พันงูน้อย สรรพคุณและประโยชน์ของหญ้าพันงูน้อย 14 ข้อ !

พันงูน้อย สรรพคุณและประโยชน์ของหญ้าพันงูน้อย 14 ข้อ !

พันงูน้อย

พันงูน้อย ชื่อวิทยาศาสตร์ Achyranthes bidentata Blume (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Achyranthes bidentata var. longifolia Makino)[2] จัดอยู่ในวงศ์บานไม่รู้โรย (AMARANTHACEAE)[1]

สมุนไพรพันงูน้อย ยังมีชื่อตามท้องถิ่นอื่น ๆ อีกว่า หญ้าพันงูน้อย พันธุ์งูเล็ก พันงูเล็ก หญ้าพันงูเล็ก ควยงูน้อย (ไทย), หงู่ฉิก (จีนแต้จิ๋ว), หนิวชี (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของพันงูน้อย

  • ต้นพันงูน้อย จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 30-100 เซนติเมตร มีรากอยู่ใต้ดินยาวเล็ก มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.6-1 เซนติเมตร ลักษณะของลำต้นจะคล้ายกับหญ้าพันงูขาว แต่ก้านค่อนข้างเป็นสี่เหลี่ยมและมีสีน้ำตาลเหลือง[1]

หญ้าพันงูน้อย

  • ใบพันงูน้อย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเป็นคู่ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กว้าง ปลายใบและโคนใบแหลม ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2-10 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียว ผิวใบเรียบ ใบมีขนปกคลุมเล็กน้อย ก้านใบยาวประมาณ 5-20 มิลลิเมตร[1]

ใบหญ้าพันงูน้อย

  • ดอกพันงูน้อย ดอกมีขนาดเล็กสีเขียวมีสีขาวปนแดง โดยจะออกที่ง่ามใบและปลายกิ่ง มีกาบใบช่อดอก 1 ใบ ก้านช่อดอกกลมและตั้งตรง ยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร กลีบดอกยาวประมาณ 3-5 มิลลิเมตร มีกลีบ 5 กลีบ กลีบเลี้ยง 2 กลีบ ลักษณะเป็นรูปแหลม ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน มีรังไข่ 2 อัน[1]

ดอกหญ้าพันงูน้อย

  • ผลพันงูน้อย ผลมีลักษณะเป็นรูปทรงกลมรี ยาวประมาณ 2-5 มิลลิเมตร ผิวผลเรียบมัน ภายในมีเมล็ด 1 เมล็ด[1]

สรรพคุณของพันงูน้อย

  1. เหง้าหรือราก (บางที่ก็ใช้ทั้งต้น) มีรสชุ่มเปรี้ยวเล็กน้อย เป็นยาสุขุมไม่มีพิษ ออกฤทธิ์ต่อตับและไต ใช้เป็นยากระจายโลหิต (ราก)[1]
  2. ทั้งต้นมีสรรพคุณช่วยลดความดันโลหิตสูง (ราก)[1]
  3. ใช้เป็นยาแก้คอบวม คอเจ็บ (ราก)[1]
  4. ตำรับยาแก้คอตีบ ระบุให้ใช้รากหญ้าพันงูน้อยสด รากครอบฟันสีสด 30 กรัม และรากว่านหางช้างพอสมควร นำมาตำคั้นเอาแต่น้ำมาผสมกับปัสสาวะให้เด็กรับประทาน (ราก)[3]
  5. ช่วยแก้อาการปวดท้องน้อยหลังการคลอดบุตรของสตรี (ราก)[1]
  1. ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ (ราก)[1]
  2. ช่วยแก้ปัสสาวะเป็นเลือด (ราก)[1]
  3. ใช้แก้สตรีที่มีประจำเดือนมาไม่เป็นปกติ หรือมีเลือดคั่งในมดลูก หรือเลือดอุดตันในมดลูก ให้ใช้หญ้าพันงูน้อยทั้งต้นสด 30-50 กรัม นำมาต้มกับเหล้าขาวรับประทาน (ราก)[1]
  4. ใช้เป็นยาบำรุงตับ บำรุงไต (ราก)[1]
  5. ใช้เป็นยาแก้ฝีบวม (ราก)[1]
  6. ช่วยแก้อาการฟกช้ำ (ราก)[1]
  7. ช่วยแก้อาการปวดตามร่างกาย ปวดหลัง ปวดเอว (ราก)[1] ส่วนตำรายาพื้นบ้านล้านนาจะใช้รากพันงูน้อยหรือรากพันงูขาว รากพันงูแดง แลกรากเดือยหิน นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ปวดหลัง (ราก)[2]
  8. ใช้แก้อาการปวดขาและหัวเข่า ด้วยการใช้หญ้าพันงูน้อย 20 กรัม, มะละกอจีน 12 กรัม, หลักหั่ง 12 กรัม นำไปบดให้เป็นผงปั้นเป็นยาลูกกลอนรับประทาน (ทั้งต้น)[1]
  9. ช่วยแก้อาการมือเท้าเป็นเหน็บชา (ราก)[1]

หมายเหตุ : การนำมาใช้เป็นยาตาม [1] ในส่วนของรากหรือเหง้า (บางที่ก็ใช้ทั้งต้น) ให้ใช้ต้นแห้งครั้งละ 10-20 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม[1] หญ้าพันงูน้อยและหญ้าพันงูขาว สามารถนำมาใช้แทนกันได้[1]

ข้อห้ามในการใช้สมุนไพรพันงูน้อย

  • ผู้ที่มีพลังหย่อนหรือพร่อง หรือสตรีมีครรภ์ หรือมีประจำเดือนมามากเกินควร ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้[1]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของพันงูน้อย

  • สารที่พบ ได้แก่โพแทสเซียม และสารจำพวก Alkaloid เช่น Oleanolic acid, ส่วนรากและเมล็ดพบสาร Ecdysterone, Innokosterone เป็นต้น[1]
  • สารที่สกัดได้จากหญ้าพันงูน้อยมีผลต่อการหดเกร็งตัวของมดลูกของกระต่าย ไม่ว่าจะตั้งครรภ์หรือไม่ก็ตาม และมีผลต่อการหดเกร็งตัวของมดลูกที่อยู่นอกตัวของหนูทดลองอีกด้วย แต่จะมีฤทธิ์กระตุ้นการหดเกร็งตัวของมดลูกของแมวน้อยกว่า แสดงว่าหญ้าพันงูน้อยจะออกฤทธิ์ต่อมดลูกของสัตว์ทดลองแต่ละชนิดแตกต่างกันออกไป[1]
  • เมื่อนำสารที่สกัดได้จากหญ้าพันงูน้อยหรือน้ำที่ต้มกับหญ้าพันงูน้อยมาฉีดเข้าทางเส้นเลือดดำของสัตว์ทดลอง พบว่าสามารถทำให้ความดันโลหิตลดลง และทำให้การหายใจถี่ขึ้น[1]
  • เมื่อนำน้ำที่ต้มกับหญ้าพันงูน้อย มาฉีดเข้าทางท้องน้อยของสัตว์ทดลอง พบว่าสามารถแก้ปวดได้ แต่จะมีฤทธิ์น้อยกว่ามอร์ฟีนมาก[1]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “หญ้าพันงูน้อย”.  หน้า 598.
  2. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “พันธุ์งูเล็ก”.  หน้า 31.
  3. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “ครอบฟันสี”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [09 ก.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by 翁明毅, 潘立傑 LiChieh Pan, dinesh_valke)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด