ส้มเช้า สรรพคุณและประโยชน์ของต้นส้มเช้า 16 ข้อ !

ส้มเช้า

ส้มเช้า ชื่อสามัญ Angola Pea , Congo Pea[3]

ส้มเช้า ชื่อวิทยาศาสตร์ Euphorbia neriifolia L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Elaeophorbia neriifolia (L.) A.Chev., Euphorbia edulis Lour., Euphorbia ligularia Roxb. ex Buch.-Ham., Euphorbia pentagona Blanco, Euphorbia pentagona Noronha, Tithymalus edulis (Lour.) H.Karst.) จัดอยู่ในวงศ์ยางพารา (EUPHORBIACEAE)[1],[2]

สมุนไพรส้มเช้า มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กะเร, กาลัม, เพราะเพระ, โพะเพะ, ไห่หวัง, ฮ้อบแฮ้บ, และฮวยออง[5]

หมายเหตุ : ส้มเช้ามีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ ชนิดที่มีขนาดของต้นเตี้ยและเป็นไม้พุ่ม ซึ่งมีความสูงได้ไม่เกิน 1.5 เมตร ชนิดนี้ต้นหรือปลายต้นมักมีรูปร่างแปลก หงิกคล้ายดอกหงอนไก่ เป็นชนิดที่มีใบน้อย นิยมนำมาปลูกใส่กระถางเป็นไม้ประดับ ส่วนอีกชนิดที่จะกล่าวถึงในบทความนี้จะเป็นไม้ยืนต้น มีความสูงได้ถึง 5 เมตร ออกใบมากกว่าชนิดแรก ในสมัยก่อนจะนิยมปลูกไว้ในบริเวณทั้งสองชนิด เพื่อเก็บใบอ่อนกินเป็นอาหาร เป็นไม้ประดับ และใช้เป็นสมุนไพรด้วย[5]

ลักษณะของส้มเช้า

  • ต้นส้มเช้า จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 5-7 เมตร ตามลำต้นและกิ่งก้านมีหนามแหลมออกจากตุ่ม 1-2 อัน ตามข้อต่อเป็นเหลี่ยม 5 เหลี่ยม และมียาวสีขาว ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด และวิธีการปักชำ เจริญเติบโตได้ดีในดินทุกชนิด ชอบความชื้นปานกลาง และแสงแดดแบบเต็มวัน มักเกิดตามป่าดงดิบแล้ง ป่าราบ ป่าเบญจพรรณ สามารถพบได้ทุกภาคของประเทศไทย[1],[3]

ต้นส้มเช้า

รูปส้มเช้า

  • ใบส้มเช้า ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลับ ปลายใบมนเว้าตื้น ๆ โคนใบสอบ ส่วนขอใบเรียบ ใบมีชนาดกว้างประมาณ 4-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร หลังใบและท้องใบเรียบ เนื้อใบหนาอวบน้ำ หูใบเป็นหนาม[1]

ใบส้มเช้า

  • ดอกส้มเช้า ออกดอกเป็นช่อตามกิ่ง เป็นดอกแบบแยกเพศ แต่อยู่ในช่อเดียวกัน ดอกไม่มีกลีบดอก ดอกมีใบประดับที่ดูคล้ายกลีบดอกสีเหลือง มี 5 อัน[1]

ดอกส้มเช้า

  • ผลส้มเช้า ผลเป็นผลสดประกอบไปด้วยผลขนาดเล็ก 3 ผลรวมกัน ไม่มีเนื้อผล (หรือเป็นผลแห้งแตกได้เป็น 3 พู)[1]

ผลส้มเช้า

สรรพคุณของส้มเช้า

  1. ใบมีรสเปรี้ยวเมา สรรพคุณเป็นยาฟอกโลหิต (ใบ)[1]
  2. ช่วยแก้ไข้จับสั่นเรื้อรัง (ยาง)[2]
  3. ยางมีรสเปรี้ยวเมา มีสรรพคุณทำให้อาเจียน (ยาง)[1],[2]
  4. ช่วยถ่ายคูถเสมหะ (ใบ)[1]
  5. ช่วยแก้อาการจุกเสียด แก้ท้องมาน พุงโร แก้ม้ามย้อย (ยาง)[1],[2]
  1. ช่วยขับน้ำย่อยอาหาร (ยาง)[1],[2]
  2. เปลือกต้นมีรสเปรี้ยวเมา น้ำต้มกับเปลือกใช้กินเป็นยาระบาย (เปลือกต้น)[1] ส่วนยางมีสรรพคุณเป็นยาระบายอ่อน ๆ (ยาง)[1],[2]
  3. ยางมีสรรพคุณเป็นยาขับพยาธิ (ยาง)[1],[2]
  4. ช่วยขับประจำเดือนของสตรี (ใบ)[1]
  5. รากมีรสเปรี้ยวใช้ตำพอกเป็นยาฆ่าเชื้อโรค ฆ่าพยาธิผิวหนัง (ราก)[1]
  6. ใบใช้ตำพอกรักษาฝี ปิดฝี จะทำให้ฝียุบและหายปวด และยังช่วยถอนพิษหนองที่เกิดจากฝีได้อย่างชะงัด (ใบ)[1],[2],[4]
  7. ใบใช้เป็นยาถอนพิษ (ใบ)[2]
  8. รากใช้ตำพอกเป็นยาแก้พิษจากแมลงกัดต่อย (ราก)[1]
  9. ใบใช้ตำพอกแก้ปวด (ใบ)[1],[2]

ส่วนยางมีสรรพคุณช่วยแก้บวม (ยาง)[1],[2]

หมายเหตุ : ส้มเช้ามีสรรพคุณและข้อควรระวังเช่นเดียวกับ “สลัดได”

ประโยชน์ของส้มเช้า

  • ใบอ่อนใช้รับประทานสดเป็นผักร่วมกับน้ำพริกได้ หรือนำมาใช้แทนใบเมี่ยง ห่อเนื้อปลาทูนึ่ง ใส่พริกขี้หนูสด แง่งตะไคร้สด กระเทียมกลีบสด มะนาวสดที่หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ นำมาเคี้ยวกินเป็นคำ ให้รสชาติอร่อยมาก[3],[5] และน่าแปลกตรงที่ใบของส้มเช้าจะมีรสเปรี้ยวจัดในตอนเช้าและมีกลิ่นหอมเฉพาะตัวทำให้ชวนรับประทาน พอช่วงสายความเปรี้ยวจะค่อย ๆ อ่อนลง และจะค่อย ๆ หมดความเปรี้ยวไปในที่สุดในช่วงก่อนเที่ยง หลังจากนั้นใบของส้มเช้าก็จะมีรสเปรี้ยวจัดอีกครั้งเมื่อถึงตอนเช้าของวันรุ่งขึ้นเป็นอย่างนี้เรื่อยไป จึงถูกเรียกชื่อว่าต้น “ส้มเช้า” มาจนถึงปัจจุบัน[4],[5]
  • รากและใบมีรสเปรี้ยวใบ มีพิษ ใช้เป็นยาเบื่อปลาได้[1],[2]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “ส้มเช้า (Som Chao)”.  หน้า 281.
  2. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “ส้มเช้า”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [05 มิ.ย. 2014].
  3. ผักพื้นบ้าน ในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง.  “ส้มเช้า”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: area-based.lpru.ac.th/veg/.  [05 มิ.ย. 2014].
  4. สมุนไพรไทย, มหาวิทยาลัยนเรศวร.  “ส้มเช้า”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: student.nu.ac.th/49320567/.  [05 มิ.ย. 2014].
  5. ไทยรัฐออนไลน์.  (นายเกษตร).  “ส้มเช้ามีสองชนิด”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www. thairath.co.th.  [05 มิ.ย. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Dinesh Valke, judymonkey17, Regordeta, Tai Lung Aik, Shubhada Nikharge)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด