ส้มโอ
ส้มโอ ชื่อสามัญ Pomelo (Pomelo มาจากคำว่า Pampelmoose ในภาษาดัตซ์ ซึ่งแปลว่า “ส้มที่มีขนาดเท่าฟักทอง”)
ส้มโอ ชื่อวิทยาศาสตร์ Citrus maxima (Burm.) Merr. จัดอยู่ในวงศ์ส้ม (RUTACEAE)
ส้มโอเป็นผลไม้ที่มีต้นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับในประเทศนั้นจะปลูกส้มโอมากในภาคตะวันตกและยังจัดเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยเราอีกด้วย
สำหรับชาวจีนแล้ว ส้มโอถือว่าเป็นเครื่องสังเวยที่สำคัญอย่างมาก เพราะมีความเชื่อว่าหลังจากไหว้เสร็จ ถ้าผ่าผลส้มโอออกมาแล้วกลางลูกแห้ง ไม่มีน้ำ จะสื่อความหมายถึงความโชคดี นอกจากนี้ยังเป็นสัญลักษณ์ของชาวจีนที่เสียชีวิตในการกู้ชาติอีกด้วย
ส้มโอจัดเป็นผลไม้ที่มีประโยชน์หลากหลายและยังมีสรรพคุณทางยาในการรักษาโรคต่าง ๆ เพราะอุดมไปด้วยวิตามินซีซึ่งเป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระในปริมาณมาก และยังมีวิตามินและแร่ธาตุอื่น ๆที่จำเป็นต่อร่างกายอีกหลายชนิด โดยส่วนที่จะนำมาใช้ประโยชน์ก็มีหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นผล เปลือก ใบ และเมล็ด ก็ล้วนแล้วแต่มีประโยชน์ทั้งนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเปลือกและผลซึ่งเป็นส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์มากที่สุด
ประโยชน์ของส้มโอ
- รับประทานส้มโอช่วยขับสารพิษในร่างกายได้ (ผล)
- มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของโรคมะเร็ง (ผล)
- ในตำราจีนเปลือกส้มโอใช้เป็นยาแก้ธาตุไม่ปกติ ช่วยแก้อาการไอ ผสมในยาหอมกินแล้วทำให้สดชื่น (เปลือก)
- ในตำราคาไทย เปลือกส้มโอจัดอยู่ในเปลือกส้มทั้ง 8 ประการ ซึ่งประกอบไปด้วย เปลือกส้มโอ เปลือกส้มเขียวหวาน เปลือกส้มจีน เปลือกส้มซ่า เปลือกส้มตรังกานู เปลือกมะนาว เปลือกมะกรูด เปลือกมะงั่น ซึ่งมีสรรพคุณแก้ลม (ระบบไหลเวียนโลหิต) แก้เสมหะ และใช้ปรุงเป็นยาหอม (เปลือก)
- มีความเชื่อว่าสตรีที่ยังไม่ได้แต่งงานจะนำส้มโอมาทาหน้า เพราะเชื่อว่าจะช่วยทำให้ผิวพรรณผุดผ่อง สดใส (ผล)
- เชื่อว่าการรับประทานส้มโอจะช่วยทำให้ตาสดใสและเป็นประกาย (ผล)
- ช่วยให้เจริญอาหาร เหมาะอย่างมากสำหรับผู้ที่เบื่ออาหาร ปากไม่รู้รสอาหาร (ผล)
- ส้มโอมีวิตามินซีสูง จึงช่วยป้องกันและรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน (ผล)
- ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ ด้วยการนำใบมาตำแล้วพอกบริเวณศีรษะ (ใบ)
- ช่วยแก้อาการเมาสุรา (ผล)
- เปลือกส้มโอเป็นส่วนประกอบของยาหอมสมุนไพร ซึ่งมีส่วนช่วยแก้อาการวิงเวียนศีรษะ หน้ามืดตาลาย ใจสั่น คลื่นไส้อาเจียน (เปลือก)
- ช่วยแก้หวัด (ราก, เมล็ด)
- ประโยชน์ของส้มโอช่วยแก้อาการไอ (เปลือก, ราก, เมล็ด)
- ช่วยขับเสมหะ (ดอก, เปลือก)
- สรรพคุณส้มโอแก้อาการไอมีเสมหะ ด้วยการใช้ผลสดนำเมล็ดออก แกะเป็นชิ้นเล็ก ๆ แช่กับน้ำเหล้าไว้หนึ่งคืน เสร็จแล้วนำไปต้มให้เละแล้วผสมกับน้ำผึ้ง นำมากวนจนเข้ากันแล้วจิบกินบ่อย ๆ (ผล)
- ช่วยแก้อาการแน่นหน้าอก (เปลือก)
- ช่วยแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นท้อง (ใบ)
- ส้มโอ สรรพคุณช่วยแก้อาการจุกเสียด แน่นท้อง ปวดท้องน้อย (เปลือก, ราก, เมล็ด)
- ช่วยแก้อาการปวดท้อง ลำไส้เล็กหดตัวผิดปกติ (เมล็ด)
- ช่วยขับลมในลำไส้และกระเพาะอาหาร (ผล, ดอก, เปลือก)
- ช่วยแก้อาการปวดในกระเพาะอาหาร (ดอก)
- ช่วยแก้อาการปวดกระบังลม (ดอก)
- ใช้เป็นยาแก้อาการปวดข้อหรืออาการปวดบวม ด้วยการใช้ใบส้มโอนำมาตำแล้วเอาไปย่างไฟให้อุ่น แล้วนำมาพอกบริเวณที่ปวด (ใบ)
- ช่วยแก้อาการคันตามผิวหนัง ด้วยการนำเปลือกมาต้มน้ำอาบ (เปลือก)
- ช่วยรักษาโรคลมพิษที่ผิวหนัง ด้วยการใช้เปลือกประมาณ 1 ผล หั่นเป็นชิ้น ๆ แล้วต้มกับน้ำอาบ หรือทาในบริเวณที่เป็นลมพิษ (เปลือก)
- ช่วยรักษาโรคที่เกี่ยวกับผิวหนังอื่น ๆ ด้วยการใช้เปลือกมาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วนำมาต้มกับน้ำจนมันงวด แล้วเอาน้ำที่ได้มาทาบริเวณที่เป็นโรคผิวหนัง (เปลือก)
- เปลือกใช้ตำแล้วนำมาพอกเพื่อรักษาฝี (เปลือก)
- เปลือกมีฤทธิ์ในการต้านเชื้อรา เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย ช่วยลดการอักเสบ และยังช่วยฆ่าแมลง ฆ่าเห็บวัว เป็นต้น
- ช่วยแก้อาการไส้เลื่อน (เปลือก, เมล็ด, ราก)
- เรานิยมรับประทานส้มโอเป็นผลไม้สด ทำเป็นน้ำผลไม้ หรือจะนำไปประกอบอาหารก็ได้ ไม่ว่าจะเป็น ยำ เมี่ยง ส้มตำ ข้าวยำ หรือของหวานเป็นต้น (ผล)
- เปลือกนอกสีขาวนำไปแปรรูปทำเป็นส้มโอสามรส ส้มโอแช่อิ่มได้ (เปลือก)
- ใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางบางชนิด
คุณค่าทางโภชนาการของส้มโอต่อ 100 กรัม
- พลังงาน 38 กิโลแคลอรี
- คาร์โบไฮเดรต 9.62 กรัม
- เส้นใย 1 กรัม
- ไขมัน 0.04 กรัม
- โปรตีน 0.76 กรัม
- วิตามินบี 1 0.034 มิลลิกรัม 3%
- วิตามินบี 2 0.027 มิลลิกรัม 2%
- วิตามินบี 3 0.22 มิลลิกรัม 1%
- วิตามินบี 6 0.036 มิลลิกรัม 3%
- วิตามินซี 61 มิลลิกรัม 73%
- ธาตุแคลเซียม 4 มิลลิกรัม 0%
- ธาตุเหล็ก 0.11 มิลลิกรัม 1%
- ธาตุแมกนีเซียม 6 มิลลิกรัม 2
- ธาตุแมงกานีส 0.017 มิลลิกรัม 1%
- ธาตุฟอสฟอรัส 17 มิลลิกรัม 2%
- ธาตุโพแทสเซียม 216 มิลลิกรัม 5%
- ธาตุโซเดียม 1 มิลลิกรัม 0%
- ธาตุสังกะสี 0.08 มิลลิกรัม 1%
% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)
วิธีการปอกส้มโอ
โดยปกติแล้ววิธีปอกส้มโอนั้น เรามักจะใช้มีดกรีดจากขั้วลงมา 6 ส่วน แล้วจึงลอกเปลือกออก วิธีนี้อาจจะทำให้เลอะมือได้ หรือบางส่วนของเนื้อจะไปติดกับน้ำมันของเปลือกที่ติดอยู่กับมือ ทำให้มีกลิ่นเหม็นและเสียรสชาติได้ ดังนั้นมาดูวิธีปอกส้มโออย่างถูกต้องกันดีกว่า
- ใช้มีดปอกส่วนของเปลือกที่เป็นสีเขียวออกให้หมดก่อน
- ลอกเปลือกสีขาว ซึ่งจะลอกออกได้ง่ายและไม่มีกลิ่นน้ำมันที่ผิวเปลือกติดมาด้วย
- เมื่อเหลือแต่เปลือกหุ้มกลีบ ให้ลอกเอาเปลือกหุ้มออกทีละกลีบเป็นอันเสร็จ ก็จะได้เนื้อที่เป็นกลีบสวยงามและไม่เสียรสชาติ
แต่ถ้าคุณไม่อยากเสียเวลาต้องมานั่งปอกเปลือก ก็ลองใช้วิธีแบบในคลิปด้านล่างเลยก็ได้ครับ
แหล่งอ้างอิง : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)