หญ้าขัดใบป้อม
หญ้าขัด มีอยู่ด้วยกัน 4 ชนิด ได้แก่ หญ้าขัดใบมน (Sida rhombifolia L.), หญ้าขัดใบยาว (Sida acuta Burm.f.), หญ้าขัดหลวง (Sida subcordata Span.) และอีกชนิดก็คือ หญ้าขัดใบป้อม (Sida cordifolia L.) ซึ่งเป็นชนิดที่เราจะกล่าวถึงในบทความนี้[1]
หญ้าขัดใบป้อม ชื่อวิทยาศาสตร์ Sida cordifolia L. จัดอยู่ในวงศ์ชบา (MALVACEAE)[2]
สมุนไพรหญ้าขัดใบป้อม มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หญ้าขัดใบ (ทั่วไป), ตานทราย (ประจวบคีรีขันธ์), หญ้าขัดใบป้อม (ตาก)[2]
ลักษณะของหญ้าขัดใบป้อม
- ต้นหญ้าขัดใบป้อม จัดเป็นไม้ล้มลุกมีความสูงประมาณ 1 เมตร ที่กิ่งก้านมีขนรูปดาวอยู่แน่นคละกันไปกับขนนุ่ม[2]
- ใบหญ้าขัดใบป้อม ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลับ ใบมีความกว้างประมาณ 1-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.5-5 เซนติเมตร ปลายใบมนหรือกลม โคนใบเว้าตื้น ๆ เป็นรูปหัวใจ ส่วนขอบใบหยัก บนผิวใบมีขนรูปดาวแน่นทั้งสองด้าน นอกจากนี้ยังมีหูใบลักษณะเป็นรูปเส้นด้าย และมีขนเป็นรูปดาว[2]
- ดอกหญ้าขัดใบป้อม ดอกมีสีเหลือง ออกเป็นดอกเดี่ยวหรือเป็นกระจุกบริเวณซอกใบและที่ปลายยอด ดอกเมื่อบานจะกว้างประมาณ 1.5-5 เซนติเมตร และมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5 เซนติเมตร[2]
- ผลหญ้าขัดใบป้อม เป็นผลแห้งแตกได้ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 6-8 มิลลิเมตร ในผลประกอบด้วยซีกผลประมาณ 10 ซีก แต่ละซีกผลที่ปลายจะมีหนามแหลมอยู่ 2 อัน และมีขนแข็งชี้ลง โดยในแต่ละซี่จะมีเมล็ดอยู่ 1 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปค่อนข้าวยาวและมีขนสั้นอยู่ที่ปลาย[2]
สรรพคุณของหญ้าขัดใบป้อม
- รากช่วยแก้ไข้ (ราก)[2]
- ช่วยแก้โรคกระเพาะ (ราก)[2]
- รากใช้เป็นยาขับปัสสาวะ (ราก)[2]
- ใบใช้ตำพอกแผลโดนน้ำร้อนลวกและแผลเป็นหนอง (ใบ)[2]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของหญ้าขัดใบป้อม
- เมื่อนำสารสกัดจากหญ้าขัดใบป้อมด้วย 70% แอลกอฮอล์มาทดสอบกับหนูถีบจักร โดยผลการทดลองพบว่าปริมาณที่ทำให้หนูทดลองตายครึ่งหนึ่งคือปริมาณ 2,639 มก./กก. และในขนาดที่ส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลางเมื่อฉีดสารสกัดเข้าช่องท้องขนาด 1,000 มก./กก. พบว่าจะมีอาการกดประสาท ทำให้มีการเดินน้อยลง ลดการตอบสนองต่อการสัมผัส ปวด และมีปัสสาวะน้อยลง[3]
- ใบของหญ้าขัดใบป้อมมีสารเอฟิดรีน (Ephedrine) ซึ่งมีฤทธิ์ในการขยายหลอดลม โดยสารชนิดนี้สามารถนำมาใช้เป็นยารักษาโรคหอบหืดได้ และยังมีผลทำให้ม่านตาขยายด้วย[4]
เอกสารอ้างอิง
- รายชื่อพรรณไม้ (ป่า) ในประเทศไทย เครือข่ายการวิจัยนิเวศวิทยาป่าไม้ (ประเทศไทย) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “Family : MALVACEAE“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.frcdb.forest.ku.ac.th/Forest/. [22 ธ.ค. 2013].
- ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ กลุ่มงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “หญ้าขัดใบ“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: biodiversity.forest.go.th. [22 ธ.ค. 2013].
- หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางของหญ้าขัดใบป้อม“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th. [22 ธ.ค. 2013].
- โครงการพัฒนาศูนย์กลางความรู้แห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร. “ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพืชสมุนไพร“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.tkc.go.th. [22 ธ.ค. 2013].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Russell Cumming, mingiweng, Scamperdale, andreas lambrianides, Warren McCleland, CANTIQ UNIQUE)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)