สารภีป่า สรรพคุณและประโยชน์ของต้นสารภีป่า 9 ข้อ !

สารภีป่า สรรพคุณและประโยชน์ของต้นสารภีป่า 9 ข้อ !

สารภีป่า

สารภีป่า ชื่อวิทยาศาสตร์ Anneslea fragrans Wall. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Anneslea fragrans var. fragrans, Callosmia fragrans (Wall.) C.Presl, Daydonia fragrans (Wall.) Britten, Mountnorrisia fragrans (Wall.) Szyszył.)[1] จัดอยู่ในวงศ์ PENTAPHYLACACEAE

สมุนไพรสารภีป่า มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ปันม้า ส้านแดง ส้านใหญ่ สารภี สารภีควาย สารภีหมู สารภีดอย สุน ฮัก (เชียงใหม่), ประดงข้อ (สุโขทัย), แก้มอ้น (ชุมพร), คำโซ่ ตองหนัง ตีนจำ ทำซุง บานมา พระราม โมงนั่ง (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), ทื่อปลอ (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน) เป็นต้น[1],[5]

ลักษณะของสารภีป่า

  • ต้นสารภีป่า จัดเป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบขนาดเล็กถึงขนาดกลาง มีความสูงของต้นได้ประมาณ 10-20 เมตร และอาจสูงได้ถึง 25 เมตร ลำต้นมีลักษณะคดงอ แตกกิ่งต่ำ เปลือกลำต้นเรียบหรือแตกเป็นร่องตื้น ๆ ไม่เป็นระเบียบ และอาจมีรอยแตกลึกเป็นลวดลายละเอียด บางครั้งเปลือกต้นเป็นสีครีมค่อนข้างเรียบ ส่วนเปลือกด้านในเป็นสีแดงปนน้ำตาล ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด พบขึ้นทั่วไปตั้งแต่อินเดียจนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยพบขึ้นทั่วไปในป่าระดับสูงหรือบริเวณสันเขา โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นสันหินในป่าสน บางครั้งพบในป่าดิบเขา ป่าชื้น และป่าเต็งรัง ที่ระดับความสูงประมาณ 850-1,700 เมตร จากระดับน้ำทะเล[1],[2],[3]

ต้นสารภีป่า

  • ใบสารภีป่า ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนสลับ หนาแน่นที่ปลายกิ่ง ลักษณะของใบเป็นรูปใบหอกหรือใบหอกแกมขอบขนาน หรือเป็นรูปมนรีแคบ ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ขอบใบไม่มีซี่ แต่บางครั้งอาจเป็นซี่ป้าน ๆ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7-15 เซนติเมตร ใบเป็นสีเขียวเข้ม เนื้อใบหนาและเหนียวคล้ายแผ่นหนัง ผิวใบเรียบเป็นมัน ท้องใบด้านล่างมักมีนวลและต่อมสีน้ำตาลขึ้นกระจาย เส้นใบข้างมักจะอยู่ชิดขนานกัน เส้นแขนงใบมีข้างละประมาณ 10-12 เส้น ก้านใบยาวประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร แผ่เป็นปีกเล็กน้อย มักจะมีแต้มสีแดงเข้ม ส่วนกิ่งก้านเป็นสีน้ำตาลเข้ม[1],[2]

ใบสารภีป่า

  • ดอกสารภีป่า ดอกเป็นดอกเดี่ยว ขนาดประมาณ 3-4 เซนติเมตร โดยจะออกเป็นกลุ่มตามซอกใบหรือใกล้ปลายกิ่ง ดอกมีลักษณะชี้ลงดิน ดอกมีจำนวนมาก ก้านดอกมีความยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร กลีบดอกเป็นสีขาวครีม รวมกันเป็นก้อนกลม กลีบดอกมี 5 กลีบ เบียดชิดกันอยู่ตรงกลางปิดส่วนเกสร ที่โคนหุ้มเกสรเป็นโคนแหลมตรงกลางดอก กลีบแคบตรงกลาง ปลายแหลม มีขนาดประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร เชื่อมกันที่ฐานส่วนบน ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ หนาเป็นสีเหลืองแกมชมพู ขนาดประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร คลี่ขยายออก มีขนที่ขอบกลีบ โคนกลีบเชื่อมติดกัน ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวนมาก สีส้มอ่อน อับเรณูเป็นรยางค์ รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ ส่วนก้านเกสรเพศเมียเป็น 3 แฉก โดยจะออกดอกในช่วงประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม[1],[2]

รูปสารภีป่า

ดอกสารภีป่า

  • ผลสารภีป่า ผลเป็นผลสด ลักษณะของผลเป็นรูปค่อนข้างกลม รูประฆัง ผิวผลเรียบ มีเนื้อหนาคล้ายหนัง ขนาดยาวประมาณ 1.5-5 เซนติเมตร ผลมีกลีบเลี้ยงติดอยู่คงทนสีแดงส้ม เจริญขึ้นมาปกคลุมจนมิด โดยส่วนนี้จะมีลักษณะแข็งคล้ายไม้และจะแตกออกไม่สม่ำเสมอเมื่อผลแก่จัด ผลแก่จะเป็นสีส้ม มีเนื้อสีแดงห่อหุ้ม ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 2-9 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปไข่กลับ ยาวประมาณ 0.7-1.2 เซนติเมตร มีเยื่อหุ้มสดสีแดง โดยผลจะแก่ในช่วงประมาณเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน[1],[2]

ผลสารภีป่า

เมล็ดสารภีป่า

สรรพคุณของสารภีป่า

  1. ดอกมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงหัวใจ (ดอก)[4]
  2. ตำรายาไทยจะใช้เปลือกและดอกเป็นยาแก้ไข้ (ดอก, เปลือกและดอก)[2],[4]
  3. ดอกมีสารช่วยขยายหลอดลม และช่วยขับลม (ดอก)[4]
  4. เปลือกและดอกมีสรรพคุณเป็นยาแก้บิด (เปลือกและดอก)[2]
  5. ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ (เปลือกและดอก)[2]
  6. ตำรายาพื้นบ้านล้านนาจะใช้สารภีป่าทั้งต้น นำมาผสมกับสมุนไพรจำพวกประดง รวม 9 ชนิด นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยารักษาโรคประดง (ทั้งต้น)[1]

ประโยชน์ของสารภีป่า

  • ดอกตูมใช้ย้อมไหมสีแดง[4]
  • ส่วนผลสัตว์มักชอบกิน[5]
  • เนื้อไม้ของต้นสารภีป่าสามารถนำมาใช้ทำเครื่องเรือนได้ดี[3]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “สารภีป่า”.  หน้า 37.
  2. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “สารภีป่า”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com.  [08 ต.ค. 2014].
  3. หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 2.  “สารภีดอย”.
  4. การสำรวจทรัพยากรป่าไม้เพื่อประเมินสถานภาพและศักยภาพ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี).  “ตองหนัง / สารภีป่า”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : inven.dnp9.com/inven/.  [08 ต.ค. 2014].
  5. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “สารภี, สารภีดอย, สารภีป่า”.  อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th.  [08 ต.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by thammavong viengsamone, Tony Rodd, Nicholas Turland), www.phargarden.com (by Sudarat Homhual)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด