ส้านใหญ่
ส้านใหญ่ ชื่อสามัญ Great elephant apple[2]
ส้านใหญ่ ชื่อวิทยาศาสตร์ Dillenia obovata (Blume) Hoogland (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Colbertia obovata Blume) จัดอยู่ในวงศ์ส้าน (DILLENIACEAE)[1],[2]
สมุนไพรส้านใหญ่ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ส้านแข็ง ส้านต้อง (เชียงใหม่), ชะวิง (ชลบุรี), ซ่าน (ภาคอีสาน), ส้านใหญ่ (สุราษฎร์ธานี) เป็นต้น[1],[2]
ลักษณะของส้านใหญ่
- ต้นส้านใหญ่ จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางผลัดใบในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ มีความสูงของต้นได้ประมาณ 10-35 เมตร เรือนยอดของต้นกลมทึบ ขนาดทรงพุ่มประมาณ 3-5 เมตร ลำต้นมีลักษณะคดงอ เปลือกต้นค่อนข้างเรียบหรือแตกเป็นสะเก็ด สีเทาอมเหลืองอ่อนหรือสีแดงอ่อนหรือชมพูปนเทา ส่วนเปลือกด้านในเป็นสีแดงคล้ำ กิ่งอ่อนเกลี้ยงแต่ใบอ่อนมีขน โคนต้นมีพูพอนเตี้ย ๆ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด พบขึ้นทั่วไปตามป่าเบญจพรรณแล้ง ป่าเบญจพรรณชื้น และตามป่าเต็งรังทั่วประเทศ ที่สูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 50-1,300 เมตร[1],[2],[4]
- ใบส้านใหญ่ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลับ ปลายใบทู่หรือป้านมีติ่งสั้น ๆ แล้วค่อย ๆ สอบเรียวไปหาโคนใบ โคนใบแหลม เป็นรูปลิ่ม หรือสอบ ส่วนขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 8-13 เซนติเมตร และยาวประมาณ 20-40 เซนติเมตร เนื้อใบหนา หลังใบเกลี้ยง เส้นกลางใบมีขนและออกสีน้ำตาลแดงเมื่อแห้ง ส่วนท้องใบมีขนขึ้นประปราย มีเส้นแขนงใบตรงและขนานกันจำนวนมาก โดยมีประมาณ 15-30 คู่ ปลายเส้นแขนงยื่นพ้นขอบใบเล็กน้อย ก้านใบเกลี้ยง[1],[2]
- ดอกส้านใหญ่ ออกดอกเดี่ยว หรือออกเป็นช่อแบบกระจะตามปลายกิ่งหรือใกล้ ๆ ปลายกิ่งแขนง ช่อหนึ่งมีดอกประมาณ 1-3 ดอก กลีบเลี้ยงหนาเป็นสีเขียวนวล มีจำนวน 5 กลีบ กลีบดอกมี 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่กลับหรือรูปช้อน สีเหลือง มีขนาดใหญ่เป็น 3 เท่าของกลีบเลี้ยง เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 14-16 เซนติเมตร ดอกเป็นสีเหลือง มีเกสรเพศผู้จำนวนมาก แบ่งออกเป็น 2 ชั้น ชั้นนอกเป็นสีเหลืองเข้มกว่าชั้นใน รังไข่แบ่งเป็นช่องประมาณ 9-11 ช่อง ในแต่ละช่องจะมีออวุลประมาณ 25-35 ออวุล บริเวณโคนกลีบเลี้ยงมีปลายเล็กแหลม 3 กาบ และที่โคนก้านดอกอีก 3 กลีบ ส่วนเกสรเพศเมียปลายเป็นแฉก ๆ อยู่เหนือเกสรเพศผู้ ออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน[1],[2]
- ผลส้านใหญ่ ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม เป็นผลสดอุ้มน้ำ สีเหลืองอมส้ม ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3.54 เซนติเมตร มีกลีบเลี้ยงที่พัฒนากลายเป็นกาบหุ้มส่วนเนื้อผลจนมิด เนื้อผลแก่เป็นสีเหลืองหรือสีส้ม ผลแห้งเป็นสีน้ำตาล ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมาก ผลจะแก่ในช่วงประมาณเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม[1],[2]
สรรพคุณของส้านใหญ่
- เปลือกจากเนื้อไม้ ผล มีรสเปรี้ยว ใช้ผสมปรุงเป็นยากระจายโลหิต (เปลือกจากเนื้อไม้, ผล)[1]
- เปลือกต้นนำมาเคี้ยวช่วยทำให้เหงือกและฟันกระชับแน่น (เปลือกต้น)[4]
- เปลือกต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ท้องเสีย (เปลือกต้น)[4]
- ตำรับยาพื้นบ้านอีสานจะใช้ลำต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาขับน้ำคาวปลาหลังคลอดหรืออยู่ไฟดีมาก (ต้น)[3]
- เปลือกต้นนำมาเคี้ยวพ่นเป่าแผล เป็นยารักษาแผล แก้ไฟไหม้ได้ (เปลือกต้น)[3]
ประโยชน์ของส้านใหญ่
- ผลสุกมีรสหวานอมเปรี้ยว ใช้รับประทานอาหารหรือรับประทานเป็นผักสดร่วมกับน้ำพริก โดยการแกะส่วนกลีบรองชั้นในที่มีลักษณะอวบน้ำมาจิ้มกับเกลือ โดยจะมีรสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย และมีกลิ่นหอม ส่วนกลีบรองชั้นนอกนั้นจะมีรสฝาด[2],[4]
- เนื้อไม้สามารถนำมาใช้ในการก่อสร้าง ทำเป็นที่อยู่อาศัยได้[2]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). “ส้านใหญ่”. หน้า 144.
- ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “ส้านใหญ่”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [10 ต.ค. 2014].
- ไทยรัฐออนไลน์. (นายเกษตร). “ส้านยอดแดงดอกเหลือง สีสวยทั้งใบและดอก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thairath.co.th. [10 ต.ค. 2014].
- ไทยเกษตรศาสตร์. “ส้านใหญ่”. อ้างอิงใน : ศาสตราจารย์พเยาว์ เหมือนวงษ์ญาติ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thaikasetsart.com. [10 ต.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.biogang.net (by mario304304, myjoybiogang), pantip.com (by ภานุพันธ์)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)