หญ้าพันงูแดง
หญ้าพันงูแดง ชื่อวิทยาศาสตร์ Cyathula prostrata (L.) Blume จัดอยู่ในวงศ์บานไม่รู้โรย (AMARANTHACEAE)[1],[2]
สมุนไพรหญ้าพันงูแดง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หญ้าพันงูเล็ก (นครราชสีมา), ควยงูน้อย หญ้าควยงู งูน้อย (ภาคเหนือ), พันงูแดง หญ้าพันธุ์งูแดง (ภาคกลาง), อั้งเกย ซั้งพี พีไห่ (จีนแต้จิ๋ว), เปยเซี่ยน (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[2],[3]
ลักษณะของหญ้าพันงูแดง
- ต้นหญ้าพันงูแดง จัดเป็นพรรณไม้พุ่มขนาดเล็ก มีอายุปลายปี มีลำต้นสูงประมาณ 1-2.5 ฟุต ลำต้นมีลักษณะเป็นข้อมีสีแดง ลำต้นเป็นเหลี่ยมมนสีแดง ผิวเปลือกลำต้นเรียบเกลี้ยงหรือมีขนเล็กน้อยตามลำต้นหรือกิ่งก้าน เป็นพรรณไม้ที่ชอบขึ้นตามพื้นที่ลุ่มชื้นแฉะ หรือในที่ร่มทั่วไป และตามชายป่า โดยมักขึ้นเองตามธรรมชาติ[1],[2]
- ใบหญ้าพันงูแดง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลับ ปลายใบแหลม โคนใบมน ส่วนขอบใบเรียบไม่มีหยัก ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-6 เซนติเมตร แผ่นใบมีสีเขียวอมแดง เส้นใบเป็นสีแดงเมื่อแก่[1],[3]
- ดอกหญ้าพันงูแดง ออกดอกเป็นช่อตั้งออกที่ปลายกิ่งหรือตามซอกใบ ช่อดอกยาวประมาณ 7.5-18 นิ้ว ปลายช่อมีดอกออกเป็นกระจุกรวมกัน โคนช่อจะมีดอกห่างกัน รอบก้านช่อดอกมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ ดอกมีสีเขียวมีขนอ่อน ไม่มีกลีบ ดอกมีเกสรเป็นเส้นสีชมพู 9 เส้น[1],[2]
- ผลหญ้าพันงูแดง ผลเป็นแห้ง ลักษณะของผลเป็นรูปสามเหลี่ยมผิวเรียบ ภายในผลมีเมล็ดสรน้ำตาลเป็นมัน ผลเป็นผลแห้งและแตกได้[1]
สรรพคุณของหญ้าพันงูแดง
- ใบมีรสจืด สรรพคุณเป็นยาแก้โรคซาง (ใบ)[1]
- ใช้แก้โรคเป็นเม็ดตุ่มในช่องปากของเด็ก (ใบ)[1]
- ทั้งต้นมีรสจืด นำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้เบื่อเมา (ทั้งต้น)[1],[2],[4]
- ทั้งต้นเป็นยาเย็นเล็กน้อย ใช้เป็นยาขับพิษร้อนถอนพิษไข้ (ทั้งต้น)[3]
- ใช้เป็นยาแก้ไข้ตรีโทษ (ทั้งต้น)[1]
- ใช้เป็นยาแก้ไอ ด้วยการใช้ทั้งลำต้นสดนำมาต้มเอาน้ำกิน (ทั้งต้น)[1],[2],[3] ส่วนที่ประเทศมาเลเซียจะนำมาตำใช้เป็นยาทารอบคอแก้อาการไอ (ไม่แน่ใจว่าใช้ส่วนของรากหรือทั้งต้น)[4]
- ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาขับเสมหะ (ทั้งต้น)[1],[2],[3]
- ใช้เป็นยาแก้คออักเสบ (ใบ)[1]
- ใช้แก้เม็ดในคอ (ใบ)[4]
- ดอกมีรสจืด สรรพคุณเป็นยาแก้เสมหะที่คั่งในทรวงอก (ดอก)[1],[4]
- ใช้เป็นยาแก้บิด แก้บิดติดเชื้อ ด้วยการใช้ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำกิน (ทั้งต้น)[1],[2],[3] ส่วนในมาเลเซียจะใช้รากปรุงเป็นยาต้มแก้บิด (ราก)[4]
- ที่มาเลเซียจะใช้เป็นยาท้องเมื่อเป็นพยาธิ (ไม่แน่ใจว่าใช้ส่วนของรากหรือทั้งต้น)[4]
- รากมีรสจืด สรรพคุณเป็นยาแก้ปัสสาวะหยดย้อย ปัสสาวะกะปริบกะปรอย (ราก)[1]
- ทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้ขัด ช่วยขับปัสสาวะ แก้นิ่ว ขับนิ่ว ด้วยการใช้ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำกิน (ทั้งต้น)[1],[2],[4] ดอกใช้เป็นยาแก้นิ่ว ละลายก้อนนิ่ว (ดอก)[1],[4]
- ช่วยขับโลหิตประจำเดือนของสตรี ด้วยการใช้ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำกิน (ทั้งต้น)[1],[2],[4]
- ใบใช้เป็นยาตำพอกแก้โรคเริม งูสวัด ขยุ้มตีนหมา (ใบ)[1]
- ช่วยแก้อาการบวมอันเนื่องมาจากตับและม้ามโต (ทั้งต้น)[3]
- ทั้งต้นใช้ตำพอกหรือทาแก้โรคผิวหนัง (ทั้งต้น)[1],[2],[4]
- ทั้งต้นใช้ตำพอกแก้พิษตะขาบ แมงป่อง พิษงู (ทั้งต้น)[1],[2],[3]
- ช่วยแก้พิษฝี ใช้รักษาฝีหนองภายนอก (ทั้งต้น)[1],[3]
- ช่วยแก้อาการปวดบวม บรรเทาอาการปวดและอักเสบ (ทั้งต้น)[3],[5]
- ช่วยแก้อาการฟกช้ำ (ทั้งต้น)[3]
หมายเหตุ : การใช้ยาตาม [3] ถ้าเป็นต้นสดให้ใช้ครั้งละ 30-60 กรัม สวนต้นแห้งให้ใช้เพียง 20-30 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน ถ้าใช้ภายนอกให้เลือกใช้ต้นสดนำมาตำพอกบริเวณที่เป็น[3]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของหญ้าพันงูแดง
- จากการศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบและแก้ปวดของสารสกัดเมทานอลจากหญ้าพันงูแดง โดยการป้อนสารสกัดในขนาด 50, 100, และ 200 มก./กก.น้ำหนักตัว ให้แก่หนูแรท พบว่าสามารถช่วยลดอาการบวมอักเสบบริเวณอุ้งเท้าที่เกิดจากการทำให้ปวดด้วยคาร์ราจีแนน (carageenan) ได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยให้ผลดีใกล้เคียงกับการป้อนยาอินโดเมตทาซิน (Indomethacin) หรือยาแก้ปวดอักเสบในขนาด 10 มก./กก.น้ำหนักตัว และสารสกัดจากสมุนไพรชนิดนี้ยังสามารถยับยั้งการบวมของใบหูที่เกิดจากการฉีด arachidonic acid และ xylene ได้อย่างมีนัยสำคัญ แต่จะไม่มีผลยับยั้งการสร้าง nitric oxide และการแสดงออกของ cyclooxygenase-2 ของเซลล์ macrophage เมื่อทดสอบในหลอดทดลอง[5]
- สารสกัดจากหญ้าพันงูแดงในขนาด 200 มิลลิกรัม ยังแสดงฤทธิ์บรรเทาอาการปวดได้ใกล้เคียงกับการฉีดมอร์ฟีนในขนาด 10 มก./กก. น้ำหนักตัว (ทดสอบด้วยวิธี hot plate test) และยังช่วยระงับอาการปวดจากการฉีด acetic acid ได้อย่างมีนัยสำคัญ[5]
- ไม่พบฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระของหญ้าพันงูแดง เมื่อทำการทดสอบด้วยวิธี 1,1-diphenyl-2-picrylhydrazyl (DPPH) และการยับยั้งการเกิด lipid peroxidation[5]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “หญ้าพันงูแดง (Ya Phan Ngu Daeng)”. หน้า 319.
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “หญ้าพันงูแดง”. หน้า 807-808.
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “หญ้าพันงูแดง”. หน้า 596.
- พืชสมุนไพรโตนงาช้าง. “หญ้าพันงูแดง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: paro6.dnp.go.th/web_km/พืชสมุนไพรโตนงาช้าง/. [10 ก.ค. 2014].
- หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ฤทธิ์แก้ปวดและต้านการอักเสบของหญ้าพันงูแดง”. เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th. [10 ก.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Cerlin Ng, techieoldfox), www.pharmacy.mahidol.ac.th
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)