สูงมากในหนูทดลอง ซึ่งจากผลงานวิจัยนี้เอง ส่งผลให้องค์การอาหารและยาของสหรัฐ (FDA) ออกมาประกาศว่าหญ้าชนิดนี้ไม่ปลอดภัยและห้ามใช้เป็นสารปรุงแต่งในอาหาร และส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยด้วย (ขณะนั้นนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี)

หญ้าหวาน

ต่อมาในปี ค.ศ.1991 มีนักวิทยาศาสตร์ที่ชื่อว่า Emily Procinska และคณะ ได้ออกมาค้นคว้ารายงานวิจัยของ John M. Pezzuto ว่าอาจมีข้อผิดพลาด โดยตีพิมพ์ในวารสาร Mutagenesis ระบุว่า หญ้าหวานไม่มีผลทำให้เกิด Mutagenic แต่อย่างใด ทั้งนี้ได้ทำการทดลองซ้ำอยู่หลายครั้ง หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็ได้มีรายงานต่าง ๆ ออกตามมาอีกมากมายที่ระบุว่าผลของ mutagenic ในสารสกัดหญ้าหวานมีผลน้อยมาก หรืออาจจะมีผลบ้างเล็กน้อย และต่อมาได้มีการตรวจสอบความเป็นพิษพบว่า งานวิจัยส่วนมากระบุว่าหญ้าหวานไม่มีพิษ และไม่มีหลักฐานใด ๆ ระบุว่าหญ้าชนิดนี้อาจจะทำให้เกิดข้อบกพร่องหรือเกิดโรคมะเร็งแต่อย่างใด

แต่กระนั้นก็ตาม FDA ของสหรัฐเองก็ยังไม่สั่งระงับการห้ามใช้หญ้าหวานแต่อย่างใด จนในที่สุดองค์การอนามัยโลกหรือ WHO (World Health Organization) ได้ยื่นมือเข้ามาไกล่เกลี่ย และได้รายงานการประเมินผลอย่างละเอียดจากงานวิจัยต่าง ๆ และได้ระบุว่าหญ้าชนิดนี้ไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด และในที่สุดเมื่อปี ค.ศ.2009 ที่ผ่านมา FDA สหรัฐฯ ก็ได้มีการประกาศว่าหญ้าหวานเป็นพืชที่ปลอดภัย และให้การยอมรับว่าเป็น GRAS (Generally Recognized As Safe)

และจากผลงานวิจัยของทีมวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ข้อสรุปว่า สารสกัดจากหญ้าหวานมีความปลอดภัยในทุก ๆ กรณี โดยค่าสูงสุดที่กินได้อย่างปลอดภัยคือ 7,938 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งสูงมากถ้าเทียบกับการผสมในเครื่องดื่มหรือกาแฟถึง 73 ถ้วยต่อวัน ซึ่งเป็นไปไม่ได้แน่นอน เพราะคนส่วนใหญ่กินกันประมาณ 2-3 ก็ถือว่ามากเพียงพอต่อวันแล้ว ซึ่งการใช้หญ้าหวานอย่างปลอดภัย คือ ประมาณ 1-2 ใบต่อเครื่องดื่ม 1 ถ้วย ถือเป็นปริมาณที่เหมาะสมและไม่หวานมากจนเกินไป

ในปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก็ได้มีการขึ้นทะเบียนให้สามารถใช้สารสตีวิโอไซด์เพื่อการบริโภคแทนน้ำตาลได้ เพราะมีความปลอดภัยสูง มีพิษเฉียบพลันต่ำ ไม่เป็นอันตรายหรือมีผลข้างเคียงใด ๆ และที่สำคัญหญ้าหวานยังจัดให้อยู่ในหมวดพืชสมุนไพรชนิดหนึ่งอีกด้วย

ฤทธิ์ในการออกรสหวานของสารสตีวิโอไซด์จะไม่เหมือนกับน้ำตาลซะทีเดียว เนื่องจากสารสตีวิโอไซด์จะออกรสหวานช้ากว่าน้ำตาลทรายเล็กน้อย และรสหวานของสารสตีวิโอไซด์จะจางหายไปช้ากว่าน้ำตาลทราย นอกจากนี้สารดังกล่าวยังเป็นสารที่ไม่มีคุณค่าทางอาหารแต่อย่างใด เพราะมีแคลอรีต่ำมากหรือไม่มีเลย และจะไม่ถูกย่อยให้เกิดเป็นพลังงานกับร่างกาย แต่จากข้อด้อยตรงนี้นี่เองก็ถือเป็นจุดเด่นที่เหมาะอย่างมากสำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิต โรคอ้วน และโรคหัวใจ

ชาหญ้าหวาน

ลักษณะของหญ้าหวาน

  • ต้นหญ้าหวาน เป็นพืชล้มลุกอายุประมาณ 3 ปี ลักษณะเป็นพุ่มเตี้ย มีความสูงประมาณ 30-90 เซนติเมตร มีลำต้นแข็งและกลม ลักษณะทั่วไปคล้ายต้นโหระพา ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ดและการใช้กิ่งชำปลูก

ต้นหญ้าหวาน

  • ใบหญ้าหวาน ใบเป็นใบเดี่ยว ลักษณะของใบคล้ายรูปหอกหัวกลับ ขอบใบหยักคล้ายฟันเลื่อย มีรสหวานมาก ใช้แทนน้ำตาลได้

สมุนไพรหญ้าหวาน

  • ดอกหญ้าหวาน ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ดอกมีสีขาว ดอกเล็ก กลีบเป็นรูปไข่สีขาวเล็กมาก มีเกสรตัวผู้เป็นสีขาวงอไปมา ยื่นออกมาเล็กน้อย

ดอกหญ้าหวาน

สรรพคุณของหญ้าหวาน

  1. สมุนไพรหญ้าหวานช่วยเพิ่มกำลังวังชา
  2. ช่วยให้เลือดไปเลี้ยงสมองมากขึ้น
  3. ช่วยในการรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวาน ลดระดับน้ำตาลในเส้นเลือด เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
  4. ช่วยลดไขมันในเลือดสูง
  5. ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง และโรคอ้วน
  6. ช่วยบำรุงตับ
  7. ช่วยสมานแผลทั้งภายในและภายนอก

ประโยชน์ของหญ้าหวาน

  1. ช่วยเพิ่มการรับประทานอาหารและช่วยลดความขมในอาหารได้
  2. ใช้เป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาล โดยไม่ทำให้น้ำตาลในเลือดสูง
  3. หญ้าหวานทางเลือกของคนอ้วน ให้ความหวานเหมือนน้ำตาล แต่ไม่ให้พลังงาน รับประทานเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน จึงช่วยในการควบคุมน้ำหนักได้เป็นอย่างดี
  4. มีการนำหญ้าหวานไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปต่าง ๆ โดยปัจจุบันนิยมบริโภคหญ้าหวานอยู่ด้วยกัน 5 รูปแบบ โดยเรียงลำดับจากมากไปน้อย ได้แก่ ใบอบแห้ง, ใบแห้งบดสำหรับชงแบบสำเร็จรูป (ชาหญ้าหวาน), ใบสด, ใบแห้งบดสำหรับใช้แทนน้ำตาล (หญ้าหวานผง), และแบบสารสกัดจากใบแห้งด้วยน้ำ โดยจะนิยมนำมาชงเป็นชาดื่ม รองลงมาก็คือ การนำมาต้มและเคี้ยว แต่จะไม่ค่อยนิยมนำมาบริโภคในแบบผสมกับอาหารเท่าใดนัก
  5. มีการนำสารสกัดจากหญ้าหวานมาใช้แทนน้ำตาล หรือใช้ทดแทนน้ำตาลบางส่วน เพราะสารสตีวิโอไซด์นั้นมีความทนทานต่อกรดและความร้อนได้เป็นอย่างดี จึงสามารถนำมาใช้ในอาหารและเครื่องดื่มต่าง ๆ ได้อย่างหลากหลาย เช่น น้ำอัดลม น้ำชาเขียว ขนมเบเกอรี แยม เยลลี ไอศกรีม ลูกอม หมากฝรั่ง ซอสปรุงรส ฯลฯ (ล่าสุดได้ยินมาว่าเครื่องดื่มแบรนด์ดังอย่างโคคา โคล่า ก็ได้มีจดสิทธิบัตรและได้ทำการผลิตโดยใช้สารสกัดนี้แล้วเหมือนกัน แต่ยังไม่เห็นจำหน่ายในไทย ซึ่งถ้ามีมาเมื่อไหร่ก็ถือเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่ไม่อยากดื่มน้ำตาลเป็นซอง ๆ)
  6. ในอุตสาหกรรมอาหาร สารสกัดจากหญ้าหวานถือว่ามีข้อดีหลายอย่าง เช่น การไม่ถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ เมื่อนำมาใช้กับอาหารจึงไม่ทำให้อาหารเกิดเน่าบูด ไม่ทำให้อาหารเกิดสีน้ำตาลเมื่อผ่านความร้อนสูง ๆ และที่สำคัญก็คือ จะไม่ถูกดูดซึมในระบบย่อยอาหาร จึงเหมาะอย่างมากสำหรับผู้ที่เป็นโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิต และโรคหัวใจ
  7. สารสตีวิโอไซด์ นอกจากจะใช้ในอาหารและเครื่องดื่มแล้ว ปัจจุบันยังมีการนำไปใช้แทนน้ำตาลในการผลิตยาสีฟันอีกด้วย

หญ้าหวาน อันตรายหรือไม่ ?

มีความกังวลว่าสารสกัดดังกล่าวสามารถทำให้เป็นหมันได้หรือไม่ ? แล้วมันจะไปขัดขวางการดูดซึมของสารอาหารอื่น ๆ ในร่างกายด้วยหรือเปล่า ? เพราะเคยมีรายงานระบุว่าชาวปารากวัยกินหญ้าหวานแล้วทำให้เป็นหมันหรือไปลดจำนวนของอสุจิลง จนทำให้ประเทศไทยได้ใช้ประเด็นนี้ในการอ้างไม่อนุญาตให้มีการใช้หญ้าหวาน ซึ่งจากรายงานต่าง ๆ ที่ประชุมได้สรุปข้อมูลจากรายงานต่าง ๆ และได้มีการยืนยันว่าสารสกัดดังกล่าว เมื่อป้อนในหนูทดลองถึง 3 ชั่วอายุ จำนวน 3 รุ่น ไม่พบการก่อการกลายพันธุ์แต่อย่างใด หมายความว่าหนูทดลองยังคงขยายพันธุ์ได้เป็นปกติ และในญี่ปุ่นก็ไม่ได้มีการห้ามใช้หรือกลัวประเด็นนี้ เพราะมีการใช้มายาวนานถึง 17 ปี โดยไม่พบว่ามีแนวโน้มความเป็นพิษแต่อย่างใด

ความเห็นส่วนตัว : ผู้เขียนมีแนวโน้มจะเชื่อว่าหญ้าหวานปลอดภัยในทุก ๆ กรณี หากเรารู้จักใช้ให้เหมาะกับโรค และใช้อย่างเหมาะสม ไม่รับประทานติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ก็ไม่น่าจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพแต่อย่างใด นอกจากนี้สารให้ความหวานชนิดนี้ยังมีผลกระทบต่อบริษัทผู้ผลิตสารให้ความหวานจากการสังเคราะห์ในประเทศ รวมไปถึงนำเข้าสารสังเคราะห์ความหวานจากต่างประเทศ จึงอาจจะมีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องอยู่บ้าง แต่อย่างไรก็ตาม สารให้ความหวานชนิดนี้ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อการผลิตน้ำตาลในประเทศ เนื่องจากเป็นคนละกลุ่ม คนละตลาด กลุ่มหนึ่งสำหรับผู้รักสุขภาพ และอีกกลุ่มสำหรับคนทั่วไป เพราะการจะใช้สารสกัดจากหญ้าหวานในชีวิตประจำวันเป็นหลักนั้น จึงเป็นไปได้ยากและเป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน

แหล่งอ้างอิง : มูลนิธิสุขภาพไทย, ฝ่ายวิชาการสถาบันการแพทย์แผนไทย, รองศาสตราจารย์ ดร. วีรชัย พุทธวงศ์ (ภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์), ทีมวิจัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สารานุกรมไทยรวมหลักเภสัชกรรมไทย (วุฒิ วุฒิธรรมเวช), เว็บไซต์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด